คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 767/2550

แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ

ย่อสั้น

การที่ศาลจะมีอำนาจสั่งริบทรัพย์สินซึ่งบุคคลได้ใช้หรือมีไว้เพื่อใช้ในการกระทำความผิดตาม ป.อ. มาตรา 33 (1) นั้น มีความมุ่งหมายถึงให้ริบตัวทรัพย์สินที่ผู้กระทำความผิดได้ใช้ในการกระทำความผิดนั้น ๆ โดยตรง คือทรัพย์สินนั้นจะต้องเกี่ยวข้องเป็นส่วนหนึ่งของการกระทำความผิดด้วย ซึ่งต้องพิจารณาถึงพฤติการณ์ที่เกิดขึ้นเป็นเรื่อง ๆ ไป สำหรับคดีนี้ โจทก์บรรยายฟ้องว่าจำเลยกับพวกลักทรัพย์โดยในการลักทรัพย์ดังกล่าวจำเลยกับพวกได้ใช้รถจักรยานยนต์ของกลางเป็นยานพาหนะเพื่อสะดวกแก่การกระทำความผิด การพาทรัพย์นั้นไป และเพื่อให้พ้นการจับกุม เมื่อจำเลยให้การรับสารภาพตามฟ้อง และโจทก์จำเลยไม่ติดใจสืบพยานจึงฟังได้ว่าจำเลยกับพวกใช้รถจักรยานยนต์ของกลางเพื่อสะดวกแก่การลักทรัพย์ของผู้เสียหาย หรือพาเอาทรัพย์ของผู้เสียหายที่จำเลยลักได้มานั้นไป หรือเพื่อให้จำเลยพ้นจากการจับกุมเท่านั้น รถจักรยานยนต์ของกลางจึงไม่ใช่ทรัพย์ที่จำเลยได้ใช้ในการกระทำความผิดฐานลักทรัพย์โดยตรงที่ศาลจะมีอำนาจสั่งริบได้ตาม ป.อ. มาตรา 33 (1)

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยกับพวกที่หลบหนีอีก 2 คน ร่วมกันลักสายไฟฟ้าแบบตะกั่วตัดเป็นท่อน ๆ จำนวน 25 กิโลกรัม ราคา 9,800 บาท สายไฟฟ้าแบบทองแดงตัดเป็นท่อน ๆ จำนวน 25 กิโลกรัม ราคา 10,450 บาท รวมราคา 20,250 บาท ของบริษัทไทยซัมมิทแหลมฉบัง โอโตพาร์ท จำกัด ผู้เสียหาย ซึ่งเป็นนายจ้างของจำเลยกับพวกไปโดยทุจริต โดยจำเลยกับพวกใช้รถจักรยานยนต์เป็นยานพาหนะเพื่อสะดวกแก่การกระทำผิด การพาทรัพย์นั้นไปและเพื่อให้พ้นการจับกุม ขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 335, 336 ทวิ, 83 ริบรถจักรยานยนต์ของกลาง
จำเลยให้การรับสารภาพ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 335 (1) (7) (11) วรรคสาม (ที่ถูก วรรคสอง) ประกอบประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 336 ทวิ, 83 จำคุก 4 ปี 4 เดือน จำเลยให้การรับสารภาพเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 กึ่งหนึ่ง คงจำคุก 2 ปี 2 เดือน ริบรถจักรยานยนต์ของกลาง
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำคุก 3 ปี และปรับ 15,000 บาท ลดโทษให้กึ่งหนึ่งแล้ว คงจำคุก 1 ปี 6 เดือน และปรับ 7,500 บาท โทษจำคุกให้รอการลงโทษไว้มีกำหนด 2 ปี คุมความประพฤติจำเลย โดยกำหนดเงื่อนไขให้จำเลยไปรายงานตัวต่อพนักงานคุมประพฤติ 8 ครั้ง ให้จำเลยกระทำกิจกรรมบริการสังคมหรือสาธารณประโยชน์ตามที่พนักงานคุมประพฤติและจำเลยเห็นควรเป็นเวลา 36 ชั่วโมง ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 56 หากจำเลยไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29, 30 ไม่ริบรถจักรยานยนต์ของกลางและให้คืนแก่เจ้าของ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ที่โจทก์ฎีกาขอให้ลงโทษจำคุกจำเลยโดยไม่รอการลงโทษนั้น เห็นว่า จำเลยร่วมกับพวกกระทำความผิดโดยอาศัยโอกาสและความสัมพันธ์กระทำความผิดต่อนายจ้าง และยังใช้รถจักรยานยนต์เป็นยานพาหนะเพื่อความสะดวกในการกระทำผิดอีกด้วย เป็นการกระทำโดยไม่คำนึงถึงความเดือดร้อนของผู้อื่นและความสงบสุขของสังคม พฤติการณ์เป็นเรื่องร้ายแรง การที่ผู้เสียหายซึ่งถูกประทุษร้ายได้ทรัพย์ของกลางคืนไปแล้ว ก็เนื่องจากเจ้าพนักงานจับจำเลยได้พร้อมทรัพย์ดังกล่าว แม้ไม่ปรากฏว่าจำเลยเคยได้รับโทษจำคุกมาก่อนหรือมีประวัติการกระทำความผิดเกี่ยวกับทรัพย์ก็ตาม ก็ยังไม่มีเหตุเพียงพอที่จะรอการลงโทษจำคุกให้จำเลย ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 2 ใช้ดุลพินิจรอการลงโทษจำคุกให้จำเลย โดยลงโทษปรับและคุมความประพฤติด้วยนั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วยฎีกาข้อนี้ของโจทก์ฟังขึ้น
ส่วนที่โจทก์ฎีกาขอให้ริบรถจักรยานยนต์ของกลางนั้น เห็นว่า การที่ศาลจะมีอำนาจสั่งริบทรัพย์สินซึ่งบุคคลได้ใช้หรือมีไว้เพื่อใช้ในการกระทำความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 33 (1) นั้น มีความมุ่งหมายถึงให้ริบตัวทรัพย์สินที่ผู้กระทำความผิดได้ใช้ในการกระทำความผิดนั้น ๆ โดยตรง คือทรัพย์สินนั้นจะต้องเกี่ยวข้องเป็นส่วนหนึ่งของการกระทำความผิดด้วย ซึ่งเป็นพิจารณาถึงพฤติการณืที่เกิดขึ้นเป็นเรื่อง ๆ ไป สำหรับคดีนี้ โจทก์บรรยายฟ้องว่าจำเลยกับพวกลักทรัพย์ โดยในการลักทรัพย์ดังกล่าวจำเลยกับพวกได้ใช้รถจักรยานยนต์ของกลางเป็นยานพาหนะเพื่อสะดวกแก่การกระทำความผิด การพาทรัพย์นั้นไป และเพื่อให้พ้นการจับกุม เมื่อจำเลยให้การรับสารภาพตามฟ้อง และโจทก์จำเลยไม่ติดใจสืบพยานจึงฟังได้ว่าจำเลยกับพวกใช้รถจักรยานยนต์ของกลางเพื่อสะดวกแก่การลักทรัพย์ของผู้เสียหาย หรือพาเอาทรัพย์ของผู้เสียหายที่จำเลยลักได้มานั้นไป หรือเพื่อให้จำเลยพ้นจากการจับกุมเท่านั้น รถจักรยานยนต์ของกลางจึงไม่ใช่ทรัพย์ที่จำเลยได้ใช้ในการกระทำความผิดฐานลักทรัพย์โดยตรง ที่ศาลจะมีอำนาจสั่งริบได้ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 33 (1) ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 2 ไม่ริบรถจักรยานยนต์ของกลางและให้คืนแก่เจ้าของนั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาข้อนี้ของโจทก์ฟังไม่ขึ้น”
พิพากษาแก้เป็นว่า ไม่ลงโทษปรับ ไม่รอการลงโทษและคุมความประพฤติจำเลย นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 2

Share