คำวินิจฉัยที่ 27/2550

แหล่งที่มา : ส่วนเลขานุการคณะกรรมการวินิจฉัยฯ

ย่อสั้น

ไม่มีย่อสั้น

ย่อยาว

(สำเนา)

คำวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล คณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล
ที่ ๒๗/๒๕๕๐

วันที่ ๒๙ สิงหาคม ๒๕๕๐

เรื่อง เขตอำนาจศาลเกี่ยวกับพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๙ วรรคหนึ่ง

ศาลจังหวัดนนทบุรี
ระหว่าง
ศาลปกครองกลาง

การส่งเรื่องต่อคณะกรรมการ
ศาลจังหวัดนนทบุรีส่งเรื่องให้คณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาลพิจารณาวินิจฉัยชี้ขาดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล พ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๑๐ วรรคหนึ่ง (๓) ซึ่งเป็นกรณีคู่ความฝ่ายที่ถูกฟ้องคดีโต้แย้งอำนาจศาลที่รับฟ้องคดี และศาลที่ส่งความเห็นกับศาลที่รับความเห็นมีความเห็นแตกต่างกันในเรื่องอำนาจศาลในคดีนั้น

ข้อเท็จจริงในคดี
เมื่อวันที่ ๑๙ กันยายน ๒๕๔๙ นายบุญช่วย เกียรติพลพจน์ โจทก์ ยื่นฟ้อง กรมพัฒนาธุรกิจการค้า ที่ ๑ บริษัท ชัวมาสเตอร์ มาร์เก็ตติ้ง กรุ๊ป จำกัด ที่ ๒ นายไล อั่น ปิง ที่ ๓ นางอังคณา เนื่องอนงค์กุล ที่ ๔ และนายสกนธ์ เนื่องอนงค์กุล ที่ ๕ จำเลย ต่อศาลจังหวัดนนทบุรี เป็นคดีหมายเลขดำที่ ส.๑๒๒๐/๒๕๔๙ ความว่า โจทก์เป็นผู้เริ่มก่อการและเป็นผู้ถือหุ้นคนหนึ่งของบริษัทจำเลยที่ ๒ จำเลยที่ ๓ เป็นผู้เริ่มก่อการ ผู้ถือหุ้น และหนึ่งในกรรมการผู้มีอำนาจกระทำการแทนบริษัทจำเลยที่ ๒ จำเลยที่ ๔ และที่ ๕ เป็นผู้เริ่มก่อการและผู้ถือหุ้นของบริษัทจำเลยที่ ๒ เมื่อวันที่ ๙ มีนาคม ๒๕๔๙ จำเลยที่ ๒ ได้ยื่นคำขอต่อจำเลยที่ ๑ ขอแก้ไขเพิ่มเติมหนังสือบริคณห์สนธิ โดยยังมิได้มีการประชุมผู้ถือหุ้นเพื่อเปลี่ยนแปลงวัตถุประสงค์ของบริษัทอันเป็นการกระทำโดยมิชอบ และจำเลยที่ ๑ ในฐานะผู้มีหน้าที่รับจดทะเบียนของบริษัทได้จดทะเบียนเปลี่ยนแปลงวัตถุประสงค์ของบริษัทจำเลยที่ ๒ โดยไม่ตรวจสอบความถูกต้องตามกฎหมายและระเบียบข้อบังคับต่างๆ โจทก์มิได้รู้เห็นและให้ความยินยอมแต่อย่างใด การกระทำดังกล่าวของจำเลยที่ ๑ เป็นการอันมิชอบด้วยกฎหมายและเป็นการละเมิดต่อโจทก์ นอกจากนี้จำเลยที่ ๓ ถึงที่ ๕ ได้ร่วมกันดำเนินการอันเป็นการทุจริต โดยจำเลยที่ ๓ เข้าดำเนินการเป็นผู้เริ่มก่อการและถือหุ้นในบริษัทอื่น อันมีวัตถุประสงค์ขายสินค้าอย่างเดียวกันและเป็นการแข่งขันกับบริษัทจำเลยที่ ๒ และจำเลยที่ ๓ ถึงที่ ๕ ร่วมกันยักยอกเงินของบริษัทจำเลยที่ ๒ อันเป็นการเสียหายแก่บริษัทจำเลยที่ ๒ และโจทก์ ซึ่งเป็นผู้ถือหุ้นคนหนึ่งด้วย ขอให้บังคับจำเลยที่ ๑ และที่ ๒ ร่วมกันเพิกถอนการจดทะเบียนเปลี่ยนแปลงวัตถุประสงค์ของบริษัทจำเลยที่ ๒ ให้จำเลยที่ ๓ ถึงที่ ๕ ร่วมกันชำระเงินค่าเสียหายพร้อมดอกเบี้ยแก่จำเลยที่ ๒ และห้ามมิให้จำเลยที่ ๒ ถึงที่ ๕ โอนขายหรือยักย้ายสินค้า หากมีการขายไปก็ให้นำเงินชำระให้แก่จำเลยที่ ๒ จำเลยที่ ๑ ให้การว่า การรับจดทะเบียนเปลี่ยนแปลงวัตถุประสงค์ของบริษัทจำเลยที่ ๒ จำเลยที่ ๑ ได้ตรวจสอบความถูกต้องอันชอบด้วยกฎหมายแล้ว โดยคำขอแก้ไขเพิ่มเติมวัตถุประสงค์ของจำเลยที่ ๒ ระบุว่า มีมติที่ประชุมวิสามัญผู้ถือหุ้น ครั้งที่ ๑/๒๕๔๙ เมื่อวันที่ ๑๖ กุมภาพันธ์ ๒๕๔๙ และมติที่ประชุมวิสามัญผู้ถือหุ้น ครั้งที่ ๒/๒๕๔๙ เมื่อวันที่ ๓ มีนาคม ๒๕๔๙ คำสั่งและการจดทะเบียนของนายทะเบียนหุ้นส่วนบริษัทกรุงเทพมหานครเป็นคำสั่งและการกระทำที่ถูกต้องชอบด้วยกฎหมายและระเบียบของทางราชการและเป็นการกระทำโดยสุจริต ไม่มีเหตุอันควรเพิกถอน ขอให้ยกฟ้อง
จำเลยที่ ๒ ขาดนัดยื่นคำให้การ
จำเลยที่ ๓ ถึงที่ ๕ ให้การว่า จำเลยที่ ๓ และที่ ๕ ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องในบริษัทอื่นอันมีวัตถุประสงค์ขายสินค้าอย่างเดียวกันและเป็นการแข่งขันกับบริษัทจำเลยที่ ๒ จำเลยที่ ๓ ถึงที่ ๕ ไม่มีเจตนายักยอกเงินของจำเลยที่ ๒ และคดีนี้โจทก์ฟ้องจำเลยที่ ๑ เกี่ยวกับคำสั่งทางปกครอง คดีจึงอยู่ในอำนาจของศาลปกครอง ขอให้ยกฟ้อง
จำเลยที่ ๑ ยื่นคำร้องโต้แย้งเขตอำนาจศาลว่า คดีนี้เป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับการที่กล่าวหาว่าหน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐ กระทำการโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย อันอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครองตามมาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๑) แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒
โจทก์ยื่นคำชี้แจงว่า การวินิจฉัยว่าจำเลยที่ ๑ กระทำการโดยมิชอบด้วยกฎหมายเกี่ยวกับการจดทะเบียนเปลี่ยนแปลงหนังสือบริคณห์สนธิ ต้องวินิจฉัยเกี่ยวกับมติการประชุมผู้ถือหุ้นว่าชอบด้วยประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์หรือไม่เสียก่อน คดีจึงอยู่ในเขตอำนาจของศาลยุติธรรม
ศาลจังหวัดนนทบุรีเห็นว่า มูลพิพาทเกี่ยวกับคดีนี้โจทก์อ้างว่าจำเลยที่ ๑ ในฐานะผู้มีหน้าที่รับจดทะเบียนของบริษัท จดทะเบียนเปลี่ยนแปลงวัตถุประสงค์ของบริษัทจำเลยที่ ๒ โดยโจทก์ในฐานะผู้ถือหุ้นคนหนึ่งมิได้รู้เห็นยินยอมอันเป็นการไม่ชอบด้วยกฎหมาย แม้โจทก์จะมีคำขอให้จำเลยที่ ๒ ซึ่งเป็นเอกชนร่วมกันเพิกถอนการจดทะเบียนเปลี่ยนแปลงวัตถุประสงค์ในหนังสือบริคณห์สนธิด้วย แต่การที่จะวินิจฉัยว่าจำเลยที่ ๑ จดทะเบียนเปลี่ยนแปลงไปโดยชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ ศาลจำต้องวินิจฉัยว่า เจ้าหน้าที่ของจำเลยที่ ๑ ได้ตรวจสอบข้อเท็จจริงถูกต้องและเป็นไปตามระเบียบสำนักงานทะเบียนหุ้นส่วนบริษัทกลางว่าด้วยการจดทะเบียนหุ้นส่วนบริษัท พ.ศ. ๒๕๓๘ กฎหมายและระเบียบที่เกี่ยวข้องหรือไม่ เจ้าหน้าที่ของจำเลยที่ ๑ มีฐานะเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ.๒๕๔๒ เมื่อได้ออกคำสั่งจดทะเบียนเปลี่ยนแปลงเกี่ยวกับหนังสือบริคณห์สนธิอันอาจทำให้เกิดความเสียหาย กรณีในส่วนของจำเลยที่ ๑ จึงเป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับการกระทำของเจ้าหน้าที่ของรัฐหรือหน่วยงานของรัฐว่ากระทำโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ถูกต้องตามกฎหมายหรือละเลยต่อหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนดให้ต้องปฏิบัติ ตามมาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๑) และ (๒) แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ อันอยู่ในอำนาจของศาลปกครอง
ศาลปกครองกลางเห็นว่า คดีนี้โจทก์ฟ้องว่านายทะเบียนหุ้นส่วนบริษัทกรุงเทพมหานคร ซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่ของจำเลยที่ ๑ รับจดทะเบียนคำขอแก้ไขเพิ่มเติมวัตถุประสงค์ของบริษัทจำเลยที่ ๒ โดยไม่ชอบด้วยกฎหมายและเป็นการละเมิดต่อโจทก์ เนื่องจากยังมิได้มีการประชุมผู้ถือหุ้นหรือได้รับความยินยอมจากโจทก์ในฐานะเป็นผู้ถือหุ้นคนหนึ่งก่อน ประเด็นหลักแห่งคดีในส่วนที่ฟ้องจำเลยที่ ๑ จึงเกี่ยวกับความชอบด้วยกฎหมายของคำสั่งรับจดทะเบียนดังกล่าว ซึ่งการวินิจฉัยเกี่ยวกับความชอบด้วยกฎหมายของคำสั่งดังกล่าวข้างต้น ศาลต้องพิจารณาให้ได้ความเสียก่อนว่า การดำเนินการแก้ไขเพิ่มเติมวัตถุประสงค์ของบริษัทจำกัดชอบด้วยบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยหุ้นส่วนบริษัทหรือไม่ กล่าวคือ มีการประชุมวิสามัญผู้ถือหุ้นโดยชอบหรือไม่ มติของที่ประชุมชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ แล้วจึงจะพิจารณาเกี่ยวกับการรับจดทะเบียนของนายทะเบียนหุ้นส่วนบริษัทกรุงเทพมหานครได้ เมื่อการแก้ไขเพิ่มเติมวัตถุประสงค์ของบริษัทจำเลยที่ ๒ ที่เป็นรายการในหนังสือบริคณห์สนธิต้องเป็นไปตามความประสงค์ของผู้ถือหุ้นของบริษัท ข้อพิพาทที่เป็นประเด็นหลักแห่งคดีจึงเป็นข้อพิพาทระหว่างผู้ถือหุ้นด้วยกัน ซึ่งเป็นเรื่องทางแพ่งและศาลจำต้องพิจารณาถึงสิทธิในทางแพ่งเป็นสำคัญ หาได้อยู่ที่การรับจดทะเบียนของนายทะเบียนหุ้นส่วนบริษัทกรุงเทพมหานครไม่ คดีนี้จึงอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม ตามนัยคำวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาลที่ ๙/๒๕๔๙

คำวินิจฉัย
ปัญหาที่ต้องพิจารณา คดีนี้อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรมหรือศาลปกครอง
คณะกรรมการพิจารณาแล้ว ข้อเท็จจริงตามคำฟ้องคดีนี้สรุปได้ว่า โจทก์ และจำเลยที่ ๓ ถึงที่ ๕ เป็นผู้ถือหุ้นของบริษัทจำเลยที่ ๒ และจำเลยที่ ๓ ยังมีฐานะเป็นหนึ่งในกรรมการผู้มีอำนาจกระทำการแทนบริษัทจำเลยที่ ๒ จำเลยที่ ๒ ได้ยื่นคำขอต่อจำเลยที่ ๑ ขอแก้ไขเพิ่มเติมหนังสือบริคณห์สนธิ โดยยังมิได้มีการประชุมผู้ถือหุ้นเพื่อเปลี่ยนแปลงวัตถุประสงค์ของบริษัทอันเป็นการกระทำโดยมิชอบ และจำเลยที่ ๑ ในฐานะผู้มีหน้าที่รับจดทะเบียนของบริษัทได้จดทะเบียนเปลี่ยนแปลงวัตถุประสงค์ของบริษัทจำเลยที่ ๒ โดยไม่ตรวจสอบความถูกต้องตามกฎหมายและระเบียบข้อบังคับต่างๆ โจทก์มิได้รู้เห็นและให้ความยินยอม ถือเป็นการกระทำที่มิชอบด้วยกฎหมายและเป็นการละเมิดต่อโจทก์ นอกจากนี้ จำเลยที่ ๓ ยังเป็นผู้เริ่มก่อการและถือหุ้นในบริษัทอื่น อันมีวัตถุประสงค์ขายสินค้าอย่างเดียวกันและเป็นการแข่งขันกับบริษัทจำเลยที่ ๒ และจำเลยที่ ๓ ถึงที่ ๕ ได้ยักยอกเงินของบริษัทจำเลยที่ ๒ ทำให้บริษัทจำเลยที่ ๒ เสียหาย ขอให้บังคับจำเลยที่ ๑ และที่ ๒ ร่วมกันเพิกถอนการจดทะเบียนเปลี่ยนแปลงวัตถุประสงค์ของบริษัทจำเลยที่ ๒ ให้จำเลยที่ ๓ ถึงที่ ๕ ร่วมกันชำระเงินค่าเสียหายพร้อมดอกเบี้ยแก่จำเลยที่ ๒ และห้ามมิให้จำเลยที่ ๒ ถึงที่ ๕ โอนขายหรือยักย้ายสินค้า หากมีการขายไปก็ให้นำเงินชำระให้แก่จำเลยที่ ๒ จำเลยที่ ๑ ให้การว่า จำเลยที่ ๑ จดทะเบียนเปลี่ยนแปลงวัตถุประสงค์ของบริษัทจำเลยที่ ๒ โดยได้ตรวจสอบความถูกต้องอันชอบด้วยกฎหมายแล้ว โดยคำขอแก้ไขเพิ่มเติมวัตถุประสงค์ของจำเลยที่ ๒ ระบุว่า มีมติที่ประชุมวิสามัญผู้ถือหุ้น ครั้งที่ ๑/๒๕๔๙ เมื่อวันที่ ๑๖ กุมภาพันธ์ ๒๕๔๙ และมติที่ประชุมวิสามัญผู้ถือหุ้น ครั้งที่ ๒/๒๕๔๙ เมื่อวันที่ ๓ มีนาคม ๒๕๔๙ คำสั่งและการจดทะเบียนของนายทะเบียนหุ้นส่วนบริษัทกรุงเทพมหานครเป็นคำสั่งและการกระทำที่ถูกต้องชอบด้วยกฎหมาย จำเลยที่ ๓ ถึงที่ ๕ ให้การว่า จำเลยที่ ๓ และที่ ๕ ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องในบริษัทอื่นอันมีวัตถุประสงค์ขายสินค้าอย่างเดียวกันและเป็นการแข่งขันกับบริษัทจำเลยที่ ๒ จำเลยที่ ๓ ถึงที่ ๕ ไม่มีเจตนายักยอกเงินของจำเลยที่ ๒
ดังนั้น เหตุแห่งการฟ้องคดีนี้สืบเนื่องมาจากการที่จำเลยที่ ๑ รับจดทะเบียนเปลี่ยนแปลงวัตถุประสงค์ของบริษัทจำเลยที่ ๒ โดยไม่ชอบด้วยกฎหมายและเป็นการละเมิดต่อโจทก์ เนื่องจากยังมิได้มีการประชุมผู้ถือหุ้นหรือได้รับความยินยอมจากโจทก์ในฐานะเป็นผู้ถือหุ้นคนหนึ่ง คดีนี้ศาลต้องพิจารณาให้ได้ความเสียก่อนว่า ได้มีการประชุมผู้ถือหุ้นและมีมติของที่ประชุมผู้ถือหุ้นเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงวัตถุประสงค์ของบริษัทจำเลยที่ ๒ ชอบด้วยประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยหุ้นส่วนและบริษัทหรือไม่ แล้วจึงจะพิจารณาเกี่ยวกับการรับจดทะเบียนที่พิพาทได้ เมื่อบริษัทจำเลยที่ ๒ เป็นนิติบุคคล มีวัตถุประสงค์ในการประกอบกิจการค้าเพื่อแสวงหากำไรและเกี่ยวข้องกับคนจำนวนมาก รัฐจึงได้กำหนดไว้ในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ให้การก่อตั้ง การดำเนินกิจการ ตลอดจนการเลิกกิจการของนิติบุคคลต้องเป็นไปตามขั้นตอนการจดทะเบียน หากมีการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญก็ต้องนำความไปแจ้งต่อนายทะเบียนด้วยเช่นกัน ทั้งนี้ เพื่อเป็นการรับรองสิทธิว่านิติบุคคลนั้นเป็นบุคคลตามกฎหมาย มีความสามารถที่จะทำนิติกรรมได้และเพื่อเปิดเผยให้บุคคลภายนอกได้รับรู้ถึงอำนาจหน้าที่ตามขอบวัตถุประสงค์ของนิติบุคคลนั้นๆ ซึ่งกระบวนการและขั้นตอนตามกฎหมายนี้เป็นไปเพื่อรับรองสิทธิของนิติบุคคลในทางแพ่งเท่านั้น มิใช่เป็นเรื่องทางปกครอง เมื่อศาลจำต้องพิจารณาถึงสิทธิในทางแพ่งเป็นสำคัญแล้ว คดีระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ ๑ จึงมิใช่กรณีพิพาทเกี่ยวกับการที่เจ้าหน้าที่ของรัฐออกคำสั่งโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายตามมาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๑) แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ แต่อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม นอกจากนี้ คดีระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ ๒ ถึงที่ ๕ เป็นกรณีพิพาทระหว่างเอกชนกับเอกชน จึงอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรมเช่นกัน
จึงวินิจฉัยชี้ขาดว่า คดีระหว่าง นายบุญช่วย เกียรติพลพจน์ โจทก์ กรมพัฒนาธุรกิจการค้า ที่ ๑ บริษัท ชัวมาสเตอร์ มาร์เก็ตติ้ง กรุ๊ป จำกัด ที่ ๒ นายไล อั่น ปิง ที่ ๓ นางอังคณา เนื่องอนงค์กุล ที่ ๔ และนายสกนธ์ เนื่องอนงค์กุล ที่ ๕ จำเลย อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม

ติดราชการ (ลงชื่อ) สุวัฒน์ วรรธนะหทัย
(นายปัญญา ถนอมรอด) (นายสุวัฒน์ วรรธนะหทัย)
ประธานศาลฎีกา กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลยุติธรรม

(ลงชื่อ) อักขราทร จุฬารัตน (ลงชื่อ) อัครวิทย์ สุมาวงศ์
(นายอักขราทร จุฬารัตน) (นายอัครวิทย์ สุมาวงศ์)
ประธานศาลปกครองสูงสุด กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลปกครอง

(ลงชื่อ) พลโท สายัณห์ อรรถเกษม (ลงชื่อ) พลโท อาชวัน อินทรเกสร
(สายัณห์ อรรถเกษม) (อาชวัน อินทรเกสร)
หัวหน้าสำนักตุลาการทหาร กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลทหาร

(ลงชื่อ) พรชัย รัศมีแพทย์
(นายพรชัย รัศมีแพทย์)
กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ

Share