คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 37/2543

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

จำเลยที่ 1 ได้ปลอมข้อความในใบบันทึกการขายตามที่จำเลยที่ 2และที่ 4 ใช้ให้กระทำครบถ้วนแล้ว โดยปลอมหมายเลขผู้ถือบัตรเครดิตวันหมดอายุบัตร ชื่อผู้ถือบัตร และลายมือชื่อผู้ถือบัตร แม้ยังไม่อาจนำไปเรียกเก็บเงินได้เพราะจะต้องนำไปลงข้อมูลของร้านค้า จำนวนเงินรหัสอนุมัติวงเงิน วันที่ทำรายการและหมายเลขหนังสือเดินทางก่อน ก็น่าจะเกิดความเสียหายแก่ผู้ถือบัตรดังกล่าวแล้ว จึงเป็นการกระทำความผิดสำเร็จ
ใบบันทึกการขายดังกล่าวยังมิได้ลงข้อมูลของร้านค้า จำนวนเงินรหัสอนุมัติวงเงิน วันที่ทำรายการและหมายเลขหนังสือเดินทาง ยังไม่สามารถนำไปเรียกเก็บเงินได้ จึงมิใช่เอกสารแห่งการก่อ เปลี่ยนแปลง โอน สงวน หรือระงับซึ่งสิทธิ ถือไม่ได้ว่าเป็นเอกสารสิทธิ การกระทำของจำเลยที่ 2 และจำเลยที่ 4เป็นความผิดฐานใช้ให้ผู้อื่นปลอมเอกสารธรรมดาเท่านั้น และเป็นเหตุในส่วนลักษณะคดี ศาลฎีกาจึงมีอำนาจพิพากษาไปถึงจำเลยที่ 3 ที่มิได้ฎีกาด้วยได้ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 213 ประกอบด้วยมาตรา 225

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยทั้งสี่ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 264, 265, 91, 84, 33 ริบของกลางและนับโทษจำเลยที่ 1 ต่อจากโทษในคดีอาญาหมายเลขดำที่ 7555/2538ของศาลชั้นต้น

จำเลยที่ 2 ที่ 3 และที่ 4 ให้การปฏิเสธ

ระหว่างพิจารณาจำเลยที่ 1 หลบหนี ศาลชั้นต้นจำหน่ายคดีชั่วคราวเฉพาะจำเลยที่ 1

ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง

โจทก์อุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับว่า จำเลยที่ 2 ที่ 3 และที่ 4 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 265, 84 ลงโทษจำคุกคนละ 2 ปี ริบของกลางคำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก

จำเลยที่ 2 และที่ 4 ฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “พิเคราะห์แล้วข้อเท็จจริงเบื้องต้นฟังได้ว่าเมื่อวันที่ 23 ตุลาคม 2538 เวลากลางวัน พันตำรวจโทคณิศร์ชัย มหินทรเทพกับพวก จับกุมจำเลยที่ 1 ข้อหาปลอมและใช้เอกสารสิทธิปลอมตามหมายจับคดีอื่นยึดได้ ทรัพย์สินที่ใช้กระทำความผิดหลายรายการตามบันทึกการยึดของกลางเอกสารหมาย จ.13 กับยึดได้ใบบันทึกการขายของธนาคารกสิกรไทยจำกัด (มหาชน) จำนวน 6 ฉบับที่ลงรายการหมายเลขผู้ถือบัตรเครดิต วันหมดอายุบัตร ชื่อผู้ถือบัตรและลายมือชื่อผู้ถือบัตรไว้แล้วตามใบบันทึกการขายเอกสารหมาย จ.15 บรรจุในซองจดหมายอยู่ในกระเป๋าถือของจำเลยที่ 1 ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยที่ 2 และที่ 4 มีว่าจำเลยที่ 2 และที่ 4 กระทำความผิดตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์หรือไม่ โจทก์มีพันตำรวจโทคณิศร์ชัย มหินทรเทพกับพันตำรวจตรีทวีป โพธิ์แก้ว และร้อยตำรวจโทประสิทธิ์ สีมา เบิกความทำนองเดียวกันว่าจำเลยที่ 1 รับว่าใบบันทึกการขายเอกสารหมาย จ.15 เป็นเอกสารที่จำเลยที่ 3 นำมาให้จำเลยที่ 1 ทำปลอมโดยจำเลยที่ 1 ได้ทำปลอมหมายเลขผู้ถือบัตรเครดิต วันหมดอายุบัตรชื่อผู้ถือบัตรและลายมือชื่อผู้ถือบัตร ระหว่างสอบถามจำเลยที่ 1 มีข้อความในวิทยุติดตามตัวของจำเลยที่ 1 เป็นข้อความที่จำเลยที่ 3 ส่งมาแจ้งให้จำเลยที่ 1 นำใบบันทึกการขายเอกสารหมาย จ.15ไปส่งตามนัด พันตำรวจโทคณิศร์ชัยเบิกความต่อไปว่าพยานให้จำเลยที่ 1พาไปที่แฟลตดินแดงตามที่นัดกับจำเลยที่ 3 ไว้ และพบจำเลยที่ 3 รออยู่ครั้นจำเลยที่ 1 นำใบบันทึกการขายดังกล่าวซึ่งบรรจุอยู่ในซองจดหมายไปมอบให้ จำเลยที่ 3 ก็รับไว้แล้วเปิดซองจดหมายดู พยานนำจำเลยที่ 3มาสอบถามจำเลยที่ 3 รับว่าจำเลยที่ 2 เป็นผู้ติดต่อให้ปลอมใบบันทึกการขายดังกล่าวและนัดให้นำไปมอบให้จำเลยที่ 2 ที่สถานอาบ อบ นวดบางกอกโคซี่ พยานให้จำเลยที่ 3 นำใบบันทึกการขายดังกล่าวไปมอบให้จำเลยที่ 2 จำเลยที่ 2 รับไว้ พยานจึงนำจำเลยที่ 2 มาสอบถาม จำเลยที่ 2รับว่าจำเลยที่ 4 สั่งให้ทำและนัดให้นำไปมอบให้จำเลยที่ 4 ที่ร้านตัดเสื้อมิวนิค ซึ่งเหตุการณ์ในตอนนี้พันตำรวจตรีทวีปและร้อยตำรวจโทประสิทธิ์เบิกความว่าพยานให้จำเลยที่ 2 พาไปที่ร้านตัดเสื้อมิวนิคแล้วจำเลยที่ 2 นำใบบันทึกการขายดังกล่าวไปมอบให้จำเลยที่ 4 จำเลยที่ 4 เปิดซองจดหมายดู แล้วนำไปวางไว้บนชั้นเสื้อผ้า พยานทั้งสองนำจำเลยที่ 4 มาสอบถามจำเลยที่ 4 รับว่าได้ซื้อใบบันทึกการขายดังกล่าวจากจำเลยที่ 2 นอกจากนี้โจทก์มีบันทึกคำให้การประกอบคำรับสารภาพของจำเลยทั้งสี่ เอกสารหมาย จ.16 ถึง จ.19 เป็นพยานสนับสนุน เห็นว่า ตามบันทึกคำให้การดังกล่าวจำเลยทั้งสี่ให้การไว้โดยละเอียด มีข้อเท็จจริงเชื่อมโยงกันสอดคล้องกับคำเบิกความของพยานโจทก์ทั้งเจ้าพนักงานตำรวจก็ยึดได้เครื่องรูดบัตรเครดิตและทรัพย์สินที่ใช้ในการปลอมใบบันทึกการขายหลายรายการซึ่งอยู่ในความครอบครองของจำเลยที่ 1 พยานหลักฐานของโจทก์จึงมีน้ำหนักน่าเชื่อ โจทก์หาใช่มีเพียงคำรับสารภาพของจำเลยทั้งสี่เป็นพยานดังที่จำเลยที่ 2 และที่ 4 ฎีกาไม่ ที่จำเลยที่ 2 นำสืบว่าขณะที่จำเลยที่ 2 อยู่ที่สถานอาบ อบ นวดบางกอกโคซี่ได้รับโทรศัพท์จากจำเลยที่ 3 ให้ออกมาพบที่หน้าสถานอาบ อบ นวด ครั้นจำเลยที่ 2 ออกไปพบก็ถูกเจ้าพนักงานตำรวจจับกุมแล้วให้จำเลยที่ 2 นำซองจดหมายไปให้จำเลยที่ 4 นั้น เห็นว่า เจ้าพนักงานตำรวจมิได้บังคับขู่เข็ญจำเลยที่ 2 หากจำเลยที่ 2 ไม่ได้รับการติดต่อจากจำเลยที่ 4 ให้ทำใบบันทึกการขายเอกสารหมาย จ.15 ก็ไม่มีเหตุผลใดที่จะต้องนำซองจดหมายซึ่งบรรจุใบบันทึกการขายดังกล่าวไปมอบให้จำเลยที่ 4 ส่วนที่จำเลยที่ 4 นำสืบว่าจำเลยที่ 4 นัดให้จำเลยที่ 2 มารับงานไปทำ เมื่อจำเลยที่ 2 ยื่นซองจดหมายให้ จำเลยที่ 4 เข้าใจว่าเป็นใบจดขนาดตัวลูกค้าจึงรับไว้โดยไม่ได้เปิดดูนั้น เห็นว่า พันตำรวจตรีทวีปและร้อยตำรวจโทประสิทธิ์เบิกความยืนยันว่า จำเลยที่ 4 เปิดซองจดหมายดู จำเลยที่ 4 จึงย่อมต้องทราบว่าเป็นใบบันทึกการขายมิใช่ใบจดขนาดตัวลูกค้า หากจำเลยที่ 4 มิได้ให้จำเลยที่ 2 ไปทำปลอมมาก็น่าจะคืนให้จำเลยที่ 2ไปไม่มีเหตุจะเก็บเอาไว้เช่นนั้น พยานหลักฐานของจำเลยที่ 2 และที่ 4 ขัดต่อเหตุผล ไม่มีน้ำหนักหักล้างพยานหลักฐานของโจทก์ ศาลฎีกาเชื่อว่าจำเลยที่ 2 ที่ 4 กับจำเลยที่ 3 ใช้ให้จำเลยที่ 1 ปลอมใบบันทึกการขายเอกสารหมาย จ.15 ที่จำเลยที่ 4 ฎีกาว่าศาลอุทธรณ์ฟังข้อเท็จจริงยุติว่า ใบบันทึกการขายดังกล่าวเป็นเอกสารปลอม โดยไม่ได้วินิจฉัยพยานหลักฐานเป็นการไม่ชอบนั้น เห็นว่า กรณีดังกล่าวเป็นดุลพินิจการรับฟังพยานหลักฐานของศาลอุทธรณ์ หาทำให้คำพิพากษาศาลอุทธรณ์เป็นการไม่ชอบแต่ประการใดไม่ ที่จำเลยที่ 2 และที่ 4 ฎีกาว่าใบบันทึกการขายดังกล่าวยังปลอมไม่ครบถ้วนและยังไม่มีร้านค้าใดนำไปเรียกเก็บเงินจึงยังไม่มีผู้ใดเสียหาย การกระทำของจำเลยที่ 2 และที่ 4 ยังไม่ครบองค์ประกอบความผิดนั้น เห็นว่าจำเลยที่ 1 ปลอมข้อความที่จำเลยที่ 2 และที่ 4 ใช้ให้กระทำครบถ้วนแล้ว กล่าวคือ ปลอมหมายเลขผู้ถือบัตรเครดิต วันหมดอายุบัตร ชื่อผู้ถือบัตรและลายมือชื่อผู้ถือบัตร แม้ยังไม่อาจนำไปเรียกเก็บเงินได้โดยจะต้องนำไปลงข้อมูลของร้านค้า จำนวนเงิน รหัสอนุมัติวงเงิน วันที่ทำรายการ และหมายเลขหนังสือเดินทางก่อน ก็น่าจะเกิดความเสียหายแก่ผู้ถือบัตรดังกล่าวแล้ว จึงเป็นการกระทำความผิดสำเร็จ หาใช่ไม่ครบองค์ประกอบความผิดดังที่จำเลยที่ 2 และที่ 4 ฎีกาไม่ แต่ที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่าใบบันทึกการขายดังกล่าวเป็นเอกสารสิทธินั้น เห็นว่า ใบบันทึกการขายดังกล่าวยังมิได้ลงข้อมูลของร้านค้า จำนวนเงิน รหัสอนุมัติวงเงิน วันที่ทำรายการและหมายเลขหนังสือเดินทาง ยังไม่สามารถนำไปเรียกเก็บเงินได้จึงมิได้เป็นเอกสารแห่งการก่อ เปลี่ยนแปลง โอน สงวน หรือระงับซึ่งสิทธิ ถือไม่ได้ว่าเป็นเอกสารสิทธิ จำเลยที่ 2 และที่ 4 คงมีความผิดฐานใช้ให้ผู้อื่นปลอมเอกสารธรรมดาเท่านั้น และกรณีดังกล่าวเป็นเหตุอยู่ในส่วนลักษณะคดี ศาลฎีกามีอำนาจพิพากษาไปถึงจำเลยที่ 3 ที่มิได้ฎีกาด้วยได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 213 ประกอบด้วยมาตรา 225 ส่วนฎีกาข้ออื่นของจำเลยที่ 2 และที่ 4ไม่เป็นสาระอันควรได้รับการวินิจฉัยเพราะไม่ทำให้ผลของคดีเปลี่ยนแปลงฎีกาจำเลยที่ 2 ฟังไม่ขึ้น ส่วนฎีกาจำเลยที่ 4 ฟังขึ้นบางส่วน”

พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยที่ 2 ที่ 3 และที่ 4 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 264 วรรคหนึ่ง, 84 ลงโทษจำคุกคนละ1 ปี 4 เดือน คำให้การชั้นจับกุมของจำเลยที่ 2 ที่ 3 และที่ 4 เป็นประโยชน์แก่การพิจารณาอยู่บ้างนับว่ามีเหตุบรรเทาโทษลดโทษให้ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คนละหนึ่งในสี่คงจำคุกคนละ 1 ปีนอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์

Share