แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา
ย่อสั้น
พยานคู่ที่ไม่ได้นำสืบในคราวเดียวกัน ศาลก็ใช้ดุลพินิจในการชั่งน้ำหนักคำพยานดังกล่าวได้ กฎหมายไม่ได้บัญญัติห้ามมิให้รับฟัง
พนักงานสอบสวนผู้ตรวจสถานที่เกิดเหตุ การพบร่องรอยตลอดจนเศษวัสดุต่าง ๆที่ตกอยู่ในที่เกิดเหตุ เป็นประจักษ์พยานไม่ใช่พยานบอกเล่า
สำเนาใบเสร็จรับเงินเกี่ยวกับค่ารักษาพยาบาลของโจทก์ ที่โรงพยาบาลออกให้เพื่อเป็นหลักฐานแสดงว่าโจทก์ ต้องเสียค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาลตามเอกสารดังกล่าวจริง แม้ฝ่ายโจทก์มิได้ส่งสำเนาเอกสารให้แก่จำเลยตามที่กฎหมายบัญญัติแต่เป็นพยานหลักฐานอันสำคัญซึ่งเกี่ยวกับประเด็นข้อสำคัญในเรื่องค่ารักษาพยาบาลฉะนั้นเพื่อประโยชน์แห่งความยุติธรรม ศาลมีอำนาจรับฟังพยานหลักฐานข้างต้นได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 87(2)
ในกรณีทำให้เสียหายแก่ร่างกายนั้น ค่าสินไหมทดแทนได้แก่ค่ารักษาพยาบาลรวมทั้งค่าเสียหายที่ต้องขาดประโยชน์ทำมาหาได้ เพราะไม่สามารถประกอบการงาน และค่าเสียหายเพื่อการที่เสียความสามารถประกอบการงานสิ้นเชิงหรือแต่บางส่วน ทั้งในเวลาปัจจุบันและในเวลาอนาคตด้วยตามมาตรา 443 วรรคสอง และมาตรา 444 วรรคหนึ่งแห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ผู้ทำละเมิดจึงต้องใช้ค่าขาดรายได้อันเป็นค่าเสียหายที่ขาดประโยชน์ทำมาหาได้อีกส่วนหนึ่ง
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งสองร่วมกันชำระค่าเสียหายและดอกเบี้ยนับแต่วันทำละเมิดถึงวันฟ้องให้แก่โจทก์ที่ 1 เป็นเงิน 673,406 บาท โจทก์ที่ 2 เป็นเงิน 397,031 บาท และโจทก์ที่ 3 เป็นเงิน 371,350 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีของต้นเงิน 653,000 บาท 385,000 บาท 360,000 บาท ตามลำดับนับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จ
จำเลยทั้งสองให้การว่า จำเลยที่ 2 ไม่ใช่ลูกจ้างของจำเลยที่ 1 การขับรถยนต์บรรทุกน้ำมันของจำเลยที่ 2 หาใช่เป็นการกระทำในทางการที่จ้างของจำเลยที่ 1 ไม่ โจทก์ที่ 1 เสียค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาลเพียง 20,000 บาท ส่วนค่าเสียโอกาสประกอบการงานอย่างสิ้นเชิงเพราะทุพพลภาพนั้น โจทก์ที่ 1 สามารถรักษาทางกายภาพบำบัดได้แต่โจทก์ที่ 1 ละเลยไม่สนใจ จำเลยทั้งสองจึงไม่ต้องรับผิด อย่างไรก็ดีค่าเสียหายของโจทก์ที่ 1 ในส่วนนี้หากมีก็ไม่เกิน 30,000 บาท สำหรับค่าขาดรายได้นั้น ก่อนเกิดเหตุโจทก์ที่ 1 ไม่ได้ประกอบอาชีพดังกล่าว แต่โจทก์ที่ 1 เพิ่งประกอบกิจการภายหลังเกิดเหตุหากโจทก์ที่ 1 มีรายได้ดังกล่าวก็ไม่เกินปีละ 18,000 บาท โจทก์ที่ 2 จ่ายค่าจัดงานศพผู้ตายเป็นเงินเพียง 20,000 บาท ผู้ตายเป็นเพียงลูกจ้างไม่เคยส่งเสียเงินเลี้ยงดูให้โจทก์ที่ 2 หากมีก็ไม่เกินเดือนละ 1,000 บาท ค่าเสียหายของโจทก์ที่ 3 เกี่ยวกับค่าขาดไร้อุปการะนั้นหากมีก็ไม่เกินเดือนละ 1,000 บาท ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระค่าเสียหายให้แก่โจทก์ที่ 1 เป็นเงิน 359,564 บาท โจทก์ที่ 2 เป็นเงิน 205,000 บาท และโจทก์ที่ 3 เป็นเงิน 180,000บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีของต้นเงินแต่ละจำนวนดังกล่าวตามลำดับนับแต่วันที่ 18 เมษายน 2534 จนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์แต่ละคนดังกล่าว
จำเลยทั้งสองอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระค่าเสียหายจำนวน 209,564 บาท แก่โจทก์ที่ 1 กับจำนวนเงิน 145,000 บาท แก่โจทก์ที่ 2 และจำนวนเงิน 120,000 บาท แก่โจทก์ที่ 3 พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีของต้นเงินแต่ละจำนวนดังกล่าวตามลำดับนับแต่วันที่ 18 เมษายน 2534 จนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์แต่ละคน นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
จำเลยทั้งสองฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงฟังเป็นยุติว่า ตามวันเวลาเกิดเหตุจำเลยที่ 2 ขับรถยนต์บรรทุกสิบล้อหมายเลขทะเบียน 70-0052 ชุมพรเฉี่ยวชนกับรถจักรยานยนต์หมายเลขทะเบียนสงขลา ฝ-0964 บนถนนกาญจนวนิช เป็นเหตุให้นายนริศร เอียดแก้วผู้ขับขี่รถจักรยานยนต์ถึงแก่ความตาย และโจทก์ที่ 1 กับนางสาวประนอม แสงอินทร์ซึ่งนั่งซ้อนท้ายมาด้วยกันได้รับบาดเจ็บ โดยโจทก์ที่ 1 แขนขวาลีบต้องพิการไปตลอดชีวิตคดีมีประเด็นต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยทั้งสองเป็นลำดับแรกว่า เหตุที่รถชนกันเกิดจากความประมาทเลินเล่อของจำเลยที่ 2 หรือไม่ ฝ่ายโจทก์มีโจทก์ที่ 1 และนางสาวประนอมซึ่งต่างเป็นประจักษ์พยานเบิกความยืนยันตรงกันว่า ขณะเกิดเหตุรถยนต์คันที่จำเลยที่ 2 ขับแล่นแซงรถยนต์อีกคันหนึ่งล้ำเข้ามาในทางเดินรถของรถจักรยานยนต์คันที่ผู้ตายขับจึงเกิดเฉี่ยวชนกัน นอกจากนี้ฝ่ายโจทก์ยังมีร้อยตำรวจเอกประเสริฐ ด้วงทองพนักงานสอบสวนคดีอาญาเป็นพยานเบิกความยืนยันว่า พยานได้รับแจ้งเหตุรายนี้จึงออกไปตรวจที่เกิดเหตุพบรถจักรยานยนต์ล้มอยู่ในที่เกิดเหตุ ส่วนรถยนต์บรรทุกสิบล้อคู่กรณีคนขับนำรถแล่นหลบหนีไป จากการตรวจร่องรอยในที่เกิดเหตุ ปรากฏว่าจุดชนอยู่ในทางเดินรถของรถจักรยานยนต์ โดยรถยนต์บรรทุกสิบล้อแล่นแซงรถยนต์คันอื่นล้ำเข้าไปในทางเดินรถของรถจักรยานยนต์ ซึ่งพยานได้จัดทำแผนที่สังเขปแสดงสถานที่เกิดเหตุเอกสารหมาย จ.5 ไว้ด้วย ฝ่ายจำเลยคงมีนายสนั่น มือสันทัด ลูกจ้างของจำเลยที่ 1 เป็นพยานเบิกความว่า ภายหลังเกิดเหตุพยานไปตรวจที่เกิดเหตุพบเศษกระจกและพลาสติกตกอยู่บริเวณเส้นแบ่งกึ่งกลางถนน อีกทั้งพยานได้สอบถามนางสาวประนอมได้ความว่า ขณะเกิดเหตุผู้ตายมึนเมาสุราขับรถจักรยานยนต์แล่นแซงรถคันอื่น จึงเกิดเหตุรายนี้ตามบันทึกถ้อยคำของนางสาวประนอมเอกสารหมาย ล.1 เห็นว่า ร้อยตำรวจเอกประเสริฐเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติราชการตามอำนาจหน้าที่และไม่มีส่วนได้เสียกับคู่กรณีฝ่ายใด นับได้ว่าเป็นพยานคนกลาง ถ้อยคำจึงมีน้ำหนักน่าเชื่อถือ ประกอบกับแผนที่สังเขปแสดงสถานที่เกิดเหตุที่พนักงานสอบสวนได้ทำไว้นับว่าเป็นหลักฐานสำคัญที่จะแสดงให้เห็นถึงจุดชนว่าอยู่ในทางเดินรถของฝ่ายใด เพราะในที่เกิดเหตุจะต้องปรากฏร่องรอยต่าง ๆ ตลอดจนเศษวัสดุที่ตกอยู่ในที่เกิดเหตุ ย่อมใช้เป็นหลักฐานประกอบคดีได้เป็นอย่างดี เว้นแต่จะได้ความว่า พนักงานสอบสวนได้ทำแผนที่สังเขปแสดงสถานที่เกิดเหตุโดยไม่ถูกต้องอันเป็นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบเข้าข้างคู่กรณีฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดแต่คดีนี้ไม่ปรากฏพฤติการณ์เช่นที่กล่าวแล้ว นอกจากนี้จำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นผู้ขับรถคู่กรณีกลับหลบหนีไปส่อแสดงพิรุธว่าเป็นฝ่ายกระทำผิดจริง และยังต้องด้วยข้อสันนิษฐานว่าจำเลยที่ 2 เป็นผู้กระทำผิดตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 78 วรรคสอง แห่งพระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ. 2522 อีกด้วย ส่วนที่จำเลยทั้งสองฎีกาอ้างว่าฝ่ายโจทก์ดำเนินคดีโดยไม่สุจริตเพราะเพิ่งนำนางสาวประนอมซึ่งเป็นพยานคู่กับโจทก์ที่ 1 เข้าเบิกความเป็นพยานภายหลังจากที่โจทก์ที่ 1 เบิกความไปแล้วเป็นเวลานานถึง 1 ปีเศษ จึงรับฟังไม่ได้ทั้งนางสาวประนอมเคยให้ถ้อยคำต่อนายสนั่นลูกจ้างจำเลยที่ 1 ว่า ผู้ตายมึนเมาสุราขับรถจักรยานยนต์แล่นแซงรถคันอื่น จึงเกิดเหตุรายนี้ตามบันทึกถ้อยคำของนางสาวประนอมเอกสารหมาย ล.1 อีกทั้งนางสาวประนอมเบิกความเป็นพยานฝ่ายโจทก์ยอมรับว่าแผนที่สังเขปแสดงสถานที่เกิดเหตุเอกสารหมาย จ.5 ไม่ถูกต้อง ประกอบกับร้อยตำรวจเอกประเสริฐเป็นเพียงพยานรับคำบอกเล่า พยานหลักฐานของฝ่ายโจทก์จึงไม่มีน้ำหนักควรแก่การรับฟังนั้น เห็นว่า แม้ฝ่ายโจทก์จะมิได้นำสืบนางสาวประนอมซึ่งเป็นพยานคู่กับโจทก์ที่ 1 ในคราวเดียวกันก็ดี แต่ศาลย่อมใช้ดุลพินิจในการชั่งน้ำหนักคำพยานดังกล่าวแล้วได้กฎหมายหาได้บัญญัติห้ามมิให้รับฟังแต่อย่างใดไม่ ส่วนที่นางสาวประนอมเคยให้ถ้อยคำไว้ต่อนายสนั่นตามเอกสารหมาย ล.1 นั้น นางสาวประนอมก็เบิกความยืนยันว่า เหตุที่ให้ถ้อยคำเช่นนั้นก็เพื่อตนจะได้รับเงินค่าเสียหายจากจำเลยที่ 1 มิฉะนั้นจำเลยที่ 1 จะไม่ยอมจ่ายเงินค่าเสียหายให้ สำหรับแผนที่สังเขปแสดงสถานที่เกิดเหตุเอกสารหมาย จ.5ซึ่งนางสาวประนอมเบิกความว่าไม่ถูกต้องนั้น เห็นว่า นางสาวประนอมเบิกความตอบทนายจำเลยถามค้านว่าผู้ตายขับรถชิดไหล่ถนนและรถยนต์บรรทุกน้ำมันชนรถจักรยานยนต์บริเวณที่ไหล่ทาง แผนที่ของพนักงานสอบสวนตามเอกสารหมาย จ.5 จึงไม่ถูกต้อง และนางสาวประนอมเบิกความยืนยันว่า รถยนต์บรรทุกสิบล้อคู่กรณีแล่นแซงรถยนต์คันอื่นล้ำเข้ามาในทางเดินรถของรถจักรยานยนต์จึงเกิดเฉี่ยวชนกัน ซึ่งทำให้นางสาวประนอมหมดสติทันที กรณีเห็นได้ว่านางสาวประนอมย่อมไม่ทราบร่องรอยและเศษวัสดุต่าง ๆในที่เกิดเหตุและที่จำเลยทั้งสองอ้างว่าร้อยตำรวจเอกประเสริฐเป็นพยานรับคำบอกเล่ารับฟังไม่ได้นั้น เห็นว่า ร้อยตำรวจเอกประเสริฐเป็นพนักงานสอบสวนผู้ตรวจสถานที่เกิดเหตุ การพบร่องรอยตลอดจนเศษวัสดุต่าง ๆ ที่ตกอยู่ในที่เกิดเหตุจึงเป็นประจักษ์พยาน หาใช่เป็นพยานบอกเล่าดังที่จำเลยทั้งสองอ้างไม่ พยานหลักฐานของฝ่ายโจทก์ดังกล่าวแล้วย่อมมีน้ำหนักดีกว่าพยานหลักฐานของฝ่ายจำเลย ข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่าเหตุรถชนกันเกิดจากความประมาทเลินเล่อของจำเลยที่ 2 ศาลล่างทั้งสองวินิจฉัยในประเด็นข้อนี้ชอบแล้ว ฎีกาข้อนี้ของจำเลยทั้งสองฟังไม่ขึ้น
ประเด็นข้อต่อไปนี้ว่า โจทก์ที่ 1 เสียหายเพียงใดจำเลยทั้งสองฎีกาว่า ค่ารักษาพยาบาลจำนวน 29,565 บาท ตามเอกสารหมาย จ.8 และ จ.9 ฝ่ายโจทก์มิได้ส่งสำเนาเอกสารดังกล่าวให้แก่จำเลยทั้งสองก่อนระยะเวลาตามที่กฎหมายกำหนดเป็นการไม่ปฏิบัติตามบทบัญญัติมาตรา 90 แห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งจึงต้องห้ามมิให้รับฟังเอกสารข้างต้น ค่าเสียหายของรถจักรยานยนต์ไม่เกิน 25,000 บาท นอกจากนี้ค่าเสียหายเพื่อการที่เสียความสามารถประกอบการงานไม่เกิน 30,000 บาท ส่วนค่าเสียหายค่าขาดรายได้โจทก์ที่ 1 ได้รับชดเชยในส่วนอื่นแล้ว จึงไม่ควรกำหนดให้อีก ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 87 บัญญัติว่า “ห้ามมิให้ศาลรับฟังพยานหลักฐานใด เว้นแต่… (2) คู่ความฝ่ายที่อ้างพยานหลักฐานได้แสดงความจำนองที่จะอ้างอิงพยานหลักฐานนั้นดังที่บัญญัติไว้ในมาตรา 88 และ 90 แต่ถ้าศาลเห็นว่าเพื่อประโยชน์แห่งความยุติธรรมจำเป็นจะต้องสืบพยานหลักฐานอันสำคัญซึ่งเกี่ยวกับประเด็นข้อสำคัญในคดี โดยฝ่าฝืนต่อบทบัญญัติของอนุมาตรานี้ให้ศาลมีอำนาจรับฟังพยานหลักฐานเช่นว่านั้นได้” เห็นว่า เอกสารหมาย จ.8 และ จ.9 เป็นสำเนาใบเสร็จรับเงินเกี่ยวกับค่ารักษาพยาบาลของโจทก์ที่ 1 ที่โรงพยาบาลสงขลานครินทร์ออกให้เพื่อเป็นหลักฐานแสดงว่าโจทก์ที่ 1 ต้องเสียค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาลตามเอกสารดังกล่าวจริง ดังนี้แม้ฝ่ายโจทก์มิได้ส่งสำเนาเอกสารให้แก่จำเลยทั้งสองตามที่กฎหมายบัญญัติ กรณีเห็นได้ว่าเป็นพยานหลักฐานอันสำคัญซึ่งเกี่ยวกับประเด็นข้อสำคัญในเรื่องค่ารักษาพยาบาล ฉะนั้นเพื่อประโยชน์แห่งความยุติธรรม ศาลมีอำนาจรับฟังพยานหลักฐานข้างต้นได้ตามบทกฎหมายดังกล่าวมา การที่ศาลล่างทั้งสองรับฟังเอกสารหมาย จ.8 และ จ.9 จึงชอบด้วยกฎหมายแล้ว ส่วนค่าเสียหายของรถจักรยานยนต์ จำเลยทั้งสองมิได้นำสืบหักล้างพยานหลักฐานของโจทก์ที่ 1 และตามที่ศาลอุทธรณ์ภาค 3 กำหนดค่าเสียหายของรถจักรยานยนต์เป็นเงิน 40,000 บาท นับว่าเหมาะสมแล้ว สำหรับค่าเสียหายเพื่อการที่เสียความสามารถประกอบการงานสิ้นเชิงหรือแต่บางส่วน และค่าเสียหายค่าขาดรายได้จากการทำมาหาได้นั้น เห็นว่า ในกรณีทำให้เสียหายแก่ร่างกายนั้น ค่าสินไหมทดแทนได้แก่ค่ารักษาพยาบาลรวมทั้งค่าเสียหายที่ต้องขาดประโยชน์ทำมาหาได้เพราะไม่สามารถประกอบการงาน และค่าเสียหายเพื่อการที่เสียความสามารถประกอบการงานสิ้นเชิงหรือแต่บางส่วน ทั้งในเวลาปัจจุบันและในเวลาอนาคตด้วยตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 443วรรคสอง และมาตรา 444 วรรคหนึ่ง แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ดังนี้ผู้ทำละเมิดจึงต้องใช้ค่าขาดรายได้อันเป็นค่าเสียหายที่ขาดประโยชน์ทำมาหาได้อีกส่วนหนึ่งหาใช่ได้รับชดเชยในส่วนอื่นแล้วดังที่จำเลยทั้งสองฎีกาไม่”
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยทั้งสองร่วมกันใช้ค่าสินไหมทดแทนจำนวน 249,564บาท พร้อมดอกเบี้ยตามอัตราและระยะเวลาตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 3 ให้แก่โจทก์ที่ 1 นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 3