คำสั่งคำร้องที่ 1066/2532

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ความว่า จำเลยฎีกา ศาลชั้นต้นสั่งว่า ปัญหาตามฎีกาของโจทก์ข้อ 1 เป็นปัญหาข้อเท็จจริง ส่วนปัญหาข้อ 2,3,4,5 นั้นเป็นปัญหาข้อเท็จจริงนำข้อกฎหมาย และปัญหาข้อ 7 เป็นปัญหาข้อกฎหมายอันไม่เป็นสาระสำคัญ จึงมีคำสั่งไม่รับฎีกาตามข้อ 1ถึงข้อ 5 และข้อ 7 ส่วนข้อ 6 นั้นเป็นปัญหาข้อกฎหมาย จึงให้รับไว้เฉพาะข้อนี้
จำเลยเห็นว่า ฎีกาของจำเลยเป็นปัญหาข้อกฎหมายทั้งสิ้นและเป็นปัญหาที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย แม้จำเลยจะมิได้ยกขึ้นว่ากล่าวไว้ในศาลชั้นต้นหรือศาลอุทธรณ์ศาลฎีกาก็สามารถยกขึ้นว่ากล่าวได้ โปรดมีคำสั่งให้รับฎีกาของจำเลยทั้งหมดไว้พิจารณาพิพากษาต่อไป
หมายเหตุ ไม่ปรากฏหลักฐานว่าโจทก์ได้รับสำเนาคำร้องแล้วหรือไม่
โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ. 2497 มาตรา 3(1)(2)(3)(4)ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 ฯลฯ
ศาลชั้นต้นไต่สวนมูลฟ้องแล้ว เห็นว่าคดีโจทก์มีมูลจึงมีคำสั่งให้ประทับฟ้องไว้พิจารณา
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ. 2497 มาตรา 3รวม 2 กระทง จำคุกกระทงละ 7 เดือน รวมเป็นจำคุก 1 ปี 2 เดือน ฯลฯ
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ระวางโทษจำคุกจำเลยกระทงละหนึ่งปีรวมสองกระทงจำคุกจำเลยสองปี นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
จำเลยฎีกา ศาลชั้นต้นมีคำสั่งไม่รับฎีกาบางข้อดังกล่าว(อันดับ 91)
จำเลยจึงยื่นคำร้องนี้ (อันดับ 94)

คำสั่ง
พิเคราะห์แล้ว ฎีกาข้อ 1,3 และ 4 เชื่อมโยงกัน เนื้อแท้แล้วเป็นการคัดค้านว่าโจทก์มิใช่ผู้เสียหาย ซึ่งเป็นการโต้แย้งดุลพินิจในการรับฟังพยานหลักฐานของศาลอุทธรณ์ จึงเป็นปัญหาข้อเท็จจริง ฎีกาข้อ 2 อ้างว่า พยานหลักฐานโจทก์ฟังไม่ได้ว่านายจิตรชัยเก็งศิริกุล เป็นผู้รับมอบอำนาจจากโจทก์และฎีกาข้อ 5 อ้างว่าพยานหลักฐานโจทก์ในทางพิจารณาไม่ตรงกับที่โจทก์บรรยายฟ้อง เป็นการโต้เถียงข้อเท็จจริงที่นำไปสู่ข้อกฎหมาย จึงเป็นปัญหาข้อเท็จจริง ส่วนฎีกาข้อ 7 อ้างว่าโจทก์อุทธรณ์ขอให้เพิ่มโทษตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 159 ซึ่งแท้จริงแล้วโจทก์อุทธรณ์ขอให้ลงโทษสถานหนักเป็นคนละเรื่องกัน ฎีกาข้อนี้จึงไม่เป็นสาระแก่คดีอันควรได้รับการวินิจฉัย ที่ศาลชั้นต้นสั่งไม่รับฎีกาข้อ 1 ข้อ 2 ข้อ 3ข้อ 4 ข้อ 5 และข้อ 7 นั้นชอบแล้ว ให้ยกคำร้อง

Share