แหล่งที่มา : ส่วนเลขานุการคณะกรรมการวินิจฉัยฯ
ย่อสั้น
คดีที่โจทก์ทั้งสองเป็นเอกชนยื่นฟ้องเจ้าหน้าที่ของรัฐอ้างว่าเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ดิน แต่ในการรังวัดเพื่อออกโฉนดที่ดินแปลงดังกล่าวเจ้าพนักงานที่ดินได้จดแจ้งที่ดินไว้ไม่ถูกต้องตามความเป็นจริง จึงมีการฟ้องคดีต่อศาลจังหวัดปทุมธานีและศาลมีคำสั่งให้เจ้าพนักงานที่ดินจังหวัดปทุมธานีทำแผนที่พิพาทแบบปูโฉนดที่ดินตามหลักวิชาการตามหลักฐานเดิมของการรังวัดที่ดิน การรังวัดที่ดินของโจทก์ทั้งสองและที่ดินข้างเคียงรวมทั้งที่ดินของนางนิตยากับพวกได้ทำถูกต้องไม่มีแปลงใดแปลงหนึ่งรุกล้ำกัน โจทก์ทั้งสองคัดค้าน จึงขอให้บังคับจำเลยเพิกถอนรายการรังวัดที่ไม่ถูกต้องและให้ชำระค่าเสียหาย จำเลยให้การว่า การรังวัดและการทำรูปแผนที่ที่เกิดจากการนำชี้ถูกต้องตามกฎหมายแล้วไม่สามารถเพิกถอนรายการดังกล่าวได้ การรังวัด มิได้นำชี้รังวัดรุกล้ำแนวที่ดินของโจทก์ทั้งสอง เห็นว่า เมื่อพิจารณาความมุ่งหมายของโจทก์ทั้งสองในการใช้สิทธิทางศาลก็เพื่อขอให้ศาลมีคำพิพากษารับรองคุ้มครองสิทธิในที่ดินที่โจทก์ทั้งสองอ้างว่าตนมีสิทธิเป็นสำคัญ การที่จำเลยจะปฏิบัติตามคำขอของโจทก์ทั้งสองได้จะต้องดำเนินการไปตามข้อเท็จจริงที่รับฟังได้เป็นยุติ ศาลจำต้องพิจารณาให้ได้ความเสียก่อนว่า ที่ดินส่วนที่พิพาทเป็นกรรมสิทธิ์ของโจทก์ตามที่กล่าวอ้างหรือเป็นกรรมสิทธิ์ของนางนิตยากับพวกเป็นสำคัญ แล้วจึงจะพิจารณาประเด็นอื่นได้ต่อไป จึงเป็นคดีเกี่ยวกับสิทธิในที่ดิน อันอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม
ย่อยาว
(สำเนา)
คำวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล คณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล
ที่ ๖๔/๒๕๕๘
วันที่ ๔ กันยายน ๒๕๕๘
เรื่อง คดีเกี่ยวกับสิทธิในที่ดิน
ศาลจังหวัดปทุมธานี
ระหว่าง
ศาลปกครองกลาง
การส่งเรื่องต่อคณะกรรมการ
ศาลจังหวัดปทุมธานีโดยสำนักงานศาลยุติธรรมส่งเรื่องให้คณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาลพิจารณาวินิจฉัยชี้ขาดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล พ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๑๐ วรรคหนึ่ง (๓) ซึ่งเป็นกรณีคู่ความฝ่ายที่ถูกฟ้องคดีโต้แย้งอำนาจศาลที่รับฟ้องคดี และศาลที่ส่งความเห็นและศาลที่รับความเห็นมีความเห็นแตกต่างกันในเรื่องอำนาจศาลในคดีนั้น
ข้อเท็จจริงในคดี
เมื่อวันที่ ๑๑ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๗ นายสุชิน พอใจ ที่ ๑ นายสมชาย พอใจ ที่ ๒ โจทก์ ยื่นฟ้อง เจ้าพนักงานที่ดินจังหวัดปทุมธานี จำเลย ต่อศาลจังหวัดปทุมธานี เป็นคดีแพ่งหมายเลขดำที่ พ.๔๗/๒๕๕๗ หมายเลขแดงที่ ๑๔๗/๒๕๕๗ ความว่า โจทก์ทั้งสองเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ดินโฉนดเลขที่ ๕๕๙๕ เลขที่ดิน ๒๕๔ ตำบลสามโคก อำเภอสามโคก จังหวัดปทุมธานี เนื้อที่ ๑ งาน๒๘ ตารางวา โดยรับโอนมาจากบิดาของโจทก์ทั้งสองเมื่อปี ๒๕๓๙ แต่ในการรังวัดเพื่อออกโฉนดที่ดินแปลงดังกล่าวเมื่อปี ๒๔๙๙ เจ้าพนักงานที่ดินได้จดแจ้งที่ดินไว้ไม่ถูกต้องตามความเป็นจริงเนื่องจากคำนวณผิดพลาด โจทก์ทั้งสองเห็นว่า เนื้อที่ดินของโจทก์ทั้งสองควรมีเนื้อที่ดิน ๒ งาน ๓๐ ตารางวา ต่อมา เมื่อวันที่ ๖ ธันวาคม ๒๕๔๙ นางนิตยา แจ้งประสิทธิ์ กับพวก ยื่นคำขอรังวัดสอบเขตโฉนดที่ดินเลขที่ ๗๐๔๘ โดยนำชี้แนวเขตที่ดินด้านทิศตะวันออกซึ่งติดกับที่ดินของโจทก์ทั้งสองรุกล้ำเข้าไปในที่ดินของโจทก์ทั้งสองด้านทิศตะวันตกประมาณ ๒ เมตร ตลอดแนวที่ดิน โจทก์ทั้งสองคัดค้านการรังวัดดังกล่าว และในปี ๒๕๕๐ โจทก์ทั้งสองได้ยื่นฟ้องนางนิตยา แจ้งประสิทธิ์ กับพวก ต่อศาลจังหวัดปทุมธานี เป็นคดีแพ่งหมายเลขดำที่ ๑๐๖๙/๒๕๕๐ ต่อมาในปี ๒๕๕๒ โจทก์ทั้งสองได้ยื่นคำขอรังวัดสอบเขตโฉนดที่ดินของโจทก์ทั้งสองปรากฏว่าที่ดินของโจทก์ทั้งสองถูกนางนิตยากับพวกรุกล้ำเข้าไป คิดเป็นเนื้อที่ประมาณ ๗ เมตรเศษยาวตลอดแนว คิดเป็นเนื้อที่ ๔๑ เศษ ๖ ส่วน ๑๐ ตารางวา ต่อมา ในปี ๒๕๕๖ โจทก์ทั้งสองยื่นฟ้องนางนิตยา แจ้งประสิทธิ์ กับพวก ต่อศาลจังหวัดปทุมธานี เป็นคดีแพ่งหมายเลขดำที่ ๓/๒๕๕๖ ศาลมีคำสั่งให้เจ้าพนักงานที่ดินจังหวัดปทุมธานีทำแผนที่พิพาทแบบปูโฉนดที่ดินตามหลักวิชาการตามหลักฐานเดิมของการรังวัดที่ดินเพื่อทราบแนวเขตที่ดินพิพาท ปรากฏว่าเจ้าพนักงานที่ดินทำการรังวัดที่ดินของโจทก์ทั้งสองและที่ดินข้างเคียงรวมทั้งที่ดินของนางนิตยากับพวก ได้อย่างถูกต้องไม่มีแปลงใดแปลงหนึ่งรุกล้ำกัน แต่ภายหลังโจทก์ทั้งสองทราบว่ารูปแผนที่ของการรังวัด ในปี ๒๕๔๙ นั้นไม่ถูกต้องตามหลักวิชาการของกรมที่ดินและรุกล้ำที่ดินของโจทก์ทั้งสอง จึงมีหนังสือลงวันที่ ๒๕ ตุลาคม ๒๕๕๖ ขอให้จำเลยดำเนินการเพิกถอนหรือแก้ไขรูปแผนที่ที่นางนิตยากับพวกนำชี้รังวัดรุกล้ำที่ดินของโจทก์ทั้งสอง แต่จำเลยปฏิเสธ ขอให้บังคับจำเลยเพิกถอนรายการรังวัดและแผนที่ที่เกิดจากการนำชี้เมื่อวันที่ ๖ ธันวาคม ๒๕๔๙ โฉนดเลขที่ ๗๐๔๘ พร้อมด้วยค่าเสียหายให้แก่โจทก์ทั้งสอง
จำเลยให้การว่า ได้กระทำโดยถูกต้องตามหลักวิชาการ และระเบียบในการรังวัดของกรมที่ดินรวมถึงตามหลักแนวแผนที่เดิม ไม่มีเจตนาให้เกิดความเสียหายและปฏิบัติไปตามหน้าที่ที่ได้รับมอบหมาย การรังวัดและการทำรูปแผนที่ที่เกิดจากการนำชี้ดังกล่าวจึงถูกต้องตามกฎหมายแล้วไม่สามารถเพิกถอนรายการดังกล่าวได้ การรังวัดของนางนิตยา แจ้งประสิทธิ์ กับพวก มิได้นำชี้รังวัดรุกล้ำแนวที่ดินของโจทก์ทั้งสอง ขอให้ยกฟ้อง
จำเลยยื่นคำร้องโต้แย้งเขตอำนาจศาลว่า คดีนี้เป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับการกระทำละเมิดของเจ้าหน้าที่ของรัฐอันเกิดจากการใช้อำนาจตามกฎหมาย หรือจากกฎ คำสั่งทางปกครอง หรือคำสั่งอื่น อยู่ในอำนาจของศาลปกครอง
ศาลจังหวัดปทุมธานีพิจารณาแล้วเห็นว่า คดีนี้แม้โจทก์ทั้งสองฟ้องขอให้จำเลยซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐเพิกถอนรายการรังวัดและแผนที่ซึ่งเกิดจากการนำชี้ของนางนิตยากับพวกในการรังวัดสอบเขตโฉนดที่ดินเลขที่ ๗๐๔๘ เมื่อวันที่ ๖ ธันวาคม ๒๕๔๙ แต่ประเด็นหลักที่คู่กรณีโต้แย้งนั้นเป็นเรื่องเกี่ยวกับสิทธิในที่ดินซึ่งเป็นสิทธิของบุคคลอันเกี่ยวกับที่ดินหรืออสังหาริมทรัพย์ ซึ่งต้องพิจารณาตามมาตรา ๑๒๙๘ แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ที่กำหนดให้การพิจารณาข้อพิพาทเกี่ยวกับสิทธิในที่ดินอยู่ในบังคับแห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์หรือกฎหมายอื่นที่บัญญัติเรื่องนั้นไว้เป็นพิเศษ ดังนั้น การจะวินิจฉัยว่าจำเลยต้องเพิกถอนหรือแก้ไขรูปแผนที่ในโฉนดที่ดินตามฟ้องของโจทก์ทั้งสองหรือไม่นั้น ศาลจำต้องพิจารณาก่อนว่านางนิตยานำชี้แนวเขตรุกล้ำเข้าไปในที่ดินที่เป็นกรรมสิทธิ์ของโจทก์ทั้งสองหรือไม่ ซึ่งการพิจารณาสิทธิในที่ดินต้องเป็นไปตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ กรณีจึงเป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับสิทธิในที่ดิน คดีนี้อยู่ในเขตอำนาจของศาลยุติธรรม
ศาลปกครองกลางพิจารณาแล้วเห็นว่า จำเลยเป็นเจ้าพนักงานที่ดินจังหวัดปทุมธานี มีอำนาจหน้าที่ในการรังวัดสอบเขตโฉนดที่ดิน จำเลยจึงเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐ เมื่อโจทก์ทั้งสองฟ้องขอให้เพิกถอนหรือแก้ไขรูปแผนที่ในการรังวัดสอบเขตโฉนดที่ดินเลขที่ ๗๐๔๘ เมื่อวันที่ ๖ ธันวาคม ๒๕๔๙ ที่นางนิตยากับพวกนำชี้รุกล้ำเข้าไปในที่ดินของโจทก์ทั้งสอง กรณีจึงเป็นเรื่องที่โจทก์มุ่งประสงค์ให้ศาลตรวจสอบความชอบด้วยกฎหมายของการกระทำของจำเลยในการสอบเขตโฉนดที่ดิน ซึ่งเป็นการใช้อำนาจตามมาตรา ๖๙ ทวิ แห่งประมวลกฎหมายที่ดิน ดังนั้น ข้อพิพาทในคดีนี้จึงเป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับการที่เจ้าหน้าที่ของรัฐกระทำการโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายและการกระทำละเมิด อันเกิดจากการใช้อำนาจตามกฎหมายตามมาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๑) และ (๓) แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ และศาลปกครองมีอำนาจออกคำบังคับตามคำขอของโจทก์ทั้งสองได้ตามมาตรา ๗๒ วรรคหนึ่ง (๑) และ (๓) แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าว และแม้ว่าคดีนี้จะต้องมีการพิจารณาเกี่ยวกับสิทธิในที่ดินของนางนิตยากับพวกและโจทก์ทั้งสองด้วยก็ตาม แต่ก็เป็นเพียงการพิจารณาเกี่ยวกับสิทธิหรือหน้าที่ประเภทหนึ่งของบุคคล ซึ่งเจ้าหน้าที่ของรัฐย่อมพิจารณาจากข้อเท็จจริงและข้อกฎหมายก่อนการพิจารณาตัดสินใจใช้อำนาจทางปกครองในเรื่องนั้นๆ เช่นเดียวกับการพิจารณาตัดสินใจใช้อำนาจทางปกครองของเจ้าหน้าที่ของรัฐในเรื่องอื่นๆ และโดยที่สิทธิในที่ดินเป็นสิทธิที่ได้รับการรับรองคุ้มครองตามประมวลกฎหมายที่ดิน ที่บัญญัติให้การได้มาซึ่งสิทธิในที่ดินของบุคคลต้องเป็นไปตามหลักเกณฑ์และวิธีการตามที่กฎหมายกำหนด ซึ่งเห็นได้ว่าสิทธิในที่ดินของบุคคลมิได้เกิดขึ้นเอง แต่เกิดขึ้นด้วยการพิจารณาดำเนินการโดยเจ้าหน้าที่ของรัฐ นอกจากนั้น มาตรา ๗๑ (๔) แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ ที่บัญญัติให้คำพิพากษาหรือคำสั่งของศาลปกครองที่เกี่ยวกับสิทธิแห่งทรัพย์สินใดๆ คู่กรณีที่เกี่ยวข้องอาจอ้างกับบุคคลภายนอกได้ เว้นแต่บุคคลภายนอกจะมีสิทธิดีกว่า ซึ่งเป็นการแสดงให้เห็นว่าสิทธิแห่งทรัพย์สินอยู่ในขอบเขตเนื้อหาของคำพิพากษาหรือคำสั่งของศาลปกครองได้ อันเป็นการยืนยันว่า ศาลปกครองมีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีปกครองที่มีข้อพิพาทเกี่ยวกับสิทธิแห่งทรัพย์สินได้ และเมื่อพิจารณาจากข้อหาหลักแห่งคดีประกอบคำขอของผู้ฟ้องคดีแล้วเห็นว่า เป็นการฟ้องเกี่ยวกับความชอบด้วยกฎหมายของคำสั่งทางปกครองและเป็นคำขอที่ขอให้ศาลเพิกถอนคำสั่งทางปกครองกรณีจึงเห็นได้ว่าประเด็นพิจารณาเกี่ยวกับสิทธิในที่ดินเป็นเพียงประเด็นปัญหาข้อเท็จจริงประเด็นหนึ่งที่เจ้าหน้าที่ของรัฐได้ใช้ในการพิจารณาและศาลปกครองจะนำมาใช้ประกอบการพิจารณาพิพากษาเท่านั้น มิใช่ประเด็นหลักแห่งคดีแต่ประการใด และโดยที่จำเลยเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐ ซึ่งมิใช่ผู้มีสิทธิในที่ดินรายพิพาท หากแต่เป็นผู้มีอำนาจหน้าที่ตามกฎหมายในการคุ้มครองสิทธิในที่ดินของบุคคล ตลอดจนมีอำนาจหน้าที่ดำเนินการให้เป็นไปตามประมวลกฎหมายที่ดิน รวมทั้งกฎหมายอื่นที่เกี่ยวข้อง ซึ่งกระทำโดยเจ้าหน้าที่ของรัฐอันเป็นการใช้อำนาจทางปกครองตามกฎหมาย และอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครอง โดยมีความเกี่ยวเนื่องสัมพันธ์กับมูลความแห่งคดีพิพาทระหว่างโจทก์ทั้งสองกับจำเลยในเรื่องการรังวัดสอบเขตโฉนดที่ดิน ดังนั้นเมื่อข้อพิพาทในคดีนี้เป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับการที่เจ้าหน้าที่ของรัฐกระทำการโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายและการกระทำละเมิดอันเกิดจากการใช้อำนาจตามกฎหมาย คดีนี้จึงเป็นคดีพิพาทที่อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครอง
คำวินิจฉัย
ปัญหาที่ต้องพิจารณา คดีนี้อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรมหรือศาลปกครอง
คณะกรรมการพิจารณาแล้วเห็นว่า คดีนี้ โจทก์ทั้งสองเป็นเอกชนยื่นฟ้องเจ้าหน้าที่ของรัฐอ้างว่าโจทก์ทั้งสองเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ดินโฉนดที่ดินเลขที่ ๕๕๙๕ เนื้อที่ ๑ งาน ๒๘ ตารางวา โดยรับโอนมาจากบิดาของโจทก์ทั้งสอง แต่ในการรังวัดเพื่อออกโฉนดที่ดินแปลงดังกล่าวเมื่อปี ๒๔๙๙ เจ้าพนักงานที่ดินได้จดแจ้งที่ดินไว้ไม่ถูกต้องตามความเป็นจริง เนื่องจากที่ดินของโจทก์ทั้งสองควรมีเนื้อที่ดิน ๒ งาน ๓๐ ตารางวา ต่อมา นางนิตยา แจ้งประสิทธิ์ กับพวก ได้ยื่นคำขอรังวัดสอบเขตโฉนดที่ดินเลขที่ ๗๐๔๘ โดยนำชี้รุกล้ำที่ดินของโจทก์ทั้งสอง โจทก์ทั้งสองคัดค้านการรังวัดและได้ยื่นฟ้องนางนิตยา กับพวก ต่อศาลจังหวัดปทุมธานี เรื่องที่ดิน เป็นคดีแพ่งหมายเลขดำที่ ๑๐๖๙/๒๕๕๐ ศาลมีคำพิพากษาถึงที่สุดแล้ว และต่อมาโจทก์ทั้งสองได้ยื่นฟ้องนางนิตยากับพวกอีกครั้งต่อศาลจังหวัดปทุมธานี เป็นคดีแพ่งหมายเลขดำที่ ๓/๒๕๕๖ ในคดีนี้ศาลมีคำสั่งให้เจ้าพนักงานที่ดินจังหวัดปทุมธานีทำแผนที่พิพาทแบบปูโฉนดที่ดินตามหลักวิชาการตามหลักฐานเดิมของการรังวัดที่ดิน เจ้าพนักงานที่ดินทำการรังวัดที่ดินของโจทก์ทั้งสองและที่ดินข้างเคียงรวมทั้งที่ดินของนางนิตยากับพวกได้อย่างถูกต้องไม่มีแปลงใดแปลงหนึ่งรุกล้ำกัน แต่ภายหลังโจทก์ทั้งสองทราบว่ารูปแผนที่ของการรังวัดไม่ถูกต้องและรุกล้ำที่ดินของโจทก์ทั้งสอง ขอให้บังคับจำเลยเพิกถอนรายการรังวัดและแผนที่ที่เกิดจากการนำชี้โฉนดที่ดินเลขที่ ๗๐๔๘ และให้ชำระค่าเสียหายให้แก่โจทก์ทั้งสอง ส่วนจำเลยให้การว่า ได้กระทำโดยถูกต้องตามหลักวิชาการ และระเบียบในการรังวัดของกรมที่ดินรวมถึงตามหลักแนวแผนที่เดิมและปฏิบัติไปตามหน้าที่ที่ได้รับมอบหมาย การรังวัดและการทำรูปแผนที่ที่เกิดจากการนำชี้ถูกต้องตามกฎหมายแล้วไม่สามารถเพิกถอนรายการดังกล่าวได้ การรังวัดของนางนิตยา กับพวก มิได้นำชี้รังวัดรุกล้ำแนวที่ดินของโจทก์ทั้งสอง ขอให้ยกฟ้อง เห็นว่า เมื่อพิจารณาความมุ่งหมายของโจทก์ทั้งสองในการใช้สิทธิทางศาลก็เพื่อขอให้ศาลมีคำพิพากษารับรองคุ้มครองสิทธิในที่ดินที่โจทก์ทั้งสองอ้างว่าตนมีสิทธิเป็นสำคัญ การที่จำเลยจะปฏิบัติตามคำขอของโจทก์ทั้งสองได้จะต้องดำเนินการไปตามข้อเท็จจริงที่รับฟังได้เป็นยุติ ศาลจำต้องพิจารณาให้ได้ความเสียก่อนว่า ที่ดินส่วนที่พิพาทเป็นกรรมสิทธิ์ของโจทก์ตามที่กล่าวอ้างหรือเป็นกรรมสิทธิ์ของนางนิตยากับพวก เป็นสำคัญ แล้วจึงจะพิจารณาประเด็นอื่นได้ต่อไป จึงเป็นคดีเกี่ยวกับสิทธิในที่ดิน อันอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม
จึงวินิจฉัยชี้ขาดว่า คดีระหว่างนายสุชิน พอใจ ที่ ๑ นายสมชาย พอใจ ที่ ๒ โจทก์ เจ้าพนักงานที่ดินจังหวัดปทุมธานี จำเลย อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม
(ลงชื่อ) ดิเรก อิงคนินันท์ (ลงชื่อ) จิรนิติ หะวานนท์
(นายดิเรก อิงคนินันท์) (นายจิรนิติ หะวานนท์)
ประธานศาลฎีกา กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลยุติธรรม
(ลงชื่อ) ปิยะ ปะตังทา (ลงชื่อ) จรัญ หัตถกรรม
(นายปิยะ ปะตังทา) (นายจรัญ หัตถกรรม)
รองประธานศาลปกครองสูงสุดคนที่หนึ่ง กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลปกครอง
ปฏิบัติหน้าที่แทนประธานศาลปกครองสูงสุด
(ลงชื่อ) พลเรือโท ปรีชาญ จามเจริญ (ลงชื่อ) พลตรี พัฒนพงษ์ เกิดอุดม
(ปรีชาญ จามเจริญ) (พัฒนพงษ์ เกิดอุดม)
หัวหน้าสำนักตุลาการทหาร กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลทหาร
(ลงชื่อ) จิระ บุญพจนสุนทร
(นายจิระ บุญพจนสุนทร)
กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ