แหล่งที่มา : ส่วนเลขานุการคณะกรรมการวินิจฉัยฯ
ย่อสั้น
ไม่มีย่อสั้น
ย่อยาว
(สำเนา)
คำวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล คณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล
(คำสั่ง) ที่ ๒๘/๒๕๕๐
วันที่ ๒๕ กันยายน ๒๕๕๐
เรื่อง การยื่นคำร้องขอให้วินิจฉัยชี้ขาดกรณีคำพิพากษาหรือคำสั่งที่ถึงที่สุดระหว่างศาลขัดแย้งกัน ตามมาตรา ๑๔ และมาตรา ๑๕ แห่งพระราชบัญญัติว่าด้วยการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล พ.ศ. ๒๕๔๒
คำสั่งศาลจังหวัดสงขลา
ระหว่าง
คำสั่งศาลปกครองสงขลา
การเสนอเรื่องต่อคณะกรรมการ
นางชิต คงพันธุ์ โดยนายพิชญธร รอดบำรุง ผู้รับมอบอำนาจยื่นฟ้องคดีปกครองและดำเนินคดีปกครอง ยื่นคำร้องขอให้คณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาลพิจารณาวินิจฉัย ชี้ขาดกรณีคำพิพากษาหรือคำสั่งที่ถึงที่สุดระหว่างศาลขัดแย้งกัน ตามมาตรา ๑๔ และมาตรา ๑๕ แห่งพระราชบัญญัติว่าด้วยการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล พ.ศ. ๒๕๔๒
ข้อเท็จจริงในคดี
นางชิต คงพันธุ์ โดยนายพิชญธร รอดบำรุง ผู้รับมอบอำนาจยื่นฟ้องคดีปกครองและดำเนินคดีปกครองยื่นคำร้องลงวันที่ ๒๑ พฤษภาคม ๒๕๕๐ ขอให้คณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาลวินิจฉัยชี้ขาดกรณีคำพิพากษาหรือคำสั่งที่ถึงที่สุดระหว่างศาลยุติธรรมและศาลปกครองขัดแย้งกันในคดีที่มีข้อเท็จจริงเป็นเรื่องเดียวกันตามมาตรา ๑๔ และมาตรา ๑๕ แห่งพระราชบัญญัติว่าด้วยการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล พ.ศ. ๒๕๔๒ ความว่า นางชิต คงพันธุ์ ผู้ร้อง เป็นลูกหนี้ตามคำพิพากษา (จำเลย) ของศาลจังหวัดสงขลา คดีแพ่งหมายเลขแดงที่ ๒๖๘๗/๒๕๔๘ โดยมีสหกรณ์การเกษตรสทิงพระ จำกัด เป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษา (โจทก์) จดทะเบียนจำนอง น.ส. ๓ ก. เลขที่ ๑๐๑๕ ตำบลบ่อแดง อำเภอสทิงพระ จังหวัดสงขลา พร้อมสิ่งปลูกสร้างเป็นประกัน ต่อมาผู้ร้อง ยื่นฟ้องคณะกรรมการจัดการหนี้ของเกษตรกร ที่ ๑ อธิบดีกรมส่งเสริมสหกรณ์ ที่ ๒ สหกรณ์การเกษตรสทิงพระ จำกัด ที่ ๓ สำนักจัดการหนี้ของเกษตรกร ที่ ๔ ผู้ถูกฟ้องคดี ต่อศาลปกครองสงขลาเป็นคดีหมายเลขดำที่ ๔๗/๒๕๕๐ อ้างว่าผู้ร้องขึ้นทะเบียนหนี้ต่อผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๔ แต่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ ละเลยไม่ดำเนินการตามกระบวนการจัดการหนี้ของกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกร ทำให้ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๓ ซึ่งเป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษา (โจทก์) ของศาลจังหวัดสงขลาในคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ ๒๖๘๗/๒๕๔๘ บังคับคดีขายทอดตลาดทรัพย์จำนองของผู้ร้อง แต่ผู้ร้องใช้สิทธิคัดค้านและจะมีการขายทอดตลาดครั้งต่อไปในวันที่ ๒๗ มีนาคม ๒๕๕๐ ผู้ร้องไม่อาจใช้สิทธิคัดค้านได้อีก ขอให้ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ และที่ ๔ เข้าดำเนินการจัดการหนี้ของผู้ร้องตามกระบวนการจัดการหนี้ตามที่กฎหมายกำหนด และให้ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ และที่ ๓ ร่วมกับผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ และที่ ๔ แก้ไขปัญหาหนี้ของผู้ร้อง โดยผู้ร้องขอให้ศาลสั่งระงับการขายทอดตลาดทรัพย์ของผู้ร้องจนกว่าผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ และที่ ๔ จะเข้ามาจัดการหนี้ของผู้ร้องให้แล้วเสร็จ ศาลปกครองสงขลามีคำสั่งกำหนดมาตรการหรือวิธีการคุ้มครองประโยชน์เพื่อบรรเทาทุกข์ชั่วคราวก่อนการพิพากษาให้เจ้าพนักงานบังคับคดี สำนักงานบังคับคดีจังหวัดสงขลาระงับการขายทอดตลาดทรัพย์ในคดีแพ่งของศาลจังหวัดสงขลา หมายเลขแดงที่ ๒๖๘๗/๒๕๔๘ ไว้ก่อน ศาลจังหวัดสงขลามีคำสั่งให้ดำเนินการขายทอดตลาดทรัพย์ต่อไป และปลดเปลื้องความรับผิดให้แก่เจ้าพนักงานบังคับคดี โดยเห็นว่าศาลได้มีคำพิพากษาและหมายตั้งเจ้าพนักงานบังคับคดีชอบแล้ว การที่คู่ความยื่นฟ้องคดีต่อศาลปกครองมิใช่เหตุในการทุเลาการบังคับคดีหรือเหตุในการงดการบังคับคดีตามที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา ๒๓๑ , ๒๙๒ ผู้ร้องได้ยื่นคำร้องต่อศาลปกครองสงขลาแจ้งเหตุที่ทำให้ไม่อาจได้รับความคุ้มครองชั่วคราวตามคำสั่งของศาลปกครองสงขลา ศาลปกครองสงขลาไต่สวนคำร้องเมื่อวันที่ ๒๕ เมษายน ๒๕๕๐ แล้วเห็นว่า กรณีเป็นปัญหาเกี่ยวกับอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล ตามมาตรา ๑๔ และมาตรา ๑๕ แห่งพระราชบัญญัติว่าด้วยการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล พ.ศ. ๒๕๔๒ ให้ผู้ฟ้องคดีดำเนินการเกี่ยวกับกรณีเป็นปัญหาอำนาจหน้าที่ระหว่างศาลให้ถูกต้อง และมีหนังสือแจ้งเจ้าพนักงานบังคับคดีจังหวัดสงขลาให้ชะลอการขายทอดตลาดไว้ก่อน ผู้ร้องเห็นว่ากรณีดังกล่าวนี้เป็นปัญหาเกี่ยวกับอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล ตามมาตรา ๑๔ และมาตรา ๑๕ แห่งพระราชบัญญัติว่าด้วยการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล พ.ศ. ๒๕๔๒ เนื่องจากเป็นคำสั่งถึงที่สุดระหว่างศาลขัดแย้งกันในคดีที่มีข้อเท็จจริงเป็นเรื่องเดียวกันจนเป็นเหตุให้ผู้ร้องซึ่งเป็นจำเลยคดีแพ่งของศาลจังหวัดสงขลา หมายเลขแดงที่ ๒๖๘๗/๒๕๔๘ ไม่ได้รับการเยียวยาความเดือดร้อนเสียหาย หรือไม่ได้รับความเป็นธรรม หรือไม่ได้รับความคุ้มครองตามคำสั่งของศาลปกครองสงขลา เพราะการที่ศาลจังหวัดสงขลามีคำสั่งให้เจ้าพนักงานบังคับคดีดำเนินการขายทอดตลาดทรัพย์ต่อไป ย่อมนำมาซึ่ง ความเสียหายต่อผู้ร้อง และเป็นบุคคลที่ได้รับความคุ้มครองในการแก้ไขปัญหาหนี้ของเกษตรกรตามพระราชบัญญัติกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกร พ.ศ. ๒๕๔๒ และฉบับที่ ๒ พ.ศ. ๒๕๔๔ และตามมติคณะรัฐมนตรีเกี่ยวกับการแก้ไขปัญหาหนี้สินของเกษตรกรเมื่อวันที่ ๑๖ มกราคม ๒๕๕๐ โดยขอให้วินิจฉัยเกี่ยวกับการปฏิบัติตามคำสั่งของศาลที่ขัดแย้งกัน
สำนักงานเลขานุการคณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาลตรวจสอบคำร้องของผู้ร้องในเบื้องต้นแล้วปรากฏว่า เอกสารที่ผู้ร้องส่งมาไม่ครบถ้วนสมบูรณ์ ทั้งนี้ ในกรณีการเสนอเรื่องต่อคณะกรรมการ หรือการยื่นคำร้องต่อเลขานุการและเอกสารที่ส่งมาไม่ครบถ้วนนั้น ข้อบังคับคณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล ว่าด้วยวิธีการเสนอเรื่อง การพิจารณาและวินิจฉัย พ.ศ. ๒๕๔๔ ข้อ ๒๓ กำหนดให้เลขานุการแจ้งให้ผู้ร้องดำเนินการแก้ไขให้ถูกต้องภายในระยะเวลาที่เห็นสมควรกำหนด จึงแจ้งให้ผู้ร้องจัดส่งเอกสารดังต่อไปนี้ภายใน ๑๕ วัน นับแต่วันที่ได้รับหนังสือแจ้ง เพื่อประกอบการพิจารณารับคำร้องต่อไป
๑. สำเนาคำพิพากษาคดีแพ่งของศาลจังหวัดสงขลา หมายเลขแดงที่ ๒๖๘๗/๒๕๔๘ และหนังสือรับรองคดีถึงที่สุด พร้อมหนังสือรับรองที่แสดงว่าคำสั่งของศาลจังหวัดสงขลาที่สั่งให้เจ้าพนักงานบังคับคดีขายทอดตลาดทรัพย์ต่อไปนั้นถึงที่สุด
๒. สำเนาคำฟ้อง คำให้การ คำสั่งศาลปกครองสงขลาที่สั่งให้เจ้าพนักงานบังคับคดี สำนักงานบังคับคดีจังหวัดสงขลาระงับการขายทอดตลาดทรัพย์ในคดีแพ่งของศาลจังหวัดสงขลา หมายเลขแดงที่ ๒๖๘๗/๒๕๔๘ และหนังสือรับรองคำสั่งถึงที่สุดของศาลปกครองสงขลา ในคดีหมายเลขดำที่ ๔๗/๒๕๕๐
ผู้ร้องส่งเอกสารดังกล่าวถึงสำนักงานเลขานุการคณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาลเมื่อวันที่ ๓ กรกฎาคม ๒๕๕๐ (นำส่งที่ทำการไปรษณีย์ต้นทางเมื่อวันที่ ๒๙ มิถุนายน ๒๕๕๐) โดยไม่มีการร้องขอขยายเวลาเพิ่มเติมแต่อย่างใด ต่อมา ศาลปกครองสงขลามีหนังสือที่ ศป ๐๐๑๗/ธ ๑๔๖ ลงวันที่ ๑๖ กรกฎาคม ๒๕๕๐ ถึงสำนักงานเลขานุการคณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาลแจ้งคำสั่งไม่รับคำฟ้อง คดีหมายเลขดำที่ ๔๗/๒๕๕๐ ไว้พิจารณา และให้จำหน่ายคดีออกจากสารบบความ และให้คำสั่งคุ้มครองชั่วคราวที่ให้ระงับการขายทอดตลาดที่ดินตาม น.ส. ๓ ก. เลขที่ ๑๐๑๕ ตำบลบ่อแดง อำเภอสทิงพระ จังหวัดสงขลา พร้อมสิ่งปลูกสร้างเป็นอันสิ้นผล
คำวินิจฉัย
ปัญหาที่ต้องพิจารณา คำร้องของผู้ร้องชอบด้วยพระราชบัญญัติว่าด้วยการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล พ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๑๔ และมาตรา ๑๕ หรือไม่
คณะกรรมการพิจารณาแล้วเห็นว่า ผู้ร้องยื่นคำร้องว่า ผู้ร้องเป็นลูกหนี้ตามคำพิพากษา (จำเลย) ของศาลจังหวัดสงขลาคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ ๒๖๘๗/๒๕๔๘ โดยมีสหกรณ์การเกษตรสทิงพระ จำกัด เป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษา (โจทก์) จดทะเบียนจำนอง น.ส. ๓ ก. เลขที่ ๑๐๑๕ ตำบลบ่อแดง อำเภอสทิงพระ จังหวัดสงขลา พร้อมสิ่งปลูกสร้างเป็นประกัน ต่อมาผู้ร้องยื่นฟ้องคณะกรรมการจัดการหนี้ของเกษตรกร ที่ ๑ อธิบดีกรมส่งเสริมสหกรณ์ ที่ ๒ สหกรณ์การเกษตรสทิงพระ จำกัด ที่ ๓ สำนักจัดการหนี้ของเกษตรกร ที่ ๔ ผู้ถูกฟ้องคดี ต่อศาลปกครองสงขลาเป็นคดีหมายเลขดำที่ ๔๗/๒๕๕๐ อ้างว่าผู้ร้องขึ้นทะเบียนหนี้ต่อผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๔ แต่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ ละเลยไม่ดำเนินการตามกระบวนการจัดการหนี้ของกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกร ทำให้ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๓ บังคับคดีขายทอดตลาดทรัพย์ของผู้ร้อง แต่ผู้ร้องใช้สิทธิคัดค้านและจะมีการขายทอดตลาดครั้งต่อไปในวันที่ ๒๗ มีนาคม ๒๕๕๐ ผู้ร้องไม่อาจใช้สิทธิคัดค้านได้อีก ขอให้ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ และที่ ๔ เข้าดำเนินการจัดการหนี้ของผู้ร้องตามกระบวนการจัดการหนี้ตามที่กฎหมายกำหนด และให้ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ และที่ ๓ ร่วมกับผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ และที่ ๔ แก้ไขปัญหาหนี้ของผู้ร้อง โดยผู้ร้องขอให้ศาลสั่งระงับการขายทอดตลาดทรัพย์ของผู้ร้องจนกว่าผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ และที่ ๔ จะเข้ามาจัดการหนี้ของผู้ร้องให้แล้วเสร็จ ศาลปกครองสงขลามีคำสั่งกำหนดมาตรการหรือวิธีการคุ้มครองประโยชน์เพื่อบรรเทาทุกข์ชั่วคราวก่อนการพิพากษาให้เจ้าพนักงานบังคับคดี สำนักงานบังคับคดีจังหวัดสงขลาระงับการขายทอดตลาดทรัพย์ในคดีแพ่งของศาลจังหวัดสงขลา หมายเลขแดงที่ ๒๖๘๗/๒๕๔๘ ไว้ก่อน ศาลจังหวัดสงขลามีคำสั่งให้ดำเนินการขายทอดตลาดทรัพย์ต่อไป และปลดเปลื้องความรับผิดให้แก่เจ้าพนักงานบังคับคดี โดยเห็นว่าศาลได้มีคำพิพากษาและหมายตั้งเจ้าพนักงานบังคับคดีชอบแล้ว การที่คู่ความยื่นฟ้องคดีต่อศาลปกครองมิใช่เหตุในการทุเลาการบังคับคดีหรือเหตุในการงดการบังคับคดี ตามที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา ๒๓๑ , ๒๙๒ ผู้ร้องยื่นคำร้องต่อศาลปกครองสงขลา แจ้งเหตุที่ทำให้ไม่อาจได้รับความคุ้มครองชั่วคราวตามคำสั่งของศาลปกครองสงขลา ศาลปกครองสงขลาไต่สวนคำร้องเมื่อวันที่ ๒๕ เมษายน ๒๕๕๐ แล้วเห็นว่า กรณีเป็นปัญหาเกี่ยวกับอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล ตามมาตรา ๑๔ และมาตรา ๑๕ แห่งพระราชบัญญัติว่าด้วยการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล พ.ศ. ๒๕๔๒ ให้ผู้ฟ้องคดีดำเนินการเกี่ยวกับกรณีเป็นปัญหาอำนาจหน้าที่ระหว่างศาลให้ถูกต้อง และมีหนังสือแจ้งเจ้าพนักงานบังคับคดีจังหวัดสงขลาให้ชะลอการขายทอดตลาดไว้ก่อน ผู้ร้องเห็นว่ากรณีดังกล่าวนี้เป็นปัญหาเกี่ยวกับอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล ตามมาตรา ๑๔ และมาตรา ๑๕ แห่งพระราชบัญญัติว่าด้วยการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล พ.ศ. ๒๕๔๒ เนื่องจากเป็นคำสั่งถึงที่สุดระหว่างศาลขัดแย้งกันในคดีที่มีข้อเท็จจริงเป็นเรื่องเดียวกันจนเป็นเหตุให้ผู้ร้องซึ่งเป็นจำเลยคดีแพ่งของศาลจังหวัดสงขลา หมายเลขแดงที่ ๒๖๘๗/๒๕๔๘ ไม่ได้รับการเยียวยาความเดือดร้อนเสียหาย หรือไม่ได้รับความเป็นธรรม หรือไม่ได้รับความคุ้มครองตามคำสั่งของศาลปกครองสงขลา เพราะการที่ศาลจังหวัดสงขลามีคำสั่งให้เจ้าพนักงานบังคับคดีดำเนินการขายทอดตลาดทรัพย์ต่อไป ย่อมนำมาซึ่งความเสียหายต่อผู้ร้อง และเป็นบุคคลที่ได้รับความคุ้มครองในการแก้ไขปัญหาหนี้ของเกษตรกรตามพระราชบัญญัติกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกร พ.ศ. ๒๕๔๒ และฉบับที่ ๒ พ.ศ. ๒๕๔๔ และตามมติคณะรัฐมนตรีเกี่ยวกับการแก้ไขปัญหาหนี้สินของเกษตรกรเมื่อวันที่ ๑๖ มกราคม ๒๕๕๐ โดยขอให้วินิจฉัยเกี่ยวกับการปฏิบัติตามคำสั่งของศาลที่ขัดแย้งกัน พระราชบัญญัติว่าด้วยการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล พ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๑๔ วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า “ถ้ามีคำพิพากษาหรือคำสั่งที่ถึงที่สุดระหว่างศาลขัดแย้งกันในคดีที่มีข้อเท็จจริงเป็นเรื่องเดียวกัน จนเป็นเหตุให้คู่ความไม่ได้รับการเยียวยาความเสียหายหรือไม่ได้รับความเป็นธรรมหรือมีความขัดแย้งในเรื่องฐานะหรือความสามารถของบุคคล คู่ความหรือบุคคล ซึ่งได้รับผลกระทบโดยตรงจากคำพิพากษาหรือคำสั่งดังกล่าว อาจยื่นคำร้องต่อคณะกรรมการเพื่อขอให้วินิจฉัยเกี่ยวกับการปฏิบัติตามคำพิพากษาหรือคำสั่งของศาลดังกล่าวได้ภายในหกสิบวันนับแต่วันที่คำพิพากษาหรือคำสั่งที่ออกภายหลังถึงที่สุด…” และมาตรา ๑๕ บัญญัติว่า “ให้นำบทบัญญัติมาตรา ๑๐ ถึงมาตรา ๑๔ ไปใช้กับวิธีการชั่วคราวก่อนพิพากษา การยื่นคำร้องต่อศาลก่อนการฟ้องคดีตามที่กฎหมายบัญญัติ การสืบพยานหลักฐานไว้ก่อนฟ้องคดี การบังคับคดีตามคำพิพากษาหรือคำสั่งของศาล และการปฏิบัติการตามอำนาจหน้าที่ประการอื่นของศาลโดยอนุโลม” ดังนั้น คดีที่มีคำพิพากษาหรือคำสั่งอันถึงที่สุดระหว่างศาลขัดแย้งกันและจะส่งให้คณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาลพิจารณาวินิจฉัยได้นั้น จะต้องเป็นกรณีที่คำพิพากษาหรือคำสั่งอันถึงที่สุดระหว่างศาลต่างระบบขัดแย้งกัน โดยอาศัยข้อเท็จจริงที่เป็นเรื่องเดียวกัน และศาลทั้งสองศาลนั้นมีคำพิพากษาหรือคำสั่งที่ถึงที่สุดแตกต่างกันจนเป็นเหตุให้คู่ความไม่ได้รับการเยียวยาความเสียหายหรือไม่ได้รับความเป็นธรรม เมื่อข้อเท็จจริงในเรื่องนี้ปรากฏว่า ผู้ร้องได้ยื่นฟ้องคณะกรรมการจัดการหนี้ของเกษตรกร ที่ ๑ อธิบดีกรมส่งเสริมสหกรณ์ ที่ ๒ สหกรณ์การเกษตรสทิงพระ จำกัด ที่ ๓ สำนักจัดการหนี้ของเกษตรกร ที่ ๔ ผู้ถูกฟ้องคดี ต่อศาลปกครองสงขลาเป็นคดีหมายเลขดำที่ ๔๗/๒๕๕๐ อ้างว่าผู้ร้องขึ้นทะเบียนหนี้ต่อผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๔ แต่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ ละเลยไม่ดำเนินการตามกระบวนการจัดการหนี้ของกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกร ทำให้ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๓ บังคับคดีขายทอดตลาด น.ส. ๓ ก. เลขที่ ๑๐๑๕ ตำบลบ่อแดง อำเภอสทิงพระ จังหวัดสงขลา พร้อมสิ่งปลูกสร้างของผู้ร้องที่จำนองไว้กับผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๓ เจ้าหนี้ตามคำพิพากษาของ ศาลจังหวัดสงขลาในคดีหมายเลขแดงที่ ๒๖๘๗/๒๕๔๘ จนศาลปกครองสงขลามีคำสั่งกำหนดมาตรการหรือวิธีการคุ้มครองประโยชน์เพื่อบรรเทาทุกข์ชั่วคราวก่อนการพิพากษาให้เจ้าพนักงานบังคับคดีระงับการขายทอดตลาดทรัพย์ดังกล่าวไว้ก่อน ส่วนศาลจังหวัดสงขลามีคำสั่งให้ขายทอดตลาดทรัพย์นั้นต่อไป ดังนั้นมูลความแห่งคดีที่เป็นเหตุให้ทั้งสองศาลมีคำสั่งดังกล่าวจึงสืบเนื่องมาจากการบังคับคดี ขายทอดตลาดทรัพย์ของผู้ร้องตามคำสั่งของศาลจังหวัดสงขลา จึงเป็นคำสั่งระหว่างศาลในคดีที่มีข้อเท็จจริงเป็นเรื่องเดียวกัน และเป็นคำสั่งที่ถึงที่สุดระหว่างศาลที่ขัดแย้งกันจนเป็นเหตุให้คู่ความไม่ได้ รับการเยียวยาความเสียหายหรือไม่ได้รับความเป็นธรรม ตามมาตรา ๑๔ และมาตรา ๑๕ แห่งพระราชบัญญัติว่าด้วยการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล พ.ศ. ๒๕๔๒ ชอบที่ผู้ร้องจะยื่นคำร้องเพื่อให้คณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาลพิจารณาวินิจฉัย แต่เมื่อต่อมาข้อเท็จจริงปรากฏว่า ศาลปกครองสงขลาได้มีคำสั่งไม่รับคำฟ้องคดีหมายเลขดำที่ ๔๗/๒๕๕๐ ไว้พิจารณา และให้จำหน่ายคดีออกจากสารบบความ และให้คำสั่งคุ้มครองชั่วคราวที่ให้ระงับการขายทอดตลาดที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างพิพาทเป็นอันสิ้นผลแล้ว กรณีจึงถือได้ว่าไม่มีคำสั่งของศาลปกครองสงขลาให้ขัดแย้งกับคำสั่งของศาลจังหวัดสงขลาอีกต่อไป ดังนั้นคำร้องเรื่องนี้จึงไม่เป็นประโยชน์ที่คณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาลจะพิจารณาอีกต่อไป
จึงมีคำสั่งว่า คำร้องของนางชิต คงพันธุ์ โดยนายพิชญธร รอดบำรุง ผู้รับมอบอำนาจยื่นฟ้องคดีปกครองและดำเนินคดีปกครอง ตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล พ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๑๔ และมาตรา ๑๕ ไม่เป็นประโยชน์แก่การพิจารณา อาศัยข้อบังคับคณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล ว่าด้วยวิธีการเสนอเรื่อง การพิจารณาและวินิจฉัย พ.ศ. ๒๕๔๔ ข้อ ๒๙ (๓) ให้จำหน่ายเรื่องออกจากสารบบความ
(ลงชื่อ) ปัญญา ถนอมรอด (ลงชื่อ) สุวัฒน์ วรรธนะหทัย
(นายปัญญา ถนอมรอด) (นายสุวัฒน์ วรรธนะหทัย)
ประธานศาลฎีกา กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลยุติธรรม
(ลงชื่อ) อักขราทร จุฬารัตน (ลงชื่อ) อัครวิทย์ สุมาวงศ์
(นายอักขราทร จุฬารัตน) (นายอัครวิทย์ สุมาวงศ์)
ประธานศาลปกครองสูงสุด กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลปกครอง
(ลงชื่อ) พลโท สายัณห์ อรรถเกษม (ลงชื่อ) พลโท อาชวัน อินทรเกสร
(สายัณห์ อรรถเกษม) (อาชวัน อินทรเกสร)
หัวหน้าสำนักตุลาการทหาร กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลทหาร
(ลงชื่อ) พรชัย รัศมีแพทย์
(นายพรชัย รัศมีแพทย์)
กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ
คมศิลล์ คัด/ทาน
??
??
??
??
๖