แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
ตาม พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มิได้บัญญัติหรือให้คำนิยามคำว่า “มีไว้ในครอบครอง” ว่ามีความหมายครอบคลุมเพียงใด จึงต้องถือตามความหมายที่ใช้กันโดยทั่วไป ซึ่งตามพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตสถาน พ.ศ.2542 ได้บัญญัติความหมายของคำว่า “ครอบครอง” ไว้ว่า ยึดถือไว้ มีสิทธิปกครองส่วนความหมายในทางกฎหมายให้นิยามไว้ว่า ยึดถือทรัพย์สินไว้โดยเจตนาจะยึดถือเพื่อตนอันทำให้บุคคลได้มาซึ่งสิทธิครอบครอง ดังนั้น การมีกัญชาไว้ในครอบครองตาม พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 15 วรรคหนึ่ง จะต้องเป็นการยึดถือไว้โดยมีเจตนาที่จะหวงกันไว้เพื่อตนเอง โดยอาจมุ่งหมายเพื่อใช้หรือหาประโยชน์จากทรัพย์สินนั้น หรือเพื่อที่จะเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์อย่างใดอย่างหนึ่ง แต่ข้อเท็จจริงกลับได้ความว่า จำเลยได้รับการว่าจ้างจาก ห. ให้มารับกัญชาจากคนลาวไปส่งมอบให้ ห. ที่จังหวัดสกลนคร และตั้งแต่เจ้าพนักงานตำรวจวางแผนตรวจค้นจับกุมจำเลยและขยายผลจนจับกุมผู้กระทำความผิดคนอื่นได้พร้อมกัญชา กัญชาของกลางไม่เคยอยู่ในความครอบครองของจำเลยแต่อย่างใด การที่จำเลยขับรถไปยังจุดนัดหมายเพื่อรอรับกัญชาของกลางเป็นเพียงการเตรียมการเพื่อกระทำความผิด แม้จำเลยจะให้การรับสารภาพทั้งในชั้นจับกุมและชั้นสอบสวนในข้อหามีกัญชาไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย ก็ไม่อาจรับฟังลงโทษจำเลยได้
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 4, 7, 8, 26, 75, 76/1 ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83
จำเลยให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 26 วรรคหนึ่งและวรรคสอง, 76/1 วรรคสอง, 100/1 วรรคหนึ่ง ประกอบประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83 ลงโทษจำคุก 15 ปี และปรับ 1,500,000 บาท คำให้การจำเลยในชั้นจับกุมและสอบสวนเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้หนึ่งในสาม ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุก 10 ปี และปรับ 1,000,000 บาท ไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29, 30 ในกรณีต้องกักขังแทนค่าปรับให้กักขังเกิน 1 ปีได้ แต่ไม่ให้เกิน 2 ปี ข้อหาอื่นให้ยก
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 4 พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกฟ้องโจทก์ในข้อหาร่วมกันมีกัญชาไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงเบื้องต้นฟังว่า จำเลยได้รับการว่าจ้างจากนายหงษ์ ให้มารับกัญชาของกลางจากคนลาว โดยใช้โทรศัพท์ติดต่อนัดหมายส่งมอบกัญชา แล้วจะจ่ายเงินให้คนลาวที่นำกัญชามาส่งมอบ 10,000 บาท จากนั้นจำเลยจะนำกัญชาของกลางไปส่งมอบให้นายหงษ์ที่จังหวัดสกลนคร ทั้งนี้จำเลยได้รับเงินค่าจ้างเป็นเงิน 7,000 บาท แต่ปรากฏว่าจำเลยถูกเจ้าพนักงานตำรวจตรวจค้นพบโทรศัพท์เคลื่อนที่ 1 เครื่อง และธนบัตรจำนวน 17,000 บาท ในขณะที่จำเลยขับรถจะไปรับกัญชาของกลาง ขณะจำเลยถูกเจ้าพนักงานตำรวจตรวจค้นและควบคุมตัวไว้ จำเลยไม่ได้มีกัญชาของกลางไว้ในครอบครอง ต่อมาเจ้าพนักงานตำรวจดำเนินการขยายผลให้จำเลยโทรศัพท์ติดต่อกับคนลาวเพื่อให้นำกัญชาของกลางมาส่งมอบ จนกระทั่งยึดได้กัญชาเป็นของกลาง
มีปัญหาวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่า จำเลยกระทำความผิดฐานร่วมกันมีกัญชาของกลางไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายตามคำฟ้องโจทก์หรือไม่ เห็นว่า ตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มิได้บัญญัติหรือให้นิยามคำว่า มีไว้ในครอบครอง ว่ามีความหมายครอบคลุมเพียงใด จึงต้องถือตามความหมายที่ใช้กันโดยทั่วไป ซึ่งตามพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2542 ได้บัญญัติความหมายของคำว่า ครอบครอง ไว้ว่า ยึดถือไว้ มีสิทธิปกครอง ส่วนความหมายในทางกฎหมายให้นิยามไว้ว่า ยึดถือทรัพย์สินไว้โดยเจตนาจะยึดถือเพื่อตน อันทำให้บุคคลได้มาซึ่งสิทธิครอบครอง ดังนั้น การมีกัญชาไว้ในครอบครองตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 15 วรรคหนึ่ง จะต้องเป็นการยึดถือไว้โดยมีเจตนาที่จะหวงกันไว้เพื่อตนเอง โดยอาจมุ่งหมายเพื่อใช้หรือหาประโยชน์จากทรัพย์สินนั้น หรือเพื่อที่จะเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์อย่างใดอย่างหนึ่ง แต่ข้อเท็จจริงกลับได้ความว่า ตั้งแต่เจ้าพนักงานตำรวจวางแผนตรวจค้นจับกุมจำเลยและขยายผลจนกระทั่งจับกุมผู้กระทำความผิดคนอื่นได้พร้อมกัญชาของกลาง กัญชาของกลางไม่เคยอยู่ในความครอบครองของจำเลยแต่อย่างใด การที่จำเลยขับรถไปยังจุดนัดหมายเพื่อรอรับกัญชาของกลางเป็นเพียงการเตรียมการเพื่อกระทำความผิด แม้จำเลยจะให้การรับสารภาพทั้งในชั้นจับกุมและชั้นสอบสวนข้อหามีกัญชาไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายก็ตาม ก็ไม่อาจรับฟังลงโทษจำเลยได้ ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 4 พิพากษายกฟ้องโจทก์ในข้อหาร่วมกันมีกัญชาไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายด้วยนั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของโจทก์ฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน