คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4053/2549

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ศาลชั้นต้นลงโทษประหารชีวิต ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นจำคุกตลอดชีวิตและปรับ 3,000,000 บาท เป็นการแก้เฉพาะโทษ ซึ่งเป็นกรณีศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้ไขเล็กน้อยและให้ลงโทษจำคุกจำเลยเกินห้าปี คดีต้องห้ามมิให้โจทก์ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงตาม ป.วิ.อ. มาตรา 218 วรรคสอง ที่โจทก์ฎีกาว่า จำเลยมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายเป็นจำนวนมาก และจำเลยให้การรับสารภาพเพราะจำนนต่อหลักฐาน ขอให้ลงโทษประหารชีวิต เป็นฎีกาคัดค้านดุลพินิจในการลงโทษ เป็นฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง จึงต้องห้ามฎีกาตามบทบัญญัติดังกล่าว
ขณะจำเลยกระทำความผิด การกระทำของจำเลยเป็นความผิดตาม พ.ร.บ. ยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. 2522 มาตรา 15 วรรคสอง (เดิม) ซึ่งต้องระวางโทษจำคุกตลอดชีวิตหรือประหารชีวิตตามมาตรา 66 วรรคสอง (เดิม) ต่อมาในระหว่างการพิจารณาของศาลชั้นต้นมี พ.ร.บ. ยาเสพติดให้โทษ (ฉบับที่ 5) พ.ศ. 2545 มาตรา 8 และมาตรา 19 ยกเลิกความในมาตรา 5 และมาตรา 66 และให้ใช้ข้อความใหม่ซึ่งแตกต่างจากเดิมโดยมีผลให้การกระทำความผิดของจำเลยเป็นความผิดตามมาตรา 15 วรรคสาม (2) (ที่แก้ไขใหม่) และต้องระวางโทษจำคุกตลอดชีวิตและปรับ 1,000,000 บาท ถึง 5,000,000 บาท หรือประหารชีวิต ตามมาตรา 66 วรรคสาม (ที่แก้ไขใหม่) ซึ่งระวางโทษหนักกว่าระวางโทษตามมาตรา 66 วรรคสอง (เดิม) เนื่องจากมีระวางโทษปรับเพิ่มมาด้วย กรณีจึงต้องใช้กฎหมายที่ใช้ในขณะจำเลยกระทำความผิดที่เป็นคุณแก่จำเลยบังคับแก่จำเลยตาม ป.อ. มาตรา 3 การที่ศาลล่างทั้งสองใช้กฎหมายที่แก้ไขใหม่บังคับแก่จำเลยจึงไม่ชอบด้วยบทบัญญัติดังกล่าว แม้คู่ความจะไม่ฎีกาในปัญหานี้และศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัยฎีกาของโจทก์เพราะต้องห้ามตามกฎหมายก็ตาม แต่ปัญหานี้เป็นปัญหาข้อกฎหมายอันเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตาม พ.ร.บ. ยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. 2522 มาตรา 4, 7, 8, 15, 66, 67, 102 ป.อ. มาตรา 32, 33 ริบเมทแอมเฟตามีนและรถยนต์ของกลาง
จำเลยให้การรับสารภาพ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตาม พ.ร.บ. ยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. 2522 มาตรา 15 วรรคสาม, 66 วรรคสาม, 102 ป.อ. มาตรา 32, 33 ให้วางโทษประหารชีวิต คำให้การรับสารภาพของจำเลยเป็นการจำนนต่อพยานหลักฐาน จึงไม่มีเหตุบรรเทาโทษที่จะลดโทษให้ ริบเมทแอมเฟตามีนและรถยนต์ของกลาง
จำเลยอุทธรณ์ขอให้ลงโทษสถานเบาและลดโทษ
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ลงโทษจำคุกตลอดชีวิต และปรับ 3,000,000 บาท จำเลยให้การรับสารภาพมาโดยตลอด นับว่าเป็นเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้กึ่งหนึ่ง ตาม ป.อ. มาตรา 78 ประกอบมาตรา 53 คงจำคุกจำเลย 25 ปี และปรับ 1,500,000 บาท ไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตาม ป.อ. มาตรา 29, 30 โดยให้กักขังแทนเป็นเวลา 1 ปี นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า คดีนี้ศาลชั้นต้นพิพากษาลงโทษประหารชีวิต ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ลงโทษจำคุกตลอดชีวิต และปรับ 3,000,000 บาท ลดโทษให้กึ่งหนึ่ง ตาม ป.อ. มาตรา 78 ประกอบมาตรา 53 คงจำคุก 25 ปี และปรับ 1,500,000 บาท ซึ่งเป็นการแก้เฉพาะโทษ กรณีเป็นการแก้ไขเล็กน้อย และให้ลงโทษจำคุกจำเลยเกินห้าปี จึงห้ามมิให้โจทก์ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงตาม ป.วิ.อ. มาตรา 218 วรรคสอง ที่โจทก์ฎีกาว่าเมทแอมเฟตามีนของกลางมีจำนวนมากถึง 60,000 เม็ด จำเลยไม่เกรงกลัวต่อกฎหมายบ้านเมือง และให้การรับสารภาพเพราะจำนนต่อหลักฐาน ขอให้ลงโทษจำเลยตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นอันหมายถึงให้ลงโทษประหารชีวิตนั้น เป็นฎีกาดุลพินิจในการลงโทษ จึงเป็นฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงซึ่งต้องห้ามมิให้โจทก์ฎีกาตามบทกฎหมายดังกล่าว ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย อย่างไรก็ตามศาลฎีกาเห็นว่า แม้ระหว่างการพิจารณาของศาลชั้นต้นจะได้มี พ.ร.บ. ยาเสพติดให้โทษ (ฉบับที่ 5) พ.ศ. 2545 มาตรา 8 และมาตรา 19 ยกเลิกความในมาตรา 15 และมาตรา 66 แห่ง พ.ร.บ. ยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. 2522 และให้ใช้ข้อความใหม่แทน แต่กฎหมายที่แก้ไขใหม่ไม่เป็นคุณแก่จำเลย จึงต้องใช้กฎหมายเดิมซึ่งเป็นกฎหมายที่ใช้ในขณะกระทำผิดแก่จำเลย การที่ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ใช้กฎหมายที่แก้ไขใหม่บังคับแก่จำเลยโดยพิพากษาว่าจำเลยมีความผิดตามมาตรา 15 วรรคสาม และลงโทษตามมาตรา 66 วรรคสาม ซึ่งมีระวางโทษจำคุกตลอดชีวิต และปรับ 1,000,000 บาท ถึง 5,000,000 บาท หรือประหารชีวิต แทนที่จะพิพากษาว่าจำเลยมีความผิดตามมาตรา 15 วรรคสอง (เดิม) และลงโทษตามมาตรา 66 วรรคสอง (เดิม) ซึ่งมีระวางโทษจำคุกตลอดชีวิตหรือประหารชีวิต ตามกฎหมายที่ใช้ในขณะกระทำความผิดซึ่งเป็นคุณกว่า จึงไม่ถูกต้อง ปัญหาดังกล่าวเป็นข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย ศาลฎีกาจึงมีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยและแก้ไขปรับบทกฎหมายและแก้ไขโทษเสียใหม่ให้ถูกต้องได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225
พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยมีความผิดตาม พ.ร.บ. ยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. 2522 มาตรา 15 วรรคสอง (เดิม), 66 วรรคสอง (เดิม) ไม่ปรับจำเลย นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์.

Share