แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
การที่พนักงานเจ้าหน้าที่กองพิธีการและประเมินอากรของจำเลยในฐานะเจ้าพนักงานประเมินตามประกาศกระทรวงการคลังฯ(ฉบับที่ 2) ลงวันที่ 25 ตุลาคม 2513 สั่งให้โจทก์แก้ไขเพิ่มราคาสินค้าในใบขนสินค้าขาเข้าและแบบแสดงรายการการค้านั้น ถือได้ว่าเป็นการแจ้งการประเมินให้โจทก์ต้องชำระอากรขาเข้า ภาษีการค้า และภาษีบำรุงเทศบาล ตามฐานราคาสินค้าที่สั่งให้โจทก์แก้นั่นเอง โจทก์จึงต้องอุทธรณ์การประเมินภาษีการค้าและภาษีบำรุงเทศบาลต่อคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ก่อน จึงจะมีสิทธินำคดีมาฟ้องต่อศาลได้ตามประมวลรัษฎากร มาตรา 30 และพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลภาษีอากรและวิธีพิจารณาคดีภาษีอากร พ.ศ. 2528 มาตรา 8 สิทธิในการเรียกร้องขอคืนเงินอากรขาเข้าเพราะเหตุที่ได้เสียไว้เกินจำนวนที่พึงต้องเสียจริงตามมาตรา 10 วรรคห้า แห่งพระราชบัญญัติ ศุลกากร พ.ศ. 2469 นั้น ไม่ว่าจะเป็นเพราะเสียไว้เกินโดยไม่มีข้อโต้แย้งใด ๆ หรือเป็นเพราะยังมีข้อโต้แย้งกันเกี่ยวกับราคาแห่งของที่นำเข้านั้นก็ตาม จะต้องใช้สิทธิเรียกร้องขอคืนภายในกำหนดสองปี นับจากวันนำของเข้าทั้งสิ้น แต่ในกรณีที่เสียไว้เกินเพราะเหตุอันเกี่ยวกับราคาแห่งของที่นำเข้านั้นนอกจากจะต้องใช้สิทธิเรียกร้องขอคืนภายในกำหนดเวลาดังกล่าวแล้วผู้นำเข้ายังต้องแจ้งความไว้ต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ก่อนการส่งมอบหรือเป็นกรณีที่พนักงานเจ้าหน้าที่พึงต้องรู้อยู่ก่อนส่งมอบว่าอากรที่ชำระไว้นั้นเกินจำนวนที่พึงต้องเสียสำหรับของที่ส่งมอบอีกด้วย จึงจะมีสิทธิขอคืนเงินอากรได้ การที่เจ้าพนักงานประเมินอากรของจำเลยสั่งให้โจทก์เพิ่มราคาของให้สูงขึ้น โจทก์ยอมปฏิบัติตามและเสียอากรตามราคาของที่เพิ่มขึ้น แล้วมาฟ้องเรียกอากรในส่วนที่เสียเพิ่มขึ้น โดยอ้างว่าราคาของที่เจ้าพนักงานประเมินสั่งให้โจทก์เพิ่มสูงขึ้นนั้นไม่ใช่ราคาอันแท้จริงในท้องตลาด จำนวนอากรที่โจทก์เสียเพิ่มขึ้นตามราคาของจึงไม่ถูกต้อง จำเลยต้องคืนให้แก่โจทก์นั้น ถือได้ว่าเป็นการที่โจทก์ใช้สิทธิในการเรียกร้องขอคืนเงินอากรเพราะเหตุที่ได้เสียไว้เกินจำนวนที่พึงต้องเสียโดยมีข้อโต้แย้งเกี่ยวกับราคาของตามพระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ. 2469 มาตรา 10 วรรคห้าเมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่า ค่าอากรที่โจทก์เรียกคืนตามใบขนสินค้าขาเข้านั้น โจทก์นำเข้าเมื่อวันที่ 14 กันยายน 2530 และวันที่24 กันยายน 2530 แต่โจทก์ฟ้องเรียกเงินค่าอากรคืนเมื่อวันที่5 ตุลาคม 2532 เกินกำหนดสองปีนับแต่วันนำเข้า คดีโจทก์จึงขาดอายุความ
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้ศาลพิพากษาว่า ราคาสินค้าที่โจทก์สำแดงในใบขนสินค้าขาเข้าและแบบแสดงรายการการค้าเป็นราคาอันแท้จริงในท้องตลาด ขอให้เพิกถอนการประเมินราคาสินค้าเพิ่ม และให้จำเลยคืนเงินอากรขาเข้าภาษีการค้าและภาษีบำรุงเทศบาลรวมเป็นเงิน217,398 บาท พร้อมดอกเบี้ยแก่โจทก์
จำเลยให้การว่า โจทก์ฟ้องเกินกำหนดสองปีนับแต่วันนำของเข้าคดีขาดอายุความ ราคาสินค้าที่โจทก์สำแดงมิใช่ราคาอันแท้จริงในท้องตลาดเพราะต่ำกว่าราคาของผู้นำเข้ารายอื่นซึ่งนำเศษเหล็กประเภทและแหล่งกำเนิดเดียวกัน อีกทั้งปริมาณและระยะเวลาการนำเข้ามาในราชอาณาจักรก็ใกล้เคียงกัน การที่เจ้าพนักงานประเมินของจำเลยได้เทียบเคียงกับราคาของผู้ที่นำเข้ารายอื่นสำแดงเป็นเกณฑ์ประเมินราคาสินค้าที่โจทก์นำเข้าเพิ่มขึ้นจึงชอบด้วยกฎหมายแล้ว และโจทก์มิได้อุทธรณ์การประเมินภาษีการค้าและภาษีบำรุงเทศบาลต่อคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องให้จำเลยคืนเงินภาษีการค้าและภาษีบำรุงเทศบาลได้ ขอให้ยกฟ้อง
ศาลภาษีอากรกลางพิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีภาษีอากรวินิจฉัยว่า ปัญหาที่จะต้องวินิจฉัยในประการแรกมีว่า โจทก์มีอำนาจฟ้องคดีเกี่ยวกับภาษีการค้าและภาษีบำรุงเทศบาลหรือไม่ แม้ว่า การที่พนักงานเจ้าหน้าที่กองพิธีการและประเมินอากรของจำเลย ในฐานะเจ้าพนักงานประเมินตามประกาศกระทรวงการคลังว่าด้วยการแต่งตั้งเจ้าพนักงาน (ฉบับที่ 2) เรื่องยกเลิกและแต่งตั้งเจ้าพนักงานประเมินตามประมวลรัษฎากร ประกาศ ณวันที่ 25 ตุลาคม 2513 สั่งให้โจทก์แก้ไขเพิ่มราคาสินค้าอันเป็นฐานของการคำนวณภาษีอากรสำหรับของที่นำเข้าในใบขนสินค้าขาเข้าและแบบแสดงรายการการค้าเป็นเหตุให้ต้องแก้จำนวนค่าอากรขาเข้าภาษีการค้า และภาษีบำรุงเทศบาลเพิ่มขึ้น อันเป็นการโต้แย้งจำนวนค่าภาษีอากรที่โจทก์ยื่นแบบแสดงรายการเพื่อเสียภาษีอากรไว้ดังกล่าวว่าไม่ถูกต้อง ถือได้ว่าเป็นการแจ้งการประเมินให้โจทก์ทราบว่าจะต้องชำระค่าอากรขาเข้า ภาษีการค้าและภาษีบำรุงเทศบาลตามฐานราคาของที่สั่งให้โจทก์แก้นั้นเอง มิฉะนั้นก็จะไม่ตรวจปล่อยของออกไปจากอารักขาของจำเลย โจทก์ทราบถึงการประเมินของเจ้าพนักงานประเมินดังกล่าวแล้ว ยอมแก้ราคาของตลอดจนจำนวนค่าอากรขาเข้า ภาษีการค้าและภาษีบำรุงเทศบาลเพิ่มขึ้น กับยอมชำระค่าภาษีอากรดังกล่าวให้แก่จำเลยเพื่อรับของที่นำเข้าไปจากอารักขาของจำเลย โจทก์ทราบถึงการประเมินของเจ้าพนักงานประเมินดังกล่าวแล้ว ยอมแก้ราคาของตลอดจนจำนวนค่าอากรขาเข้า ภาษีการค้าและภาษีบำรุงเทศบาลเพิ่มขึ้น กับยอมชำระค่าภาษีอากรดังกล่าวให้แก่จำเลยเพื่อรับของที่นำเข้าไปจากอารักขาของจำเลย โดยได้บันทึกของสงวนสิทธิโต้แย้งราคาไว้ด้านหลังใบขนสินค้าขาเข้าย่อมเป็นการชำระค่าภาษีอากรตามการประเมินของเจ้าพนักงานประเมิน หาใช่โจทก์สมัครใจโดยไม่มีการโต้แย้งราคาของแต่อย่างใด ดังนั้นการที่โจทก์จะขอเรียกค่าภาษีอากรดังกล่าวคืนย่อมเป็นการโต้แย้งผลการประเมินของเจ้าพนักงานประเมินดังกล่าว โจทก์จึงต้องอุทธรณ์คัดค้านต่อคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ตามประมวลรัษฎากรให้วินิจฉัยเสียก่อนว่า โจทก์เสียภาษีไว้เกินกว่าที่จะต้องเสียตามกฎหมายหรือไม่เมื่อคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์มีคำวินิจฉัยแล้ว โจทก์จึงจะอุทธรณ์ต่อศาลหรือนำคดีมาฟ้องต่อศาลได้ตามประมวลรัษฎากร มาตรา 30 และพระราชบัญญัติ จัดตั้งศาลภาษีอากรและวิธีพิจารณาคดีภาษีอากร พ.ศ.2528 มาตรา 8 แต่โจทก์มิได้ปฏิบัติตามกฎหมายดังกล่าวจึงไม่มีสิทธินำคดีมาฟ้องต่อศาลเกี่ยวกับค่าภาษีการค้าและภาษีบำรุงเทศบาลได้
ปัญหาในข้อที่สองมีว่า ฟ้องโจทก์เกี่ยวกับขอคืนเงินค่าอากรตามใบขนสินค้าขาเข้าหมายเลข 090-40853 ถึง 090-40856 และ 090-42383ขาดอายุความแล้วหรือไม่ เห็นว่า พระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ. 2469มาตรา 10 วรรคห้า บัญญัติว่า “สิทธิในการเรียกขอคืนเงินอากรเพราะเหตุที่ได้เสียไว้เกินจำนวนที่พึงต้องเสียจริงเป็นอันสิ้นไปเมื่อครบกำหนดสองปีนับจากวันนำของเข้าหรือส่งของออกแล้วแต่กรณีแต่คำเรียกร้องขอคืนอากรเพราะเหตุอันเกี่ยวกับชนิด คุณภาพ ปริมาณน้ำหนัก หรือราคาแห่งของใด ๆ หรือเกี่ยวกับอัตราอากรสำหรับของใด ๆ นั้น มิให้รับพิจารณาหลังจากที่ได้เสียอากรและของนั้น ๆได้ส่งมอบหรือส่งออกไปแล้ว เว้นแต่ในกรณีที่ได้แจ้งความไว้ต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ก่อนการส่งมอบหรือส่งออกว่าจะยื่นคำเรียกร้องดังกล่าวหรือในกรณีที่พนักงานเจ้าหน้าที่พึงต้องรู้อยู่ก่อนส่งมอบหรือส่งออกว่าอากรที่ชำระไว้นั้นเกินจำนวนที่พึงต้องเสียสำหรับของที่ส่งมอบหรือส่งออก” ซึ่งมีความหมายว่าสิทธิในการเรียกร้องขอคืนเงินอากรเพราะเหตุที่ได้เสียไว้เกินจำนวนที่พึงต้องเสียจริงนั้นไม่ว่าเป็นเพราะเสียไว้เกินโดยไม่มีข้อโต้แย้งใด ๆ หรือเป็นเพราะเหตุยังมีข้อโต้แย้งกันเกี่ยวกับราคาแห่งของที่นำเข้านั้นก็ตาม จะต้องใช้สิทธิเรียกร้องขอคืนภายในกำหนดสองปีนับจากวันนำของเข้าทั้งสิ้น แต่ในกรณีที่เสียไว้เกินเพราะเหตุอันเกี่ยวกับราคาแห่งของที่นำเข้านั้น นอกจากจะต้องใช้สิทธิเรียกร้องขอคืนภายในกำหนดสองปีนับจากวันนำเข้าแล้ว ผู้นำเข้ายังต้องแจ้งความไว้ต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ก่อนการส่งมอบหรือเป็นกรณีที่พนักงานเจ้าหน้าที่ก่อนการส่งมอบหรือเป็นกรณีที่พนักงานเจ้าหน้าที่พึงต้องรู้อยู่ก่อนส่งมอบว่า อากรที่ชำระไว้นั้นเกินจำนวนที่พึงต้องเสียสำหรับของที่ส่งมอบอีกด้วยจึงจะมีสิทธิขอเรียกคืนได้และการที่เจ้าพนักงานประเมินอากรของจำเลยสั่งให้โจทก์เพิ่มราคาของให้สูงขึ้น โจทก์ยอมปฏิบัติตามและเสียอากรตามราคาของที่เพิ่มขึ้นแล้วมาฟ้องเรียกอากรในส่วนที่เสียเพิ่มขึ้นคืนโดยอ้างว่า ราคาของที่เจ้าพนักงานประเมินสั่งให้โจทก์เพิ่มสูงขึ้น ไม่ใช่ราคาอันแท้จริงในท้องตลาด จำนวนอากรที่โจทก์เสียเพิ่มขึ้นตามราคาของจึงไม่ถูกต้อง จำเลยจึงต้องคืนให้แก่โจทก์นั้น ย่อมเป็นการที่โจทก์ใช้สิทธิในการเรียกร้องขอคืนเงินอากรเพราะเหตุที่ได้เสียไว้เกินจำนวนที่พึงต้องเสียจริง เพราะเหตุอันเกี่ยวกับการโต้แย้งราคาของตามพระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ. 2469 มาตรา 10 วรรคห้านั่นเอง เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่า ค่าอากรที่โจทก์เรียกคืนตามใบขนสินค้าขาเข้าดังกล่าวนั้น โจทก์นำเข้าเมื่อวันที่ 14 กันยายน2530 และวันที่ 24 กันยายน 2530 แต่โจทก์ฟ้องขอเรียกเงินค่าอากรคืนเมื่อวันที่ 5 ตุลาคม 2532 เป็นเวลาเกินสองปีนับแต่วันนำเข้าคดีโจทก์จึงขาดอายุความแล้ว
ส่วนปัญหาสุดท้ายศาลฎีกาวินิจฉัยข้อเท็จจริงฟังได้ว่า ของตามใบขนสินค้าขาเข้าเลขที่ 011-42686, 031-40150, 081-41694,081-41695 มีราคาอันแท้จริงในท้องตลาดตามที่เจ้าพนักงานประเมินของจำเลยที่ 1 ได้ประเมินราคาเพิ่มขึ้น การประเมินราคาสินค้าของโจทก์เพิ่มขึ้นชอบด้วยกฎหมายแล้ว
พิพากษายืน