คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7635/2562

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ผู้ร้องยื่นคำร้องขอให้ศาลเพิกถอนคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการโดยอ้างว่า การยอมรับหรือการบังคับตามคำชี้ขาดนั้นจะเป็นการขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน ตาม พ.ร.บ.อนุญาโตตุลาการ พ.ศ.2545 มาตรา 40 วรรคสาม (2) (ข) ปัญหาวินิจฉัยจึงมีว่าการยอมรับหรือการบังคับตามคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการที่ชี้ขาดว่าข้อพิพาทของผู้ร้องขาดอายุความโดยถือวันที่ผู้ร้องนำรถยนต์ไปให้เช่าเป็นวันวินาศภัยนั้นจะเป็นการขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชนหรือไม่ แต่ศาลชั้นต้นตั้งประเด็นวินิจฉัยว่า คำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการขัดต่อกฎหมายหรือไม่ ซึ่งไม่ตรงกับประเด็นข้อพิพาทแห่งคดี แล้ววินิจฉัยว่าพยานหลักฐานที่ผู้ร้องนำเข้าไต่สวนไม่มีน้ำหนักรับฟังได้ว่าคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการเป็นไปตาม พ.ร.บ.อนุญาโตตุลาการ พ.ศ.2545 มาตรา 40 โดยไม่ได้วินิจฉัยว่าการยอมรับหรือการบังคับตามคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการที่ว่าวันวินาศภัยหรือวันที่ผู้ร้องส่งมอบรถยนต์ให้แก่ บ. ผู้หลอกลวง อันนำไปสู่การวินิจฉัยว่าการเสนอข้อพิพาทของผู้ร้องขาดอายุความนั้นจะเป็นการขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชนหรือไม่แต่อย่างใด จึงเป็นการไม่ชอบด้วย ป.วิ.พ. มาตรา 142 วรรคหนึ่ง
เมื่ออนุญาโตตุลาการมีคำชี้ขาดว่า การกระทำความผิดของ บ. เป็นความผิดฐานลักทรัพย์โดยใช้กลอุบาย ดังนี้ ในวันที่ 13 มกราคม 2558 ที่ผู้ร้องส่งมอบรถยนต์คันดังกล่าวให้แก่ บ. กับพวก แม้จะเป็นส่วนหนึ่งของอุบายที่ บ. กับพวกวางแผนไว้เพื่อประสงค์จะลักทรัพย์ตามที่อนุญาโตตุลาการมีคำชี้ขาด แต่ในขณะนั้น บ. กับพวกยังมิได้ลงมือแย่งการครอบครองหรือเอารถยนต์ไปจากผู้ร้อง ไม่อาจถือได้ว่าวันดังกล่าวเป็นวันที่ลักทรัพย์สำเร็จ ต่อมาเมื่อ บ. กับพวกไม่ชำระค่าเช่าแล้วพากันหลบหนีไปพร้อมรถยนต์คันดังกล่าว ถือได้ว่า บ. กับพวกเอารถยนต์คันดังกล่าวไปจากการครอบครองของผู้ร้องแล้ว ผู้ร้องไม่อาจตามหาตัว บ. กับพวกได้และเข้าร้องทุกข์ต่อเจ้าพนักงานตำรวจเมื่อวันที่ 13 พฤษภาคม 2558 จึงถือได้ว่าวันที่ร้องทุกข์เป็นวันที่ผู้ร้องถูก บ. กับพวกลักรถยนต์ไปอันเป็นวันวินาศภัยตาม ป.พ.พ. มาตรา 882 วรรคหนึ่ง เมื่อผู้ร้องเสนอข้อพิพาทต่ออนุญาโตตุลาการเมื่อวันที่ 21 มีนาคม 2560 จึงยังไม่พ้นกำหนด 2 ปี คดีของผู้ร้องยังไม่ขาดอายุความ ดังนั้น ที่อนุญาโตตุลาการมีคำชี้ขาดว่า วันที่ผู้ร้องส่งมอบรถยนต์เป็นวันวินาศภัย ตาม ป.พ.พ. มาตรา 882 จึงเป็นการปรับบทกฎหมายไม่ถูกต้อง ไม่ใช่เพียงการวินิจฉัยอายุความเท่านั้น การยอมรับหรือบังคับตามคำชี้ขาดดังกล่าวจึงเป็นการขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชนตาม พ.ร.บ.อนุญาโตตุลาการ พ.ศ.2545 มาตรา 40 วรรคสาม (2) (ข)

ย่อยาว

ผู้ร้องยื่นคำร้องขอขอให้ศาลมีคำสั่งเพิกถอนคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการ
ผู้คัดค้านยื่นคำคัดค้านขอให้ยกคำร้องขอ
ศาลชั้นต้นไต่สวนแล้ว มีคำสั่งยกคำร้อง ค่าฤชาธรรมเนียมให้เป็นพับ
ผู้ร้องอุทธรณ์คำสั่งต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงที่คู่ความรับกันฟังได้ว่าผู้ร้องเป็นผู้เอาประกันภัยรถยนต์ตามคำร้องไว้กับผู้คัดค้าน ภายในอายุสัญญาประกันภัยผู้ร้องและชาวบ้านหลายคนถูกบุคคลภายนอกหลอกให้นำรถไปให้เช่าแล้วไม่ได้รถคืน สำหรับผู้ร้องนำรถยนต์ไปให้เช่าเมื่อวันที่ 13 มกราคม 2558 ได้ค่าเช่า 2 เดือน เพียงเดือนเมษายน 2558 แล้วไม่ได้ค่าเช่าอีก ผู้นำรถไปให้เช่ารายอื่นก็ได้รับค่าเช่าทำนองเดียวกันและต่างไม่ได้รับรถคืน วันที่ 13 พฤษภาคม 2558 ผู้ร้องกับผู้ให้เช่ารายอื่นที่ได้รับความเสียหายจึงพากันไปแจ้งความร้องทุกข์ต่อเจ้าพนักงานตำรวจกองบังคับการกองปราบปราม ผลการดำเนินคดี เจ้าพนักงานตำรวจจับกุมนายบัญชา ผู้หลอกลวงกับพวกได้ แต่ในชั้นพิจารณาของศาล นายบัญชาซึ่งเป็นจำเลยที่ 1 หลบหนี ศาลมีคำสั่งจำหน่ายคดีเฉพาะนายบัญชา ส่วนพวกอีกคนที่ไม่หลบหนีซึ่งเป็นจำเลยที่ 2 ให้การรับสารภาพ ศาลพิพากษาว่าจำเลยที่ 2 มีความผิดตามฟ้องฐานฉ้อโกงประชาชน ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 343 ลงโทษจำคุก 2 ปี ให้จำเลยคืนหรือใช้ราคารถแก่ผู้ร้องและผู้เสียหายรายอื่น คดีถึงที่สุดโดยไม่มีฝ่ายใดอุทธรณ์ จากนั้นผู้ร้องได้เรียกให้ผู้คัดค้านซึ่งเป็นผู้รับประกันภัยชดใช้ค่าสินไหมทดแทนตามสัญญาประกันภัย แต่ผู้คัดค้านปฏิเสธการจ่าย อ้างว่ารถยนต์สูญหายเพราะบุคคลที่ครอบครองรถยนต์ตามสัญญาเช่ายักยอกไป จึงไม่ได้รับความคุ้มครองตามกรมธรรม์ประกันภัย ผู้ร้องเลือกใช้สิทธิตามกรมธรรม์เสนอข้อพิพาทให้อนุญาโตตุลาการชี้ขาดว่าผู้คัดค้านต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่ผู้ร้องหรือไม่ ก่อนชี้ขาด อนุญาโตตุลาการตั้งประเด็นข้อพิพาทไว้ 3 ประเด็น คือ 1. ผู้ร้องมีสิทธิเสนอข้อพิพาทหรือไม่ 2. ผู้ร้องมีสิทธิเรียกร้องตามข้อเสนอหรือไม่ เพียงใด และ 3. ข้อพิพาทขาดอายุความหรือไม่ หลังจากสืบพยานคู่พิพาทแล้ว อนุญาโตตุลาการยกประเด็นอายุความในข้อ 3. ขึ้นวินิจฉัยว่าข้อพิพาทของผู้ร้องขาดอายุความเพราะผู้ร้องยื่นคำเสนอข้อพิพาทเมื่อวันที่ 21 มีนาคม 2560 นับแต่วันที่ 13 มกราคม 2558 ที่ผู้ร้องมอบรถยนต์ให้เช่าแก่นายบัญชาซึ่งต้องถือเป็นวันวินาศภัยถึงวันยื่นคำเสนอข้อพิพาทเป็นเวลาเกิน 2 ปี ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 882 วรรคหนึ่ง แล้วชี้ขาดให้ยกคำเสนอข้อพิพาทของผู้ร้อง ผู้ร้องจึงยื่นคำร้องขอให้ศาลเพิกถอนคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการดังกล่าวโดยอ้างว่าการยอมรับหรือการบังคับตามคำชี้ขาดนั้นจะเป็นการขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน ตามพระราชบัญญัติอนุญาโตตุลาการ พ.ศ.2545 มาตรา 40 วรรคสาม (2) (ข)
ปัญหาวินิจฉัยจึงมีว่าการยอมรับหรือการบังคับตามคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการที่ชี้ขาดว่าข้อพิพาทของผู้ร้องขาดอายุความ กล่าวคือ ผู้ร้องไม่อาจเรียกให้ผู้คัดค้านชดใช้ค่าสินไหมทดแทนตามกรมธรรม์ประกันภัยได้ เพราะได้ยื่นเสนอข้อพิพาทเกินสองปีนับแต่วันที่ 13 มกราคม 2558 ซึ่งเป็นวันที่ผู้ร้องนำรถยนต์ไปให้เช่าโดยถือว่าวันดังกล่าวเป็นวันวินาศภัยนั้นจะเป็นการขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชนหรือไม่ แต่ศาลชั้นต้นตั้งประเด็นวินิจฉัยว่า คำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการขัดต่อกฎหมายหรือไม่ ซึ่งไม่ตรงกับประเด็นข้อพิพาทแห่งคดี แล้ววินิจฉัยว่าพยานหลักฐานที่ผู้ร้องนำเข้าไต่สวนไม่มีน้ำหนักรับฟังได้ว่าคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการเป็นไปตามพระราชบัญญัติอนุญาโตตุลาการ พ.ศ.2545 มาตรา 40 ให้ยกคำร้อง โดยไม่ได้วินิจฉัยว่าการยอมรับหรือการบังคับตามคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการที่ว่าวันวินาศภัยหรือวันที่ผู้ร้องส่งมอบรถยนต์ให้แก่นายบัญชาผู้หลอกลวงอันนำไปสู่การวินิจฉัยว่าการเสนอข้อพิพาทของผู้ร้องขาดอายุความนั้นจะเป็นการขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชนหรือไม่แต่อย่างใด จึงเป็นการไม่ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 142 วรรคหนึ่ง แต่ศาลฎีกาเห็นว่าพยานหลักฐานที่คู่ความนำสืบมาเพียงพอแก่การวินิจฉัยแล้ว เห็นสมควรพิจารณาพิพากษาคดีไปเสียทีเดียวโดยไม่จำต้องย้อนสำนวนไปให้ศาลชั้นต้นพิจารณาพิพากษาใหม่ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 243 (1) ประกอบมาตรา 252 ซึ่งศาลฎีกาพิจารณาแล้วเห็นว่า เมื่ออนุญาโตตุลาการมีคำชี้ขาดว่า การกระทำความผิดของนายบัญชาเป็นความผิดฐานลักทรัพย์โดยใช้กลอุบาย ดังนี้ ในวันที่ 13 มกราคม 2558 ที่ผู้ร้องส่งมอบรถยนต์คันดังกล่าวให้แก่นายบัญชากับพวก แม้จะเป็นส่วนหนึ่งของอุบายที่นายบัญชากับพวกวางแผนไว้เพื่อประสงค์จะลักทรัพย์ตามที่อนุญาโตตุลาการมีคำชี้ขาดแต่ในขณะนั้นนายบัญชากับพวกยังมิได้ลงมือแย่งการครอบครองหรือเอารถยนต์ไปจากผู้ร้องไม่อาจถือได้ว่าวันดังกล่าวเป็นวันที่ลักทรัพย์สำเร็จ ต่อมาเมื่อนายบัญชากับพวกไม่ชำระค่าเช่าแล้วพากันหลบหนีไปพร้อมรถยนต์คันดังกล่าว ถือได้ว่านายบัญชากับพวกเอารถยนต์คันดังกล่าวไปจากการครอบครองของผู้ร้องแล้ว ผู้ร้องไม่อาจตามหาตัวนายบัญชากับพวกได้และเข้าร้องทุกข์ต่อเจ้าพนักงานตำรวจเมื่อวันที่ 13 พฤษภาคม 2558 จึงถือได้ว่าวันที่ร้องทุกข์เป็นวันที่ผู้ร้องถูกนายบัญชากับพวกลักรถยนต์ไปอันเป็นวันวินาศภัยตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 882 วรรคหนึ่ง เมื่อผู้ร้องเสนอข้อพิพาทต่ออนุญาโตตุลาการเมื่อวันที่ 21 มีนาคม 2560 จึงยังไม่พ้นกำหนด 2 ปี คดีของผู้ร้องยังไม่ขาดอายุความ ดังนั้น ที่อนุญาโตตุลาการมีคำชี้ขาดว่า วันที่ผู้ร้องส่งมอบรถยนต์เป็นวันวินาศภัย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 882 จึงเป็นการปรับบทกฎหมายไม่ถูกต้อง ไม่ใช่เพียงการวินิจฉัยอายุความเท่านั้น การยอมรับหรือบังคับตามคำชี้ขาดดังกล่าวจึงเป็นการขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชนตามพระราชบัญญัติอนุญาโตตุลาการ พ.ศ.2545 มาตรา 40 วรรคสาม (2) (ข) อุทธรณ์ของผู้ร้องฟังขึ้น
พิพากษากลับ ให้เพิกถอนคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการ ข้อพิพาทระหว่างนายบุญส่ง ผู้เสนอข้อพิพาท กับบริษัทศรีอยุธยา เจนเนอรัล ประกันภัย จำกัด (มหาชน) ผู้คัดค้าน ของสำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) ตามขอ ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสองศาลให้เป็นพับ

Share