คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2615/2543

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

คดีโจทก์ฟ้องขอให้จำเลยล้มละลาย มีประเด็นว่าจำเลยมีหนี้สินล้นพ้นตัวไม่อาจชำระหนี้โจทก์ได้ทั้งหมดหรือไม่ ส่วนคดีนี้โจทก์อ้างว่าจำเลยทำสัญญาแต่งตั้งหรือมอบอำนาจให้โจทก์เป็นตัวแทนซื้อขายหลักทรัพย์ โจทก์ออกเงินทดรองชำระค่าหลักทรัพย์ที่จำเลยสั่งซื้อ แต่จำเลยไม่ชำระเงินคืนโจทก์ มีประเด็นว่า จำเลยต้องชำระหนี้แก่โจทก์หรือไม่ แม้พยานหลักฐานของโจทก์ทั้งสองคดีเป็นชุดเดียวกัน แต่ก็เป็นคนละประเด็น และการวินิจฉัยของศาลทั้งสองคดีไม่ได้อาศัยเหตุอย่างเดียวกัน คดีนี้จึงไม่เป็นฟ้องซ้อน และเป็นกรณีที่ตัวแทนเรียกเอาเงินที่ได้ออกทดรองไปชดใช้จาก ตัวการในกิจการอันตัวการมอบหมายแก่ตน ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 816 วรรคหนึ่ง ซึ่งไม่มีกฎหมายบัญญัติเรื่องอายุความไว้โดยเฉพาะ จึงมีกำหนดอายุความ 10 ปีตาม ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/30

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า เมื่อวันที่ 25 มิถุนายน 2533 จำเลยทำสัญญาแต่งตั้งหรือมอบอำนาจให้โจทก์เป็นตัวแทนซื้อขายหลักทรัพย์ในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยและให้มีอำนาจกระทำการใด ๆ แทนจำเลยได้ทุกอย่าง เมื่อโจทก์จัดการซื้อหลักทรัพย์ให้แก่จำเลยตามชื่อ จำนวนและราคาตามคำสั่งของจำเลยได้ครบจำนวนหรือแต่บางส่วนแล้ว จำเลยสัญญาว่าจะชำระค่าหลักทรัพย์ที่สั่งซื้อพร้อมค่าธรรมเนียมหรือค่านายหน้าให้แก่โจทก์ภายในกำหนด 3 วัน นับจากวันสั่งซื้อ หลังจากจำเลยแต่งตั้งหรือมอบอำนาจให้โจทก์เป็นตัวแทน จำเลยสั่งให้โจทก์ซื้อและขายหลักทรัพย์ประเภทหุ้นในตลาดหลักทรัพย์หลายครั้ง จนกระทั่งเมื่อวันที่ 10 พฤศจิกายน2535 จำเลยสั่งให้โจทก์ซื้อหุ้นของบริษัทเงินทุนหลักทรัพย์ไอทีเอฟจำกัด 14 รายการ รวม 504,000 หุ้น เป็นเงิน 30,561,145.50 บาทจำเลยต้องชำระค่าธรรมเนียมหรือค่านายหน้าให้แก่โจทก์อัตราร้อยละ0.5 เป็นเงิน 152,045.50 บาท และต้องชำระเงินค่าหุ้นที่สั่งซื้อทั้งหมดพร้อมค่าธรรมเนียมภายในกำหนด 3 วัน นับจากวันสั่งซื้อหรือภายในวันที่ 13 พฤศจิกายน 2535 เป็นเงินทั้งสิ้น 30,561,145.50 บาทจำเลยได้ออกเช็คธนาคารเอเชีย จำกัด สาขาอัมรินทร์พลาซ่า ลงวันที่ 13 พฤศจิกายน 2535 สั่งจ่ายเงิน 30,561,145.50 บาท ชำระค่าหุ้นและค่านายหน้าให้แก่โจทก์ เมื่อเช็คถึงกำหนดชำระ โจทก์เรียกเก็บเงินตามเช็ค แต่ธนาคารตามเช็คปฏิเสธการจ่ายเงิน จำเลยจึงเป็นผู้ผิดสัญญาโจทก์ได้ออกเงินทดรองชำระค่าหุ้นที่จำเลยสั่งซื้อจำเลยต้องรับผิดชำระเงินทดรองที่โจทก์ชำระค่าหุ้นกับค่านายหน้าพร้อมดอกเบี้ยตามสัญญาคืนให้แก่โจทก์จนครบถ้วน แต่จำเลยไม่ยอมชำระ ต่อมาวันที่ 13 พฤศจิกายน 2535 จำเลยสั่งให้โจทก์ขายหุ้นของบริษัทเงินทุนหลักทรัพย์ไอทีเอฟ จำกัด 120,000 หุ้น ราคาหุ้นละ 53.50 บาท จำเลยจะได้รับเงินค่าขายหุ้นสุทธิวันที่ 18 พฤศจิกายน 2535 เป็นเงิน 6,387,900บาท แต่จำเลยยังไม่ได้รับเงินจากโจทก์ หลังจากที่จำเลยสั่งขายหุ้นดังกล่าว จำเลยยังคงเป็นหนี้ค้างชำระค่าหุ้นและค่านายหน้าโจทก์แต่จำเลยไม่ชำระ โจทก์จึงใช้สิทธิตามข้อตกลงในสัญญานำหุ้นของบริษัทเงินทุนหลักทรัพย์ไอทีเอฟ จำกัด ของจำเลยส่วนที่ยังเหลืออยู่ 384,000 หุ้น ออกขายในตลาดหลักทรัพย์อีก 3 ครั้งรวมค่าขายหุ้นที่จำเลยสั่งให้ขายและที่โจทก์นำออกขายทั้งสี่ครั้งเป็นเงินทั้งสิ้น 22,676,323.62 บาท นอกจากนี้จำเลยมีสิทธิได้รับเงินค่าขายหุ้นของบริษัทเงินทุนหลักทรัพย์นวธนกิจ จำกัด อีก 2,896,769.10 บาท ซึ่งยังไม่ได้รับไปจากโจทก์ โจทก์จึงนำเงินที่ได้รับจากการขายหุ้นของจำเลยทั้งหมดหักชำระหนี้ค่าซื้อหุ้นและค่าธรรมเนียมที่จำเลยเป็นหนี้โจทก์ จำเลยยังคงค้างชำระโจทก์อีก 4,988,053 บาท โจทก์ติดตามทวงถามจากจำเลย แต่จำเลยเพิกเฉย ทำให้โจทก์ได้รับความเสียหาย จำเลยต้องรับผิดชำระค่าซื้อหุ้นและค่านายหน้าส่วนที่เหลือแก่โจทก์อีก 4,988,053 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 21 ต่อปี นับแต่วันที่ผิดนัดชำระคือวันที่ 13 พฤศจิกายน 2535 ถึงวันฟ้องเป็นดอกเบี้ย 2,097,852.10 บาท รวมต้นเงินและดอกเบี้ยเป็นเงิน 7,085,905.10 บาท ขอให้บังคับจำเลยชำระเงิน 7,085,905 บาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 21 ต่อปี ของต้นเงิน 4,988,053 บาท นับถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์

จำเลยให้การว่า ฟ้องโจทก์ในคดีนี้เป็นฟ้องซ้อนกับคดีหมายเลขดำที่ ล. 164/2536 ซึ่งอยู่ในระหว่างการพิจารณาของศาลแพ่งกรุงเทพใต้ โดยโจทก์และจำเลยเป็นคู่ความรายเดียวกันมูลหนี้ที่พิพาทเป็นเรื่องเดียวกัน พยานหลักฐานชุดเดียวกัน เมื่อโจทก์นำมูลหนี้เดิมมาฟ้องเป็นคดีนี้ จึงต้องห้ามตามกฎหมาย สัญญาแต่งตั้งหรือมอบอำนาจให้โจทก์เป็นตัวแทนซื้อขายหลักทรัพย์จำกัดความรับผิดชอบในวงเงินที่สั่งซื้อไม่เกิน 500,000 บาท ตามข้อตกลงระหว่างโจทก์กับจำเลย หากจำเลยสั่งซื้อหุ้นจำเลยต้องออกเช็คเป็นเงินสดให้แก่โจทก์โดยโจทก์จะเรียกเก็บเงินตามเช็คภายในกำหนด 3 วัน เมื่อเรียกเก็บเงินได้ภายในกำหนดจึงจะถือว่ามีการซื้อหุ้นกัน ระหว่างที่มีการสั่งซื้อหุ้นจำเลยสั่งซื้อไม่เกินวงเงิน 500,000 บาท เมื่อวันที่ 10 พฤศจิกายน 2535 จำเลยไปที่สำนักงานโจทก์เพื่อติดตามตลาดหุ้น เจ้าหน้าที่โจทก์ชักชวนให้จำเลยซื้อหุ้นของบริษัทเงินทุนหลักทรัพย์ไอทีเอฟ จำกัดจำเลยไม่สนใจและไม่ต้องการซื้อ เจ้าหน้าที่โจทก์ขอยืมบัญชีของจำเลยโดยโจทก์จะซื้อขายหุ้นเอง แต่ซื้อขายในนามของจำเลยและให้จำเลยออกเช็คสั่งจ่ายเงินสดแทนโดยจำเลยจะได้ส่วนแบ่งกำไรร้อยละ 20 จำเลยตกลงจึงได้ออกเช็คสั่งจ่ายเงิน 30,561,145.50 บาท ให้แก่เจ้าหน้าที่โจทก์ต่อมามีการจับผู้ปั่นราคาหุ้น ทำให้ราคาหุ้นตกลงมาก โจทก์จึงขายหุ้นของบริษัทเงินทุนหลักทรัพย์ไอทีเอฟ จำกัด และให้จำเลยลงชื่อเป็นผู้ขายหุ้น ทั้งที่หุ้นดังกล่าวไม่ใช่เป็นของจำเลย วันที่ 13 พฤศจิกายน 2535 โจทก์ขายหุ้นของบริษัทเงินทุนหลักทรัพย์ไอทีเอฟ จำกัด บางส่วนก่อนเช็คที่จำเลยออกให้แก่โจทก์ถึงกำหนดหลังจากธนาคารปฏิเสธการจ่ายเงินตามเช็คโจทก์ขายหุ้นดังกล่าวอีก การขายหุ้นทั้งก่อนและหลังเช็คของจำเลยถูกปฏิเสธการจ่ายเงินไม่ได้รับความยินยอมจากจำเลย แสดงว่าโจทก์รู้อยู่แล้วว่า เช็คที่จำเลยออกให้แก่โจทก์ไม่มีมูลหนี้ โจทก์ไม่มีสิทธินำเงินของจำเลยที่ได้จากการขายหุ้นของบริษัทเงินทุนหลักทรัพย์นวกิจ จำกัด 2,890,000 บาท ไปหักชำระหนี้กับมูลหนี้ที่โจทก์ฟ้อง เพราะไม่เกี่ยวกับความรับผิดตามสัญญาแต่งตั้งหรือมอบอำนาจให้โจทก์เป็นตัวแทนซื้อขายหลักทรัพย์ ที่โจทก์อ้างว่าได้ออกเงินทดรองชำระค่าหุ้นแทนจำเลยตามจำนวนในเช็คนั้น ก็ไม่ปรากฏหลักฐานว่า โจทก์ได้ชำระเงินให้แก่บริษัทเงินทุนหลักทรัพย์ตะวันออกฟายแน้นซ์ (1991) จำกัด และบริษัทเงินทุนหลักทรัพย์ร่วมเสริมกิจ จำกัด กับไม่มีเอกสารยืนยันว่าโจทก์ได้ซื้อหุ้นจำนวนดังกล่าวในนามของจำเลยตามสัญญาแต่งตั้งหรือมอบอำนาจให้โจทก์เป็นตัวแทนซื้อขายหลักทรัพย์ โจทก์ออกเงินทดรองชำระค่าหุ้นได้เพียง 500,000 บาท หากเกินจำนวนดังกล่าวจำเลยต้องนำหลักทรัพย์มาค้ำประกันหรือทำสัญญากู้ยืมเงินจากโจทก์ แต่โจทก์ไม่เคยให้จำเลยทำสัญญากู้ยืมเงิน หรือนำหลักทรัพย์มาค้ำประกัน โจทก์เป็นสถาบันการเงิน ย่อมมีความรอบคอบในธุรกิจการเงิน คงไม่ปล่อยให้จำเลยออกเช็คลงวันที่ล่วงหน้าให้แก่โจทก์แต่อย่างเดียวโดยไม่มีหลักทรัพย์ค้ำประกันนอกเสียจากจำเลยตกลงให้โจทก์ขอยืมบัญชีของจำเลยเพื่อโจทก์จะซื้อขายหุ้นเอง ระหว่างโจทก์กับจำเลยจึงไม่มีมูลหนี้ตามเช็คดังกล่าวต่อกัน และไม่ใช่มูลหนี้ตามสัญญาแต่งตั้งหรือมอบอำนาจให้โจทก์เป็นตัวแทนซื้อขายหลักทรัพย์ โจทก์ฟ้องเรียกเงินที่โจทก์ได้ออกทดรองชำระค่าหุ้นจึงต้องใช้สิทธิเรียกร้องภายในกำหนด 2 ปี นับแต่วันที่ 13 พฤศจิกายน 2535 ซึ่งเป็นวันที่โจทก์ออกเงินทดรองชำระค่าหุ้นเมื่อคิดถึงวันฟ้องพ้นกำหนด 2 ปี สิทธิเรียกร้องของโจทก์ขาดอายุความ ขอให้ยกฟ้อง

ศาลชั้นต้นพิพากษา ให้จำเลยชำระเงิน 4,988,053 บาทพร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 21 ต่อปี นับตั้งแต่วันที่ 13 พฤศจิกายน 2535 จนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์

จำเลยอุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน

จำเลยฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “พิเคราะห์แล้ว มีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลย ข้อแรกว่าฟ้องโจทก์คดีนี้เป็นฟ้องซ้อนกับคดีหมายเลขดำที่ ล.164/2536 ของศาลแพ่งกรุงเทพใต้หรือไม่ เห็นว่า ในคดีหมายเลขดำที่ ล.164/2536 ของศาลแพ่งกรุงเทพใต้ ที่จำเลยฎีกาว่า โจทก์ได้ฟ้องจำเลยนั้น เป็นเรื่องโจทก์ฟ้องขอให้จำเลยล้มละลาย มีประเด็นข้อใหญ่อยู่ที่ว่า จำเลยมีหนี้สินล้นพ้นตัว และไม่อาจชำระหนี้โจทก์ได้ทั้งหมดหรือไม่ ส่วนในคดีแพ่งที่โจทก์ฟ้องนี้ เป็นเรื่องโจทก์อ้างว่าจำเลยทำสัญญาแต่งตั้งหรือมอบอำนาจให้โจทก์เป็นตัวแทนซื้อขายหลักทรัพย์ในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย โจทก์ได้ออกเงินทดรองชำระค่าหลักทรัพย์ที่จำเลยสั่งซื้อ แต่จำเลยผิดนัดไม่ชำระเงินคืนโจทก์ มูลหนี้จึงเกิดจากจำเลยผิดสัญญา และมีประเด็นข้อพิพาทว่าจำเลยจะต้องชำระหนี้แก่โจทก์หรือไม่ แม้พยานหลักฐานของโจทก์ในคดีนี้จะเป็นพยานหลักฐานชุดเดียวกันกับคดีที่โจทก์ฟ้องขอให้จำเลยล้มละลายดังที่จำเลยฎีกาก็ตามแต่ก็เป็นคนละเรื่องคนละประเด็นกัน และการวินิจฉัยของศาลในเรื่องทั้งสองดังกล่าวก็ไม่ได้อาศัยเหตุอย่างเดียวกัน ฟ้องโจทก์คดีนี้จึงไม่เป็นฟ้องซ้อนกับคดีหมายเลขดำที่ ล. 164/2536 ของศาลแพ่งกรุงเทพใต้

มีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยในข้อต่อไปว่า ฟ้องโจทก์ขาดอายุความหรือไม่ จำเลยฎีกาว่า สิทธิเรียกร้องของโจทก์มีกำหนดอายุความ 2 ปี ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/34(7) โจทก์มิได้ฟ้องภายในกำหนดอายุความดังกล่าว ฟ้องโจทก์จึงขาดอายุความนั้น เห็นว่า คดีนี้เป็นเรื่องจำเลยแต่งตั้งหรือมอบอำนาจให้โจทก์เป็นตัวแทนซื้อขายหลักทรัพย์ในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย และโจทก์ฟ้องเรียกเอาเงินค่าหุ้นและค่านายหน้าที่โจทก์ได้ออกทดรองแทนจำเลยไป จึงเป็นกรณีที่ตัวแทนเรียกเอาเงินที่ได้ออกทดรองไปชดใช้จากตัวการในกิจการอันตัวการมอบหมายแก่ตนตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 816 วรรคหนึ่ง ซึ่งไม่มีกฎหมายบัญญัติเรื่องอายุความไว้โดยเฉพาะ จึงมีกำหนดอายุความ 10 ปีตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/30 หาใช่มีกำหนดอายุความ 2 ปีตามที่จำเลยฎีกาไม่ ฟ้องโจทก์จึงไม่ขาดอายุความ”

พิพากษายืน

Share