คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1437/2524

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยจ้างโจทก์เป็นลูกจ้างประจำโดยให้ทำงานที่เรือขุดแร่ในทะเล โดยจำเลยให้เงินเพิ่มพิเศษทางทะเลแก่โจทก์จำเลยมิได้ให้การปฏิเสธความข้อนี้และปรากฏว่าเงินเพิ่มพิเศษนี้เป็นการช่วยเหลือพนักงานที่ต้องปฏิบัติงานประจำในทะเล แสดงว่าเป็นเงินซึ่งจ่ายเพิ่มให้แก่ค่าจ้างปกติเพราะเหตุที่ต้องไปปฏิบัติงานประจำอยู่ในทะเลจึงเป็นเงินที่นายจ้างจ่ายให้แก่ลูกจ้างเป็นการตอบแทนการทำงานปกติของวันทำงาน นับว่าเป็น “ค่าจ้าง”แม้จำเลยจะให้การว่า เงินเพิ่มพิเศษนี้ลูกจ้างมีสิทธิได้รับในขณะปฏิบัติงานอยู่เท่านั้นและคู่ความรับกันว่านอกจากคนงานในเรือขุดยังมีคนงานปฏิบัติหน้าที่อยู่บนบก คนงานในเรือขุดอาจถูกย้ายมาปฏิบัติหน้าที่บนบกได้ก็ตาม ก็ไม่ลบล้างข้อเท็จจริงที่ว่าโจทก์เป็นคนงานจำพวกที่ต้องปฏิบัติหน้าที่ประจำอยู่ในทะเลนั่นเอง และเงินเพิ่มพิเศษค่าทำงานรอบกลางคืนอันเป็นผลต่อเนื่องจากการทำงานในเรือขุด จำเลยก็มิได้ให้การปฏิเสธเช่นกันจึงต้องนำเงินทั้งสองประเภทนี้ไปรวมกับค่าจ้างปกติเพื่อใช้เป็นฐานคำนวณค่าชดเชยด้วย
แม้ตามข้อบังคับของจำเลยจะระบุว่า เงินช่วยเหลือค่าครองชีพเป็นการจ่ายเพื่อสวัสดิการนอกเหนือจากค่าจ้างปกติ และตามบันทึกข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างก็ว่า เพื่อเป็นการแบ่งเบาภาระการครองชีพในปัจจุบันซึ่งเปลี่ยนแปลงสูงขึ้นเรื่อย ๆ ก็ตาม การที่ค่าครองชีพสูงขึ้นเรื่อย ๆ นั้นย่อมทำให้จำเลยแลเห็นได้เองว่าค่าจ้างที่จำเลยจ่ายให้แก่ลูกจ้างนั้นไม่สมดุลย์กับค่าครองชีพที่เพิ่มขึ้นเงินที่จ่ายเพิ่มให้นี้จึงเป็นเงินที่จ่ายให้แก่ลูกจ้างเป็นการตอบแทนการทำงานในเวลาปกติของวันทำงานด้วยเช่นกัน จึงต้องถือว่าเป็นค่าจ้าง
ตามข้อบังคับการทำงานของจำเลยจัดเงินช่วยเหลือค่าเช่าบ้านอยู่ในประเภท “สวัสดิการและผลประโยชน์ตอบแทนอื่น” บริษัทจำเลยมีคนงานประมาณ 250 คน มีคนงานมีที่พักอยู่ในบริษัทจำเลย 6 ถึง8 คน ไม่ได้รับค่าเช่าบ้านคนงานอื่นได้ค่าเช่าบ้าน แสดงว่าจำเลยมุ่งหมายที่จะผูกมัดจิตใจลูกจ้างให้ทำงานอยู่กับจำเลยนาน ๆ และเพื่อไม่ให้ลูกจ้างต้องเป็นกังวลในเรื่องที่พักอาศัย จำเลยจึงรับภาระในสวัสดิการด้านที่พักอาศัยให้ เมื่อจำเลยไม่สามารถจัดที่พักอาศัยให้ได้จึงจ่ายเงินช่วยเหลือค่าเช่าบ้านให้ และเงินช่วยเหลือค่าเช่าบ้านที่ลูกจ้างได้รับเป็นจำนวนที่แน่นอนเท่า ๆ กันทุกเดือน ผู้ที่มีบ้านของตนเองเช่นโจทก์ก็ได้ด้วยดังนี้ไม่อาจถือว่าเงินช่วยเหลือค่าเช่าบ้านเป็นค่าจ้าง

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยจ้างโจทก์เป็นลูกจ้างประจำโดยให้ทำงานในเรือขุดแร่ในทะเล จำเลยเลิกจ้างโจทก์โดยอ้างว่าเกษียณอายุจึงต้องจ่ายค่าชดเชย โจทก์ได้ค่าจ้าง คือ ๑. ค่าแรง ๒. ค่าครองชีพ ๓. เงินช่วยค่าเช่าบ้าน ๔. เงินเพิ่มพิเศษทางทะเลในการที่ไปทำงานในเรือขุดแร่ในทะเล ๕. เงินเพิ่มพิเศษค่าทำงานหมุนเวียนในรอบกลางคืน ขอให้บังคับจำเลยจ่ายค่าชดเชยพร้อมกับดอกเบี้ยนับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จ
จำเลยให้การว่า เมื่อโจทก์ออกจากการเป็นลูกจ้างของจำเลยจำเลยได้คิดค่าชดเชยและแจ้งให้โจทก์มารับ โจทก์ไม่มารับ เงินค่าครองชีพค่าเช่าบ้าน และเงินเพิ่มพิเศษทางทะเล ลูกจ้างมีสิทธิได้รับในขณะปฏิบัติงานอยู่เท่านั้น เพราะเงินดังกล่าวไม่ใช่ค่าจ้าง แต่เป็นสวัสดิการและผลประโยชน์ตอบแทนนอกเหนือจากค่าจ้างตามปกติเพื่อช่วยเหลือลูกจ้างในขณะปฏิบัติงานเท่านั้น โจทก์จึงไม่มีสิทธินำไปรวมกับค่าจ้างตามปกติขอให้ยกฟ้อง
ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยว่า ค่าครองชีพและเงินช่วยเหลือค่าเช่าบ้านเป็นค่าจ้าง พิพากษาให้จำเลยจ่ายค่าชดเชยแก่โจทก์โดยนำค่าครองชีพและเงินช่วยเหลือค่าเช่าบ้าน ไปรวมเป็นเกณฑ์คำนวณค่าชดเชยกับค่าจ้างด้วยและให้จำเลยจ่ายดอกเบี้ยในต้นเงินค่าชดเชยนับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จ
โจทก์และจำเลยอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของโจทก์ว่าปรากฏตามข้ออ้างในคำฟ้องว่า จำเลยจ้างโจทก์เป็นลูกจ้างประจำโจทก์ได้เงินเพิ่มพิเศษทางทะเลเพราะจำเลยใช้ให้โจทก์ไปทำงานในเรือขุดแร่ของจำเลยในทะเล จำเลยมิได้ปฏิเสธความข้อนี้ ตามบันทึกข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างก็แสดงว่าเงินเพิ่มพิเศษทางทะเลเป็นเงินซึ่งจ่ายให้แก่ค่าจ้างปกติเพราะเหตุที่ต้องไปปฏิบัติงานประจำอยู่ในทะเล จึงเป็นเงินที่นายจ้างจ่ายให้แก่ลูกจ้างเป็นการตอบแทนการทำงานในเวลาทำงานปกติของวันทำงานนับว่าเป็น “ค่าจ้าง”ตามบทนิยามในประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงานฯข้อ ๒ แม้จำเลยจะให้การไว้ว่าเงินเพิ่มพิเศษทางทะเลนี้ ลูกจ้างมีสิทธิได้รับในขณะปฏิบัติงานอยู่เท่านั้น และคู่ความแถลงรับกันว่า นอกจากคนงานในเรือขุด ยังมีคนงานปฏิบัติหน้าที่อยู่บนบกอีกส่วนหนึ่ง คนงานในเรืออาจถูกย้ายจากเรือขุดมาปฏิบัติหน้าที่บนบกได้ก็ตาม แต่ก็ไม่ลบล้างข้อเท็จจริงที่ว่าโจทก์ทั้งสองเป็นคนงานจำพวกที่ต้องปฏิบัติหน้าที่ประจำอยู่ในทะเลนั่นเอง ส่วนเงินเพิ่มพิเศษค่าทำงานเข้าผลัดหมุนเวียนในรอบกลางคืน จำเลยมิได้ให้การปฏิเสธเกี่ยวกับเงินนี้แต่ประการใดและคู่ความยังแถลงรับกันด้วยว่า เงินนี้เป็นผลต่อเนื่องจากการทำงานในเรือขุด จึงต้องถือว่าเงินนี้เป็นค่าจ้างที่จะต้องนำไปรวมกับค่าจ้างปกติเพื่อใช้เป็นฐานในการคำนวณค่าชดเชยด้วย
ตามอุทธรณ์ของจำเลยว่า ตามข้อบังคับของจำเลยระบุว่าเงินช่วยเหลือค่าครองชีพเป็นการจ่ายเพื่อสวัสดิการนอกเหนือจากค่าจ้างปกติ ตามบันทึกข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างก็ว่าเพื่อเป็นการแบ่งเบาภาระการครองชีพในปัจจุบันซึ่งเปลี่ยนแปลงสูงขึ้นเรื่อย ๆ ศาลฎีกาเห็นว่า การที่ค่าครองชีพสูงขึ้นเรื่อยนั้นย่อมทำให้จำเลยแลเห็นได้เองว่า ค่าจ้างที่จำเลยจ่ายให้แก่ลูกจ้างนั้นไม่สมดุลย์กับค่าครองชีพ จำเป็นต้องจ่ายเงินเพิ่มเติมให้เพื่อให้ได้ส่วนกับภาวะค่าครองชีพที่เพิ่มขึ้น แม้เงินนี้จะไม่ได้เรียกว่าค่าจ้างด้วย แต่ก็เห็นได้ว่าเป็นเงินที่จ่ายให้แก่ลูกจ้างเป็นการตอบแทนการทำงานในเวลาทำงานปกติของวันทำงานด้วยเช่นกัน จึงต้องถือว่าเป็นค่าจ้างซึ่งจะต้องนำไปรวมกับค่าจ้างปกติสำหรับเป็นฐานในการคำนวณค่าชดเชยด้วย
ปรากฏในข้อบังคับการทำงานจำเลยจัดเงินค่าเช่าบ้านอยู่ในประเภท”สวัสดิการและผลประโยชน์ตอบแทนอื่น” บริษัทจำเลยมีคนงานทั้งหมดประมาณ ๒๕๐ คน คนงานที่มีที่พักอยู่ในบริษัทจำเลยมีอยู่ ๖ ถึง ๘ คนคนเหล่านี้ไม่ได้รับค่าเช่าบ้าน ส่วนคนงานอื่นได้ค่าเช่าบ้าน แสดงว่าจำเลยมุ่งหมายที่จะผูกมัดจิตใจลูกจ้างให้ทำงานอยู่กับจำเลยนาน ๆและเพื่อไม่ให้ลูกจ้างต้องเป็นกังวลเรื่องที่พักอาศัย จำเลยจึงรับภาระในสวัสดิการด้านที่พักอาศัยให้เมื่อจำเลยไม่สามารถจัดที่พักอาศัยได้ครบถ้วน จึงจ่ายเงินช่วยเหลือค่าเช่าบ้านให้แก่ลูกจ้างซึ่งต้องหาที่พักอาศัยเอาเอง แม้ลูกจ้างเกือบทั้งหมดจะได้รับเงินช่วยเหลือค่าเช่าบ้าน เงินที่ได้รับเป็นจำนวนที่แน่นอนเท่า ๆ กันทุกเดือน และผู้ที่มีบ้านของตนเองเช่นโจทก์ก็ได้ด้วย ไม่อาจถือว่าเงินช่วยเหลือค่าเช่าบ้านเป็นค่าจ้างซึ่งจะต้องนำไปรวมกับค่าจ้างปกติเพื่อใช้เป็นฐานในการคำนวณค่าชดเชย
พิพากษาแก้ โดยให้ถือว่าค่าจ้างอัตราสุดท้ายอันจะนำมาเป็นฐานคำนวณค่าชดเชยคือ ค่าจ้าง ค่าครองชีพ เงินเพิ่มพิเศษทางทะเล และเงินเพิ่มพิเศษค่าทำงานเข้าผลัดหมุนเวียนในรอบกลางคืน นอกจากที่แก้นี้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลแรงงานกลาง

Share