แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
แม้สัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชีรวมทั้งสัญญาเพิ่มวงเงินกู้เบิกเงินเกินบัญชีซึ่งต้องด้วยลักษณะของสัญญาบัญชีเดินสะพัดจะไม่มีกำหนดเวลา แต่สัญญาบัญชีเดินสะพัดเป็นเอกเทศสัญญาที่มีลักษณะเฉพาะ โดยสัญญาจะคงสภาพอยู่ต่อไปได้ก็จะต้องมีการสะพัดทางบัญชีอย่างต่อเนื่องและภายในระยะเวลาอันสมควร ข้อเท็จจริงปรากฏว่า ภ. ได้นำเงินเข้าบัญชีเพื่อหักทอนอันเป็นการเดินสะพัดทางบัญชีครั้งสุดท้าย เมื่อวันที่ 14 มีนาคม 2526 แล้วไม่มีการเดินสะพัดทางบัญชีกันอีกเลย นับถึงวันที่ ภ. สิ้นพระชนม์เป็นเวลานานเกือบ 12 ปี แสดงว่า ภ. มีเจตนาเลิกสัญญากับโจทก์โดยปริยายแล้ว โจทก์เป็นสถาบันการเงินมีหน้าที่ต้องตรวจตราบัญชีของลูกค้าอยู่ตลอดเวลาว่ามีการเคลื่อนไหวอย่างไร เมื่อปรากฏว่า ภ. ซึ่งเป็นลูกค้าของโจทก์ไม่มีการเคลื่อนไหวทางบัญชี โจทก์ย่อมจะต้องทวงถามหรือบอกเลิกสัญญาในเวลาอันสมควร มิใช่ถือโอกาสใช้สิทธิคิดดอกเบี้ยทบต้นในระยะเวลายาวนานเกินสมควรเช่นนี้ ถือได้ว่าการใช้สิทธิของโจทก์มิได้กระทำโดยสุจริต โดยถือว่าสัญญาเลิกกันตั้งแต่วันที่ ภ. มีเจตนาเลิกสัญญากับโจทก์โดยปริยายคือวันที่ 14 มีนาคม 2526 อันเป็นวันที่ ภ. เดินสะพัดทางบัญชีเป็นครั้งสุดท้าย สิทธิเรียกร้องของโจทก์ตามสัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชีจึงเกิดขึ้นนับแต่นั้น สิทธิเรียกร้องตามสัญญาดังกล่าวมีกำหนดอายุความ 10 ปี โจทก์นำคดีมาฟ้องเมื่อวันที่ 5 กุมภาพันธ์ 2539 พ้นกำหนด 10 ปี หนี้ตามสัญญาบัญชีเดินสะพัดจึงขาดอายุความ แต่อย่างไรก็ตามเมื่อปรากฏว่า ภ. ได้นำที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างมาจดทะเบียนจำนองเพื่อเป็นประกันหนี้ดังกล่าวในวงเงิน 5,500,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 15 ต่อปี โดยมีข้อตกลงว่าหากโจทก์บังคับจำนองได้เงินไม่พอชำระหนี้ยอมให้บังคับเอาจากทรัพย์สินอื่นจนกว่าจะครบ ดังนี้ แม้หนี้ตามสัญญาบัญชีเดินสะพัดดังกล่าวจะขาดอายุความ แต่กรณีต้องด้วย ป.พ.พ. มาตรา 193/27 และมาตรา 745 กล่าวคือ โจทก์ซึ่งเป็นผู้รับจำนองจะบังคับชำระหนี้จากทรัพย์สินที่จำนองแม้เมื่อหนี้ที่จำนองเป็นประกันนั้นขาดอายุความแล้วก็ได้ แต่จะบังคับให้ชำระดอกเบี้ยที่ค้างชำระย้อนหลังเกินกว่าห้าปีไม่ได้ และคงบังคับได้แต่เฉพาะทรัพย์สินที่ ภ. จำนองไว้เท่านั้น จะบังคับจากทรัพย์สินอื่นอีกหาได้ไม่ ถึงแม้ว่าตามสัญญาจำนองจะกำหนดให้บังคับเอาจากทรัพย์สินอื่นจนกว่าจะครบ หากบังคับจำนองได้เงินไม่พอชำระหนี้ก็ตาม
(ประชุมใหญ่ครั้งที่ 3/2548)
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยชำระเงิน 47,574,591.60 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี ในต้นเงิน 41,369,210.14 บาท นับถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ หากไม่ชำระให้นำที่ดินโฉนดเลขที่ 5334 และ 5335 ตำบลสามเสนใน (สามเสนในฝั่งเหนือ) อำเภอพญาไท (บางซื่อ) กรุงเทพมหานคร พร้อมสิ่งปลูกสร้างและทรัพย์สินอื่นในกองมรดกของพระเจ้าวรวงศ์เธอพระองค์เจ้าภาณุพันธ์ยุคลออกขายทอดตลาดเอาเงินชำระหนี้ให้โจทก์จนกว่าจะครบ
จำเลยให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง ค่าฤชาธรรมเนียมให้เป็นพับ
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงชั้นฎีกาฟังได้ในเบื้องต้นว่า จำเลยเป็นชายาของพระเจ้าวรวงศ์เธอพระองค์เจ้าภาณุพันธ์ยุคลซึ่งสิ้นพระชนม์ไปแล้วเมื่อวันที่ 5 กุมภาพันธ์ 2538 ก่อนสิ้นพระชนม์พระเจ้าวรวงศ์เธอพระองค์เจ้าภาณุพันธ์ยุคลได้เปิดบัญชีเดินสะพัดประเภทเงินฝากกระแสรายวันไว้กับธนาคารโจทก์สำนักงานใหญ่ บัญชีเลขที่ 001-3-9703-8 ซึ่งมีวิธีการเบิกถอนเงินออกจากบัญชีโดยการออกเช็คสั่งจ่ายเงิน และวันที่ 25 สิงหาคม 2520 พระเจ้าวรวงศ์เธอพระองค์เจ้าภาณุพันธ์ยุคลได้ทำสัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชีเพื่อเบิกเงินจากบัญชีดังกล่าวไว้ในวงเงิน 4,000,000 บาท ดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี ชำระเป็นรายเดือนทุก ๆ วันสิ้นเดือน หากผิดนัดยอมให้นำดอกเบี้ยที่ค้างชำระทบเป็นต้นเงินได้ตามประเพณีของธนาคาร โดยจดทะเบียนจำนองที่ดินโฉนดเลขที่ 5334 และ 5335 ตำบลสามเสนใน (สามเสนในฝั่งเหนือ) อำเภอพญาไท (บางซื่อ) กรุงเทพมหานคร พร้อมสิ่งปลูกสร้างเป็นประกันไว้ในวงเงิน 4,000,000 บาท มีข้อตกลงว่าหากโจทก์บังคับจำนองได้เงินไม่พอชำระหนี้ยอมให้บังคับเอาจากทรัพย์สินอื่นจนกว่าจะครบ ต่อมาวันที่ 27 มิถุนายน 2521 พระเจ้าวรวงศ์เธอพระองค์เจ้าภาณุพันธ์ยุคลได้เพิ่มวงเงินกู้เบิกเงินเกินบัญชีอีก 1,500,000 บาท รวมเป็น 5,500,000 บาท และจดทะเบียนเพิ่มวงเงินจำนองทรัพย์สินดังกล่าวเป็นประกันอีก 1,500,000 บาท เป็น 5,500,000 บาท วันที่ 11 มิถุนายน 2525 พระเจ้าวรวงศ์เธอพระองค์เจ้าภาณุพันธ์ยุคลได้นำเงินเข้าบัญชีเพื่อหักทอนจำนวน 5,000,000 บาท และวันที่ 14 มีนาคม 2526 นำเข้าอีก 1,582.18 บาท จากนั้นมิได้มีการนำเงินเข้าบัญชีหรือเบิกถอนเงินออกจากบัญชีอีก มีปัญหาต้องวินิจฉัยว่า หนี้ตามสัญญาบัญชีเดินสะพัดขาดอายุความหรือไม่ ศาลฎีกาโดยมติที่ประชุมใหญ่เห็นว่า แม้สัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชีรวมทั้งสัญญาเพิ่มวงเงินกู้เบิกเงินเกินบัญชีระหว่างโจทก์กับพระเจ้าวรวงศ์เธอพระองค์เจ้าภาณุพันธ์ยุคลซึ่งต้องด้วยลักษณะของสัญญาบัญชีเดินสะพัดจะไม่มีกำหนดเวลา แต่สัญญาบัญชีเดินสะพัดเป็นเอกเทศสัญญาที่มีลักษณะเฉพาะโดยสัญญาจะคงสภาพอยู่ต่อไปได้ก็จะต้องมีการสะพัดทางบัญชีอย่างต่อเนื่องและภายในระยะเวลาอันสมควร ข้อเท็จจริงปรากฏว่าพระเจ้าวรวงศ์เธอพระองค์เจ้าภาณุพันธ์ยุคลได้นำเงินเข้าบัญชีเพื่อหักทอนอันเป็นการเดินสะพัดทางบัญชีครั้งสุดท้าย เมื่อวันที่ 14 มีนาคม 2526 แล้วไม่มีการเดินสะพัดทางบัญชีกันอีกเลย นับถึงวันที่พระเจ้าวรวงศ์เธอพระองค์เจ้าภาณุพันธ์ยุคลสิ้นพระชนม์เป็นเวลานานเกือบ 12 ปี แสดงว่าพระเจ้าวรวงศ์เธอพระองค์เจ้าภาณุพันธ์ยุคลมีเจตนาเลิกสัญญากับโจทก์โดยปริยายแล้ว โจทก์เป็นสถาบันการเงินมีหน้าที่ต้องตรวจตราบัญชีของลูกค้าอยู่ตลอดเวลาว่ามีการเคลื่อนไหวอย่างไร เมื่อปรากฏว่าพระเจ้าวรวงศ์เธอพระองค์เจ้าภาณุพันธ์ยุคลซึ่งเป็นลูกค้าของโจทก์ไม่มีการเคลื่อนไหวทางบัญชี โจทก์ย่อมจะต้องทวงถามหรือบอกเลิกสัญญาในเวลาอันสมควร มิใช่ถือโอกาสใช้สิทธิคิดดอกเบี้ยทบต้นเอาแก่พระเจ้าวรวงศ์เธอพระองค์เจ้าภาณุพันธ์ยุคลในระยะเวลายาวนานเกินสมควรเช่นนี้ ถือได้ว่าการใช้สิทธิของโจทก์มิได้กระทำโดยสุจริต โดยถือว่าสัญญาเลิกกันตั้งแต่วันที่พระเจ้าวรวงศ์เธอพระองค์เจ้าภาณุพันธ์ยุคลมีเจตนาเลิกสัญญากับโจทก์โดยปริยายคือวันที่ 14 มีนาคม 2526 อันเป็นวันที่พระเจ้าวรวงศ์เธอพระองค์เจ้าภาณุพันธ์ยุคลเดินสะพัดทางบัญชีเป็นครั้งสุดท้าย สิทธิเรียกร้องของโจทก์ตามสัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชีจึงเกิดขึ้นนับแต่นั้น สิทธิเรียกร้องตามสัญญาดังกล่าวมีกำหนดอายุความ 10 ปี โจทก์นำคดีมาฟ้องเมื่อวันที่ 5 กุมภาพันธ์ 2539 พ้นกำหนด 10 ปี หนี้ตามสัญญาบัญชีเดินสะพัดจึงขาดอายุความ แต่อย่างไรก็ตามเมื่อปรากฏว่าพระเจ้าวรวงศ์เธอพระองค์เจ้าภาณุพันธ์ยุคลได้นำที่ดินโฉนดเลขที่ 5334 และ 5335 ตำบลสามเสนใน (สามเสนในฝั่งเหนือ) อำเภอพญาไท (บางซื่อ) กรุงเทพมหานคร พร้อมสิ่งปลูกสร้างมาจดทะเบียนจำนองเพื่อเป็นประกันหนี้ดังกล่าวในวงเงิน 5,500,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 15 ต่อปี โดยมีข้อตกลงว่าหากโจทก์บังคับจำนองได้เงินไม่พอชำระหนี้ยอมให้บังคับเอาจากทรัพย์สินอื่นจนกว่าจะครบ ดังนี้ แม้หนี้ตามสัญญาบัญชีเดินสะพัดดังกล่าวจะขาดอายุความตามที่วินิจฉัยข้างต้น แต่กรณีต้องด้วย ป.พ.พ. มาตรา 193/27 และมาตรา 745 กล่าวคือ โจทก์ซึ่งเป็นผู้รับจำนองจะบังคับชำระหนี้จากทรัพย์สินที่จำนองแม้เมื่อหนี้ที่จำนองเป็นประกันนั้นขาดอายุความแล้วก็ได้ แต่จะบังคับให้ชำระดอกเบี้ยที่ค้างชำระย้อนหลังเกินกว่าห้าปีไม่ได้ และคงบังคับได้แต่เฉพาะทรัพย์สินที่พระเจ้าวรวงศ์เธอพระองค์เจ้าภาณุพันธ์ยุคลจำนองไว้เท่านั้นตามกฎหมายข้างต้น จะบังคับจากทรัพย์สินอื่นอีกหาได้ไม่ ถึงแม้ว่าตามสัญญาจำนองจะกำหนดให้บังคับเอาจากทรัพย์สินอื่นจนกว่าจะครบหากบังคับจำนองได้เงินไม่พอชำระหนี้ก็ตาม ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษายกฟ้องมานั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย ฎีกาโจทก์ฟังขึ้นบางส่วน
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยในฐานะทายาทและในฐานะผู้จัดการมรดกของพระเจ้าวรวงศ์เธอพระองค์เจ้าภาณุพันธ์ยุคลชำระเงิน 5,500,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 15 ต่อปี ในต้นเงินดังกล่าว นับแต่วันฟ้องย้อนหลังขึ้นไปเป็นเวลาห้าปีกับนับแต่วันถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ หากไม่ชำระให้ยึดเฉพาะทรัพย์จำนองคือที่ดินโฉนดเลขที่ 5334 ถึง 5335 ตำบลสามเสนใน (สามเสนในฝั่งเหนือ) อำเภอพญาไท (บางซื่อ) กรุงเทพมหานคร พร้อมสิ่งปลูกสร้าง ออกขายทอดตลาดนำเงินมาชำระหนี้ให้โจทก์ ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสามศาลให้เป็นพับ.