แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา
ย่อสั้น
จำเลยที่ 3 เป็นผู้ครอบครองรถยนต์คันเกิดเหตุได้ให้จำเลยที่ 1ซึ่งเป็นลูกจ้างขับรถคันดังกล่าว แม้จำเลยที่ 3 จะนำรถไปประกอบการขนส่งในนามของจำเลยที่ 2 ซึ่งมีใบอนุญาตประกอบการขนส่งก็ตามยังถือได้ว่า จำเลยที่ 1 เป็นลูกจ้างของจำเลยที่ 3 การที่จำเลยที่ 3 ใช้ให้จำเลยที่ 1 ลูกจ้างขับรถคันเกิดเหตุไปบรรทุกหินซึ่งเป็นกิจการในทางการที่จ้างของจำเลยที่ 3 ในระหว่างทาง แม้จำเลยที่ 1 จะรับจ้างบุคคลอื่นนำคนป่วยไปส่งโรงพยาบาลตามลำพังโดยไม่ได้ขออนุญาตจำเลยที่ 3 เสียก่อนก็ตาม แต่เมื่อการรับจ้างนั้นอยู่ในระหว่างที่จำเลยที่ 1 กระทำการในทางการที่จ้างของจำเลยที่ 3 จำเลยที่ 3 จึงต้องร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 1 ในผลแห่งละเมิดที่จำเลยที่ 1 ได้กระทำไป จำเลยที่ 3 ได้เช่าซื้อรถคันพิพาทจากบริษัท ช. แต่ยังชำระค่าเช่าซื้อไม่ครบ กรรมสิทธิ์ในรถจึงยังเป็นของบริษัท ช. เมื่อบริษัท ช. ประกันภัยรถคันพิพาทไว้กับจำเลยที่ 4 ตกลงกันว่าจำเลยที่ 4 จะถือบุคคลใดซึ่งขับขี่รถยนต์โดยได้รับความยินยอมจากบริษัทช. ผู้เอาประกันภัยเสมือนหนึ่งเป็นผู้เอาประกันภัยเอง ซึ่งหมายความว่านอกจากรับผิดในกรณีที่ผู้เอาประกันภัยทำละเมิดต่อผู้อื่นแล้ว จำเลยที่ 4 ยังยอมรับผิดในกรณีที่ผู้อื่นเป็นผู้ทำละเมิดโดยผู้นั้นได้ขับขี่รถคันที่จำเลยที่ 4 รับประกันภัยไว้โดยความยินยอมของผู้เอาประกันภัย จำเลยที่ 4 จึงต้องร่วมรับผิดด้วย
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่าจำเลยที่ 2 ที่ 3 ร่วมกันเป็นเจ้าของผู้ครอบครองรถยนต์บรรทุกสิบล้อคันเกิดเหตุ และได้จ้างจำเลยที่ 1 เป็นคนขับจำเลยที่ 4 เป็นผู้รับประกันภัยค้ำจุนรถคันดังกล่าว จำเลยที่ 1ขับรถคันเกิดเหตุไปในทางการที่จ้างของจำเลยที่ 2 ที่ 3 ชนรถยนต์บรรทุกของผู้อื่นที่โจทก์รับประกันภัยไว้โดยละเมิด โจทก์ซ่อมรถแล้วจึงรับช่วงสิทธิในการเรียกค่าเสียหายจากจำเลยทั้งสี่ให้ร่วมกันรับผิดต่อโจทก์ตามฟ้อง จำเลยที่ 1 ขาดนัดยื่นคำให้การและขาดนัดพิจารณา จำเลยที่ 2 ขาดนัดยื่นคำให้การและไม่สืบพยานจำเลยที่ 3 ให้การว่า จำเลยที่ 1 ไม่ใช่ลูกจ้างกระทำการในทางการที่จ้างของจำเลยที่ 3 เหตุรถชนไม่ใช่ความประมาทของจำเลยที่ 1จำเลยที่ 4 ให้การว่า ไม่ได้รับประกันภัยรถคันเกิดเหตุจากจำเลยที่ 1 ถึงจำเลยที่ 3 ขณะเกิดเหตุไม่ได้ใช้รถคันนี้ในกิจการของผู้เอาประกันภัย ขอให้ยกฟ้อง ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยที่ 1และที่ 3 ร่วมกันรับผิดใช้เงินพร้อมดอกเบี้ยตามฟ้องแก่โจทก์ยกฟ้องจำเลยที่ 2 ที่ 4 โจทก์อุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่าให้ยกฟ้องจำเลยที่ 3 ด้วย นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ปัญหาที่ว่า จำเลยที่ 3 เป็นนายจ้างของจำเลยที่ 1 หรือไม่นั้น จำเลยที่ 3 เบิกความว่า จำเลยที่ 3เป็นผู้ครอบครองรถคันหมายเลขทะเบียน น.ฐ. 25891 ได้ให้จำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นลูกจ้างขับรถคันนี้และตนได้นำรถไปประกอบการขนส่งในนามของจำเลยที่ 2 เพราะตนไม่มีใบอนุญาตประกอบการขนส่งจำเลยที่ 2 มีชื่อในใบอนุญาตประกอบการขนส่ง ข้อเท็จจริงจึงรับฟังได้ว่า จำเลยที่ 1 เป็นลูกจ้างของจำเลยที่ 3
คดีมีปัญหาต่อไปว่า จำเลยที่ 1 ขับรถคันพิพาทในทางการที่จ้างหรือไม่ จำเลยที่ 3 เบิกความรับว่าวันเกิดเหตุจำเลยที่ 1 ขับรถคันเกิดเหตุออกจากกรุงเทพมหานครเพื่อไปบรรทุกหินที่เขางูจังหวัดราชบุรี ตามลำพังคนเดียว เมื่อขับรถไปถึงตำบลท่ามะขามอำเภอโพธาราม ใกล้จังหวัดราชบุรี นายสายันต์ได้ว่าจ้างจำเลยที่ 1 ให้ไปรับนายพร้อมที่บ้านท่ามะขามไปส่งโรงพยาบาลเพราะนายพร้อมถูกรถชน จำเลยที่ 1 จึงขับรถไปรับนายพร้อมไปส่งที่โรงพยาบาลราชบุรีตามที่รับจ้าง เมื่อไปถึงสี่แยกตลาดราชบุรีได้ชนกับรถบรรทุก 6 ล้อ คันหมายเลขทะเบียน ร.บ. 15552ของนายหงำ ชิงชัย จนเป็นเหตุให้ได้รับความเสียหายนั้น เห็นว่าการที่จำเลยที่ 3 ใช้ให้จำเลยที่ 1 ขับรถคันพิพาทไปบรรทุกหินที่เขางู ซึ่งเป็นกิจการในทางการที่จ้างของจำเลยที่ 3 ในระหว่างที่จำเลยที่ 1 ขับรถไปบรรทุกหินตามทางการที่จ้างนั้น ถึงแม้จำเลยที่ 1 จะรับจ้างนายสายันต์นำนายพร้อมไปส่งโรงพยาบาลตามลำพังโดยมิได้ขออนุญาตจากจำเลยที่ 3 ซึ่งเป็นนายจ้างเสียก่อนก็ตาม แต่เมื่อการรับจ้างนั้นอยู่ในระหว่างที่จำเลยที่ 1 กระทำการในทางการที่จ้างของจำเลยที่ 3 จึงถือได้ว่าจำเลยที่ 1 กระทำไปในทางการที่จ้างของจำเลยที่ 3 เมื่อจำเลยที่ 1 ขับรถโดยประมาทไปชนรถบรรทุก 6 ล้อ ของนายหงำ จนได้รับความเสียหายอันเป็นการทำละเมิดต่อนายหงำ จำเลยที่ 3 จึงต้องร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 1ชดใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่นายหงำ
คดีมีปัญหาต่อไปว่า จำเลยที่ 4 จะต้องชดใช้ค่าสินไหมทดแทนตามกรมธรรม์ประกันภัยเอกสารหมายเลข ล.1 หรือไม่
ข้อเท็จจริงที่ไม่โต้แย้งกันเป็นอันยุติรับฟังได้ว่ารถคันหมายเลขทะเบียน น.ฐ. 25891 นั้น บริษัทเชสแมนฮัตตันอินเวสท์เมนท์จำกัด เป็นผู้ให้เช่าซื้อ จำเลยที่ 3 ได้เช่าซื้อรถคันดังกล่าวและยังชำระค่าเช่าซื้อไม่ครบ กรรมสิทธิ์ในรถยังคงเป็นของบริษัทผู้ให้เช่าซื้ออยู่ นายนพดล ศรีชยันดร หัวหน้ากฎหมายของจำเลยที่ 4เบิกความว่า รถคันพิพาทได้ประกันภัยไว้กับจำเลยที่ 4 โดยประกันภัยชั้นหนึ่ง แต่เอกสารหมายเลข ล.1 ที่จำเลยที่ 4 ส่งต่อศาลนั้นปรากฏในแผ่นที่ 8 ว่าด้วยหมวดที่ 2 สัญญาคุ้มครองความรับผิดต่อบุคคลภายนอก ตามข้อ 2.8 ซึ่งกล่าวถึงการยกเว้นบุคคลภายนอกว่าการประกันภัยตามสัญญาข้อ 2.1 ไม่คุ้มครองความบาดเจ็บหรือมรณะของผู้เอาประกันภัยหรือบุคคลในครอบครัวซึ่งอยู่ด้วยกับผู้เอาประกันลูกจ้างของผู้เอาประกันภัยที่เกิดขึ้นในระหว่างทางการที่จ้าง ฯลฯอันมีลักษณะเป็นการรับประกันภัยในความเสียหายที่จะเกิดขึ้นแก่บุคคลที่สาม มิใช่การประกันภัยชั้นหนึ่งซึ่งคุ้มครองความเสียหายของผู้เอาประกันภัยโดยสิ้นเชิง เมื่อจำเลยที่ 4 ส่งเอกสารที่แสดงให้เห็นได้ว่าไม่ตรงกับที่จำเลยที่ 4 ได้รับประกันภัย จึงส่อแสดงถึงความไม่สุจริตของจำเลยที่ 4 ที่จะหลีกเลี่ยงความรับผิดตามกรมธรรม์ประกันภัยนั้น ถึงแม้เอกสารแผ่นที่ 8 ดังกล่าวจะไม่ตรงกับประเภทของการประกันภัยที่ผู้เอาประกันภัยได้ทำไว้กับจำเลยที่ 4 ก็ตาม แต่เมื่อข้อ 2.7 ของเอกสารดังกล่าวมีข้อความว่าการคุ้มครองผู้ขับขี่ บริษัทจะถือบุคคลใดซึ่งขับขี่รถยนต์โดยได้รับความยินยอมจากผู้เอาประกันภัยเสมือนหนึ่งเป็นผู้เอาประกันภัยเอง ซึ่งหมายความว่า นอกจากรับผิดในกรณีที่ผู้เอาประกันภัยทำละเมิดต่อผู้อื่นแล้ว จำเลยที่ 4 ยังยอมรับผิดในกรณีที่ผู้เอาประกันภัยมิได้เป็นผู้ทำละเมิดแต่ผู้อื่นเป็นผู้ทำละเมิดโดยผู้นั้นได้ขับขี่รถคันที่จำเลยที่ 4 รับประกันภัยไว้โดยความยินยอมของผู้เอาประกันภัย เมื่อเป็นเช่นนี้แม้จำเลยที่ 4 จะถือว่าบริษัทเชสแมนฮัตตันอินเวสท์เมนท์ จำกัด เป็นผู้เอาประกันตามที่ปรากฏชื่อในกรมธรรม์ประกันภัยดังที่จำเลยที่ 4 ต่อสู้คดีก็ตาม แต่เมื่อบริษัทเชสแมนฮัตตันอินเวสท์เมนท์ จำกัด ได้ให้จำเลยที่ 3 เช่าซื้อรถคันที่ประกันภัยไว้กับจำเลยที่ 4 จึงถือได้ว่าบริษัทเชสแมนฮัตตันอินเวสท์เม้นท์ จำกัด ยินยอมให้จำเลยที่ 3 ขับขี่รถคันนั้น และเมื่อจำเลยที่ 3 ได้ให้จำเลยที่ 1ซึ่งเป็นลูกจ้างเป็นผู้ขับขี่ในทางการที่จ้างจึงถือได้ว่าบริษัทเชสแมนฮัตตันอินเวสท์เม้นท์ จำกัด ยินยอมให้จำเลยที่ 1ขับขี่ด้วยเช่นเดียวกัน เมื่อจำเลยที่ 1 ขับขี่รถคันที่จำเลยที่ 4รับประกันภัยไว้ และไปทำละเมิดต่อผู้อื่น จำเลยที่ 4 จึงต้องรับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่โจทก์ซึ่งเป็นผู้รับช่วงสิทธิร่วมกับจำเลยที่ 3 ฎีกาโจทก์ข้อนี้ฟังขึ้น และไม่จำต้องวินิจฉัยฎีกาโจทก์ที่เกี่ยวกับความรับผิดของจำเลยที่ 4 ในเหตุอื่นอีกต่อไป
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยที่ 3 และที่ 4 ร่วมกันชดใช้ค่าสินไหมทดแทนจำนวน 34,000 บาท พร้อมทั้งดอกเบี้ยในอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีนับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จให้แก่โจทก์และให้จำเลยที่ 3 และที่ 4 ร่วมกันชดใช้ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสามศาลแทนโจทก์โดยกำหนดค่าทนายความให้เป็นเงิน 3,300 บาท นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์”