คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1869/2493

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ในกรณีที่ฟ้องอ้างว่าจำเลยกระทำความผิดซึ่งเป็นการละเมิดกฎหมายหลายบทด้วยกันนั้น หากพิจารณาได้ข้อเท็จจริงตามคำบรรยายฟ้องของโจทก์แล้ว ศาลก็ต้องใช้อาญาที่เป็นบทหนักลงโทษจำเลยตามกฎหมายลักษณะอาญา มาตรา 70 ฉะนั้นเมื่อความผิดตามบทกฎหมายที่หนักนั้น เกินอำนาจศาลแขวงแม้ความผิดบทเบา จะอยู่ในอำนาจศาลแขวง ศาลแขวงก็ต้องพิพากษายกฟ้องเสีย เพราะต้องถือว่าเป็นคดีเกินอำนาจศาลแขวง

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยกับพวกสมคบกันอุบายหลอกลวงเกลี้ยกล่อมพา ด.ญ.คิ้มแซ่เฮงอายุ 12 ปีไปเพื่ออนาจารและเพื่อสำเร็จความใคร่ของผู้อื่น ขอให้ลงโทษตามกฎหมายลักษณะอาญา มาตรา 275, 63 และพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติม กฎหมายลักษณะอาญา 2474 มาตรา 3, 6

จำเลยปฏิเสธ

ศาลชั้นต้นเห็นว่า โจทก์บรรยายฟ้องมาเป็นความผิดตามมาตรา 241วรรคสุดท้ายเกินอำนาจศาลแขวง จึงพิพากษายกฟ้อง

โจทก์อุทธรณ์ขอให้ลงโทษตามมาตรา 275

ศาลอุทธรณ์เห็นว่า โจทก์ประสงค์ให้ลงโทษจำเลยตาม มาตรา 275ไม่เกินอำนาจศาลแขวง จึงพิพากษายกคำพิพากษาศาลชั้นต้นให้ศาลชั้นต้นวินิจฉัยข้อเท็จจริงแล้วพิพากษาใหม่

จำเลยฎีกาขอให้ยกฟ้อง

ศาลฎีกาเห็นว่า คำบรรยายฟ้องของโจทก์เป็นความผิดตามกฎหมายลักษณะอาญา มาตรา 241 วรรคท้ายและมาตรา 275 ตามที่ได้แก้ไขโดยพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติม กฎหมายลักษณะอาญา พ.ศ. 2474 มาตรา 3-6 ตามที่โจทก์ขอมาท้ายฟ้องโดยครบถ้วน จึงเป็นกรณีที่อ้างว่าจำเลยกระทำความผิดซึ่งเป็นการละเมิดกฎหมายหลายบทด้วยกันตามมาตรา 70 บัญญัติให้ใช้บทกฎหมายที่อาญาหนักลงโทษ ฉะนั้นหากพิจารณาได้ข้อเท็จจริงตามคำบรรยายฟ้องของโจทก์แล้ว ศาลก็ต้องใช้มาตรา 241 วรรคสุดท้ายมาเป็นบทลงโทษจำเลย คดีจึงเกินอำนาจศาลแขวง

จึงพิพากษากลับให้ยกฟ้อง

Share