แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
คดีก่อนโจทก์ฟ้องเรียกค่าเสียหายอ้างว่าจำเลยให้โจทก์พ้นจากตำแหน่งผู้ว่าการรถไฟแห่งประเทศไทยไปดำรงตำแหน่งที่ปรึกษาการรถไฟแห่งประเทศไทยอันเป็นการผิดสัญญาจ้างและเป็นการเลิกจ้างโดยไม่เป็นธรรม ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า การกระทำของจำเลยมิใช่เป็นการเลิกจ้าง พิพากษายกฟ้องคดีนี้โจทก์ฟ้องเรียกค่าเสียหายอ้างว่าจำเลยให้โจทก์พ้นจากตำแหน่งผู้ว่าการรถไฟแห่งประเทศไทยไปดำรงตำแหน่งที่ปรึกษาการรถไฟ ฯ เช่นเดียวกับคดีก่อนอันเป็นการผิดสัญญาจ้าง ดังนี้ เหตุที่โจทก์นำมาเป็นมูลฟ้องเรียกค่าเสียหายในคดีนี้จึงเป็นเหตุเดียวกับคดีก่อน เพียงแต่อ้างเหตุแห่งการเรียกค่าเสียหายต่างกันเท่านั้น ฟ้องโจทก์ในคดีนี้จึงเป็นฟ้องซ้ำ
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า โจทก์ได้รับแต่งตั้งเป็นผู้ว่าการรถไฟแห่งประเทศไทย ตั้งแต่วันที่ ๑ พฤษภาคม ๒๕๒๒ โจทก์มีสิทธิอยู่ในตำแหน่งจนกว่าคณะกรรมการรถไฟแห่งประเทศไทยให้ออกเพราะเหตุบกพร่องหรือไม่สุจริตต่อหน้าที่หรือหย่อนสมรรถภาพ เมื่อวันที่ ๒๐ พฤษภาคม ๒๕๒๕ จำเลยกล่าวหาว่าโจทก์มิได้เร่งรัดดำเนินการให้ลุล่วงไปตามเจตนารมณ์ของคณะกรรมการรถไฟแห่งประเทศไทย เพื่อให้บรรลุผลงานให้โจทก์พ้นจากตำแหน่งผู้ว่าการ ฯ เป็นการผิดสัญญาจ้างทำให้โจทก์เสียหาย ขอให้บังคับจำเลยใช้ค่าเสียหาย คือค่าเสียความเจริญก้าวหน้าในการทำงาน ขาดรายได้ ขาดค่าชดเชย ขาดประโยชน์จากเงินสงเคราะห์
จำเลยให้การว่า การให้โจทก์พ้นจากตำแหน่งเป็นอำนาจของคณะกรรมการรถไฟแห่งประเทศไทยโดยความเห็นชอบของคณะรัฐมนตรีโดยเฉพาะ จำเลยไม่มีอำนาจหน้าที่เกี่ยวกับกรณีดังกล่าว โจทก์บกพร่องหรือหย่อนสมรรถภาพที่จะดำรงตำแหน่งผู้ว่าการรถไฟ ฯจำเลยมิได้กลั่นแกล้งหรือผิดสัญญาจ้าง โจทก์ยังคงทำงานเป็นที่ปรึกษาของจำเลย ไม่มีการเลิกจ้าง จำเลยมิได้โต้แย้งสิทธิและหน้าที่ของโจทก์ จึงไม่มีอำนาจฟ้อง โจทก์เคยฟ้องจำเลยต่อศาลนี้อ้างว่า จำเลยผิดสัญญาจ้างและเรียกค่าเสียหายในมูลคดีเดียวกันกับที่โจทก์ฟ้องคดีนี้มาก่อน และศาลได้มีคำพิพากษาถึงที่สุดให้ยกฟ้อง โจทก์มาฟ้องคดีนี้เป็นฟ้องซ้ำต้องห้ามตามกฎหมาย ขอให้ยกฟ้อง
ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยว่า จำเลยไม่มีส่วนทำให้โจทก์พ้นจากตำแหน่ง ถือว่าจำเลยไม่ได้ผิดสัญญาจ้าง พิพากษายกฟ้อง
โจทก์ จำเลยต่างอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า เบื้องแรกจะได้วินิจฉัยอุทธรณ์ของจำเลยเสียก่อน จำเลยอุทธรณ์ว่าเหตุอันเป็นมูลที่โจทก์ฟ้องจำเลยในคดีนี้เป็นเหตุอันเป็นมูลคดีเดียวกันกับที่โจทก์ฟ้องจำเลยในคดีหมายเลขแดงที่ ๑๒๔๕/๒๕๒๖ ของศาลแรงงานกลางการที่โจทก์รื้อฟื้นนำคดีมาฟ้องอีกจึงเป็นฟ้องซ้ำ เห็นว่า ในสำนวนคดีหมายเลขแดงที่ ๑๒๔๕/๒๕๒๖ ของศาลแรงงานกลาง ซึ่งโจทก์ฟ้องจำเลยในคดีนี้กับพวกรวม ๑๑ คนเป็นจำเลย โจทก์ได้บรรยายฟ้องในคำฟ้องว่า จำเลยที่ ๓ ได้เสนอมติของคณะกรรมการการรถไฟแห่งประเทศไทยไปยังจำเลยที่ ๙ อ้างว่าจำเลยที่ ๓ ถึงที่ ๘ มีมติให้โจทก์พ้นจากตำแหน่งผู้ว่าการรถไฟแห่งประเทศไทยและมีคำสั่งแต่งตั้งให้โจทก์ดำรงตำแหน่งที่ปรึกษาการรถไฟแห่งประเทศไทย การที่จำเลยได้ร่วมกันเสนอและมีคำสั่งดังกล่าวนั้นเป็นการให้โจทก์พ้นจากตำแหน่งตามที่จำเลยที่ ๑ ตกลงจ้างโจทก์ในฐานะลูกจ้างประจำตำแหน่งผู้ว่าการรถไฟแห่งประเทศไทยของจำเลยที่ ๑ มาเป็นพนักงานของจำเลยที่ ๑ อันเป็นการเปลี่ยนแปลงตำแหน่ง เป็นการปฏิบัติผิดสัญญาจ้างและข้อตกลงซึ่งเป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรมซึ่งเห็นได้ว่ามูลเหตุที่โจทก์นำมาฟ้องจำเลยในสำนวนคดีดังกล่าวก็คือ การที่จำเลยมีมติให้โจทก์พ้นจากตำแหน่งผู้ว่าการรถไฟแห่งประเทศไทยแล้วมีคำสั่งแต่งตั้งให้โจทก์ดำรงตำแหน่งที่ปรึกษาการรถไฟแห่งประเทศไทย โดยโจทก์อ้างในคดีนั้นว่าการกระทำของจำเลยเป็นการให้โจทก์พ้นจากตำแหน่งตามที่จำเลยตกลงจ้างโจทก์อันเป็นการปฏิบัติผิดสัญญาจ้างและข้อตกลงซึ่งเป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรมทั้งได้เรียกค่าเสียหายจากการที่จำเลยมีมติให้โจทก์พ้นจากตำแหน่งผู้ว่าการรถไฟแห่งประเทศไทยโดยไปดำรงตำแหน่งที่ปรึกษาการรถไฟแห่งประเทศไทยด้วย แต่ศาลฎีกาพิพากษายกฟ้องโจทก์เพราะเห็นว่า การที่จำเลยให้โจทก์พ้นจากตำแหน่งผู้ว่าการรถไฟแห่งประเทศไทยไปดำรงตำแหน่งที่ปรึกษาการรถไฟแห่งประเทศไทยมิใช่เป็นการเลิกจ้างส่วนมูลเหตุที่โจทก์นำมาฟ้องใหม่นี้โจทก์อ้างว่าการที่จำเลยให้โจทก์พ้นจากตำแหน่งผู้ว่าการรถไฟแห่งประเทศไทยไปดำรงตำแหน่งที่ปรึกษาเป็นการปฏิบัติผิดสัญญาจ้างแรงงานและได้เรียกค่าเสียหายจากการกระทำดังกล่าวของจำเลยมาด้วย ศาลฎีกาเห็นว่าเหตุที่โจทก์นำมาเป็นมูลฟ้องเรียกค่าเสียหายจากจำเลยในคดีนี้กับเหตุที่โจทก์นำไปเป็นมูลฟ้องจำเลยในคดีหมายเลขแดงที่๑๒๔๕/๒๕๒๖ เป็นเหตุเดียวกันนั่นเอง กล่าวคือ เหตุจากการที่จำเลยให้โจทก์พ้นจากตำแหน่งผู้ว่าการรถไฟแห่งประเทศไทยไปดำรงตำแหน่งที่ปรึกษาการรถไฟแห่งประเทศไทย เพียงแต่อ้างเหตุแห่งการเรียกค่าเสียหายต่างกันคือ คดีก่อนเรียกค่าเสียหายโดยอ้างว่าจำเลยผิดสัญญาและเลิกจ้างโดยไม่เป็นธรรมแต่คดีนี้อ้างว่าจำเลยผิดสัญญาจ้าง ซึ่งข้ออ้างเรื่องผิดสัญญาจ้างในคดีนี้ โจทก์สามารถอ้างขึ้นในคดีก่อนได้อยู่แล้วและความจริงโจทก์ก็ได้อ้างไว้ในคดีก่อนแล้ว ฟ้องโจทก์ในคดีนี้จึงเป็นการรื้อร้องฟ้องกันอีกในประเด็นที่ศาลได้วินิจฉัยโดยอาศัยเหตุอย่างเดียวกันกับคดีหมายเลขแดงที่ ๑๒๔๕/๒๕๒๖ ของศาลแรงงานกลางนั่นเอง ถือว่าเป็นฟ้องซ้ำกับคดีดังกล่าวเช่นนี้ จึงไม่จำต้องวินิจฉัยอุทธรณ์ของโจทก์ที่ศาลแรงงานกลางพิพากษายกฟ้องโจทก์นั้นศาลฎีกาเห็นพ้องด้วยในผล
พิพากษายืน.