แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ
ย่อสั้น
จำเลยใช้อาวุธปืนยิงผู้เสียหายโดยมีเจตนาฆ่าเป็นเหตุให้ผู้เสียหายได้รับอันตรายสาหัส จำเลยจึงมีความผิดฐานพยายามฆ่าผู้เสียหาย การกระทำของจำเลยไม่เป็นความผิดตาม ประมวลกฎหมายอาญามาตรา 297 อีกบทหนึ่ง
จำเลยใช้อาวุธปืนยิงผู้เสียหายโดยมีเจตนาฆ่า เป็นเหตุให้ผู้เสียหายได้รับอันตรายสาหัส และตกลงจากรถจักรยานยนต์ที่ขับขี่มา จากนั้นจำเลยได้ลักเอารถจักรยานยนต์ของผู้เสียหายไป การที่จำเลยยิงผู้เสียหายก็เพื่อความสะดวกในการที่จำเลยจะลักเอารถจักรยานยนต์ของผู้เสียหาย เมื่อผู้เสียหายได้รับอันตรายสาหัสจากการกระทำดังกล่าวการกระทำของจำเลยจึงเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 289(6),80มิใช่มาตรา 289(7) ซึ่งเป็นการฆ่าเพราะได้กระทำความผิดอื่นมาแล้ว.(ที่มา-ส่งเสริม)
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 80, 90, 289(6)(7), 297, 339, 340 ตรี ให้จำเลยคืนหรือใช้ราคาทรัพย์แก่ผู้เสียหายจำนวน 10,000 บาท
จำเลยให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 289(6) (7), 80, 297, 339 วรรคสี่ ประกอบด้วยมาตรา 340 ตรีการกระทำของจำเลยเป็นกรรมเดียวผิดต่อกฎหมายหลายบท ให้วางโทษตามมาตรา 289(6) (7), 80 ซึ่งเป็นบทหนักตามมาตรา 90 จำคุกตลอดชีวิต คำรับชั้นจับกุมและชั้นสอบสวนตลอดจนการนำสืบของจำเลยเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษลดโทษให้กึ่งหนึ่งตามมาตรา 78 ประกอบด้วยมาตรา 53 คงจำคุก 25 ปี ให้จำเลยคืนหรือใช้ราคาทรัพย์ 10,000 บาท แก่ผู้เสียหายด้วย
โจทก์และจำเลย อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับให้ยกฟ้องโจทก์
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงเบื้องต้นฟังได้ว่า ในวันเกิดเหตุ นายพงษ์ศักดิ์ เพชรคง ผู้เสียหายถูกคนร้ายชิงเอารถจักรยานยนต์ 1 คัน ราคา 10,000 บาทไป ในการชิงทรัพย์ดังกล่าวคนร้ายได้ใช้อาวุธปืนยิงทำให้ผู้เสียหายได้รับอันตรายสาหัส มีปัญหาพิจารณาตามฎีกาของโจทก์ว่าจำเลยเป็นคนร้ายกระทำความผิดรายนี้หรือไม่ พยานโจทก์มีนายเพิ่มศักดิ์ เพชรคง บิดาผู้เสียหายเบิกความว่า นายพงษ์ศักดิ์ เพชรคง ผู้เสียหายมีอาชีพขับรถจักรยานยนต์รับจ้างอยู่ที่คิวรถในตลาดอำเภอท่าศาลา ในวันเกิดเหตุเวลาประมาณ12 นาฬิกา นายสมศักดิ์ เดชารัตน์ ได้นำหนังสือของชายคนหนึ่งไปให้ผู้เสียหาย หนังสือดังกล่าวมีความว่า “พี่ที่โดยสารรถ 110กรุณาระวังหน่อย กลับบ้านเถอะ แล้วไม่ต้องสืบถามอะไรทั้งสิ้นจากผู้หวังดี” ผู้เสียหายได้นำหนังสือดังกล่าวไปให้นายเพิ่มศักดิ์เวลา 13 นาฬิกาในวันนั้น นายเพิ่มศักดิ์เข้าใจว่าผู้เสียหายถูกปองร้าย จึงได้ห้ามมิให้ผู้เสียหายขับรถออกไป แต่ผู้เสียหายก็ขับรถออกไปอีก ต่อมาเวลา 15-16 นาฬิกา มีเพื่อนบ้านไปบอกว่าผู้เสียหายถูกยิงที่หมู่ 2 ตำบลท่าขึ้น อำเภอท่าศาลา มีผู้นำผู้เสียหายส่งโรงพยาบาลท่าศาลา แต่นายแพทย์ให้ส่งผู้เสียหายต่อไปยังโรงพยาบาลมหาราชนครศรีธรรมราช นายเพิ่มศักดิ์ได้ให้นางประนอมภริยาไปจัดการส่งผู้เสียหายไปยังโรงพยาบาลมหาราชนครศรีธรรมราชแล้วออกไปสอบหาข้อเท็จจริงเบื้องต้นได้ความจากคนที่คิวรถจักรยานยนต์รับจ้างว่า นายดำไม่ทราบนามสกุลได้จ้างผู้เสียหายไปส่งที่ตำบลท่าขึ้น เมื่อไปถึงนายดำได้ใช้อาวุธปืนยิงผู้เสียหายแล้วชิงเอารถจักรยานยนต์ผู้เสียหายไป วันรุ่งขึ้นนายเพิ่มศักดิ์ได้ไปเยี่ยมผู้เสียหายที่โรงพยาบาลปรากฏว่าผู้เสียหายมีบาดแผลถูกยิงที่สันหลัง 1 แห่ง ต่อมาวันที่ 11 พฤษภาคม 2530 จำเลยถูกร้อยตำรวจโทวิรัณ พรหมคีรี จับข้อหามีอาวุธปืนและเครื่องกระสุนปืนโดยไม่ได้รับอนุญาต เมื่อควบคุมจำเลยไปถึงสถานีตำรวจภูธรอำเภอท่าศาลา จึงทราบว่า จำเลยหลบหนีคดีชิงทรัพย์ในคดีนี้ร้อยตำรวจโทวิรัณจึงแจ้งข้อหาว่ากระทำผิดในคดีนี้อีก ชั้นจับกุมจำเลยรับสารภาพตามบันทึกการจับกุมเอกสารหมาย จ.3 ชั้นสอบสวนจำเลยก็ให้การรับสารภาพต่อพันตำรวจโทไพโรจน์ ตันติวัฒนาพนักงานสอบสวนว่า ได้ว่าจ้างผู้เสียหายไปตำบลท่าขึ้น อำเภอท่าศาลา เมื่อเลยสะพานไปเป็นที่ปลอดคน จึงใช้อาวุธปืนยิงผู้เสียหาย1 นัด ผู้เสียหายตกจากรถจักรยานยนต์จำเลยจึงได้ลักเอารถจักรยานยนต์ของผู้เสียหายไปตามบันทึกคำให้การของผู้ต้องหาลงวันที่ 12 พฤษภาคม 2530 เอกสารหมาย จ.8 ต่อมาวันที่14 พฤษภาคม 2530 พนักงานสอบสวนได้นำตัวจำเลยไปให้ผู้เสียหายดูตัว ผู้เสียหายยืนยันว่าจำเลยเป็นคนร้ายร่วมกับพวกยิงผู้เสียหายและชิงเอารถจักรยานยนต์ของผู้เสียหายไปตามบันทึก และภาพถ่ายการดูตัวผู้ต้องหาเอกสารหมาย จ.9 และ จ.10 ในวันเดียวกันนั้นจำเลยได้ไปชี้ที่เกิดเหตุและแสดงแผนประทุษกรรมให้พนักงานสอบสวนบันทึกและถ่ายภาพไว้ตามบันทึกการชี้สถานที่เกิดเหตุประกอบคำรับสารภาพเอกสารหมาย จ.11 และภาพถ่ายรวม 6 ภาพ โจทก์มีร้อยตำรวจโทวิรัณ ผู้จับและพันตำรวจโทไพโรจน์พนักงานสอบสวนมาเบิกความประกอบคำรับสารภาพของจำเลยด้วย เชื่อได้ว่าจำเลยรับสารภาพด้วยความสมัครใจและเป็นความจริง เว้นแต่ข้อที่จำเลยรับว่าทำผิดแต่ผู้เดียวนั้น น่าจะเป็นการรับเพื่อกันพวกของจำเลยมิให้ต้องรับโทษส่วนคำให้การของผู้เสียหายที่ให้การต่อพนักงานสอบสวนยืนยันว่า จำเลยกับพวกจ้างผู้เสียหายไปส่งที่บ้านบางใหญ่โดยพวกจำเลยนั่งซ้อนท้ายและจำเลยนั่งหลังสุด เมื่อผู้เสียหายขับรถไปถึงบ้านบางใหญ่แล้วจำเลยว่ายังไม่ถึง ให้ขับต่อไปอีก 2 กิโลเมตร ไปถึงสะพานผู้เสียหายขับรถช้าลงได้ถูกจำเลยยิง 1 นัด ผู้เสียหายตกลงไปที่ถนนจำเลยกับพวกได้ลักเอารถจักรยานยนต์ของผู้เสียหายไป แต่ผู้เสียหายได้ถึงแก่ความตายเสียก่อนที่จะได้เบิกความต่อศาลปัญหาว่าคำให้การของผู้เสียหายต่อพนักงานสอบสวนดังกล่าวฟังได้เพียงใดหรือไม่นั้น เห็นว่าคำให้การของผู้เสียหายดังกล่าวแม้จะมีน้ำหนักน้อยแต่ก็ใช้ประกอบคำเบิกความของพยานโจทก์อื่นได้เมื่อพิเคราะห์คำของนายเพิ่มศักดิ์ บิดาผู้เสียหาย คำของร้อยตำรวจโทวิรัณพันตำรวจโทไพโรจน์และคำรับสารภาพของจำเลยประกอบแล้ว พยานโจทก์มีน้ำหนักมั่นคงมีเหตุผลสอดคล้องต้องกับข้อเท็จจริงเชื่อได้ว่าจำเลยเป็นคนร้ายรายนี้ พยานหลักฐานที่อยู่ของจำเลยไม่มีน้ำหนักหักล้างพยานโจทก์แต่การที่จำเลยใช้อาวุธปืนยิงผู้เสียหายนั้นเป็นเจตนาฆ่ามิใช่เจตนาทำร้าย จำเลยจึงไม่ผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 297 การที่จำเลยยิงผู้เสียหายเป็นการกระทำเพื่อความสะดวกในการที่จะกระทำความผิดฐานลักทรัพย์ของผู้เสียหาย จึงเป็นความผิดตามมาตรา 289(6), 80 แต่มิใช่ (7) ซึ่งเป็นการฆ่าเพราะได้กระทำความผิดอื่นมาแล้ว จำเลยจึงไม่ผิดตามอนุมาตรานี้ ส่วนปัญหาว่าควรลดโทษให้แก่จำเลยหรือไม่เพียงใดนั้น เห็นว่าจำเลยให้การรับสารภาพทั้งในชั้นจับกุมและชั้นสอบสวนเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ควรลดโทษให้จำเลยหนึ่งในสามตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 78 ที่ศาลอุทธรณ์ยกฟ้องโจทก์ไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกาฎีกาโจทก์ฟังขึ้นบางส่วน”
พิพากษากลับว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา289(6), 80, 339 วรรคสี่, 340 ตรี แต่การกระทำของจำเลยเป็นกรรมเดียวผิดต่อกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 289(6), 80 ซึ่งเป็นบทหนักตามมาตรา 90 จำคุกตลอดชีวิตลดโทษให้หนึ่งในสามตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุก 33 ปี4 เดือน ให้จำเลยคืนหรือใช้ราคาทรัพย์ 10,000 บาท แก่ทายาทผู้มีสิทธิรับมรดกของผู้เสียหายด้วย