คำวินิจฉัยที่ 12/2552

แหล่งที่มา : ส่วนเลขานุการคณะกรรมการวินิจฉัยฯ

ย่อสั้น

ไม่มีย่อสั้น

ย่อยาว

(สำเนา)

คำวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล คณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล
ที่ ๑๒/๒๕๕๒

วันที่ ๗ เมษายน ๒๕๕๒

เรื่อง เขตอำนาจศาลเกี่ยวกับพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๔)

ศาลแพ่ง
ระหว่าง
ศาลปกครองกลาง

การส่งเรื่องต่อคณะกรรมการ
ศาลแพ่งโดยสำนักงานศาลยุติธรรมส่งเรื่องให้คณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาลพิจารณาวินิจฉัยชี้ขาดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล พ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๑๐ วรรคหนึ่ง (๓) ซึ่งเป็นกรณีคู่ความฝ่ายที่ถูกฟ้องโต้แย้งเขตอำนาจศาลที่รับฟ้องคดี และศาลที่ส่งความเห็นและศาลที่รับความเห็นมีความเห็นแตกต่างกันในเรื่องเขตอำนาจศาลในคดีนั้น

ข้อเท็จจริงในคดี
เมื่อวันที่ ๑๕ พฤษภาคม ๒๕๔๙ สำนักงานศาลยุติธรรม โจทก์ ยื่นฟ้องบริษัท สหธนาสิน จำกัด ที่ ๑ ธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) ที่ ๒ จำเลย ต่อศาลแพ่ง เป็นคดีหมายเลขดำที่ ๒๐๗๗/๒๕๔๙ ความว่า เมื่อวันที่ ๔ ตุลาคม ๒๕๔๔ โจทก์ตกลงทำสัญญาว่าจ้างจำเลยที่ ๑ ก่อสร้างอาคารที่ทำการศาลจังหวัดสมุย พร้อมบ้านพักและสิ่งก่อสร้างประกอบเป็นเงิน ๑๕๔,๔๖๙,๑๓๗ บาท ตามสัญญาเลขที่ ๑/๒๕๔๕ จำเลยที่ ๒ เป็นผู้ค้ำประกันการปฏิบัติตามสัญญาจ้าง และได้ออกหนังสือ ค้ำประกันในวงเงิน ๗,๗๒๓,๔๕๗ บาท โดยข้อ ๕ ของสัญญาจ้างดังกล่าวโจทก์ตกลงจ่ายเงินล่วงหน้าให้แก่จำเลยที่ ๑ ร้อยละ ๑๕ ของค่าจ้างตามสัญญา จำนวน ๒๓,๑๗๐,๓๗๐.๕๕ บาท ภายหลังจากที่จำเลยที่ ๑ วางหลักประกันการรับเงินค่าจ้างล่วงหน้าเต็มจำนวนแล้ว ต่อมาวันที่ ๔ ธันวาคม ๒๕๔๔ โจทก์และจำเลยที่ ๑ ตกลงทำบันทึกเพิ่มเติมต่อท้ายสัญญาว่าจ้างโดยเปลี่ยนแปลงเรื่องงวดการจ่ายเงินค่าจ้าง และการจ่ายเงินค่าจ้างล่วงหน้าเป็นว่า โจทก์ตกลงจ่ายเงินค่าจ้างล่วงหน้าให้จำเลยที่ ๑ ร้อยละ ๑๕ ของราคาค่าจ้างเป็นเงิน ๒๓,๑๗๐,๓๗๐.๕๕ บาท และจำเลยที่ ๑ ได้รับเงินจำนวนดังกล่าวไปจากโจทก์แล้ว โดยจำเลยที่ ๑ ตกลงกระทำตามเงื่อนไขเกี่ยวกับการใช้จ่ายและการใช้เงินค่าจ้างล่วงหน้าคืนตามสัญญาข้อ ๕ ทุกประการ และมีจำเลยที่ ๒ เป็นผู้ค้ำประกันการรับเงินค่าจ้างล่วงหน้าดังกล่าวในวงเงิน ๒๓,๑๗๐,๓๗๑ บาท โดยออกหนังสือค้ำประกันให้ไว้แก่โจทก์ มีสาระสำคัญว่า หากจำเลยที่ ๑ ไม่ปฏิบัติตามสัญญาหรือเงื่อนไขแนบท้ายสัญญาเป็นเหตุให้ต้องจ่ายเงินค่าจ้างล่วงหน้าที่รับไปคืนแก่โจทก์ หรือจำเลยที่ ๑ มีความผูกพันที่จะต้องจ่ายเงินค่าจ้างล่วงหน้าแก่โจทก์ไม่ว่ากรณีใดๆ จำเลยที่ ๒ ตกลงจะจ่ายคืนเงินค่าจ้างล่วงหน้าเต็มจำนวน ๒๓,๑๗๐,๓๗๑ บาท หรือตามจำนวนที่ค้างอยู่แก่โจทก์ภายใน ๗ วัน นับถัดจากวันได้รับหนังสือบอกกล่าวจากโจทก์ จำเลยที่ ๑ ทำการก่อสร้างงานไปได้เพียงร้อยละ ๒.๒๕ ในขณะที่ใช้ระยะเวลาก่อสร้างไปแล้วถึงร้อยละ ๔๔.๔ คงเหลืองานที่ไม่ได้ก่อสร้างถึงร้อยละ ๙๗.๗๕ ในขณะที่ระยะเวลาก่อสร้างเหลือเพียงร้อยละ ๕๕.๖ เท่านั้น โจทก์มีหนังสือเร่งรัดการก่อสร้าง แต่จำเลยที่ ๑ เพิกเฉย โจทก์จึงบอกเลิกสัญญาไปยังจำเลยที่ ๑ แจ้งขอริบหลักประกัน และขอให้จำเลยที่ ๑ คืนเงินค่าจ้างล่วงหน้าจำนวน ๒๓,๑๗๐,๓๗๐.๕๕ บาท พร้อมดอกเบี้ย และโจทก์ได้มีหนังสือแจ้งให้จำเลยที่ ๒ ชำระเงินตามสัญญาค้ำประกันจำนวน ๒๓,๑๗๐,๓๗๑ บาท ภายใน ๗ วัน จำเลยทั้งสองเพิกเฉย โจทก์ให้บริษัทควบคุมงานของโจทก์ทำการสำรวจและสรุปมูลค่างานในส่วนที่จำเลยที่ ๑ ลงมือดำเนินการไปแล้ว ซึ่งคำนวณได้เป็นเงินจำนวน ๔,๑๑๘,๔๔๖.๙๑ บาท เมื่อหักกับเงินค่าจ้างล่วงหน้าที่จำเลยที่ ๑ รับไปแล้ว คงเหลือเงินที่จำเลยทั้งสองต้องรับผิดคืนโจทก์จำนวน ๑๙,๐๕๑,๙๒๓.๖๔ บาท ต่อมาเมื่อวันที่ ๑๐ กันยายน ๒๕๔๗ โจทก์ยื่นฟ้องจำเลยทั้งสองต่อศาลปกครองกลาง แต่ศาลปกครองกลางมีคำสั่งไม่รับฟ้องโจทก์และจำหน่ายคดีออกจากสารบบความ โจทก์อุทธรณ์ ศาลปกครองสูงสุดมีคำสั่งยืนเนื่องจากพ้นกำหนดระยะเวลาการฟ้องคดีตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๕๑ และการฟ้องคดีดังกล่าวมิได้เป็นข้อพิพาทเกี่ยวกับการคุ้มครองประโยชน์สาธารณะที่ศาลปกครองจะรับไว้พิจารณาตามมาตรา ๕๒ แห่งพระราชบัญญัติเดียวกัน การที่จำเลยที่ ๑ รับเงินค่าจ้างล่วงหน้าจำนวน ๒๓,๑๗๐,๓๗๐.๕๕ บาท ไปจากโจทก์และไม่สามารถดำเนินการก่อสร้างงานให้แล้วเสร็จภายในกำหนดจนกระทั่งโจทก์บอกเลิกสัญญาเงินจำนวนดังกล่าวจึงเป็นเงินที่จำเลยที่ ๑ ได้มาโดยปราศจากมูลอันจะอ้างกฎหมายได้และเป็นทางให้โจทก์เสียเปรียบ อันเป็นลาภมิควรได้ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๔๐๖ โจทก์ย่อมมีสิทธิติดตามเอาคืนซึ่งเงินดังกล่าวได้ตลอดเวลาที่จำเลยที่ ๑ ยังคงยึดถือเงินนั้นอยู่ โจทก์เพิ่งทราบถึงสิทธิเรียกเงินค่าจ้างล่วงหน้าคืนเมื่อวันที่ ๑๐ มิถุนายน ๒๕๔๘ ซึ่งเป็นวันที่ศาลปกครองกลางอ่านคำสั่งศาลปกครองสูงสุด ขอให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงินคืนโจทก์จำนวน ๒๐,๓๘๒,๙๔๘.๔๔ บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ ๗.๕ ต่อปีของต้นเงิน ๑๙,๐๕๑,๙๒๓.๖๔ บาท นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ
จำเลยทั้งสองให้การในทำนองเดียวกันว่า จำเลยที่ ๑ไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์เพราะโจทก์ส่งมอบพื้นที่ที่จะทำการก่อสร้างล่าช้ากว่ากำหนดจึงทำให้การก่อสร้างล่าช้า การก่อสร้างฐานรากต้องทำการระเบิดหิน แต่การขออนุญาตซึ่งโจทก์ตกลงจะเป็นผู้ดำเนินการเป็นไปด้วยความล่าช้า จำเลยที่ ๑ แก้ปัญหาด้วยการใช้รถแทรกเตอร์ขนาดใหญ่ติดหัวสำหรับเจาะหินแต่ได้ปริมาณงานต่อวันเป็นจำนวนน้อย ซึ่งจำเลยที่ ๑ รายงานให้คณะกรรมการตรวจการจ้างของโจทก์ทราบแล้ว การก่อสร้างล่าช้า มิใช่ความผิดของจำเลยที่ ๑ โจทก์จึงไม่มีสิทธิบอกเลิกสัญญาและฟ้องเรียกเงินค่าจ้างล่วงหน้าคืน เมื่อจำเลยที่ ๑ ไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์ จำเลยที่ ๒ จึงไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์เช่นกัน โจทก์ฟ้องเรียกเงินคืนฐานลาภมิควรได้เกินกว่าหนึ่งปี คดีโจทก์จึงขาดอายุความ ขอให้ยกฟ้อง
จำเลยทั้งสองยื่นคำร้องโต้แย้งเขตอำนาจศาลว่า คดีนี้เป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับสัญญาทางปกครอง อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครอง
ศาลแพ่งพิจารณาแล้วเห็นว่า ข้ออ้างซึ่งโจทก์อาศัยเป็นหลักแห่งข้อหาในการฟ้องเรียกเงินคืนจากจำเลยทั้งสองเป็นเรื่องที่โจทก์กล่าวอ้างว่า จำเลยที่ ๑ ไม่มีสิทธิยึดถือเงินค่าจ้างล่วงหน้าที่โจทก์ได้จ่ายให้แก่จำเลยที่ ๑ ไป หลังจากที่โจทก์บอกเลิกสัญญากับจำเลยที่ ๑ แล้ว โจทก์มิได้ฟ้องเรียกเงินจำนวนดังกล่าวจากจำเลยที่ ๑ คืนโดยอาศัยสิทธิจากข้อสัญญาที่โจทก์ทำไว้กับจำเลยที่ ๑ หรือมิได้ฟ้องให้จำเลยที่ ๑ ปฏิบัติตามสัญญาหรือฟ้องบังคับจำเลยที่ ๑ ให้ปฏิบัติตามสัญญาข้อใดข้อหนึ่ง เพราะสัญญาระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ ๑ เลิกกันไปแล้ว ทั้งคำฟ้องของโจทก์ก็มิได้มีคำขอบังคับ หรือเกี่ยวข้องกับการจัดทำบริการสาธารณะ หรือมีคำขออันมีผลทำให้สาระสำคัญของการจัดทำบริการสาธารณะเปลี่ยนแปลงไปจากสัญญา แต่เป็นกรณีที่โจทก์ฟ้องจำเลยที่ ๑ เพื่อใช้สิทธิติดตามเอาทรัพย์ คือเงินค่าจ้างล่วงหน้าที่โจทก์จ่ายไปคืนจากจำเลยที่ ๑ หลังจากที่สัญญาระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ ๑ เลิกกันไปแล้ว การใช้สิทธิของโจทก์ในกรณีนี้เป็นเรื่องการใช้สิทธิติดตามเอาทรัพย์คืนจากผู้ที่ไม่สิทธิยึดถือไว้ อันเป็นการใช้สิทธิในทางแพ่งโดยแท้ ส่วนจำเลยที่ ๒ เป็นผู้ค้ำประกันมีความผูกพันตามสัญญาที่จะต้องรับผิดต่อโจทก์หากจำเลยที่ ๑ ไม่ยอมรับผิดชดใช้เงินคืนโจทก์ สัญญาค้ำประกันที่จำเลยที่ ๒ ทำกับโจทก์เพื่อค้ำประกันจำเลยที่ ๑ จึงมีลักษณะเป็นสัญญาทางแพ่งโดยแท้เช่นเดียวกัน ความรับผิดของจำเลยทั้งสองจะมีต่อโจทก์หรือไม่เพียงใดเป็นลักษณะของนิติกรรมสัญญาหรือนิติเหตุในทางแพ่ง มิใช่ลักษณะของสัญญาทางปกครอง คดีจึงอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม ศาลปกครองกลางพิจารณาแล้วเห็นว่า มูลคดีนี้สืบเนื่องมาจากการที่โจทก์ได้ว่าจ้างจำเลยที่ ๑ ก่อสร้างอาคารที่ทำการศาลจังหวัดสมุย พร้อมบ้านพักและสิ่งก่อสร้างประกอบ ตามสัญญาเลขที่ ๑/๒๕๔๕ ลงวันที่ ๔ ตุลาคม ๒๕๔๔ โดยมีจำเลยที่ ๒ เป็นผู้ค้ำประกันการปฏิบัติตามสัญญาดังกล่าว ต่อมาปรากฏว่า จำเลยที่ ๑ ไม่สามารถทำการก่อสร้างตามสัญญาได้ โจทก์จึงบอกเลิกสัญญากับจำเลยที่ ๑ และใช้สิทธิเรียกค่าเสียหายอันเกิดจากปฏิบัติผิดสัญญาดังกล่าว รวมทั้งเรียกให้จำเลยทั้งสองคืนเงินค่าจ้างล่วงหน้าที่จำเลยที่ ๑ ได้รับตามข้อ ๕ ของสัญญาดังกล่าว เมื่อสัญญาดังกล่าวมีคู่สัญญา ฝ่ายหนึ่งคือโจทก์ซึ่งเป็นหน่วยงานทางปกครอง และเป็นสัญญาที่จัดให้มีสิ่งสาธารณูปโภค สัญญาดังกล่าวจึงเป็นสัญญาทางปกครอง ตามมาตรา ๓ แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ และสัญญาค้ำประกันเพื่อการปฏิบัติตามสัญญาดังกล่าวของจำเลยที่ ๒ ก็เป็นสัญญาอุปกรณ์ของสัญญาทางปกครองดังกล่าว การที่โจทก์บอกเลิกสัญญาดังกล่าวแล้วใช้สิทธิเรียกเงินค่าจ้างล่วงหน้าคืนตามมูลคดีนี้ จึงเป็นข้อพิพาทที่สืบเนื่องมาจากสัญญาทางปกครองดังกล่าว ดังนั้น ข้อพิพาทตามมูลคดีนี้ จึงเป็นข้อพิพาทอันเกี่ยวเนื่องกับสัญญาทางปกครอง ซึ่งอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครอง ตามมาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๔) แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒

คำวินิจฉัย
ปัญหาที่ต้องพิจารณา คดีนี้อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรมหรือศาลปกครอง
คณะกรรมการพิจารณาแล้ว ข้อเท็จจริงตามคำฟ้องคดีนี้สรุปได้ว่า โจทก์ตกลงทำสัญญาว่าจ้างจำเลยที่ ๑ ก่อสร้างอาคารที่ทำการศาลจังหวัดสมุย พร้อมบ้านพักและสิ่งก่อสร้างประกอบเป็นเงิน ๑๕๔,๔๖๙,๑๓๗ บาท ตามสัญญาเลขที่ ๑/๒๕๔๕ จำเลยที่ ๒ เป็นผู้ค้ำประกันการปฏิบัติตามสัญญาจ้างโดยทำหนังสือค้ำประกันในวงเงิน ๗,๗๒๓,๔๕๗ บาท ซึ่งข้อ ๕ ของสัญญาจ้างดังกล่าวโจทก์ตกลงจ่ายเงินล่วงหน้าให้แก่จำเลยที่ ๑ ร้อยละ ๑๕ ของค่าจ้างตามสัญญา จำนวน ๒๓,๑๗๐,๓๗๐.๕๕ บาท จำเลยที่ ๒ เป็นผู้ค้ำประกันการรับเงินค่าจ้างล่วงหน้าดังกล่าวในวงเงิน ๒๓,๑๗๐,๓๗๑ บาท โดยทำหนังสือค้ำประกันให้ไว้แก่โจทก์ จำเลยที่ ๑ ทำการก่อสร้างงานไปได้เพียงร้อยละ ๒.๒๕ แต่ใช้ระยะเวลาก่อสร้างถึงร้อยละ ๔๔.๔ คงเหลืองานที่ไม่ได้ก่อสร้างถึงร้อยละ ๙๗.๗๕ ในขณะที่ระยะเวลาก่อสร้างคงเหลือเพียงร้อยละ ๕๕.๖ โจทก์มีหนังสือเร่งรัดการก่อสร้างแต่จำเลยที่ ๑ เพิกเฉย โจทก์จึงบอกเลิกสัญญาไปยังจำเลยที่ ๑ แจ้งขอริบหลักประกัน และขอให้จำเลยที่ ๑ คืนเงินค่าจ้างล่วงหน้าจำนวน ๒๓,๑๗๐,๓๗๐.๕๕ บาท พร้อมดอกเบี้ย และโจทก์ได้มีหนังสือแจ้งให้จำเลยที่ ๒ ชำระเงินตามสัญญาค้ำประกันจำนวน ๒๓,๑๗๐,๓๗๑ บาท ภายใน ๗ วัน จำเลยทั้งสองเพิกเฉย มูลค่างานที่จำเลยที่ ๑ ทำการก่อสร้างไปแล้วคำนวณได้เป็นเงินจำนวน ๔,๑๑๘,๔๔๖.๙๑ บาท เมื่อหักกับเงินค่าจ้างล่วงหน้าที่จำเลยที่ ๑ รับไปแล้ว คงเหลือเงินที่จำเลยทั้งสองต้องรับผิดคืน โจทก์จำนวน ๑๙,๐๕๑,๙๒๓.๖๔ บาท ต่อมาโจทก์ยื่นฟ้องจำเลยทั้งสองต่อศาลปกครองกลาง ศาลปกครองกลางมีคำสั่งไม่รับฟ้องโจทก์และจำหน่ายคดีออกจากสารบบความ โจทก์อุทธรณ์ ศาลปกครองสูงสุดมีคำสั่งยืนเนื่องจากพ้นกำหนดระยะเวลาการฟ้องคดีและมิได้เป็นข้อพิพาทเกี่ยวกับการคุ้มครองประโยชน์สาธารณะที่ศาลปกครองจะรับไว้พิจารณา การที่จำเลยที่ ๑ รับเงินค่าจ้างล่วงหน้าไปจากโจทก์และไม่ดำเนินการก่อสร้างงานให้แล้วเสร็จภายในกำหนดจนกระทั่งโจทก์บอกเลิกสัญญา เงินจำนวนดังกล่าวจึงเป็นเงินที่จำเลยที่ ๑ ได้มาโดยปราศจากมูลอันจะอ้างกฎหมายได้และเป็นทางให้โจทก์เสียเปรียบ อันเป็นลาภมิควรได้ โจทก์ย่อมมีสิทธิติดตามเอาคืนซึ่งเงินดังกล่าวได้ตลอดเวลา ที่จำเลยที่ ๑ ยังคงยึดถือเงินนั้นอยู่ โจทก์เพิ่งทราบถึงสิทธิเรียกเงินค่าจ้างล่วงหน้าคืนเมื่อวันที่ศาลปกครองกลางอ่านคำสั่งศาลปกครองสูงสุด ขอให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงินคืนพร้อมดอกเบี้ยนับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ จำเลยทั้งสองให้การในทำนองเดียวกันว่า จำเลยที่ ๑ ไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์เพราะโจทก์ส่งมอบพื้นที่ที่จะทำการก่อสร้างล่าช้ากว่ากำหนด จึงทำให้การก่อสร้างล่าช้า การก่อสร้างฐานรากต้องทำการระเบิดหิน แต่การขออนุญาตซึ่งโจทก์ตกลงจะเป็นผู้ดำเนินการเป็นไปด้วยความล่าช้า การก่อสร้างล่าช้ามิใช่ความผิดของจำเลยที่ ๑ โจทก์จึงไม่มีสิทธิบอกเลิกสัญญาและฟ้องเรียกเอาเงินค่าจ้างล่วงหน้าคืน เมื่อจำเลยที่ ๑ ไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์ จำเลยที่ ๒ จึงไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์เช่นกัน คดีโจทก์ขาดอายุความ
คดีจึงมีประเด็นที่ต้องพิจารณาว่า สัญญาว่าจ้างก่อสร้างอาคารที่ทำการศาลจังหวัดสมุย พร้อมบ้านพักและสิ่งก่อสร้างประกอบเป็นสัญญาทางแพ่งหรือสัญญาทางปกครอง เห็นว่า มาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๔) แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ บัญญัติให้ศาลปกครองมีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีพิพาทเกี่ยวกับสัญญาทางปกครอง และมาตรา ๓ แห่งพระราชบัญญัติเดียวกัน บัญญัติให้สัญญาทางปกครอง หมายความรวมถึง สัญญาที่คู่สัญญาอย่างน้อยฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งเป็นหน่วยงานทางปกครองหรือเป็นบุคคลผู้กระทำการแทนรัฐ และมีลักษณะเป็นสัญญาสัมปทาน สัญญาที่ให้จัดทำบริการสาธารณะ หรือจัดให้มีสิ่งสาธารณูปโภคหรือแสวงประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติ คดีนี้สำนักงานศาลยุติธรรม โจทก์ ซึ่งเป็นคู่สัญญาฝ่ายหนึ่งเป็นนิติบุคคลตามพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการศาลยุติธรรม พ.ศ. ๒๕๔๓ ตามมาตรา ๕ โจทก์จึงมีฐานะเป็นหน่วยงานทางปกครอง และมีอำนาจหน้าที่เกี่ยวกับงานธุรการของศาลยุติธรรม งานส่งเสริมงานตุลาการและงานวิชาการ ทั้งนี้เพื่อสนับสนุนและอำนวยความสะดวกให้แก่ศาลยุติธรรม รวมทั้งเสริมสร้างให้การพิจารณาพิพากษาคดีเป็นไปโดยสะดวก รวดเร็วและมีประสิทธิภาพ ตามมาตรา ๖ อันเป็นการจัดทำบริการสาธารณะ การที่โจทก์ตกลงทำสัญญาว่าจ้างให้จำเลยที่ ๑ ก่อสร้างอาคารที่ทำการศาลจังหวัดสมุย พร้อมบ้านพักและสิ่งก่อสร้างประกอบ จึงเป็นการจัดให้มีอาคารเพื่อให้การจัดทำบริการสาธารณะของโจทก์ซึ่งเป็นหน่วยงานทางปกครองให้บรรลุผล สัญญาจ้างก่อสร้างอาคารที่ทำการศาลจังหวัดสมุย พร้อมบ้านพักและสิ่งก่อสร้างประกอบระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ ๑ จึงเป็นสัญญาทางปกครอง เมื่อมูลเหตุที่โจทก์ฟ้องคดีนี้ โจทก์อ้างว่าโจทก์ได้ใช้สิทธิบอกเลิกสัญญาแล้ว โจทก์ฟ้องจำเลยทั้งสองต่อศาลปกครองกลางจนศาลปกครองสูงสุดมีคำสั่งยืนไม่รับฟ้อง โจทก์จึงเพิ่งทราบในวันที่ศาลปกครองกลางอ่านคำสั่งศาลปกครองสูงสุดว่าโจทก์มีสิทธิเรียกเงินคืนฐานลาภมิควรได้ จึงเป็นข้อพิพาทที่สืบเนื่องจากสัญญาทางปกครองดังกล่าว กรณีจึงเป็นคดีพิพาทที่เกี่ยวกับสัญญาทางปกครอง อันอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครอง ตามมาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๔) แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ สำหรับสัญญาระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ ๒ เป็นสัญญาค้ำประกันเพื่อการปฏิบัติตามสัญญาจ้างก่อสร้างอาคารที่ทำการศาลจังหวัดสมุย พร้อมบ้านพักและสิ่งก่อสร้างประกอบซึ่งเป็นสัญญาหลัก เมื่อสัญญาหลักเป็นสัญญาทางปกครองและข้อพิพาทเกี่ยวกับสัญญาดังกล่าวอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครอง ข้อพิพาทเกี่ยวกับสัญญาค้ำประกันของจำเลยที่ ๒ ซึ่งเป็นสัญญาอุปกรณ์ จึงอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครองเช่นเดียวกัน
จึงวินิจฉัยชี้ขาดว่า คดีระหว่างสำนักงานศาลยุติธรรม โจทก์ บริษัทสหธนาสิน จำกัด ที่ ๑ ธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) ที่ ๒ จำเลย อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครอง

ติดราชการ (ลงชื่อ) สุวัฒน์ วรรธนะหทัย
(นายวิรัช ลิ้มวิชัย) (นายสุวัฒน์ วรรธนะหทัย)
ประธานศาลฎีกา กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลยุติธรรม

(ลงชื่อ) อักขราทร จุฬารัตน (ลงชื่อ) จรัญ หัตถกรรม
(นายอักขราทร จุฬารัตน) (นายจรัญ หัตถกรรม)
ประธานศาลปกครองสูงสุด กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลปกครอง

(ลงชื่อ) พลโท ศานิต สร้างสมวงษ์ (ลงชื่อ) พลโท อาชวัน อินทรเกสร
(ศานิต สร้างสมวงษ์) (อาชวัน อินทรเกสร)
หัวหน้าสำนักตุลาการทหาร กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลทหาร

(ลงชื่อ) พรชัย รัศมีแพทย์
(นายพรชัย รัศมีแพทย์)
กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ

คมศิลล์ คัด/ทาน
??

??

??

??

Share