แหล่งที่มา : ส่วนเลขานุการคณะกรรมการวินิจฉัยฯ
ย่อสั้น
ไม่มีย่อสั้น
ย่อยาว
(สำเนา)
คำวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล คณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล
ที่ ๘/๒๕๕๑
วันที่ ๒๔ มีนาคม ๒๕๕๑
เรื่อง คดีเกี่ยวกับสิทธิในที่ดิน
ศาลปกครองกลาง
ระหว่าง
ศาลแพ่ง
การส่งเรื่องต่อคณะกรรมการ
ศาลปกครองกลางโดยสำนักงานศาลปกครองส่งเรื่องให้คณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาลวินิจฉัยชี้ขาดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล พ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๑๐ วรรคหนึ่ง (๓) ซึ่งเป็นกรณีที่คู่ความฝ่ายที่ถูกฟ้องโต้แย้งเขตอำนาจศาลที่รับฟ้องคดี และศาลที่ส่งความเห็นและศาลที่รับความเห็นมีความเห็นแตกต่างกันในเรื่องเขตอำนาจศาลในคดีนั้น
ข้อเท็จจริงในคดี
เมื่อวันที่ ๕ ตุลาคม ๒๕๔๘ วัดชนะสงคราม ผู้ฟ้องคดี ยื่นฟ้องกระทรวงมหาดไทย ที่ ๑ รองปลัดกระทรวงมหาดไทย ที่ ๒ กรมที่ดิน ที่ ๓ อธิบดีกรมที่ดิน ที่ ๔ผู้ถูกฟ้องคดี ต่อศาลปกครองกลางเป็นคดีหมายเลขดำที่ ๑๕๓๘/๒๕๔๘และศาลปกครองกลางกำหนดให้ กรมธนารักษ์ ที่ ๕กระทรวงการคลัง ที่ ๖ ผู้ถูกฟ้องคดีเข้ามาในคดี ความว่า ผู้ฟ้องคดีเป็นวัดมีฐานะเป็นนิติบุคคลตามพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ พ.ศ. ๒๕๐๕ แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ (ฉบับที่๒)พ.ศ. ๒๕๓๕ตั้งอยู่บนที่ดินโฉนดที่ดินเลขที่ ๔๘๘๘ ตำบลวัดชนะสงคราม อำเภอพระนครกรุงเทพมหานคร เดิมเป็นที่ดินได้รับพระราชทานเป็นกรรมสิทธิ์ของผู้ฟ้องคดีมาตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ ๑ จำนวน ๔๐ ไร่ แต่ปัจจุบันมีเนื้อที่เพียง ๒๘ ไร่ ๒ งาน ๔๗ ตารางวาในปี พ.ศ.๒๕๓๙ มีการขุดพบหลักฐานทางด้านโบราณวัตถุเป็นเสาหลักเขตไม้โบราณมีข้อความจารึกเป็นภาษาไทย-มอญ จำนวน ๗ หลักและพยานหลักฐานอื่นผู้เชี่ยวชาญกรมศิลปากรตรวจสอบพยานหลักฐานที่ขุดพบดังกล่าวสรุปว่า ที่ดินตามโฉนดที่ดินเลขที่ ๒๒๗ ตำบลวัดชนะสงคราม อำเภอพระนคร กรุงเทพมหานคร เนื้อที่๑๓ ไร่ ๘๔ ตารางวา ของกระทรวงพระคลังมหาสมบัติ (ปัจจุบันคือผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๖)และเป็นที่ตั้งโรงกษาปณ์สิทธิการของผู้ถูกฟ้องคดีที่๕เป็นที่ดินของผู้ฟ้องคดีที่ได้รับพระราชทานมา ต่อมาในปี พ.ศ. ๒๕๔๐ กรมการศาสนา ได้หารือเรื่องกรรมสิทธิ์ที่ดินในโฉนดที่ดินเลขที่ ๒๒๗ ต่อผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๓ และได้รับแจ้งจากผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๓ โดยผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๔ ว่า ผู้ฟ้องคดีจะต้องเป็นผู้พิสูจน์ว่าผู้ฟ้องคดีได้ที่ดินดังกล่าวมาก่อนที่จะมีการออกหลักฐานเป็นโฉนดที่ดินเลขที่ ๒๒๗ หรือไม่ ผู้ฟ้องคดีเห็นว่าการออกโฉนดที่ดินเลขที่๒๒๗ เป็นการออกโฉนดที่ดินโดยไม่มีหลักฐานที่ดินเดิมมาแสดงอันเป็นการขัดต่อกฎหมายที่ดินและยังเป็นการออกทับที่ดินของผู้ฟ้องคดี ผู้ฟ้องคดีจึงมีหนังสือฉบับลงวันที่ ๑๔พฤศจิกายน๒๕๔๖ ขอให้ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๓ และที่ ๔ และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยทำการเพิกถอนโฉนดที่ดินเลขที่ ๒๒๗ แต่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ ถึงที่ ๔ มีหนังสือแจ้งผู้ฟ้องคดีว่า ให้ผู้ฟ้องคดีไปดำเนินการทางศาลโดยมีคำสั่งไม่เพิกถอนโฉนดที่ดินดังกล่าว และแจ้งด้วยว่าการมีคำสั่งไม่เพิกถอนโฉนดที่ดินพิพาทถือเป็นคำสั่งทางปกครองผู้ฟ้องคดีมีสิทธิอุทธรณ์โต้แย้งคำสั่งได้ ผู้ฟ้องคดีอุทธรณ์คำสั่ง ต่อมาได้รับแจ้งผลการพิจารณาอุทธรณ์ ตามหนังสือที่ มท ๐๕๑๖.๒/๒๐๕๕๘ ลงวันที่ ๖ กรกฎาคม ๒๕๔๘ ว่าที่ดินตามหลักฐานโฉนดที่ดินพิพาทได้ตกเป็นที่หลวงซึ่งเป็นของพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว ปรากฏหลักฐานตามหนังสือฉบับลงวันที่ ๑๔ มกราคม ร.ศ.๑๑๗ ที่ได้บรรยายถึงแนวเขตที่ดินของผู้ฟ้องคดีในอดีต อุทธรณ์ของผู้ฟ้องคดีฟังไม่ขึ้น และยกอุทธรณ์ ผู้ฟ้องคดีเห็นว่า การวินิจฉัยอุทธรณ์ดังกล่าวของผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ ถึงที่ ๔เป็นไปโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายเนื่องจากที่ดินพิพาทมิใช่ที่หลวงแต่เป็นที่ดินมีกรรมสิทธิ์เป็นของผู้ฟ้องคดี การออกโฉนดที่ดินเลขที่ ๒๒๗ ดำเนินการโดยที่กระทรวงพระคลังมหาสมบัติซึ่งเป็นเพียงผู้ครอบครอง ไม่ใช่เจ้าของที่ดินผู้มีอำนาจตามกฎหมาย และไม่ได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษาเพื่อหาผู้คัดค้าน ไม่มีหนังสือมอบอำนาจและไม่มีหนังสือสัญญาซื้อขาย จึงเป็นการไม่ปฏิบัติตามพระราชบัญญัติการออกโฉนดที่ดิน ร.ศ. ๑๒๗ ที่บังคับใช้ในขณะนั้นเป็นเหตุให้ทับที่ดินของผู้ฟ้องคดี ขอให้เพิกถอนคำสั่งของผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ถึงที่ ๔ ที่ มท ๐๕๑๖.๒/๒๐๕๕๘ ลงวันที่ ๖ กรกฎาคม ๒๕๔๘ ที่สั่งไม่เพิกถอนโฉนดที่ดินเลขที่ ๒๒๗ เป็นให้เพิกถอนโฉนดที่ดินเลขที่ ๒๒๗ และให้แก้ไขโฉนดที่ดินเลขที่๒๒๗ ให้ตกเป็นกรรมสิทธิ์ของผู้ฟ้องคดี
ศาลปกครองกลางมีคำสั่งไม่รับคำฟ้องไว้พิจารณาเนื่องจากเป็นคดีโต้แย้งสิทธิในที่ดินซึ่งเป็นคดีทางแพ่งไม่ใช่คดีปกครองตามมาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๑)แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ ผู้ฟ้องคดีอุทธรณ์ ศาลปกครองสูงสุดมีคำสั่งให้รับคำฟ้องไว้พิจารณาโดยเห็นว่า ประเด็นหลักที่พิพาทกันในคดีนี้ได้แก่การออกโฉนดที่ดินพิพาทโดยไม่ชอบโดยออกทับที่ดินของผู้ฟ้องคดี และได้มีการร้องขอให้ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๔ และผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ ดำเนินการเพิกถอนโฉนดที่ดินพิพาทตามภาระหน้าที่ที่กฎหมายบัญญัติแล้วแต่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๔และผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ ไม่ดำเนินการเพิกถอนโฉนดที่ดินพิพาทตามที่ผู้ฟ้องคดีร้องขอกรณีจึงเป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับการที่เจ้าหน้าที่ของรัฐละเลยต่อหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนดให้ต้องปฏิบัติ ตามมาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๒) แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งครองตามมาตรา ๙วรรคหนึ่ง (๑) แห่งพระราชบัญญัติฉบับเดียวกันด้วย คดีจึงอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครอง
ผู้ถูกฟ้องคดีทั้งหกให้การในทำนองเดียวกันว่า ที่ดินซึ่งเป็นที่ตั้งโรงกษาปน์สิทธิการเคยเป็นที่ดินของผู้ฟ้องคดีเมื่อในอดีตจริง แต่ต่อมาปรากฏหลักฐานเป็นพระราชหัตถเลขาของรัชกาลที่ ๕ ลงวันที่ ๒๗ มกราคม ร.ศ.๑๑๗ หน้าที่ ๒ วรรคสองว่าควรเลื่อนมาทำที่ใหม่ซึ่งเป็นที่หลวงคือในหมู่วังใหม่พระปิ่นเกล้า ที่ดินแปลงพิพาทตามโฉนดที่ดินเลขที่ ๒๒๗ จึงเป็นที่หลวง และการออกโฉนดที่ดินแปลงพิพาทกระทำโดยชอบด้วยกฎหมาย ข้ออ้างที่ว่าที่ดินพิพาทเป็นกรรมสิทธิ์ของผู้ฟ้องคดีไม่อาจรับฟังได้
ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๕ ยื่นคำร้องโต้แย้งเขตอำนาจศาลว่าคดีนี้มีกรณีพิพาทเกี่ยวกับกรรมสิทธิ์ ในที่ดินเนื่องจากที่ดินมีผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๖ เป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์อยู่ในปัจจุบัน การที่ผู้ฟ้องคดีขอให้ศาลมีคำสั่งให้ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ ถึงที่ ๔ เพิกถอนโฉนดที่ดินแปลงที่พิพาทและให้แก้ไขโฉนดที่ดินเป็นของผู้ฟ้องคดีจึงเป็นกรณีผู้ฟ้องคดีโต้แย้งสิทธิในที่ดินที่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๖ มีกรรมสิทธิ์เพิ่มเข้ามาเป็นประเด็นแห่งคดีนี้แล้วคดีจึงเกิดประเด็นที่ศาลต้องพิจารณาว่าสิทธิในที่ดินเป็นกรรมสิทธิ์ของผู้ฟ้องคดีตามที่กล่าวอ้างหรือไม่ด้วย ซึ่งการพิจารณาสิทธิในที่ดินพิพาทระหว่างคู่กรณีในคดีนี้จะต้องมีปัญหาการชี้ขาดเกี่ยวกับกรรมสิทธิ์ในที่ดินว่าเป็นของผู้ใดเป็นปัญหาข้อเท็จจริงลักษณะเป็นคดีแพ่ง และเป็นประเด็นหลักอันสำคัญที่ต้องพิจารณาก่อน คดีนี้จึงเป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับสิทธิในที่ดิน อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม
ศาลปกครองกลางพิจารณาแล้วเห็นว่า ประเด็นพิพาทในคดีนี้เป็นกรณีผู้ฟ้องคดีขอให้เพิกถอนคำสั่งของผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ ที่ยกอุทธรณ์ของผู้ฟ้องคดีที่อุทธรณ์คำสั่งไม่เพิกถอนโฉนดที่ดินพิพาทของผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๔ และขอให้เพิกถอนโฉนดที่ดินพิพาทที่ออกโดยคลาดเคลื่อน ประเด็นหลักที่พิพาทกันในคดีนี้ได้แก่การออกโฉนดที่ดินพิพาทโดยไม่ชอบโดยออกทับที่ดินของผู้ฟ้องคดีและได้มีการร้องขอให้ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๔ และผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ ดำเนินการเพิกถอนโฉนดที่ดินพิพาทตามภาระหน้าที่ที่กฎหมายบัญญัติแล้ว แต่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๔ และผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ ไม่ดำเนินการเพิกถอนโฉนดที่ดินพิพาทตามที่ผู้ฟ้องคดีร้องขอกรณีจึงเป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับการที่เจ้าหน้าที่ของรัฐละเลยต่อหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนดให้ต้องปฏิบัติตามมาตรา๙วรรคหนึ่ง (๒) แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒และเป็นการฟ้องเพิกถอนคำสั่งทางปกครองด้วย ตามมาตรา ๙วรรคหนึ่ง (๑) แห่งพระราชบัญญัติฉบับเดียวกัน คดีจึงอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครอง
ศาลแพ่งพิจารณาแล้วเห็นว่าคดีที่เอกชนยื่นฟ้องเจ้าหน้าที่ของรัฐว่าไม่ยอมเพิกถอน โฉนดที่ดินที่ซึ่งได้มาตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ ๑ ว่า โจทก์มีกรรมสิทธิ์ในที่ดินโดยให้เพิกถอนโฉนดที่ดินและ จดทะเบียนให้โจทก์เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ในที่ดิน แม้เหตุแห่งการฟ้องคดีจะสืบเนื่องมาจากคำสั่งของฝ่ายปกครองที่ไม่เพิกถอนกรรมสิทธิ์ในโฉนดที่ดิน และไม่จดทะเบียนให้โจทก์ แต่เมื่อพิจารณาความมุ่งหมายของโจทก์ที่จะใช้สิทธิทางศาลเพื่อให้ศาลมีคำพิพากษารับรองคุ้มครองสิทธิในที่ดินซึ่งโจทก์อ้างว่าเป็นของโจทก์ และการเพิกถอนโฉนดที่ดินและจดทะเบียนที่ดินของจำเลยเป็นไปตามอำนาจหน้าที่ที่กฎหมายกำหนดรวมทั้งปฏิบัติตามกฎ หรือระเบียบของจำเลย เพื่อให้ผู้มีสิทธิในที่ดินที่แท้จริงได้รับการคุ้มครองตามกฎหมาย การที่จำเลยไม่เพิกถอนโฉนดที่ดินและออกโฉนดที่ดินให้โจทก์ ทั้งยังยืนยันว่าที่ดินเป็นของจำเลยจึงมีผลเท่ากับจำเลยโต้แย้งสิทธิในที่ดินของโจทก์ แต่จะพิจารณาว่าโจทก์เป็นผู้มีสิทธิในที่ดินที่แท้จริงหรือไม่ต้องพิจารณาจากข้อเท็จจริงตามที่เป็นจริง และสามารถนำสืบข้อเท็จจริงเพื่อแสดงสิทธิในที่ดินต่างไปจากที่ปรากฏหลักฐานทางทะเบียนได้ ดังนั้นการที่จำเลยจะเพิกถอนโฉนดที่ดินได้หรือไม่จำต้องพิจารณาให้ได้ความเสียก่อนว่าที่ดินพาทเป็นของโจทก์ตามที่กล่าวอ้างหรือไม่ จึงจะพิจารณาประเด็นอื่นต่อไปได้ จึงเป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับสิทธิในที่ดิน อันอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม
คำวินิจฉัย
ปัญหาที่ต้องพิจารณา คดีนี้อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรมหรือศาลปกครอง
คณะกรรมการพิจารณาแล้ว ข้อเท็จจริงตามคำฟ้องคดีนี้สรุปได้ว่า ผู้ฟ้องคดีเป็นวัดตั้งอยู่บนที่ดินโฉนดที่ดินเลขที่ ๔๘๘๘ ตำบลวัดชนะสงคราม อำเภอพระนคร กรุงเทพมหานครเดิมเป็นที่ดินได้รับพระราชทานเป็นกรรมสิทธิ์ของผู้ฟ้องคดีมาตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ ๑ จำนวน ๔๐ไร่ แต่ปัจจุบันมีเนื้อที่เพียง ๒๘ ไร่ ๒ งาน๔๗ ตารางวา ในปี พ.ศ. ๒๕๓๙ มีการขุดพบหลักฐานทางด้านโบราณวัตถุเป็นเสาหลักเขตไม้โบราณมีข้อความจารึกเป็นภาษาไทย-มอญ จำนวน ๗หลักและพยานหลักฐานอื่นผู้เชี่ยวชาญกรมศิลปากรตรวจสอบพยานหลักฐานที่ขุดพบดังกล่าวสรุปว่า ที่ดินตามโฉนดที่ดินเลขที่ ๒๒๗ ตำบลวัดชนะสงคราม อำเภอพระนครกรุงเทพมหานครเนื้อที่ ๑๓ ไร่ ๘๔ ตารางวา ของกระทรวงพระคลังมหาสมบัติ(ปัจจุบันคือผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๖) และเป็นที่ตั้งโรงกษาปณ์สิทธิการของผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๕เป็นที่ดินของผู้ฟ้องคดีที่ได้รับพระราชทานมาต่อมา ในปี พ.ศ. ๒๕๔๐ กรมการศาสนาได้หารือเรื่องกรรมสิทธิ์ที่ดินในโฉนดที่ดินเลขที่ ๒๒๗ ต่อผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๓ และได้รับแจ้งจากผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๓ โดยผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๔ ว่า ผู้ฟ้องคดีจะต้องเป็นผู้พิสูจน์ว่าผู้ฟ้องคดีได้ที่ดินดังกล่าวมาก่อนที่จะมีการออกหลักฐานเป็นโฉนดที่ดินเลขที่ ๒๒๗หรือไม่ ผู้ฟ้องคดีเห็นว่าการออกโฉนดที่ดินเลขที่ ๒๒๗ เป็นการออกโฉนดที่ดินโดยไม่มีหลักฐานที่ดินเดิมมาแสดงอันเป็นการขัดต่อกฎหมายที่ดิน และยังเป็นการออกทับที่ดินของผู้ฟ้องคดีผู้ฟ้องคดีจึงมีหนังสือฉบับลงวันที่ ๑๔ พฤศจิกายน ๒๕๔๖ ขอให้ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๓ และที่ ๔ และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยเพิกถอนโฉนดที่ดินเลขที่ ๒๒๗ แต่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ ถึงที่ ๔มีหนังสือแจ้งผู้ฟ้องคดีว่า ให้ผู้ฟ้องคดีไปดำเนินการทางศาลโดยมีคำสั่งไม่เพิกถอนโฉนดที่ดินดังกล่าวและแจ้งด้วยว่าการมีคำสั่งไม่เพิกถอนโฉนดที่ดินพิพาทถือเป็นคำสั่งทางปกครองผู้ฟ้องคดีมีสิทธิอุทธรณ์โต้แย้งคำสั่งได้ ผู้ฟ้องคดีอุทธรณ์คำสั่ง ต่อมาได้รับแจ้งผลการพิจารณาอุทธรณ์ตามหนังสือที่ มท ๐๕๑๖.๒/๒๐๕๕๘ ลงวันที่ ๖ กรกฎาคม ๒๕๔๘ ว่า ที่ดินตามหลักฐานโฉนดที่ดินพิพาทตกเป็นที่หลวง ซึ่งเป็นของพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัวปรากฏหลักฐานตามหนังสือฉบับลงวันที่ ๑๔ มกราคม ร.ศ. ๑๑๗ ที่ได้บรรยายถึงแนวเขตที่ดินของผู้ฟ้องคดีในอดีตอุทธรณ์ของผู้ฟ้องคดีฟังไม่ขึ้น และยกอุทธรณ์ ผู้ฟ้องคดีเห็นว่า การวินิจฉัยอุทธรณ์ดังกล่าวของผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ ถึงที่ ๔ เป็นไปโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย เนื่องจากที่ดินพิพาทมิใช่ที่หลวงแต่เป็นที่ดินมีกรรมสิทธิ์เป็นของผู้ฟ้องคดี การออกโฉนดที่ดินเลขที่ ๒๒๗ ดำเนินการโดยที่กระทรวงพระคลังมหาสมบัติซึ่งเป็นเพียงผู้ครอบครอง ไม่ใช่เจ้าของที่ดินผู้มีอำนาจตามกฎหมาย และไม่ได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษาเพื่อหาผู้คัดค้าน ไม่มีหนังสือมอบอำนาจและไม่มีหนังสือสัญญาซื้อขายเป็นการไม่ปฏิบัติตามพระราชบัญญัติการออกโฉนดที่ดิน ร.ศ. ๑๒๗ ที่บังคับใช้ในขณะนั้นเป็นเหตุให้ทับที่ดินของผู้ฟ้องคดีขอให้เพิกถอนคำสั่งของผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ ถึงที่ ๔ ที่ มท๐๕๑๖.๒/๒๐๕๕๘ ลงวันที่ ๖ กรกฎาคม ๒๕๔๘ ที่สั่งไม่เพิกถอนโฉนดที่ดินเลขที่ ๒๒๗ เป็นให้เพิกถอนโฉนดที่ดินเลขที่ ๒๒๗ และให้แก้ไขโฉนดที่ดินเลขที่ ๒๒๗ ให้ตกเป็นกรรมสิทธิ์ของผู้ฟ้องคดีผู้ถูกฟ้องคดีทั้งหกให้การในทำนองเดียวกันว่า ที่ดินตามโฉนดที่ดินเลขที่๒๒๗ เป็นที่หลวงปรากฏตามหลักฐานเป็นพระราชหัตถเลขาของรัชกาลที่ ๕ ลงวันที่ ๒๗ มกราคม ร.ศ๑๑๗หน้าที่ ๒ วรรคสอง การออกโฉนดที่ดินแปลงพิพาทกระทำโดยชอบด้วยกฎหมาย เห็นว่าแม้เหตุแห่งการฟ้องคดีนี้จะสืบเนื่องมาจากคำสั่งของฝ่ายปกครองที่ไม่เพิกถอนโฉนดที่ดินเลขที่ ๒๒๗ตามที่ผู้ฟ้องคดีขอให้เพิกถอนก็ตาม แต่การที่ศาลจะมีคำพิพากษาหรือคำสั่งให้เพิกถอนคำสั่งของผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ ถึงที่ ๔ ที่สั่งไม่เพิกถอน โฉนดที่ดินเลขที่ ๒๒๗ เป็นให้เพิกถอนโฉนดที่ดินเลขที่ ๒๒๗ และให้แก้ไขโฉนดที่ดินเลขที่ ๒๒๗ ให้ตกเป็นกรรมสิทธิ์ของผู้ฟ้องคดีตามคำขอของผู้ฟ้องคดีได้นั้นศาลจำต้องพิจารณาให้ได้ความเสียก่อนว่าที่ดินพิพาทตามโฉนดที่ดินเลขที่ ๒๒๗เป็นกรรมสิทธิ์ของผู้ฟ้องคดีหรือผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๖ เป็นสำคัญจึงเป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับสิทธิในที่ดินระหว่างคู่กรณี อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม
จึงวินิจฉัยชี้ขาดว่า คดีระหว่าง วัดชนะสงคราม ผู้ฟ้องคดีกระทรวงมหาดไทย ที่๑ รองปลัดกระทรวงมหาดไทย ที่ ๒ กรมที่ดิน ที่ ๓ อธิบดีกรมที่ดิน ที่ ๔ กรมธนารักษ์ ที่ ๕กระทรวงการคลัง ที่ ๖ ผู้ถูกฟ้องคดี อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม
(ลงชื่อ) วิรัช ลิ้มวิชัย (ลงชื่อ) สุวัฒน์ วรรธนะหทัย
(นายวิรัช ลิ้มวิชัย) (นายสุวัฒน์ วรรธนะหทัย)
ประธานศาลฎีกา กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลยุติธรรม
(ลงชื่อ) อักขราทร จุฬารัตน (ลงชื่อ) จรัญ หัตถกรรม
(นายอักขราทร จุฬารัตน) (นายจรัญ หัตถกรรม)
ประธานศาลปกครองสูงสุด กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลปกครอง
(ลงชื่อ) พลโท ดิเรกพล วัฒนะโชติ (ลงชื่อ) พลโท อาชวัน อินทรเกสร
(ดิเรกพล วัฒนะโชติ) (อาชวัน อินทรเกสร)
หัวหน้าสำนักตุลาการทหาร กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลทหาร
(ลงชื่อ) พรชัย รัศมีแพทย์
(นายพรชัย รัศมีแพทย์)
กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ
คมศิลล์ คัด/ทาน
๗