แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา
ย่อสั้น
โทษปรับนิติบุคคลถูกกักขังแทนค่าปรับไม่ได้ การขอผ่อนชำระค่าปรับถือว่าจำเลยไม่ชำระค่าปรับไม่ได้ ศาลผ่อนผันให้จำเลยชำระค่าปรับช้าเร็วเพียงใด แล้วแต่ดุลพินิจตามความยุติธรรมและเหมาะสมการยึดทรัพย์อาจทำได้ภายใน 5 ปีตาม มาตรา 99 ไม่เป็นการขยายเวลาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 23 ซึ่งใช้สำหรับกฎหมายวิธีพิจารณา นำมาใช้กับกฎหมายสารบัญญัติไม่ได้ ศาลกำหนดให้จำเลยผ่อนชำระค่าปรับเป็นงวดๆ แต่เมื่อครบงวดปีที่ 4 ให้จำเลยหาธนาคารมาค้ำประกันโดยให้จำเลยทำทัณฑ์บนไว้
ย่อยาว
โจทก์ฎีกาคัดค้านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ ลงวันที่ 3 เดือนตุลาคมพุทธศักราช 2520
กรณีเรื่องนี้สืบเนื่องมาจากศาลพิพากษาคดีถึงที่สุดว่า จำเลยมีความผิดฐานสำแดงใบขนสินค้าอันเป็นเท็จ ตามพระราชบัญญัติศุลกากร พุทธศักราช2482 มาตรา 99 ประกอบด้วยพระราชบัญญัติศุลกากร (ฉบับที่ 9)พุทธศักราช 2482 มาตรา 16 ลงโทษปรับเป็นรายครั้งที่ยื่นสำแดงใบขนสินค้าอันเป็นเท็จ ครั้งละ 40,000 บาท รวม 3 ครั้งเป็นเงิน 120,000 บาทและมีความผิดฐานหลีกเลี่ยงการเสียค่าภาษีศุลกากรโดยเจตนาจะฉ้อค่าภาษีของรัฐ ตามพระราชบัญญัติศุลกากร พุทธศักราช 2469 มาตรา 27พระราชบัญญัติศุลกากร (ฉบับที่ 11) พ.ศ. 2490 มาตรา 3 อีกฐานหนึ่งปรับสี่เท่าราคาของซึ่งได้รวมค่าอากรเข้าด้วยแล้ว ทั้งสามกรรมเป็นความผิดสามกระทง กระทงแรกปรับ 17,532,175 บาท 67 สตางค์ กระทงที่สองปรับ 28,643,004 บาท 85 สตางค์ กระทงที่สามปรับ 19,569,671 บาท76 สตางค์ รวมสามกระทงปรับเป็นเงิน 65,749,852 บาท 25 สตางค์บังคับค่าปรับตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29 ให้จ่ายรางวัลร้อยละยี่สิบของค่าปรับสำหรับความผิดทั้งสองฐานแก่เจ้าหน้าที่ซึ่งจับกุม ตามมาตรา 7 วรรคสอง และมาตรา 8 วรรคสอง แห่งพระราชบัญญัติให้บำเหน็จในการปราบปรามผู้กระทำผิด พ.ศ. 2489
จำเลยชำระค่าปรับสำหรับความผิดฐานแรกจำนวน 120,000 บาทแล้ว ส่วนค่าปรับอีก 65,749,852 บาท 24 สตางค์ จำเลยยื่นคำร้องต่อศาลชั้นต้นว่าไม่มีเงินสดเพียงพอจะชำระต่อศาลให้ครบได้ภายใน 30 วันเพราะบริษัทจำเลยเพิ่งเริ่มก่อตั้งเมื่อ พ.ศ. 2508 และเริ่มผลิตกระดาษตั้งแต่ปี พ.ศ. 2512 บริษัทจำเลยมียอดขาดทุนสะสมเป็นจำนวน 384.6ล้านบาท และมีหนี้ 1,108.6 ล้านบาท แต่มีทรัพย์สินราว 924 ล้านบาทบริษัทจำเลยมีความผูกพันที่จะต้องชำระหนี้ถึง 1,206.5 ล้านบาท และจะต้องชำระค่าปรับตามคำพิพากษาเพิ่มขึ้นอีก 65.1 ล้านบาท ถ้าบริษัทจำเลยถูกยึดทรัพย์เพื่อชำระค่าปรับ ก็หมดทางที่จะผลิตกระดาษจำหน่ายต่อไปได้เพราะพ่อค้าจะไม่ส่งวัตถุดิบมาให้ ทั้ง ๆ ที่บริษัทจำเลยมีเครื่องจักรมีกำลังความสามารถที่จะผลิตอยู่ได้ในขณะนี้ และจะตกอยู่ในฐานะล้มละลายซึ่งจะทำความเสียหายเป็นอย่างมากต่อผู้ถือหุ้นซึ่งมีจำนวน 3,557 ราย ระบบการเงินภายในประเทศจะได้รับความสั่นสะเทือน เนื่องจากความเสียหายจะตามมาถึงเจ้าหนี้ต่าง ๆ การประกอบกิจการอุตสาหกรรมของบริษัทจำเลยที่ช่วยประหยัดเงินตราต่างประเทศก็จะหมดไป ผลเสียหายจะตามมาถึงระบบเศรษฐกิจทั่วไป ตลอดจนบรรยากาศในการลงทุน จึงขอให้ศาลสั่งขยายระยะเวลาชำระค่าปรับจำนวน 65,744,852 บาท 24 สตางค์ ออกไปเป็นงวด ๆ ดังนี้ งวดแรกจำนวน 5,744,452 บาท 24 สตางค์ ชำระภายใน วันที่ 15มกราคม 2521 งวดต่อไปชำระภายในวันที่ 15 มกราคม ของทุกปี ปีละ 6 ล้านบาท จนกว่าจะครบจำนวนค่าปรับ อันจะทำให้เกิดผลดีแก่ทุกฝ่าย ทำให้จำเลยสามารถดำเนินกิจการและหารายได้มาชำระค่าปรับได้ หากมีการขายทอดตลาด กิจการของจำเลยจะต้องล้มเลิกไป ถ้าอนุญาตให้จำเลยผ่อนชำระค่าปรับจะเกิดผลดีที่รัฐจะได้ค่าปรับครบจำนวน บริษัทจำเลยสามารถดำเนินกิจการหารายได้มาชำระค่าปรับได้ ผู้ถือหุ้นและผู้ถือหุ้นของกู้บริษัทไม่ได้รับความกระทบกระเทือน พนักงานของบริษัทและครอบครัวประมาณ 3,000 คนจะไม่ว่างงาน บรรยากาศการลงทุนไม่เสียเจ้าหนี้ของจำเลยก็ไม่ได้รับความเสียหาย
โจทก์แถลงคัดค้านว่า การที่จำเลยขอผ่อนชำระค่าปรับเป็นการประวิงคดี ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 245 บัญญัติให้ดำเนินการบังคับคดีโดยไม่ชักช้า และประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29บัญญัติให้ผ่อนผันการบังคับคดีได้เพียง 30 วัน ซึ่งเป็นบทบัญญัติเฉพาะแล้วจึงนำประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 15 ไม่ได้ โดยเฉพาะประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 23 บัญญัติถึงการขยายเวลาไว้เฉพาะเรื่องการดำเนินกระบวนพิจารณาเท่านั้น การที่จำเลยจะต้องชำระค่าปรับมิใช่เป็นการดำเนินกระบวนพิจารณา แต่เป็นการบังคับตามคำพิพากษาขอให้ยกคำร้องของจำเลยเสีย
ศาลชั้นต้นมีคำสั่งว่า หากจำเลยรับรองจะหาธนาคารมาค้ำประกันการชำระค่าปรับได้ ก็ไม่เป็นข้อน่าวิตกแต่อย่างใด สำหรับการบังคับโทษปรับกฎหมายมิได้บัญญัติไว้เป็นเด็ดขาดว่าให้เวลาแก่จำเลยเพียง 30 วัน เท่านั้นประกอบกับประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 245 ให้บังคับคดีโดยไม่ชักช้า จึงไม่อาจนำบทบัญญัติเรื่องการย่นหรือขยายระยะเวลาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 23 มาใช้กับประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29 อันเป็นกฎหมายฝ่ายสารบัญญัติได้กำหนดเวลา 30 วันตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29 นั้น เป็นกระบวนการในการบังคับคดี การจะกำหนดให้จำเลยผ่อนชำระค่าปรับได้ช้าเร็วเพียงใดไม่ใช่เป็นการย่นหรือขยายระยะเวลาแต่อย่างใด แต่เป็นดุลพินิจของศาลที่จะกระทำได้ จึงเห็นสมควรให้โอกาสจำเลยผ่อนชำระค่าปรับโดยมีเงื่อนไขดังนี้ (1) ให้จำเลยชำระค่าปรับงวดแรกเป็นเงิน 10,774,852 บาท 24 สตางค์ ภายในวันที่ 21 มกราคม 2521 ที่เหลือผ่อนชำระปีละ 10,000,000 บาท ภายในวันที่ 21 มกราคม ของทุก ๆ ปี จนกว่าจะครบ สำหรับปีสุดท้าย ชำระ5,000,000 บาท (2) จำเลยต้องหาธนาคารเข้ามาเป็นผู้ค้ำประกันการชำระค่าปรับดังกล่าว เมื่อบริษัทจำเลยต้องเลิกกิจการไม่ว่าด้วยประการใด ๆ ธนาคารผู้ค้ำประกันยินยอมรับผิดชำระค่าปรับทั้งหมดแทนจำเลยโดยพลัน และจะไม่ปฏิเสธความรับผิดใด ๆ ทั้งสิ้น
โจทก์อุทธรณ์ว่า ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 245 บัญญัติให้บังคับคดีโดยไม่ชักช้า ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 18 ค่าปรับเป็นโทษประการหนึ่ง และมาตรา 29 ศาลจะผ่อนผันให้ชำระค่าปรับได้ไม่เกิน 30 วัน นับแต่วันที่ศาลพิพากษา การบังคับให้ชำระค่าปรับเป็นการบังคับให้รับโทษทางอาญา ผิดกับการบังคับทางแพ่งซึ่งโจทก์จะบังคับเอาเมื่อไรก็ได้ภายในกำหนด 10 ปี ถ้าผ่อนผันให้ชำระค่าปรับได้เมื่อจำเลยถูกเลิกเป็นนิติบุคคลก็จะเป็นอันไม่ต้องชำระค่าปรับการใช้ดุลพินิจของศาลน่าจะมีแต่ในเรื่องการพิจารณาจนถึงมีคำพิพากษาแล้วนั้น ไม่มีกฎหมายสนับสนุนให้ศาลใช้ดุลพินิจผ่อนผันการบังคับชำระค่าปรับตามที่ศาลชั้นต้นกล่าวไว้ ขอให้ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้คำสั่งของศาลชั้นต้นบังคับให้จำเลยชำระค่าปรับทั้งหมดให้เสร็จสิ้นโดยทันที หากไม่ชำระก็ขอให้สั่งยึดทรัพย์สินของจำเลยชำระค่าปรับต่อไป
จำเลยอุทธรณ์ว่า ระยะเวลาที่จะชำระค่าปรับภายใน 30 วัน ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29 นั้น เป็นระยะเวลาเกี่ยวกับวิธีพิจารณาในกรณีที่มีพฤติการณ์พิเศษ จำเลยย่อมจะขอให้ศาลขยายเวลาออกไปอีกได้โดยอาศัยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 23 และศาลชั้นต้นเคยผ่อนผันให้จำเลยชำระค่าปรับเกินกว่า 30 วันอยู่เสมอ แม้ศาลชั้นต้นจะผ่อนเวลาให้จำเลยถึง 6 ปีเศษก็ตาม แต่เมื่อพิจารณาดูจำนวนค่าปรับจำนวนนี้ที่จำเลยเป็นลูกหนี้ผู้อื่นอยู่ 1,206.5 ล้านบาท จะเห็นว่าระยะเวลาที่ศาลชั้นต้นให้โอกาสแก่จำเลยนั้นยังสั้นเกินไป ควรผ่อนเวลาให้ดังที่จำเลยร้องขอเพราะถ้าจำเลยไม่อาจชำระค่าปรับได้ ก็จะเกิดผลเสียหายดังที่จำเลยอ้างไว้ในคำร้อง ส่วนที่ศาลชั้นต้นให้หาธนาคารเข้ามาเป็นผู้ค้ำประกันการผ่อนชำระค่าปรับนั้น จะต้องเป็นเรื่องที่มีเหตุอันควรสงสัยว่าจำเลยจะหลีกเลี่ยงไม่ชำระค่าปรับเสียก่อน และการเรียกประกันตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 29 ใช้คู่กับการสั่งให้กักขังแทนค่าปรับไปพลางก่อน ซึ่งใช้เฉพาะกรณีที่จำเลยเป็นบุคคลธรรมดา แต่จำเลยเป็นนิติบุคคล ศาลจะสั่งเรียกประกันไม่ได้ และจำเลยไม่อาจหาธนาคารมาค้ำประกันการชำระค่าปรับได้ขอให้ศาลอุทธรณ์ขยายเวลาให้จำเลยชำระค่าปรับ งวดแรกจำนวน5,744,852 บาท 24 สตางค์ ในวันที่ 21 มกราคม 2521 และต่อจากนั้นทุก ๆ ปี ปีละ 6 บาท จนกว่าจะชำระเสร็จ โดยไม่ต้องให้ธนาคารค้ำประกัน
หลังจากที่โจทก์จำเลยยื่นอุทธรณ์ดังกล่าวข้างต้นแล้ว ศาลชั้นต้นนัดคู่ความมาพร้อมกันเพื่อดำเนินการตามเงื่อนไขที่กำหนดให้จำเลยปฏิบัติเกี่ยวกับการผ่อนชำระค่าปรับ แต่เมื่อโจทก์จำเลยไม่เห็นพ้องด้วยและได้ยื่นอุทธรณ์คัดค้านไว้แล้ว ศาลชั้นต้นเห็นว่านับจากวันที่อ่านคำพิพากษาศาลฎีกาให้คู่ความฟังเลยระยะเวลา 30 วัน ที่จำเลยจะต้องชำระค่าปรับตามกฎหมายแล้ว ถือว่าจำเลยไม่อยู่ในฐานะที่จะชำระค่าปรับได้ตามคำพิพากษาจึงให้ดำเนินการบังคับคดียึดทรัพย์จำเลยขายทอดตลาด นำเงินมาชำระค่าปรับต่อไป
จำเลยอุทธรณ์คำสั่งของศาลชั้นต้นที่สั่งในตอนหลังนี้อีกว่า ศาลชั้นต้นไม่มีอำนาจสั่งให้จำเลยหาธนาคารมาค้ำประกัน และไม่สมควรจะใช้ดุลพินิจเช่นนั้น ศาลย่อมมีอำนาจขยายระยะเวลาชำระค่าปรับ ควรผ่อนผันให้จำเลยชำระค่าปรับได้ตามที่ร้องขอ
ศาลอุทธรณ์พิจารณาแล้ว พิพากษากลับ ให้จำเลยผ่อนชำระค่าปรับได้ โดยจำเลยต้องนำเงินจำนวน 10,000,000 บาท มาชำระก่อนภายในวันที่ 30 เมษายน 2521 ส่วนที่เหลืออีก 55,744,852 บาท 24 สตางค์ ให้จำเลยผ่อนชำระเป็น 8 งวด ๆ ละไม่น้อยกว่า 6,968,106 บาท 50 สตางค์ โดยให้จำเลยชำระงวดแรกภายในวันที่ 31 ตุลาคม 2521 และชำระงวดต่อไปภายในวันที่ 31 ตุลาคมของทุกปีถัดไปติดต่อกันจนครบ โดยกำหนดให้จำเลยทำทัณฑ์บนต่อศาลชั้นต้นภายใน 7 วัน นับแต่วันฟังคำพิพากษานี้ด้วยว่าจะไม่ยักย้ายจำหน่ายโรงงานและเครื่องจักรของจำเลยตามความหมายในพระราชบัญญัติโรงงาน พ.ศ. 2512 ทั้งหมด และห้ามจำเลยก่อภาระติดพันแก่ทรัพย์สินเหล่านั้นเพิ่มขึ้นอีก ถ้าจำเลยไม่ทำทัณฑ์บนหรือผิดทัณฑ์บนตามที่กำหนด หรือจำเลยไม่นำเงิน 10,000,000 บาท ซึ่งจะต้องชำระครั้งแรก หรือผิดนัดชำระค่าปรับงวดหนึ่งงวดใด เป็นอันว่าจำเลยไม่มีสิทธิผ่อนชำระค่าปรับต่อไป ให้ดำเนินการยึดทรัพย์สินขายทอดตลาดชำระหนี้ค่าปรับที่ยังเหลือทั้งหมดทันที ให้ศาลชั้นต้นดำเนินการในเรื่องนี้ต่อไป
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาตรวจสำนวนประชุมปรึกษาแล้ว ปัญหาตามฎีกาของโจทก์ในชั้นนี้มีสารสำคัญว่า เมื่อศาลพิพากษาแล้ว จำเลยจะต้องชำระค่าปรับทันที ถ้าไม่ชำระทันทีก็จะต้องชำระให้เสร็จสิ้นภายใน 30 วัน หากพ้นกำหนด30 วันแล้ว ถ้าสภาพของคดีจะจำคุกจำเลยแทนค่าปรับไม่ได้ ก็ต้องยึดทรัพย์จำเลยใช้ค่าปรับตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29 จะผ่อนผันการชำระค่าปรับอีกไม่ได้ เพราะไม่มีบทบัญญัติใดให้อำนาจศาลทำเช่นนั้น และเป็นการขัดกับประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 245 ซึ่งให้บังคับคดีโดยไม่ชักช้า และจะนำประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 23 ขึ้นปรับแก่คดีนี้ไม่ได้ เพราะมาตรา 15 แห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาบัญญัติให้ใช้ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาปรับได้แต่เฉพาะกรณีไม่มีบัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาเท่านั้น
พิเคราะห์แล้ว เห็นว่า ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29 วรรคแรกบัญญัติว่า “ผู้ใดต้องรับโทษปรับ และไม่ชำระค่าปรับภายในสามสิบวันนับแต่วันที่ศาลพิพากษา ผู้นั้นจะต้องถูกยึดทรัพย์สินใช้ค่าปรับ หรือมิฉะนั้นจะต้องถูกกักขังแทนค่าปรับ แต่ถ้าศาลเห็นเหตุอันควรสงสัยว่าผู้นั้นจะหลีกเลี่ยงไม่ชำระค่าปรับ ศาลจะสั่งเรียกประกันหรือจะสั่งให้กักขังแทนค่าปรับไปพลางก่อนก็ได้” คดีนี้จำเลยเป็นนิติบุคคลจะกักขังจำเลยแทนค่าปรับไม่ได้ ศาลได้แต่ยึดทรัพย์สินของจำเลยใช้ค่าปรับแต่ประการเดียว การที่จำเลยขอผ่อนชำระค่าปรับจะถือว่าจำเลยไม่ชำระค่าปรับนั้นไม่ได้ เพราะในกรณีที่จำเลยมีทรัพย์สิน ถ้าให้โอกาสจำเลยมีเวลาหาเงินมาชำระค่าปรับได้ ก็ไม่จำเป็นต้องยึดทรัพย์สินของจำเลย การที่ศาลจะผ่อนให้จำเลยชำระค่าปรับช้าเร็วเพียงใด เป็นการใช้ดุลพินิจกำหนดให้ตามความยุติธรรมและเหมาะสมในการให้รอการบังคับไว้ยังไม่ยึดทรัพย์จำเลย เพราะประมวลกฎหมายอาญามาตรา 29 ใช้คำว่า “ผู้นั้นจะต้องถูกยึดทรัพย์สินใช้ค่าปรับ” มิได้ใช้คำว่า”ให้ยึดทรัพย์สินจำเลยใช้ค่าปรับ” ซึ่งศาลอาจดำเนินการยึดทรัพย์ได้ภายในกำหนด 5 ปี ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 99 ตามพฤติการณ์คดีทั้งนี้ไม่ใช่เป็นการขยายระยะเวลาบังคับคดี จะนำประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 23 ซึ่งใช้เฉพาะในกฎหมายวิธีสบัญญัติมาใช้ในประมวลกฎหมายอาญาอันเป็นกฎหมายสารบัญญัติไม่ได้คดีนี้เห็นได้ว่าถ้าบังคับคดียึดทรัพย์สินของจำเลยมาขายทอดตลาดเอาเงินชำระค่าปรับทันทีมีแต่จะเกิดความเสียหาย เพราะค่าปรับมีจำนวนถึง 65,744,852บาท 24 สตางค์ โดยจำนวนภาษีอันแท้จริงที่จำเลยจะต้องเสียหายไม่ถูกปรับมีเพียง 3,892,972 บาท 25 สตางค์ และจำเลยมีทรัพย์สินประมาณ584 ล้านบาท แต่ในวันที่ 31 ธันวาคม 2519 บริษัทจำเลยมีความผูกพันที่จะต้องชำระหนี้ถึง 1,206.5 ล้านบาท ทรัพย์สินของจำเลย ก็ติดสัญญาจำนอง บริษัทจำเลยจะตกอยู่ในฐานะล้มละลายต้องล้มเลิกกิจการ ซึ่งจะทำความเสียหายเป็นอย่างมากต่อผู้ถือหุ้นซึ่งมีจำนวน 3,557 ราย ระบบการเงินภายในประเทศจะสะเทือนเนื่องจากความเสียหายจะตามถึงเจ้าหนี้ต่าง ๆ การประกอบกิจการอุตสาหกรรมของบริษัทจำเลยที่จะช่วยประหยัดเงินตราต่างประเทศจะหมดไป และจะกระทบกระเทือนถึงระบบเศรษฐกิจทั่วไปตลอดจนบรรยากาศในการลงทุน พนักงานของบริษัทจำเลยและครอบครัวประมาณ 3,000 คน จะว่างงาน ดังนั้นที่ศาลอุทธรณ์ขยายเวลาผ่อนชำระค่าปรับให้จำเลยออกไปนั้น จึงเป็นการใช้ดุลพินิจที่เหมาะสมกับข้อเท็จจริงและพฤติการณ์แห่งคดีแล้ว ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วยในผลแห่งคำวินิจฉัยแต่เงื่อนไขที่ศาลอุทธรณ์กำหนดให้จำเลยทำทัณฑ์บนไว้นั้นยังไม่เป็นหลักประกันอันมั่นคงในการที่จำเลยจะชำระค่าปรับต่อศาล ปรากฏว่าที่ศาลอุทธรณ์ให้จำเลยผ่อนชำระค่าปรับงวดแรก โดยให้นำเงินจำนวน10,000,000 บาท มาชำระก่อนภายในวันที่ 30 เมษายน 2521 นั้น จำเลยได้ปฏิบัติตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์แล้ว คงเหลือเงินค่าปรับที่จำเลยจะต้องชำระอีก 55,744,852 บาท 24 สตางค์ จึงเห็นสมควรแก้ไขเพิ่มเติมเงื่อนไขกำหนดให้จำเลยชำระค่าปรับที่เหลือเสียใหม่
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยผ่อนชำระค่าปรับที่เหลือ 55,744,852 บาท24 สตางค์ได้ โดยให้จำเลยผ่อนชำระงวดละไม่ต่ำกว่า 6,000,000 บาทโดยชำระงวดแรกภายในวันที่ 10 มกราคม 2522 และงวดต่อ ๆ ไปภายในวันที่ 10 มกราคม ของทุกปีถัดไปจนถึงเมื่อคำพิพากษาในคดีก่อนถึงที่สุด(วันที่ 11 กรกฎาคม 2520) ได้ครบสี่ปีหกเดือนแล้ว นับแต่นั้นภายในกำหนด1 เดือน จำเลยจะต้องนำธนาคารมาเป็นผู้ค้ำประกันการชำระค่าปรับที่ค้างชำระ โดยมีเงื่อนไขว่าถ้าบริษัทจำเลยไม่ชำระหรือบริษัทจำเลยต้องเลิกกิจการไม่ว่าด้วยเหตุใด ๆ ธนาคารผู้ค้ำประกันจะต้องชำระค่าปรับทั้งหมดที่ค้างชำระแทนจำเลยทันที โดยจะปฏิเสธความรับผิดใด ๆ ไม่ได้ทั้งสิ้น และสละสิทธิไม่ยกข้อต่อสู้ใด ๆ ของจำเลยมาอ้าง เพื่อให้พ้นความรับผิดจากการที่จะต้องถูกบังคับคดี หากจำเลยผิดนัดชำระค่าปรับงวดใดงวดหนึ่งหรือไม่นำธนาคารมาค้ำประกันการชำระค่าปรับภายในกำหนดเวลาดังกล่าวข้างต้นก็ให้บังคับคดีทันที นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์โดยให้จำเลยทำทัณฑ์บนต่อศาลชั้นต้นเสียใหม่ให้เป็นไปตามเงื่อนไขที่ศาลฎีกาได้แก้ไขเพิ่มเติมดังกล่าวภายในกำหนด 30 วัน นับแต่วันอ่านคำพิพากษานี้ ถ้าจำเลยไม่ปฏิบัติก็ให้บังคับคดีได้ทันทีเช่นกัน ให้ศาลชั้นต้นดำเนินการในเรื่องนี้ต่อไป