คำสั่งคำร้องที่ 3317/2535

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ความว่า จำเลยฎีกา ศาลชั้นต้นสั่งว่า เมื่อพิเคราะห์ ฎีกาของจำเลยแล้ว ปรากฏว่าเป็นกรณีต้องห้ามมิให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง แม้จำเลยจะอ้างว่าฎีกาปัญหาข้อกฎหมายประกอบข้อเท็จจริง แต่เป็นปัญหาข้อกฎหมายที่จะนำไปสู่การวินิจฉัยในปัญหาว่าการส่งหมายนัดให้โจทก์ทราบโดยชอบหรือไม่ ซึ่งเป็น ข้อเท็จจริงที่ต้องห้ามฎีกา จึงมีคำสั่งไม่รับฎีกาจำเลย
จำเลยเห็นว่า ฎีกาของจำเลยเป็นการกล่าวอ้างข้อกฎหมายไปสู่ปัญหาข้อกฎหมาย มิใช่เป็นการกล่าวอ้างข้อกฎหมายไปสู่ปัญหาข้อเท็จจริง โปรดมีคำสั่งให้รับฎีกาของจำเลยไว้พิจารณา ต่อไป
หมายเหตุ ได้ส่งสำเนาคำร้องให้โจทก์แล้ว (อันดับ 118)
คดีสืบเนื่องมาจากโจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ. 2497ศาลชั้นต้นไต่สวนมูลฟ้องแล้วให้ประทับฟ้องและนัดสืบพยานโจทก์พร้อมกับให้จำเลยยื่นคำให้การในวันสืบพยานโจทก์ ถึงวันนัดจำเลยไม่มา ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้ออกหมายจับจำเลยและจำหน่าย คดีชั่วคราว ต่อมาจำเลยเข้ามอบตัว ศาลชั้นต้นนัดสืบพยานโจทก์ และหมายแจ้งวันนัดให้โจทก์ทราบแต่โจทก์ไม่มาศาล ศาลชั้นต้นจึงให้ยกฟ้อง
โจทก์ยื่นคำร้องลงวันที่ 7 กุมภาพันธ์ 2533 และวันที่ 21 กุมภาพันธ์ 2533 ตามลำดับ ว่าโจทก์ไม่ทราบวันนัดสืบพยานโจทก์ เพราะพนักงานเดินหมายไปปิดหมายที่บ้านอื่นไม่ใช่บ้าน ของโจทก์ ขอให้ยกคดีขึ้นพิจารณาใหม่ ศาลชั้นต้นสั่งยกคำร้อง ทั้งสองฉบับ โจทก์อุทธรณ์คำสั่งศาลชั้นต้น ศาลอุทธรณ์พิพากษา ยกคำสั่งศาลชั้นต้น ให้ศาลชั้นต้นไต่สวนคำร้องของ โจทก์แล้ว สั่งตามรูปคดีต่อไปศาลชั้นต้นไต่สวนคำร้องของ โจทก์แล้วเห็นว่า การปิดหมายแจ้งวันนัดสืบพยานโจทก์ไม่ชอบ ให้เพิกถอนคำสั่ง ยกฟ้อง ให้ยกคดีโจทก์ขึ้นพิจารณาใหม่
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
ทนายจำเลยฎีกา ศาลชั้นต้นมีคำสั่งดังกล่าว (อันดับ 115)
ทนายจำเลยจึงยื่นคำร้องนี้ (อันดับ 116)

คำสั่ง
พิเคราะห์แล้ว ที่จำเลยฎีกาว่า พนักงานเดินหมายปิดหมายนัดสืบพยานโจทก์ไว้ตามที่อยู่ที่ปรากฏหลังหมายนัด เป็นการส่ง หมายที่ชอบด้วยกฎหมายแล้ว โจทก์จะต้องยื่นคำร้องขอให้พิจารณา คดีใหม่ภายใน 15 วัน นับแต่ศาลยกฟ้องนั้น แม้จะเป็นฎีกา โต้เถียงในปัญหาข้อเท็จจริงที่ว่าโจทก์ทราบนัดแล้วหรือไม่ แต่ก็เป็นฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงที่มิได้เกี่ยวกับเนื้อหาสาระ ของคดีที่จะให้ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า จำเลยกระทำความผิดตามฟ้อง หรือไม่ จึงไม่ต้องห้ามฎีกาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 218,219,220 ให้รับ ฎีกาของจำเลยไว้ดำเนินการต่อไป

Share