คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2411/2537

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

ถ้อยคำที่โจทก์ด่านางวันทนีย์ว่า “อีหัวล้าน” เป็นเพียงคำไม่สุภาพ ไม่ถึงกับเป็นการดูหมิ่นซึ่งหน้า ถือไม่ได้ว่าโจทก์กระทำผิดอาญาโดยเจตนาแก่นายจ้าง การที่จำเลยระบุในคำสั่งเลิกจ้างว่า โจทก์จงใจฝ่าฝืนระเบียบข้อบังคับของบริษัทอย่างร้ายแรงและกระทำผิดอาญาโดยเจตนาแก่นายจ้างเท่านั้น เท่ากับจำเลยประสงค์จะถือเอาเหตุที่ระบุในคำสั่งเลิกจ้างดังกล่าวเป็นเหตุเลิกจ้าง ไม่ได้ถือเอาเหตุอื่นเป็นเหตุเลิกจ้างด้วย จำเลยจึงยกเหตุว่าโจทก์จงใจทำให้จำเลยซึ่งเป็นนายจ้างได้รับความเสียหายขึ้นเป็นข้อต่อสู้ไม่ได้ การที่โจทก์กล่าวเพียงคำว่า “อีหัวล้าน” เท่านั้น มิได้กล่าววาจาหรือแสดงกริยาอื่นใดอีก เพียงถ้อยคำซึ่งกล่าวด้วยอารมณ์ผิดหวังและไม่พอใจจากการที่จำเลยไม่จ่ายค่าจ้างให้แก่โจทก์ ถือไม่ได้ว่าเป็นการฝ่าฝืนข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานของจำเลยในกรณีที่ร้ายแรงตามประกาศกระทรวงมหาดไทยเรื่องการคุ้มครองแรงงาน ข้อ 47(3) จำเลยจึงต้องจ่ายค่าชดเชยแก่โจทก์

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยจ้างโจทก์เป็นลูกจ้าง ต่อมาจำเลยเลิกจ้างโจทก์โดยไม่มีสาเหตุ เป็นการเลิกจ้างไม่เป็นธรรม ขอให้บังคับจำเลยรับโจทก์กลับเข้าทำงานตามเดิมและจ่ายค่าจ้างให้โจทก์นับแต่วันที่เลิกจ้างจนถึงวันที่รับโจทก์กลับเข้าทำงานหากไม่ปฏิบัติตามที่ขอ ให้บังคับจำเลยจ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า 1 เดือน เป็นเงิน 4,624 บาท ค่าชดเชย เป็นเงิน27,744 บาท และค่าเสียหายเป็นเงิน 110,976 บาท
จำเลยให้การว่า จำเลยเลิกจ้างโจทก์เนื่องจากโจทก์ได้กล่าววาจาไม่สุภาพด่านางวันทนีย์ เยาวพงศ์ศิริ ซึ่งเป็นผู้บังคับบัญชาและนายจ้างของโจทก์ว่า “อีหัวล้าน” เป็นการดูหมิ่นซึ่งหน้า เป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 393 และเป็นการฝ่าฝืนข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานหรือคำสั่งอันชอบด้วยกฎหมายของจำเลยในกรณีที่ร้ายแรงตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 583 และประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงานข้อ 47(1) (2) (3) จึงไม่ใช่เป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรมขอให้ยกฟ้อง
ศาลแรงงานกลางพิจารณาแล้ว พิพากษาให้จำเลยจ่ายค่าชดเชยเป็นเงิน 27,744 บาท แก่โจทก์ คำขออื่นให้ยก
จำเลยอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า “คดีมีปัญหาวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของจำเลยประการแรกว่า การที่โจทก์ด่านางวันทนีย์ว่าอีหัวล้าน เป็นการดูหมิ่นซึ่งหน้าอันเป็นการกระทำผิดอาญาโดยเจตนาแก่นายจ้างหรือไม่ เห็นว่า ถ้อยคำที่โจทก์ด่านางวันทนีย์ว่าอีหัวล้าน เป็นเพียงคำที่ไม่สุภาพ ไม่ถึงกับเป็นการดูหมิ่นนางวันทนีย์ซึ่งหน้า โจทก์จึงมิได้กระทำผิดอาญาโดยเจตนาแก่นายจ้าง อุทธรณ์ข้อนี้ของจำเลยฟังไม่ขึ้น
จำเลยอุทธรณ์ประการที่สองว่า การที่โจทก์ด่านางวันทนีย์ว่าอีหัวล้านเป็นการจงใจทำให้จำเลยซึ่งเป็นนายจ้างได้รับความเสียหายตามประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงานข้อ 47(2) นั้น เห็นว่า ตามคำสั่งเลิกจ้างโจทก์เอกสารหมาย ล.3จำเลยระบุในคำสั่งเลิกจ้างโจทก์ว่า โจทก์จงใจฝ่าฝืนระเบียบข้อบังคับของบริษัทฯ อย่างร้ายแรงและกระทำผิดอาญาโดยเจตนาแก่นายจ้างเท่านั้น เท่ากับจำเลยประสงค์จะถือเอาเฉพาะเหตุที่ระบุในคำสั่งเลิกจ้างทั้งสองประการดังกล่าวเป็นเหตุเลิกจ้างไม่ได้ถือเอาเหตุอื่นเป็นเหตุเลิกจ้างด้วย ดังนี้ เมื่อจำเลยถูกฟ้องก็ชอบที่จะยกเหตุตามที่ระบุในคำสั่งเลิกจ้างโจทก์เป็นข้อต่อสู้ จะยกเหตุอื่นนอกเหนือจากที่ระบุในคำสั่งเลิกจ้างเป็นข้อต่อสู้ไม่ได้ จำเลยจึงยกเหตุว่าโจทก์จงใจทำให้จำเลยซึ่งเป็นนายจ้างได้รับความเสียหายขึ้นเป็นข้อต่อสู้ไม่ได้ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย
จำเลยอุทธรณ์ประการสุดท้ายว่า การที่โจทก์ด่านางวันทนีย์ว่าอีหัวล้านเป็นการฝ่าฝืนข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานในกรณีที่ร้ายแรงนั้นเห็นว่า แม้ข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานของจำเลยตามเอกสารหมาย ล.5 ข้อ 71 จะกำหนดห้ามมิให้ลูกจ้างโต้เถียงหรือพูดจาประชดประชันหรือแสดงกริยาวาจาไม่สุภาพ หรือแสดงกิริยาดูหมิ่นเหยียดหยามลูกค้า ผู้บังคับบัญชาหรือผู้มาติดต่อหรือพนักงานด้วยกันเองก็ตาม แต่ตามระเบียบข้อบังคับดังกล่าวก็มิได้กำหนดว่าการฝ่าฝืนเป็นกรณีที่ร้ายแรงประการใด และเมื่อพิเคราะห์ถึงพฤติการณ์ก่อนเกิดเหตุดังกล่าวก็จะเห็นได้ว่าโจทก์และลูกจ้างอื่นประมาณ 40 คน ประสงค์จะได้รับค่าจ้างอันเป็นเป้าหมายสำคัญในการทำงานของผู้มีอาชีพรับจ้างตามกำหนดเวลาเพื่อจะได้นำไปใช้จ่ายเลี้ยงดูชีวิตของลูกจ้างและครอบครัวเมื่อจำเลยไม่จ่ายให้ตามกำหนดเวลาซึ่งถือได้ว่าเป็นการผิดสัญญาและไม่ชอบด้วยประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงานข้อ 29 ย่อมทำให้โจทก์และลูกจ้างดังกล่าวผิดหวังเกิดความรู้สึกไม่พอใจจำเลย และมายืนออกันอยู่ที่หน้าโรงงาน ในขณะที่ยืนออกันอยู่นั้นเมื่อเห็นนางวันทนีย์ขับรถผ่านมา โจทก์ได้กล่าวถ้อยคำไม่สุภาพต่อนางวันทนีย์ ซึ่งการกระทำดังกล่าวเป็นการแสดงความไม่พอใจต่อจำเลยอันมีผลสืบเนื่องมาจากการที่จำเลยไม่จ่ายค่าจ้างให้แก่โจทก์ ทั้งโจทก์ก็กล่าวเพียงคำว่าอีหัวล้านเท่านั้น มิได้กล่าววาจาหรือแสดงกริยาอย่างอื่นใดประกอบอีกเพียงถ้อยคำซึ่งกล่าวด้วยอารมณ์ผิดหวังดังเช่นกรณีของโจทก์จึงถือไม่ได้ว่าเป็นการฝ่าฝืนข้อบังคับเกี่ยวกับทำงานของจำเลยในกรณีที่ร้ายแรงที่จำเลยผู้เป็นนายจ้างมีสิทธิเลิกจ้างได้โดยไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยตามประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่องการคุ้มครองแรงงาน ข้อ 47(3) ที่ศาลแรงงานกลางพิพากษาให้จำเลยจ่ายค่าชดเชยแก่โจทก์ ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย อุทธรณ์ของจำเลยฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน

Share