แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 300 จำคุก 2 เดือน ศาลอุทธรณ์แก้เป็นว่าให้รอการลงโทษจำคุกไว้มีกำหนดเวลา 2 ปีตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 56 เป็นคดีที่ต้องห้ามฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 219
จำเลยฎีกาว่าแผนที่เกิดเหตุพนักงานสอบสวนทำขึ้นโดยไม่ถูกต้องข้อเท็จจริง จำเลยจึงปฏิเสธไม่ยอมลงชื่อ จะนำมาใช้ยันจำเลยไม่ได้ เป็นทำนองว่าการรับฟังพยานเอกสารไม่ถูกต้องตามวิธีพิจารณานั้น เมื่อปรากฏว่าศาลอุทธรณ์มิได้วินิจฉัยคดีโดยอาศัยแผนที่เกิดเหตุดังกล่าวเลย ฎีกาของจำเลยจึงเป็นฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๓๐๐ พระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ. ๒๕๒๒ มาตรา ๔๓(๔), ๑๕๗
จำเลยให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา ๓๐๐ พระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ. ๒๕๒๒ มาตรา ๔๓(๔), ๑๕๗ ให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๓๐๐ ซึ่งเป็นบทหนัก
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้รอการลงโทษจำเลยไว้มีกำหนดเวลา ๒ ปีตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๕๖
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยปัญหาข้อกฎหมายว่า ปรากฏว่าศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำคุกจำเลยเพียง ๒ เดือน แม้ศาลอุทธรณ์จะพิพากษาแก้เป็นว่า ให้รอการลงโทษจำคุกไว้มีกำหนด ๒ ปี ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๕๖ คดีนี้ก็เป็นคดีที่ห้ามฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา ๒๑๙ ฯลฯฎีกาของจำเลยที่ว่า แผนที่เกิดเหตุตามเอกสารหมาย จ.๑ พนักงานสอบสวนทำขึ้นโดยไม่ถูกต้องข้อเท็จจริง จำเลยจึงปฏิเสธไม่ยอมลงชื่อ จะนำมาใช้ยันจำเลยไม่ได้ เป็นทำนองว่าการรับฟังเอกสารไม่ถูกต้องตามวิธีพิจารณานั้น ก็ปรากฏว่าศาลอุทธรณ์มิได้วินิจฉัยคดีโดยอาศัยพยานเอกสารคือแผนที่เกิดเหตุเลย ฎีกาของจำเลยจึงเป็นฎีกาที่ต้องห้ามตามนัยแห่งกฎหมายดังกล่าว
พิพากษาให้ยกฎีกาของจำเลย