แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา
ย่อสั้น
จำเลยขายพลอยให้ผู้เสียหาย ต่อมาผู้เสียหายอ้างว่าเป็นพลอยปลอม จำเลยฉ้อโกง ขอให้คืนเงิน จำเลยไม่คืนให้ จำเลยและผู้เสียหายตกลงกันต่อหน้าพนักงานสอบสวนตามบันทึกประจำวันเกี่ยวกับคดีว่าจำเลยยืมเงินผู้เสียหายไปจำเลยยอม ชดใช้เงินให้ผู้เสียหายเป็น 2 งวด ดังนี้เป็นเรื่องผู้เสียหายและจำเลยตกลงระงับข้อพิพาทอันมีต่อกันอยู่แล้วในเรื่องการซื้อขายพลอยให้เสร็จไปด้วยต่างยอมผ่อนผันให้แก่กันเข้าลักษณะสัญญาประนีประนอมยอมความและเป็นการตกลงเปลี่ยนแปลงมูลที่มาแห่งหนี้ในทางแพ่งแสดงถึงเจตนาของผู้เสียหายว่า ประสงค์ให้ข้อหาทางอาญาในเรื่องฉ้อโกงระงับไปด้วย ความผิดฐานฉ้อโกงเป็นความผิดอันยอมความกันได้เมื่อยอมความกันโดยถูกต้องตามกฎหมายสิทธินำคดีอาญามาฟ้องย่อมระงับไปตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 39(2) แม้ ต่อมาจำเลยไม่ปฏิบัติตามข้อตกลง ผู้เสียหายก็ไม่มีอำนาจที่จะร้องทุกข์ ในข้อหาฉ้อโกงได้อีก
ย่อยาว
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 341 จำคุก 6 เดือน ให้จำเลยคืนหรือใช้เงิน 68,000 บาท แก่ผู้เสียหายศาลอุทธรณ์พิพากษากลับ ให้ยกฟ้อง โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยข้อกฎหมายว่า “ข้อเท็จจริงฟังได้ว่าเมื่อปลายเดือนสิงหาคม 2524 จำเลยขอพลอยให้แก่ผู้เสียหาย ราคา 60,000 บาทเศษ จำเลยได้รับเงินและมอบพลอยแก่ผู้เสียหายแล้ว ต่อมาผู้เสียหายอ้างว่าเป็นพลอยปลอม จำเลยฉ้อโกง ขอให้จำเลยคืนเงิน จำเลยไม่คืนให้ วันที่ 31 สิงหาคม 2524ผู้เสียหายและจำเลยได้ตกลงอ่านต่อหน้าร้อยตำรวจตรีทวีศักดิ์ คงคารัตน์ พนักงานสอบสวนเจ้าของท้องที่เกิดเหตุ ตามบันทึกประจำวันเกี่ยวกับคดี เอกสารหมาย ล.1 ดังนี้
“วันนี้ (31 สิงหาคม 2524) นายสาธิต ลิมป์คุ้มธรณี (คือผู้เสียหาย) และนายเติม แสงอรุณ (ซึ่งหมายถึงจำเลย) มา สน. แจ้งว่า เมื่อวันที่ 25 สิงหาคม 2524 นายเติมฯ ได้ยืมเงินนายสาธิตฯ ไปจำนวนเงิน 40,000 บาท และตกลงว่าจะคืนให้ในวันที่ 30 สิงหาคม 2524 แต่พอถึงกำหนดวันดังกล่าว นายเติมฯก็ยังไม่ยอมนำเงินดังกล่าวมาชำระ คู่กรณีทั้งสองจึงตกลงที่ สน. ว่านายเติมฯจะยินยอมชดใช้เงินจำนวนดังกล่าวให้นายสาธิตฯ โดยจะชำระให้ในวันที่ 2 กันยายน 2524 เป็นจำนวนเงิน 10,000 บาทส่วนจำนวนเงินที่เหลือทั้งหมดนายเติมฯ จะชดใช้ให้วันที่ 21 กันยายน 2524 ” เอกสารนี้ลงลายมือชื่อผู้เสียหายและจำเลยกับลายพิมพ์นิ้วมือของจำเลยต่อหน้าพนักงานสอบสวนในช่องคู่กรณีไว้ ศาลฎีกาเห็นว่าเอกสารนี้เป็นเรื่องผู้เสียหายและจำเลยตกลงระงับข้อพิพาทอันมีต่อกันอยู่แล้วในเรื่องการซื้อขายพลอยให้เสร็จไปด้วยต่างยอมผ่อนผันให้แก่กันแลักันเข้าลักษณะประนีประนอมยอมความ และการที่คู่กรณีตกลงกันว่าเป็นเรื่องการกู้ยืมเงินกันอันเป็นการตกลงเปลี่ยนแปลงมูลที่มาแห่งหนี้ในทางแพ่ง แสดงถึงเจตนาของผู้เสียหายว่าประสงค์ให้ข้อหาทางอาญาในเรื่องฉ้อโกงระงับไปด้วย ความผิดฐานฉ้อโกงเป็นความผิดอันยอมความกันได้หรือความผิดต่อส่วนตัว เมื่อได้ยอมความกันโดยถูกต้องตามกฎหมายเช่นนี้แล้วสิทธินำคกีอาญามาฟ้องย่อมระงับไปตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 39(2) แม้ต่อมาเมื่อจำเลยไม่ปฏิบัติตามข้อตกลง ผู้เสียหายก็ไม่มีอำนาจที่จะร้องทุกข์ในข้อหาฉ้อโกงได้อีก ศาลอุทธรณ์พิพากษาให้ยกฟ้องโจทก์ ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาโจทก์ฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน