คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3831/2535

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

บทบัญญัติเกี่ยวกับกรณีขาดนัดที่บัญญัติไว้ในพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 มาตรา 40,41 นั้น เป็นกรณีที่ศาลสั่งรับฟ้องแล้วได้สั่งให้โจทก์มาศาลในวันเวลานัดตามมาตรา 37 เพื่อที่ศาลจะได้ทำการไกล่เกลี่ยให้คู่ความได้ตกลงกันตามมาตรา 38 เท่านั้น ส่วนกรณีที่โจทก์ไม่มาศาลในวันนัดสืบพยานโจทก์ภายหลังจากนั้น พระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 มิได้บัญญัติวิธีการดำเนินกระบวนพิจารณาไว้โดยเฉพาะ จึงต้องนำเอาประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 200 มาใช้บังคับโดยอนุโลมดังที่บัญญัติไว้ในพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. 2522 มาตรา 31

ย่อยาว

คดีสืบเนื่องมาจากโจทก์ฟ้องขอให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชดใช้เงินพร้อมด้วยดอกเบี้ยแก่โจทก์ ศาลแรงงานกลางมีคำสั่งรับฟ้องให้ส่งหมายเรียกกับสำเนาคำฟ้องแก่จำเลยทั้งสอง นัดพิจารณาและสืบพยานโจทก์วันที่ 9 กรกฎาคม 2535 เวลา 14 นาฬิกา ให้โจทก์มาศาลในวันนัดด้วย ถึงวันนัดทนายโจทก์ จำเลยที่ 2 และทนายจำเลยที่ 2มาศาล ส่วนจำเลยที่ 1 ไม่มี ศาลแรงงานกลางเห็นว่าจำเลยที่ 1ซึ่งทราบนัดแล้วไม่มาศาลโดยไม่แจ้งเหตุขัดข้อง จึงมีคำสั่งว่าจำเลยที่ 1 ขาดนัดและได้ไกล่เกลี่ยคดีระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 2แล้ว ตกลงกันไม่ได้ จึงได้จดประเด็นข้อพิพาทระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 2 ไว้ แล้วสั่งให้โจทก์นำพยานเข้าสืบ ทนายโจทก์แถลงว่ายังไม่พร้อมที่จะสืบพยานในวันนั้นเพราะยังรวบรวมเอกสารได้ไม่ครบขอเลื่อน ศาลแรงงานกลางอนุญาตให้เลื่อนไปนัดสืบพยานโจทก์วันที่ 27 กรกฎาคม 2535 เวลา 9 นาฬิกา และวันที่ 5 สิงหาคม 2535เวลา 13.30 นาฬิกา เมื่อถึงวันที่ 27 กรกฎาคม 2535 เจ้าหน้าที่หน้าบัลลังก์ได้เสนอรายงานต่อศาลว่า ได้เรียกคู่ความตั้งแต่เวลา9 นาฬิกาจนถึงเวลา 9.20 นาฬิกาปรากฏว่าโจทก์จำเลยไม่มาศาลโดยไม่แจ้งเหตุขัดข้องให้ทราบ ศาลแรงงานกลางจึงมีคำสั่งว่าคู่ความทั้งสองฝ่ายทราบนัดโดยชอบแล้วไม่มาศาลโดยไม่แจ้งเหตุขัดข้อง จึงเป็นกรณีคู่ความทั้งสองฝ่ายขาดนัดพิจารณา ให้จำหน่ายคดีออกจากสารบบความ และมีคำสั่งให้ยกเลิกวันนัดวันที่ 5 สิงหาคม2535 เสียด้วย ในวันที่ 27 กรกฎาคม 2535 นั้นเองทนายโจทก์ได้ยื่นคำแถลงต่อศาลเมื่อเวลา 10.36 นาฬิกา ว่า โจทก์มาศาลช้ากว่ากำหนดนัดเป็นเวลาประมาณ 30 นาทีเหตุที่มาช้าเพราะฝนตกหนักตั้งแต่เช้า รถติดตลอดทาง ขอให้ศาลยกคดีขึ้นดำเนินกระบวนพิจารณาต่อไป ตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงานพ.ศ. 2522 มาตรา 40, 41 ด้วย
ศาลแรงงานกลางมีคำสั่งว่า คดีนี้นัดสืบพยานโจทก์ในวันนี้คู่ความทั้งสองฝ่ายขาดนัดพิจารณา ศาลมีคำสั่งจำหน่ายคดีออกจากสารบบความ เป็นกรณีตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 200 พระราชบัญญัติจัดตั้งแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงานพ.ศ.2522 มาตรา 31 โจทก์ไม่มีสิทธิร้องขอพิจารณาคดีใหม่ แต่ไม่ตัดสิทธิโจทก์ที่จะเสนอคำฟ้องของตนใหม่ ให้ยกคำแถลงโจทก์อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า “การที่ศาลแรงงานกลางนำเอาประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 200 ประกอบด้วยพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงานพ.ศ.2522 มาตรา 31 มาปรับแก่คดีแล้วสั่งจำหน่ายคดีออกจากสารบบความชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ โดยโจทก์อุทธรณ์ว่า กรณีนี้จะต้องนำเอาพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงานพ.ศ.2522 มาตรา 40, 41 มาปรับจึงจะชอบ เพราะการที่จะเอาบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาใช้ในการดำเนินกระบวนพิจารณาในคดีแรงงานได้ต่อเมื่อเป็นกรณีที่พระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. 2522 มิได้บัญญัติไว้โดยเฉพาะเท่านั้น แต่กรณีการขาดนัดนั้นพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. 2522 ได้บัญญัติวิธีการไว้โดยเฉพาะแล้วตามมาตรา 40, 41 ฉะนั้น จึงนำเอาประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 200 ประกอบด้วยพระราชบัญญัติ จัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. 2522มาตรา 31 มาใช้บังคับไม่ได้ เห็นว่า บทบัญญัติเกี่ยวกับกรณีขาดนัดที่บัญญัติไว้ในพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 มาตรา 40, 41 นั้น เป็นกรณีที่ศาลสั่งรับฟ้องคดีโจทก์แล้วได้สั่งให้โจทก์มาศาลในวันเวลานัดตามมาตรา 37เพื่อที่ศาลจะได้ทำการไกล่เกลี่ยให้คู่ความได้ตกลงกันตามมาตรา 38เท่านั้น ซึ่งข้อเท็จจริงในคดีนี้เมื่อศาลแรงงานกลางได้มีคำสั่งรับฟ้องของโจทก์แล้วได้นัดพิจารณาในวันที่ 9 กรกฎาคม 2535เวลา 14 นาฬิกา โดยศาลได้สั่งให้โจทก์มาศาลในวันเวลานัดด้วยซึ่งต่อมาโจทก์และจำเลยที่ 2 ก็ได้มาศาลตามวันเวลานัดดังกล่าวและศาลได้ทำการไกล่เกลี่ยตามมาตรา 38 แต่ตกลงกันไม่ได้จึงได้จดประเด็นข้อพิพาทไว้ตามมาตรา 39 และได้นัดสืบพยานโจทก์ในวันที่ 27 กรกฎาคม 2535 เวลา 9 นาฬิกา ซึ่งเห็นได้ว่าการที่โจทก์ไม่มาศาลในวันที่ 27 กรกฎาคม 2535 มิใช่เป็นการไม่มาศาลตามมาตรา 37 เพราะขั้นตอนต่าง ๆ ตามมาตรา 37, 38และ 39 ได้ผ่านพ้นไปแล้ว และกรณีที่โจทก์ไม่มาศาลในวันนัดสืบพยานโจทก์ภายหลังจากนั้น พระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. 2522 มิได้บัญญัติวิธีการดำเนินกระบวนพิจารณาไว้โดยเฉพาะ ดังนั้นจึงต้องนำเอาประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 200 มาใช้บังคับโดยอนุโลมดังที่บัญญัติไว้ในพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงานพ.ศ.2522 มาตรา 31 คำสั่งของศาลแรงงานกลางชอบด้วยกฎหมายแล้ว”
พิพากษายืน

Share