คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1509/2549

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

หนังสือขอกู้เงินและบันทึกต่อท้ายขอยืมเงินเพิ่มเอกสารหมาย จ.7 ด้านหน้ามีสาระสำคัญเพียงว่า จำเลยมีความจำเป็นขอยืมเงินจากโจทก์เป็นการส่วนตัวก่อน 14,000 บาท กับที่เคยยืมแล้ว 200,000 บาท รวมจำนวนเงินยืม 214,000 บาท ลงชื่อจำเลยผู้กู้ยืม โจทก์ให้กู้ยืม ส่วนด้านหลังเป็นบันทึกต่อท้ายว่า ขอยืมเงินเพิ่มอีกหลายครั้ง รวมเป็นจำนวนเงิน 380,000 บาท ลงชื่อจำเลยไว้ทุกครั้ง เอกสารดังกล่าวจึงเป็นเพียงหลักฐานแห่งการกู้ยืมเงินเป็นหนังสือตาม ป.พ.พ. มาตรา 353 อย่างหนึ่งเท่านั้น มิใช่เป็นหนังสือสัญญากู้ยืมเงินอันจะต้องเสียอากรตามลักษณะแห่งตราสาร 5 บัญชีอัตราอากรแสตมป์ท้ายหมวด 6 อากรแสตมป์แห่ง ป. รัษฏากรแต่อย่างใด ทั้งเอกสารหมาย จ.7 ทำขึ้นภายหลังเอกสารหมาย จ.6 เป็นเอกสารคนละฉบับที่แยกต่างหากจากสัญญากู้ยืมเงินเอกสารหมาย จ.6 ไม่ใช่บันทึกต่อท้ายเอกสารหมาย จ.6 จึงใช้อ้างเป็นพยานหลักฐานในคดีแพ่งได้

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยชำระเงินจำนวน 610,976.96 บาท แก่โจทก์พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี ของต้นเงิน 380,000 บาท นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ
จำเลยให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยชำระเงินจำนวน 380,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 26 พฤศจิกายน 2544 เป็นต้นไป จนกว่าจะชำระเสร็จ กับให้จำเลยใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความ 3,000 บาท เฉพาะค่าขึ้นศาลให้ใช้แทนตามทุนทรัพย์ที่โจทก์ชนะคดี
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน ให้จำเลยใช้ค่าทนายความในชั้นอุทธรณ์ 1,500 บาท แทนโจทก์
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงที่โจทก์และจำเลยไม่โต้เถียงกันในชั้นฎีกาฟังได้ว่า วันที่ 22 พฤษภาคม 2538 โจทก์และจำเลยได้ทำสัญญาประนีประนอมยอมความในการแบ่งมรดกว่า โจทก์ตกลงจะใช้เงินจำนวน 2,000,000 บาท ให้แก่จำเลย ต่อเมื่อได้ขายตึกแถวในซอยโชคชัย 4 ซึ่งจะแบ่งชำระจากส่วนที่ได้รับจากผู้ซื้อ โดยให้ผู้ซื้อทำตั๋วแลกเงินจำนวนดังกล่าวจ่ายให้ในนามของจำเลย วันที่ 14 ตุลาคม 2539 จำเลยได้ทำสัญญากู้ยืมเงินกับโจทก์ว่าได้กู้ยืมเงินจากโจทก์จำนวน 200,000 บาท และได้รับเงินกู้ไปครบถ้วนแล้ว วันที่ 10 พฤษภาคม 2541 วันที่ 30 มิถุนายน 2541 วันที่ 2 สิงหาคม 2541 วันที่ 12 ตุลาคม 2541 วันที่ 17 มกราคม 2542 วันที่ 13 พฤษภาคม 2542 และวันที่ 3 สิงหาคม 2542 จำเลยได้ทำหนังสือขอกู้เงินและบันทึกต่อท้ายขอยืมเงินเพิ่มจากโจทก์จำนวน 14,000 บาท 14,000 บาท 28,000 บาท 14,000 บาท 20,000 บาท 30,000 บาท และ 60,000 บาท ตามลำดับ วันที่ 15 ตุลาคม 2542 จำเลยฟ้องโจทก์ให้ชำระเงินตามสัญญาประนีประนอมยอมความในการแบ่งมรดก โดยจำเลยอ้างว่าโจทก์ไม่แบ่งเงินจำนวน 2,000,000 บาท ให้แก่จำเลย ปัญหาวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยว่า หนังสือขอกู้เงินและบันทึกต่อท้ายขอยืมเงินเพิ่มใช้อ้างเป็นพยานหลักฐานได้หรือไม่ เห็นว่า หนังสือขอกู้เงินและบันทึกต่อท้ายขอยืมเงินเพิ่มด้านหน้าเป็นหนังสือเรื่องขอกู้เงินมีข้อความสาระสำคัญเพียงว่า จำเลยมีความจำเป็นขอยืมเงินจากโจทก์เป็นการส่วนตัวก่อน เป็นจำนวนเงิน 14,000 บาท กับที่เคยยืมแล้วเมื่อวันที่ 14 ตุลาคม 2539 จำนวน 200,000 บาท รวมจำนวนเงินยืมทั้งสิ้น 214,000 บาท ลงชื่อจำเลยผู้กู้ยืม โจทก์ผู้ให้ยืม ส่วนด้านหลังเป็นบันทึกต่อท้ายว่า ขอยืมเงินเพิ่มอีกหลายครั้งรวมเป็นจำนวนเงิน 380,000 บาท ลงชื่อจำเลยไว้ทุกครั้ง เอกสารดังกล่าวจึงเป็นเพียงหลักฐานแห่งการกู้ยืมเงินเป็นหนังสือตาม ป.พ.พ. มาตรา 653 อย่างหนึ่ง เท่านั้น มิใช่เป็นหนังสือสัญญากู้ยืมเงินอันจะต้องเสียอากรตามลักษณะแห่งตราสาร 5 บัญชีอัตราอากรแสตมป์ท้ายหมวด 6 อากรแสตมป์แห่ง ป. รัษฎากร แต่อย่างใด ทั้งเป็นเอกสารคนละฉบับที่แยกต่างหากจากสัญญากู้ยืมเงินไม่ใช่บันทึกต่อท้ายตามที่จำเลยฎีกา หนังสือขอกู้เงินและบันทึกต่อท้ายขอยืมเงินเพิ่มจึงใช้อ้างเป็นพยานหลักฐานในคดีแพ่งได้ โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องให้จำเลยรับผิดตามหนังสือขอกู้เงินและบันทึกต่อท้ายขอยืมเงินเพิ่มได้ ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษามานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของจำเลยฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน ให้จำเลยใช้ค่าทนายความในชั้นฎีกา 1,500 บาท แทนโจทก์.

Share