แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
การขอแก้สถานที่เกิดเหตุนั้น ถือว่าเป็นการขอแก้รายละเอียด ถ้าจำเลยไม่หลงข้อต่อสู้แล้วโจทก์ย่อมขอแก้ได้
การที่จำเลยเสียเปรียบในการแก้ฟ้องหรือไม่ในการดำเนินการพิจารณาในท้องสำนวนนั้นเป็นปัญหาข้อเท็จจริง แต่ถ้าศาลล่างตีความโดยอาศัยแต่ฉะเพาะตัวบทในวิธีพิจารณาอย่างเดียวย่อมเป็นปัญหาข้อกฎหมาย
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยฐานชิงทรัพย์ กล่าวถึงที่เกิดเหตุไว้ในฟ้องว่า “เหตุเกิดตำบลอิสาณ อำเภอเมือง จังหวัดบุรีรัมย์”
จำเลยให้การปฏิเสธ
เมื่อสืบพะยานโจทก์จำเลยเสร็จแล้ว โจทก์ยื่นคำร้องต่อศาลว่าโจทก์บรรยายฟ้องผิดไปที่ว่าจำเลยกระทำผิดที่ตำบลอิสาณ ความจริงจำเลยกระทำผิดที่ตำบลบ้านบัว เพราะอาณาเขตต์บ้านหนองตาดซึ่งเป็นที่เกิดเหตุซึ่งอยู่ในเขตต์ตำบลบ้านบัว อยู่ติดกับบ้านหนองมะเกลือ ซึ่งอยู่ในเขตต์ตำบลอิสาณราษฎรทั้งสองหมู่บ้านทำการติดต่อกันจนไม่รู้สึกว่าเป็นคนละหมู่บ้าน และบ้านหนองตาดไม่มีผู้ใหญ่บ้านซึ่งอาจจะเข้าใจผิดว่าเขตต์บ้านหนองตาดอยู่ในเขตต์ตำบลอิสาณ จึงขอแก้ฟ้องเป็นเหตุตำบลบ้านบัว อำเภอเมืองบุรีรัมย์ จังหวัดบุรีรัมย์
ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ไม่อนุญาตให้โจทก์แก้ฟ้อง และพิพากษาให้ยกฟ้องโจทก์
โจทก์ฎีกาอ้างว่าเป็นปัญหาข้อกฎหมาย
ศาลฎีกาเห็นว่า ปัญหาที่ว่าฎีกาของโจทก์เป็นปัญหาข้อกฎหมายหรือปัญหาข้อเท็จจริงนั้น ศาลชั้นต้นอ้างว่าจำเลยเสียเปรียบไม่มีโอกาศคัดค้านและศาลอุทธรณ์ว่าจำเลยเสียเปรียบ เพราะโจทก์แก้ฟ้องหันเข้าหาคำพะยาน การเสียเปรียบหรือไม่ในการดำเนินกระบวนพิจารณาในท้องสำนวนนั้น ย่อมเป็นปัญหาข้อเท็จจริง แต่การเสียเปรียบในเรื่องนี้ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์อ้างอาศัยตัวบทในวิธีพิจารณาความอาญา ศาลฎีกาต้องตีความในบทกฎหมายนั้น ๆ ฎีกาเรื่องนี้จึงเป็นปัญหาข้อกฎหมาย โจทก์ฎีกาได้ ส่วนปัญหาว่าโจทก์จะขอแก้ฟ้องได้หรือไม่นั้น ตามมาตรา ๑๖๔ ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญารายละเอียดเกี่ยวแก่เวลาและสถานที่ซึ่งเกิดการกระทำนั้น ๆ โจทก์ย่อมขอแก้ได้ไม่ว่าจำเลยเสียเปรียบเว้นแต่จำเลยจะหลงต่อสู้ เรื่องนี้ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์มิได้อ้างไว้ในคำพิพากษาว่าจำเลยหลงต่อสู้แต่ประการใดเลย บ้านนายคันอันเป็นที่เกิดเหตุอยู่ในเขตต์ตำบลใดในทางอาณาเขตต์แห่งการปกครองก็หาทำให้ข้อเท็จจริงแห่งการกระทำเปลี่ยนแปลงไปอย่างใดไม่ จึงเป็นที่เห็นได้ว่า จำเลยมิได้หลงต่อสู้ และการที่จะอ้างว่าการยื่นคำร้องขอแก้ฟ้อง
เมื่อสืบพะยานเสร็จแล้วว่าเป็นเรื่องไม่มีเหตุอันควรนั้นก็ไม่ชอบด้วยกฎหมาย เพราะตามมาตรา ๑๖๔ โจทก์ย่อมขอแก้ฟ้งได้เสมอไม่ว่าในระยะใดระหว่างพิจารณาของศาลชั้นต้น ศาลฎีกาเห็นว่า โจทก์มีเหตุผลสมควรให้แก้ฟ้องได้ พิพากษากลับให้ยกคำพิพากษาศาลชั้นต้น อนุญาตให้โจทก์แก้ฟ้องและให้ศาลชั้นต้นดำเนินการพิจารณาพิพากษาใหม่ตามรูปคดี