คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9652/2544

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ศาลชั้นต้นพิพากษาให้เพิกถอนการจดทะเบียนขายที่ดินพิพาทระหว่างโจทก์กับจำเลยบางส่วน โดยวินิจฉัยว่าจำเลยจดทะเบียนโอนขายที่ดินพิพาทให้แก่โจทก์เป็นการทำนอกขอบอำนาจในฐานะผู้จัดการมรดก เป็นการเสียเปรียบแก่ทายาทของเจ้ามรดกและผู้มีส่วนเป็นเจ้าของที่ดินพิพาทซึ่งอยู่ในฐานะที่จะจดทะเบียนสิทธิได้ก่อน ทั้งโจทก์รับซื้อที่ดินพิพาทไว้โดยทราบดีอยู่แล้วว่าทายาทของเจ้ามรดกและผู้มีส่วนเป็นเจ้าของที่ดินพิพาทได้ทำประโยชน์ในที่ดินพิพาทหลายปีแล้ว และควรจะได้รู้อยู่แล้วว่าจำเลยกระทำในฐานะผู้จัดการมรดก จึงเป็นการไม่สุจริต ดังนี้ ถือว่าโจทก์ซึ่งเป็นผู้ซื้อที่ดินพิพาทจากจำเลยถูกรอนสิทธิ แต่โจทก์ทราบถึงสิทธิของผู้ก่อกวนการรบกวนในที่ดินพิพาทแล้วในเวลาซื้อขาย จำเลยซึ่งเป็นผู้ขายจึงไม่ต้องรับผิดในการรอนสิทธิต่อโจทก์ตาม ป.พ.พ. มาตรา 476 โจทก์ย่อมไม่มีสิทธิฟ้องบังคับให้จำเลยคืนเงินค่าที่ดินพิพาทแก่โจทก์ตามส่วนที่ถูกเพิกถอนการซื้อขาย

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้องว่า เมื่อวันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2532 จำเลยในฐานะผู้จัดการมรดกของนายโจม ได้ขายที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส. 3 ก.) เลขที่ 637 ให้แก่โจทก์ในราคา 180,000 บาท ต่อมาทายาทเจ้ามรดกยื่นฟ้องโจทก์และจำเลยต่อศาลจังหวัดอำนาจเจริญ ขอให้เพิกถอนการซื้อขาย ศาลจังหวัดอำนาจเจริญพิพากษาให้เพิกถอนการจดทะเบียนซื้อขายที่ดินดังกล่าว เฉพาะส่วนของนายบุญมา นายกัณหา และนางแวง กับทายาทอื่น จำนวน 10 ใน 14 ส่วน คดีถึงที่สุด เจ้าพนักงานบังคับคดียึดที่ดินดังกล่าวขายทอดตลาด เพื่อนำเงินมาแบ่งปันให้แก่ ผู้มีสิทธิได้รับมรดกตามคำพิพากษา โจทก์ชำระเงินค่าที่ดินจำนวน 310,714.28 บาท ให้แก่นายบุญมา นายกัณหา นางแวงและนายพิมพา เพื่อซื้อที่ดินส่วนที่ถูกเพิกถอนการจดทะเบียนคืนมา โจทก์จึงให้จำเลยชำระเงินดังกล่าวคืนโจทก์ จำเลยเพิกเฉย ขอให้บังคับจำเลยชำระเงินจำนวน 310,714.28 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยให้การว่า จำเลยในฐานะผู้จัดการมรดกของนายโจม ได้ขายที่ดินพิพาทตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส. 3 ก.) เลขที่ 637 ให้แก่โจทก์ในราคา 80,000 บาท ต่อมาศาลจังหวัดอำนาจเจริญพิพากษาให้เพิกถอนการซื้อขาย ที่ดินพิพาท ตามส่วนที่ทายาทมีสิทธิได้ที่ดินพิพาท จำเลยต้องคืนเงินจำนวน 80,000 บาท ให้แก่โจทก์ตามส่วนที่โจทก์จะมีสิทธิได้รับคืนเท่านั้น จำเลยไม่มีหน้าที่ต้องคืนเงินจำนวน 310,714.28 บาท แก่โจทก์ ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยชำระเงินจำนวน 128,571.42 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้อง (ฟ้องวันที่ 28 ตุลาคม 2540) เป็นต้นไป จนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ กับให้จำเลยใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความ 3,000 บาท เฉพาะค่าขึ้นศาลให้จำเลยใช้แทนตามทุนทรัพย์ที่โจทก์ชนะคดี
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษากลับ ให้ยกฟ้องโจทก์ ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสองศาลให้เป็นพับ
โจทก์ฎีกา โดยผู้พิพากษาที่ได้นั่งพิจารณาคดีในศาลชั้นต้นรับรองว่ามีเหตุสมควรที่จะฎีกาในข้อเท็จจริงได้
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า… พิเคราะห์แล้ว ข้อเท็จจริงที่คู่ความนำสืบรับกันและข้อที่ไม่โต้เถียงกันในชั้นนี้ฟังเป็นยุติได้ว่า จำเลยในฐานะเป็นผู้จัดการมรดกของนายโจม ได้ขายที่ดินพิพาทตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส. 3 ก.) เลขที่ 637 ตำบลห้วย อำเภอพนา จังหวัดอุบลราชธานี ให้แก่โจทก์ ต่อมาศาลจังหวัดอำนาจเจริญพิพากษาให้เพิกถอนการซื้อขายที่ดินพิพาท ตามสำเนาคำพิพากษาคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 518/2534 เอกสารหมาย จ. 4 คดีถึงที่สุด เจ้าพนักงานบังคับคดีได้ยึดที่ดินพิพาท และประกาศขายทอดตลาดเพื่อนำเงินมาแบ่งแก่ทายาทของนายโจมและผู้มีสิทธิได้รับที่ดินดังกล่าว โจทก์ได้ชำระเงินให้แก่ทายาทและผู้มีสิทธิได้รับที่ดินพิพาทเป็นเงิน 310,714.28 บาท และได้ถอนการยึดที่ดินพิพาท คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่า โจทก์มีสิทธิบังคับให้จำเลยคืนเงินค่าที่ดินพิพาทแก่โจทก์หรือไม่ เพียงใด เห็นว่า ศาลจังหวัดอำนาจเจริญได้พิพากษาให้เพิกถอนการจดทะเบียนขายที่ดินพิพาทระหว่างโจทก์กับจำเลยบางส่วน ตามคำพิพากษาคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 518/2534 โดยวินิจฉัยว่า จำเลยคดีนี้จดทะเบียนโอนขายที่ดินพิพาท ให้แก่โจทก์คดีนี้เป็นการทำนอกขอบอำนาจในฐานะผู้จัดการมรดก ย่อมเป็นการเสียเปรียบแก่ทายาทของนายโจมและผู้ที่มีส่วนเป็นเจ้าของที่ดินพิพาทซึ่งอยู่ในฐานะที่จะจดทะเบียนสิทธิได้ก่อน ทั้งโจทก์คดีนี้รับซื้อที่ดินพิพาทไว้โดยทราบดีอยู่แล้วว่า ทายาทของนายโจมและผู้มีส่วนเป็นเจ้าของที่ดินพิพาทได้ทำประโยชน์ในที่ดินพิพาทหลายปีแล้ว และควรจะได้รู้อยู่แล้วว่าจำเลยคดีนี้กระทำในฐานะผู้จัดการมรดก จึงเป็นการไม่สุจริต ดังนี้ การที่ศาลจังหวัดอำนาจเจริญพิพากษาให้เพิกถอนการซื้อขายที่ดินพิพาทถือว่าโจทก์ถูกรอนสิทธิ แต่โจทก์ทราบถึงสิทธิของผู้ก่อกวนการรบกวนในที่ดินพิพาทแล้วในเวลาซื้อขายดังที่ศาลจังหวัดอำนาจเจริญวินิจฉัย ฉะนั้น จำเลยซึ่งเป็นผู้ขายจึงไม่ต้องรับผิดในการรอนสิทธิต่อโจทก์ตาม ป.พ.พ. มาตรา 476 โจทก์จึงไม่มีสิทธิฟ้องบังคับให้จำเลยคืนเงินค่าที่ดินพิพาทแก่โจทก์ตามส่วนที่ถูกเพิกถอนการซื้อขายดังกล่าว ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษากลับให้ยกฟ้องโจทก์มานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของโจทก์ฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน จำเลยไม่แก้ฎีกาจึงไม่กำหนดค่าทนายความชั้นฎีกาให้.

Share