คำวินิจฉัยที่ 29/2550

แหล่งที่มา : ส่วนเลขานุการคณะกรรมการวินิจฉัยฯ

ย่อสั้น

ไม่มีย่อสั้น

ย่อยาว

(สำเนา)

คำวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล คณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล
ที่ ๒๙/๒๕๕๐

วันที่ ๒๘ พฤศจิกายน ๒๕๕๐

เรื่อง เขตอำนาจศาลเกี่ยวกับพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๓)

ศาลปกครองกลาง
ระหว่าง
ศาลจังหวัดเพชรบุรี

การส่งเรื่องต่อคณะกรรมการ
ศาลปกครองกลางโดยสำนักงานศาลปกครองส่งเรื่องให้คณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาลพิจารณาวินิจฉัยชี้ขาดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล พ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๑๒ วรรคสอง ซึ่งเป็นกรณีที่ศาลหนึ่งไม่รับฟ้อง เพราะเห็นว่าคดีอยู่ในอำนาจของอีกศาลหนึ่ง เมื่อมีการฟ้องคดีต่ออีกศาลหนึ่งแล้ว ศาลดังกล่าวเห็นว่าคดีนั้นไม่อยู่ในเขตอำนาจเช่นกัน

ข้อเท็จจริงในคดี
เมื่อวันที่ ๒๑ พฤษภาคม ๒๕๕๐ บริษัทสินมั่นคงประกันภัย จำกัด (มหาชน) ผู้ฟ้องคดี ยื่นฟ้อง กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง ผู้ถูกฟ้องคดี ต่อศาลปกครองกลาง เป็นคดีหมายเลขดำที่ ๑๐๒๒/๒๕๕๐ ความว่า ผู้ฟ้องคดีเป็นผู้รับประกันภัยรถยนต์คันหมายเลขทะเบียน กจ ๕๕๘๑ นครราชสีมา ไว้จากนางศตนันท์ รุ่งเรือง ผู้เอาประกันภัย มีอายุสัญญา ๑ ปี เริ่มคุ้มครองตั้งแต่วันที่ ๒

กุมภาพันธ์ ๒๕๔๘ สิ้นสุดวันที่ ๒ กุมภาพันธ์ ๒๕๔๙ เมื่อวันที่ ๑๑ พฤศจิกายน ๒๕๔๘ นายรุ่งนิรันดร์ รุ่งเรือง ขับรถยนต์คันที่ผู้ฟ้องคดีรับประกันภัยไว้ไปตามถนนเพชรบุรี – หาดเจ้าสำราญ มุ่งหน้าสู่ชายทะเลหาดเจ้าสำราญ โดยมีนางศตนันท์ นายสมควร รุ่งเรืองและนางกรองแก้ว ชุนประเสริฐนั่งโดยสารไปด้วย ครั้นถึงบริเวณสี่แยกหาดเจ้าสำราญรถยนต์คันดังกล่าวถูกรถยนต์คันหมายเลขทะเบียน ศช ๔๖๔๐ กรุงเทพมหานคร ซึ่งมีนายนพรัตน์ กายเพชร ลูกจ้างผู้กระทำการตามคำสั่งของผู้ถูกฟ้องคดี เป็นผู้ขับโดยขับด้วยความเร็วสูงประมาทปราศจากความระมัดระวัง ฝ่าฝืนสัญญาณไฟจราจรสีแดงแล่นเข้าสู่สี่แยกหาดเจ้าสำราญตัดหน้ารถยนต์คันที่ผู้ฟ้องคดีรับประกันภัยไว้อย่างกะทันหัน เป็นเหตุให้รถทั้งสองคันเฉี่ยวชนกัน ทำให้นายสมควรและนางศตนันท์ได้รับบาดเจ็บต้องเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาล ผู้ฟ้องคดีในฐานะผู้รับประกันภัยตามพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ พ.ศ. ๒๕๓๕ ได้จ่ายค่ารักษาพยาบาลแทนนายสมควรและนางศตนันท์ เป็นเงินคนละ ๑๕,๐๐๐ บาท รวมเป็นเงิน ๓๐,๐๐๐ บาท ผู้ฟ้องคดีจึงเป็นผู้รับช่วงสิทธิของผู้เอาประกันภัยตามกฎหมาย ผู้ฟ้องคดีได้ติดตามทวงถามให้ผู้ถูกฟ้องคดีในฐานะผู้ครอบครองรถยนต์คันหมายเลขทะเบียน ศช ๔๖๔๐ กรุงเทพมหานคร และเป็นนายจ้าง ตัวการหรือเป็นผู้ออกคำสั่งให้นายนพรัตน์ขับรถคันดังกล่าวไปยังที่เกิดเหตุชดใช้ค่าเสียหายแก่ผู้ฟ้องคดีแล้วแต่ผู้ถูกฟ้องคดีเพิกเฉย ขอให้ผู้ถูกฟ้องคดีชดใช้ค่าเสียหายพร้อมดอกเบี้ยแก่ผู้ฟ้องคดี
อนึ่ง ก่อนฟ้องคดีนี้ ผู้ฟ้องคดีเคยเป็นโจทก์ยื่นฟ้องนายนพรัตน์ กายเพชร ที่ ๑ กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง ที่ ๒ (ผู้ถูกฟ้องคดี) จำเลย ต่อศาลจังหวัดเพชรบุรี เป็นคดีแพ่ง หมายเลขดำที่ ๒๒๖๐/๒๕๔๙ ระหว่างพิจารณาโจทก์ (ผู้ฟ้องคดี) ยื่นคำร้องขอถอนฟ้องจำเลยที่ ๑ เนื่องจากจำเลยที่ ๑ ปฏิบัติตามคำสั่งที่ได้รับมอบหมายจากจำเลยที่ ๒ (ผู้ถูกฟ้องคดี) ต่อมาศาลจังหวัดเพชรบุรีมีคำสั่งอนุญาตให้ถอนฟ้องจำเลยที่ ๑ มีคำสั่งไม่รับฟ้องและให้จำหน่ายคดีจำเลยที่ ๒ (ผู้ถูกฟ้องคดี) ออกจากสารบบความ
ศาลจังหวัดเพชรบุรีเห็นว่า ข้อเท็จจริงตามฟ้องของโจทก์ (ผู้ฟ้องคดี) ต้องด้วยมาตรา ๕ ประกอบมาตรา ๑๑ แห่งพระราชบัญญัติความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ. ๒๕๓๙ ที่โจทก์ (ผู้ฟ้องคดี) อาจยื่นคำขอต่อจำเลยที่ ๒ (ผู้ถูกฟ้องคดี) ซึ่งเป็นหน่วยงานของรัฐให้พิจารณาชดใช้ค่าสินไหมทดแทนสำหรับความเสียหายที่เกิดขึ้นแก่ตนได้ การที่โจทก์ (ผู้ฟ้องคดี) ยื่นฟ้องต่อศาลอาจข้ามขั้นตอนและเป็นปัญหาเกี่ยวด้วยอำนาจของศาลปกครอง จึงมีคำสั่งไม่รับฟ้องและให้จำหน่ายคดีจำเลยที่ ๒ (ผู้ถูกฟ้องคดี) ออกจากสารบบความ
ศาลปกครองกลางเห็นว่า คดีนี้ผู้ฟ้องคดีอ้างว่าสาเหตุที่ทำให้รถคันหมายเลขทะเบียน กจ ๕๕๘๑ นครราชสีมา เฉี่ยวชนกับรถคันหมายเลขทะเบียน ศช ๔๖๔๐ กรุงเทพมหานคร จนทำให้นายสมควรและนางศตนันท์ที่โดยสารมาในรถยนต์คันที่ผู้ฟ้องคดีรับประกันภัยไว้ได้รับบาดเจ็บเสียค่ารักษาพยาบาลไปรวม ๓๐,๐๐๐ บาท นั้น เกิดจากการละเมิดซึ่งได้กระทำในการปฏิบัติหน้าที่ของนายนพรัตน์ลูกจ้างของผู้ถูกฟ้องคดีที่ขับรถไปตามคำสั่งของผู้ถูกฟ้องคดีด้วยความประมาทปราศจากความระมัดระวัง โดยขับรถคันดังกล่าวไปด้วยความเร็วสูงฝ่าฝืนสัญญาณไฟจราจรสีแดงจนเกิดการเฉี่ยวชนกันขึ้น ซึ่งจะเห็นได้ว่า แม้จะเป็นการปฏิบัติหน้าที่ในฐานะเจ้าหน้าที่และตามคำสั่งของผู้ถูกฟ้องคดีซึ่งเป็นหน่วยงานของรัฐก็ตาม แต่สาเหตุที่รถทั้งสองคันเฉี่ยวชนกันเกิดจากความประมาทของนายนพรัตน์ หาใช่เกิดจากการใช้อำนาจตามกฎหมายของนายนพรัตน์ หรือของผู้ถูกฟ้องคดีไม่ และแม้ผลแห่งละเมิดที่นายนพรัตน์เจ้าหน้าที่ของผู้ถูกฟ้องคดีได้ก่อขึ้นจากการปฏิบัติหน้าที่ดังกล่าว จะทำให้ผู้ฟ้องคดีในฐานะผู้รับช่วงสิทธิเป็นผู้เสียหายสามารถยื่นคำขอต่อผู้ถูกฟ้องคดีซึ่งเป็นหน่วยงานของรัฐเพื่อให้พิจารณาชดใช้ค่าสินไหมทดแทนได้ตามมาตรา ๑๑ วรรคหนึ่ง แห่งพระราชบัญญัติความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ. ๒๕๓๙ ก็ตาม แต่บทบัญญัติดังกล่าวเป็นเพียงกำหนดทางเลือกแก่ผู้เสียหายว่าจะยังไม่ใช้สิทธิยื่นฟ้องคดีต่อศาล โดยจะใช้วิธียื่นคำขอต่อหน่วยงานของรัฐเพื่อให้พิจารณาชดใช้ค่าสินไหมทดแทนสำหรับความเสียหายที่เกิดแก่ตนก่อนก็ได้เท่านั้น หาใช่เป็นบทบังคับเด็ดขาดให้ต้องปฏิบัติตามวิธีการดังกล่าวก่อน แต่อย่างใดไม่ และถึงแม้ว่าผู้เสียหายจะเลือกดำเนินการตามวิถีทางที่บัญญัติไว้ตามมาตรา ๑๑ วรรคหนึ่ง ก่อนแล้ว แต่ต่อมาผู้เสียหายยังไม่พอใจในผลการวินิจฉัยของหน่วยงานของรัฐไม่ว่าด้วยเหตุใดๆ และผู้เสียหายได้ใช้สิทธิยื่นฟ้องคดีต่อศาลเพื่อให้หน่วยงานของรัฐชดใช้ค่าสินไหมทดแทนในผลแห่งละเมิดแก่ตน ก็ไม่ทำให้คำฟ้องดังกล่าวเป็นคดีละเมิดอันเกิดจากการใช้อำนาจตามกฎหมายของหน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐที่จะอยู่ในเขตอำนาจของศาลปกครองเช่นกัน คดีนี้จึงมิใช่เป็นคดีปกครองที่อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาหรือมีคำสั่งของศาลปกครองตามมาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๓) แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ แต่เป็นคดีแพ่งที่อยู่ในอำนาจของศาลยุติธรรม

คำวินิจฉัย
ปัญหาที่ต้องพิจารณา คดีนี้อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรมหรือศาลปกครอง
คณะกรรมการพิจารณาแล้ว คดีนี้ ผู้ฟ้องคดีฟ้องว่า นายนพรัตน์ลูกจ้างของผู้ถูกฟ้องคดีขับรถยนต์คันหมายเลขทะเบียน ศช ๔๖๔๐ กรุงเทพมหานคร ตามคำสั่งของผู้ถูกฟ้องคดีด้วยความเร็วสูงโดยประมาทปราศจากความระมัดระวัง ฝ่าฝืนสัญญาณไฟจราจรสีแดง ตัดหน้ารถยนต์คันที่ผู้ฟ้องคดี รับประกันภัยไว้อย่างกะทันหัน เป็นเหตุให้รถทั้งสองคันเฉี่ยวชนกัน ทำให้นายสมควรและนางศตนันท์ ซึ่งนั่งโดยสารมาในรถยนต์คันที่ผู้ฟ้องคดีรับประกันภัยไว้ได้รับบาดเจ็บต้องเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาล ผู้ฟ้องคดีในฐานะผู้รับประกันภัย ตามพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ พ.ศ. ๒๕๓๕ ได้จ่ายค่ารักษาพยาบาลแทนบุคคลทั้งสองรวมเป็นเงิน ๓๐,๐๐๐ บาท จึงเป็นผู้รับช่วงสิทธิของผู้เอาประกันภัยตามกฎหมาย ขอให้ผู้ถูกฟ้องคดีชดใช้ค่าเสียหายดังกล่าวพร้อมดอกเบี้ย
ผู้ถูกฟ้องคดีเป็นส่วนราชการมีฐานะเป็นกรมจึงเป็นหน่วยงานของรัฐตามคำนิยามในมาตรา ๔ แห่งพระราชบัญญัติความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ. ๒๕๓๙ และเป็นหน่วยงานทางปกครองตามคำนิยามในมาตรา ๓ แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ ผู้ฟ้องคดีฟ้องว่าลูกจ้างของผู้ถูกฟ้องคดีกระทำละเมิดในการปฏิบัติหน้าที่ อันเป็นกรณีตามมาตรา ๕ แห่งพระราชบัญญัติความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ. ๒๕๓๙ ที่กำหนดให้หน่วยงานของรัฐต้องรับผิดต่อผู้เสียหายในผลแห่งการละเมิดที่เจ้าหน้าที่ของตนได้กระทำไปในการปฏิบัติหน้าที่ แต่คดีที่ฟ้องเจ้าหน้าที่หรือหน่วยงานของรัฐให้ต้องรับผิดทางละเมิดอาจอยู่ในอำนาจของศาลยุติธรรมหรือศาลปกครองก็ได้ กรณีจำต้องพิจารณาอำนาจของศาลปกครองในการพิจารณาคดีเป็นสำคัญ ซึ่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๓) บัญญัติให้ศาลปกครองมีอำนาจพิจารณาพิพากษาหรือมีคำสั่งในคดีพิพาทเกี่ยวกับการกระทำละเมิดหรือความรับผิดอย่างอื่นของหน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐอันเกิดจากการใช้อำนาจตามกฎหมายหรือจากกฎ คำสั่งทางปกครองหรือคำสั่งอื่น หรือจากการละเลยต่อหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนดให้ต้องปฏิบัติหรือปฏิบัติหน้าที่ดังกล่าวล่าช้าเกินสมควร แต่ไม่รวมถึงการกระทำละเมิดที่เกิดจากการปฏิบัติหน้าที่ธรรมดาทั่วไปของเจ้าหน้าที่ เมื่อการขับรถยนต์ของลูกจ้างผู้ถูกฟ้องคดีและเกิดการเฉี่ยวชนกับรถยนต์คันอื่นอันเป็นเหตุแห่งการฟ้องคดีนี้ เป็นการกระทำละเมิดอันเป็นการปฏิบัติหน้าที่ธรรมดาทั่วไป ซึ่งโดยลักษณะมิใช่เกิดจากการใช้อำนาจตามกฎหมายหรือจากกฎ คำสั่งทางปกครองหรือคำสั่งอื่น หรือจากการละเลยต่อหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนดให้ต้องปฏิบัติหรือปฏิบัติหน้าที่ดังกล่าวล่าช้าเกินสมควร ดังนั้น คดีพิพาท จึงมิใช่กรณีการกระทำละเมิดของหน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐอันเกิดจากการใช้อำนาจตามกฎหมายฯ ที่จะอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครองตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๓) แม้มาตรา ๑๑ แห่งพระราชบัญญัติความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ. ๒๕๓๙ กำหนดให้ผู้เสียหายที่ยังไม่พอใจในผลการวินิจฉัยของหน่วยงานของรัฐให้มีสิทธิร้องทุกข์ต่อคณะกรรมการวินิจฉัยร้องทุกข์ตามกฎหมายว่าด้วยคณะกรรมการกฤษฎีกา โดยมาตรา ๑๔ แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าวให้ไปฟ้องยังศาลปกครองก็ตาม แต่พระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๑๐๖ บัญญัติให้สิทธิร้องทุกข์ ต่อคณะกรรมการวินิจฉัยร้องทุกข์ตามมาตรา ๑๑ แห่งพระราชบัญญัติความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ. ๒๕๓๙ ในคดีที่ไม่อยู่ในอำนาจของศาลปกครองให้ถือว่าเป็นสิทธิฟ้องคดีต่อศาลยุติธรรม คดีนี้จึงอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม
จึงวินิจฉัยชี้ขาดว่า คดีระหว่าง บริษัทสินมั่นคงประกันภัย จำกัด (มหาชน) ผู้ฟ้องคดี กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง ผู้ถูกฟ้องคดี อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม

(ลงชื่อ) วิรัช ลิ้มวิชัย (ลงชื่อ) สุวัฒน์ วรรธนะหทัย
(นายวิรัช ลิ้มวิชัย) (นายสุวัฒน์ วรรธนะหทัย)
ประธานศาลฎีกา กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลยุติธรรม

(ลงชื่อ) อักขราทร จุฬารัตน (ลงชื่อ) อัครวิทย์ สุมาวงศ์
(นายอักขราทร จุฬารัตน) (นายอัครวิทย์ สุมาวงศ์)
ประธานศาลปกครองสูงสุด กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลปกครอง

(ลงชื่อ) พลโท ดิเรกพล วัฒนะโชติ (ลงชื่อ) พลโท อาชวัน อินทรเกสร
(ดิเรกพล วัฒนะโชติ) (อาชวัน อินทรเกสร)
หัวหน้าสำนักตุลาการทหาร กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลทหาร

(ลงชื่อ) พรชัย รัศมีแพทย์
(นายพรชัย รัศมีแพทย์)
กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ
??

??

??

??

Share