คำวินิจฉัยที่ 60/2558

แหล่งที่มา : ส่วนเลขานุการคณะกรรมการวินิจฉัยฯ

ย่อสั้น

คดีที่เอกชนยื่นฟ้องจำเลยที่ ๑ และที่ ๓ ซึ่งเป็นหน่วยงานทางปกครอง และจำเลยที่ ๔ เป็นเอกชนด้วยกันว่า โจทก์ถูกจำเลยที่ ๔ ซึ่งเป็นเพื่อนร่วมงานปลอมแปลงสำเนาบัตรประจำตัวประชาชนของโจทก์และนำไปแสดงต่อเจ้าพนักงานของจำเลยที่ ๒ และที่ ๓ ที่รับจดทะเบียนการเกิดว่าโจทก์เป็นมารดาของเด็กทั้งสาม ซึ่งไม่เป็นความจริง โจทก์ไม่เคยอยู่กินฉันสามีภริยากับจำเลยที่ ๔ การกระทำของจำเลยที่ ๔ ทำให้โจทก์เสียหาย ขอให้จำเลยทั้งสี่ร่วมกันแก้ไขเปลี่ยนแปลงข้อมูลทางทะเบียนของโจทก์โดยลบหรือเพิกถอนชื่อโจทก์ออกจากสถานะมารดาของเด็กทั้งสามและให้จำเลยที่ ๔ ชดใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่โจทก์ ทั้งสองศาลเห็นพ้องกันในประเด็นที่โจทก์ฟ้องขอให้จำเลยที่ ๔ ซึ่งเป็นเอกชนชดใช้ค่าเสียหายว่าอยู่ในอำนาจของศาลยุติธรรม คงเหลือประเด็นที่โจทก์ฟ้องขอให้จำเลยทั้งสี่ร่วมกันลบหรือเพิกถอนชื่อโจทก์ออกจากสถานะมารดาในทะเบียนคนเกิดของเด็กทั้งสาม ซึ่งทั้งสองศาลยังเห็นแย้งกันอยู่ เห็นว่า เมื่อคดีนี้โจทก์ฟ้องว่า โจทก์ไม่เคยอยู่กินฉันสามีภริยากับจำเลยที่ ๔ และโจทก์ไม่ได้เป็นมารดาของเด็กทั้งสาม แต่จำเลยที่ ๔ ซึ่งเป็นบิดาของเด็กทั้งสามปลอมแปลงสำเนาบัตรประจำตัวประชาชนของโจทก์แล้วนำไปแสดงต่อเจ้าพนักงานของจำเลยที่ ๒ และที่ ๓ ที่รับจดทะเบียนการเกิดของเด็กทั้งสามว่า โจทก์เป็นมารดาทั้งที่ไม่เป็นความจริง การกระทำของจำเลยที่ ๔ ทำให้โจทก์เสียหาย ขอให้จำเลยทั้งสี่ร่วมกันแก้ไขเปลี่ยนแปลงข้อมูลทางทะเบียนของโจทก์โดยลบหรือเพิกถอนชื่อโจทก์ออกจากสถานะมารดาของเด็กทั้งสาม ส่วนจำเลยที่ ๑ ที่ ๒ และที่ ๓ ให้การว่า การกระทำของเจ้าหน้าที่จำเลยที่ ๒ และที่ ๓ เป็นไปตามขั้นตอนที่กฎหมายกำหนดไว้ มิได้กระทำละเมิดต่อโจทก์ ฟ้องโจทก์ขาดอายุความ ดังนั้น การที่ศาลจะมีคำพิพากษาหรือคำสั่งตามคำขอของโจทก์ได้นั้น จำต้องพิจารณาให้ได้ความเสียก่อนว่า โจทก์ไม่เคยอยู่กินฉันสามีภริยากับจำเลย ที่ ๔ และโจทก์ไม่ได้เป็นมารดาของเด็กทั้งสามเป็นสำคัญ แล้วจึงพิจารณาในประเด็นอื่นได้ต่อไป ข้อพิพาทในคดีนี้จึงเป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับบิดามารดากับบุตร อันอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม

ย่อยาว

(สำเนา)

คำวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล คณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล
ที่ ๖๐/๒๕๕๘

วันที่ ๔ กันยายน ๒๕๕๘

เรื่อง คดีพิพาทเกี่ยวกับพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๑)

ศาลจังหวัดตลิ่งชัน
ระหว่าง
ศาลปกครองกลาง

การส่งเรื่องต่อคณะกรรมการ
ศาลจังหวัดตลิ่งชันโดยสำนักงานศาลยุติธรรมส่งเรื่องให้คณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาลวินิจฉัยชี้ขาดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล พ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๑๐ วรรคหนึ่ง (๓) ซึ่งเป็นกรณีคู่ความฝ่ายที่ถูกฟ้องโต้แย้งเขตอำนาจศาลที่รับฟ้องคดี และศาลที่ส่งความเห็นและศาลที่รับความเห็นมีความเห็นแตกต่างกันในเรื่องเขตอำนาจศาลในคดีนั้น

ข้อเท็จจริงในคดี
เมื่อวันที่ ๒๐ มกราคม ๒๕๕๗ นางรัติยา ฟองจันทร์ หรือชุ่มคุมสิน โจทก์ ยื่นฟ้องกระทรวงมหาดไทย ที่ ๑ สำนักงานเขตบางกอกน้อย ที่ ๒ สำนักงานเทศบาลเมืองราชบุรี ที่ ๓ นายพิเชษฐ์ กุลชัยธนโรจน์ ที่ ๔ จำเลย ต่อศาลจังหวัดตลิ่งชัน เป็นคดีหมายเลขดำที่ ส. ๑๐๓/๒๕๕๗ ความว่า โจทก์ อยู่กินฉันสามีภริยากับนายเพลิน ชุ่มคุมสิน ตั้งแต่ปี ๒๕๒๗ จนเมื่อวันที่ ๑๗ เมษายน ๒๕๔๐ โจทก์ จดทะเบียนสมรสกับนายเพลิน ประมาณปี ๒๕๓๕ โจทก์รู้จักกับจำเลยที่ ๔ ซึ่งเป็นเพื่อนร่วมงานให้บริการขนส่งรถยนต์โดยสาร สาย ๘๐ จำเลยที่ ๔ ขอบัตรประจำตัวประชาชนของโจทก์และนำมาคืนในวันเดียวกัน หลังจากนั้นโจทก์ไม่ได้พบจำเลยที่ ๔ ต่อมาเมื่อวันที่ ๒๗ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๖ มีนางคำ ไม่ทราบนามสกุล ภริยาชาวลาวของจำเลยที่ ๔ มาหาโจทก์ขอให้ไปแสดงตนต่อเจ้าพนักงานเขตบางแค เพื่อแสดงฐานะความเป็นมารดาระหว่างโจทก์กับเด็กชายเปี่ยมศักดิ์ กุลชัยธนโรจน์ เพื่อรับรองความเป็นมารดา และให้เจ้าพนักงานจัดทำบัตรประจำตัวประชาชนให้แก่เด็กชายเปี่ยมศักดิ์ จึงทำให้ทราบว่าจำเลยที่ ๔ ปลอมแปลงสำเนาบัตรประจำตัวประชาชนของโจทก์และนำเอาเอกสารดังกล่าวไปแสดงต่อเจ้าพนักงานของจำเลยที่ ๓ ที่รับจดทะเบียนการเกิดว่าโจทก์เป็นมารดาเด็กชายเปี่ยมศักดิ์ ซึ่งไม่เป็นความจริง โจทก์ไม่เคยอยู่กินฉันสามีภริยากับจำเลยที่ ๔ และโจทก์ตรวจสอบรายการทะเบียนคนเกิดของบุตรจำเลยที่ ๔ อีก ๒ คน พบว่า มีการแจ้งข้อมูลในทะเบียนการเกิดของเด็กหญิงเพชรา กุลชัยธนโรจน์ และเด็กชายสดแสง กุลชัยธนโรจน์ ต่อนายทะเบียนของจำเลยที่ ๒ ว่า โจทก์เป็นมารดา ซึ่งไม่เป็นความจริง เพราะโจทก์ไม่เคยรู้จักและไม่ได้ เป็นมารดาของเด็กทั้งสาม การกระทำของจำเลยที่ ๔ ทำให้โจทก์เสียหาย ขอให้จำเลยทั้งสี่ร่วมกันแก้ไขเปลี่ยนแปลงข้อมูลทางทะเบียนของโจทก์โดยลบหรือเพิกถอนชื่อโจทก์ออกจากสถานะมารดาของเด็กทั้งสาม และให้จำเลยที่ ๔ ชดใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่โจทก์เป็นเงิน ๕๐,๐๐๐ บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ ๗.๕ ต่อปี นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยที่ ๑ ที่ ๒ และที่ ๓ ให้การว่า การที่เจ้าหน้าที่ของจำเลยที่ ๒ และที่ ๓ ซึ่งเป็นหน่วยงานภายใต้การกำกับดูแลของจำเลยที่ ๑ บันทึกข้อมูลในทะเบียนว่า โจทก์มีฐานะเป็นมารดาของเด็กทั้งสาม เป็นการปฏิบัติหน้าที่ไปตามที่กฎหมายกำหนดขั้นตอนไว้ ตามมาตรา ๒๓ แห่งพระราชบัญญัติการทะเบียนราษฎร พ.ศ. ๒๕๓๔ เมื่อจำเลยที่ ๔ ในฐานะบิดามาแจ้งการเกิดของเด็กทั้งสามต่อนายทะเบียนของจำเลยที่ ๒ และที่ ๓ โดยนำสำเนาบัตรประชาชนของจำเลยที่ ๔ และของโจทก์มาแสดงโดยอ้างว่าโจทก์เป็นมารดาของเด็กทั้งสาม จึงเป็นไปตามระเบียบสำนักทะเบียนกลาง ว่าด้วยการจัดทำทะเบียนราษฎร พ.ศ. ๒๕๓๕ จำเลยที่ ๒ และที่ ๓ จึงรับจดทะเบียนและออกสูติบัตรเป็นหลักฐานแก่ผู้แจ้ง การกระทำของเจ้าหน้าที่จำเลยที่ ๒ และที่ ๓ เป็นไปตามขั้นตอนที่กฎหมายกำหนดไว้ มิได้กระทำละเมิดต่อโจทก์ ฟ้องโจทก์ขาดอายุความ ขอให้ยกฟ้อง
จำเลยที่ ๔ ขาดนัดยื่นคำให้การ
ศาลจังหวัดตลิ่งชันยกฟ้องโจทก์ในส่วนของจำเลยที่ ๒ เนื่องจากจำเลยที่ ๒ ไม่มีฐานะเป็นนิติบุคคล โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้อง
จำเลยที่ ๑ และที่ ๓ ยื่นคำร้องโต้แย้งเขตอำนาจศาลว่า คดีนี้เป็นคดีปกครอง อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครอง
ศาลจังหวัดตลิ่งชันพิจารณาแล้วเห็นว่า แม้จำเลยที่ ๑ ที่ ๒ และที่ ๓ เป็นหน่วยงานทางปกครองก็ตาม แต่ตามคำฟ้องคดีนี้โจทก์อ้างว่า โจทก์ไม่เคยอยู่กินฉันสามีภริยากับจำเลยที่ ๔ และโจทก์ไม่ได้เป็นมารดาของเด็กชายสดแสง เด็กหญิงเพชรา เด็กชายเปี่ยมศักดิ์ แต่จำเลยที่ ๔ ซึ่งเป็นบิดาของเด็กทั้งสามกระทำการปลอมแปลงสำเนาบัตรประจำตัวประชาชนของโจทก์แล้วนำเอกสารดังกล่าวไปแสดงต่อเจ้าพนักงานของจำเลยที่ ๓ ที่รับจดทะเบียนการเกิดว่าโจทก์เป็นมารดาเด็กชายเปี่ยมศักดิ์ และจำเลยที่ ๔ กระทำการปลอมแปลงสำเนาบัตรประจำตัวของโจทก์แล้วนำเอกสารดังกล่าวไปแสดงต่อเจ้าพนักงานของจำเลยที่ ๒ ที่รับจดทะเบียนการเกิดของเด็กหญิงเพชรา และเด็กชายสดแสงว่า โจทก์เป็นมารดา การกระทำของจำเลยที่ ๔ ทำให้โจทก์เสียหาย ขอให้จำเลยทั้งสี่ร่วมกันแก้ไขเปลี่ยนแปลงข้อมูลทางทะเบียนของโจทก์โดยลบหรือเพิกถอนชื่อโจทก์ออกจากสถานะมารดาของเด็กทั้งสาม ดังนั้น การที่ศาลจะมีคำพิพากษาหรือคำสั่งตามคำขอของโจทก์ได้นั้น จำต้องพิจารณาให้ได้ความเสียก่อนว่า โจทก์ไม่เคยอยู่กินฉันสามีภริยากับจำเลยที่ ๔ และโจทก์ไม่ได้เป็นมารดาของเด็กทั้งสาม แล้วจึงจะพิจารณาว่า จำเลยที่ ๑ ที่ ๒ และที่ ๓ ร่วมกันกระทำละเมิดต่อโจทก์หรือไม่ คดีนี้เป็นคดีพิพาทเรื่องบิดามารดากับบุตร อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม ส่วนประเด็นที่โจทก์ฟ้องจำเลยที่ ๑ ที่ ๒ และที่ ๓ ซึ่งเป็นหน่วยงานทางปกครองเพื่อขอให้ร่วมกันแก้ไขเปลี่ยนแปลงข้อมูลทางทะเบียนของโจทก์โดยลบหรือเพิกถอนชื่อโจทก์ออกจากสถานะมารดาของเด็กทั้งสามนั้น ถือได้ว่าเป็นประเด็นรอง แม้จะเป็นคำสั่งทางปกครอง แต่ต้องพิจารณาให้ได้ความจากประเด็นหลักเสียก่อน เมื่อประเด็นหลักอยู่ในอำนาจการพิจารณาของศาลยุติธรรม ประเด็นรองก็ควร อยู่ในอำนาจของศาลเดียวกัน
ศาลปกครองกลางพิจารณาแล้วเห็นว่า คำฟ้องคดีนี้ประกอบด้วย ๒ ข้อหา ได้แก่ ข้อหาเกี่ยวกับการกระทำของเจ้าหน้าที่ในสังกัดจำเลยที่ ๑ ถึงที่ ๓ ที่รับแจ้งการเกิดและจัดทำทะเบียนคนเกิดว่าโจทก์เป็นมารดาของเด็กชายสดแสง เด็กหญิงเพชรา และเด็กชายเปี่ยมศักดิ์ ไม่ชอบด้วยกฎหมาย โดยขอให้แก้ไขข้อมูลทางทะเบียนให้ถูกต้อง และข้อหาเกี่ยวกับการกระทำของจำเลยที่ ๔ ที่นำสำเนาบัตรประจำตัวประชาชนของโจทก์ไปแสดงต่อเจ้าพนักงานของจำเลยที่ ๓ ที่รับจดทะเบียนการเกิดของเด็กทั้งสาม ทำให้โจทก์เสียหาย โดยขอให้จำเลยที่ ๔ ชดใช้ค่าเสียหาย ซึ่งคำฟ้องในส่วนของข้อหาเกี่ยวกับการกระทำของจำเลยที่ ๔ นั้น เป็นกรณีที่โจทก์ฟ้องเรียกค่าสินไหมทดแทนในมูลละเมิดจากจำเลยที่ ๔ ซึ่งเป็นเอกชนด้วยกัน จึงเป็นคดีที่อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม
ส่วนคำฟ้องในข้อหาเกี่ยวกับจำเลยที่ ๑ ถึงที่ ๓ นั้น จำเลยที่ ๑ และที่ ๓ มีฐานะเป็นหน่วยงานทางปกครอง โดยเจ้าหน้าที่ในสังกัดจำเลยที่ ๒ และที่ ๓ ที่เป็นนายทะเบียนท้องถิ่นมีอำนาจและหน้าที่ในการรับแจ้งการเกิด การจัดทำทะเบียนคนเกิด และการแก้ไขเปลี่ยนแปลงรายการในทะเบียนคนเกิดให้ถูกต้องตามพระราชบัญญัติการทะเบียนราษฎร พ.ศ. ๒๕๓๔ และระเบียบสำนักทะเบียนกลาง ว่าด้วยการจัดทำทะเบียนราษฎร พ.ศ. ๒๕๓๕ ซึ่งการจัดทำทะเบียนคนเกิด รวมทั้งการแก้ไขเปลี่ยนแลงรายการในทะเบียนคนเกิดเป็นการใช้อำนาจทางปกครองตามกฎหมายของเจ้าหน้าที่ที่มีผลกระทบต่อสถานภาพของสิทธิหรือหน้าที่ของบุคคล อันเป็นคำสั่งทางปกครอง เมื่อโจทก์ฟ้องว่า เจ้าพนักงานของจำเลยที่ ๒ และที่ ๓ รับแจ้งการเกิดและจัดทำทะเบียนคนเกิดว่าโจทก์เป็นมารดาของเด็กชายสดแสง เด็กหญิงเพชรา และเด็กชายเปี่ยมศักดิ์ ซึ่งเป็นข้อมูลที่ไม่ถูกต้องหรือไม่เป็นความจริง โจทก์ได้แจ้งให้จำเลยที่ ๑ ถึงที่ ๓ ดำเนินการแก้ไขหรือเปลี่ยนแปลงข้อมูลทางทะเบียนให้ถูกต้องแล้ว แต่จำเลยที่ ๑ ถึงที่ ๓ เพิกเฉย ทำให้โจทก์ได้รับความเสียหาย จึงฟ้องคดีต่อศาลโดยประสงค์ให้มีการลบหรือเพิกถอนชื่อโจทก์ออกจากสถานะมารดาในทะเบียนคนเกิดของเด็กทั้งสาม กรณีจึงเป็นการฟ้องว่า นายทะเบียนท้องถิ่นในสังกัดจำเลยที่ ๒ และที่ ๓ จัดทำทะเบียนคนเกิดของเด็กทั้งสาม ซึ่งเป็นคำสั่งทางปกครองไม่ชอบด้วยกฎหมาย และไม่ดำเนินการสอบสวนพยานหลักฐานเพื่อแก้ไขเปลี่ยนแปลงรายการในทะเบียนคนเกิดให้ถูกต้อง อันเป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับการที่หน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐกระทำการโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย ตามมาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๑) แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ อันอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครอง มิใช่คดีพิพาทเรื่องบิดามารดากับบุตร ซึ่งเป็นข้อพิพาทเกี่ยวกับสิทธิและหน้าที่ระหว่างบิดามารดากับบุตร ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์แต่อย่างใด

คำวินิจฉัย
ปัญหาที่ต้องพิจารณา คดีนี้อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรมหรือศาลปกครอง
คณะกรรมการพิจารณาแล้วเห็นว่า คดีนี้โจทก์เป็นเอกชนยื่นฟ้องจำเลยที่ ๑ และที่ ๓ ซึ่งเป็นหน่วยงานทางปกครอง และจำเลยที่ ๔ เป็นเอกชนด้วยกัน ข้อเท็จจริงตามคำฟ้องสรุปได้ว่า โจทก์ถูกจำเลยที่ ๔ ซึ่งเป็นเพื่อนร่วมงานปลอมแปลงสำเนาบัตรประจำตัวประชาชนของโจทก์และนำไปแสดงต่อ เจ้าพนักงานของจำเลยที่ ๒ และที่ ๓ ที่รับจดทะเบียนการเกิดว่าโจทก์เป็นมารดาของเด็กทั้งสาม ซึ่งไม่เป็นความจริง โจทก์ไม่เคยอยู่กินฉันสามีภริยากับจำเลยที่ ๔ การกระทำของจำเลยที่ ๔ ทำให้โจทก์เสียหาย ขอให้จำเลยทั้งสี่ร่วมกันแก้ไขเปลี่ยนแปลงข้อมูลทางทะเบียนของโจทก์โดยลบหรือเพิกถอนชื่อโจทก์ออกจากสถานะมารดาของเด็กทั้งสาม และให้จำเลยที่ ๔ ชดใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่โจทก์ ศาลจังหวัดตลิ่งชันและศาลปกครองกลางเห็นพ้องกันในประเด็นที่โจทก์ฟ้องขอให้จำเลยที่ ๔ ซึ่งเป็นเอกชนชดใช้ค่าเสียหายว่าอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม คงเหลือประเด็นที่โจทก์ฟ้องขอให้จำเลยทั้งสี่ร่วมกันลบหรือเพิกถอนชื่อโจทก์ออกจากสถานะมารดาในทะเบียนคนเกิดของเด็กทั้งสาม ซึ่งทั้งสองศาลยังเห็นแย้งกันอยู่ เห็นว่า เมื่อคดีนี้โจทก์ฟ้องว่า โจทก์ไม่เคยอยู่กินฉันสามีภริยากับจำเลยที่ ๔ และโจทก์ไม่ได้เป็นมารดาของเด็กทั้งสาม แต่จำเลยที่ ๔ ซึ่งเป็นบิดาของเด็กทั้งสามปลอมแปลงสำเนาบัตรประจำตัวประชาชนของโจทก์แล้วนำไปแสดงต่อเจ้าพนักงานของจำเลยที่ ๒ และที่ ๓ ที่รับจดทะเบียนการเกิดของเด็กทั้งสามว่า โจทก์ เป็นมารดาทั้งที่ไม่เป็นความจริง การกระทำของจำเลยที่ ๔ ทำให้โจทก์เสียหาย ขอให้จำเลยทั้งสี่ร่วมกันแก้ไขเปลี่ยนแปลงข้อมูลทางทะเบียนของโจทก์โดยลบหรือเพิกถอนชื่อโจทก์ออกจากสถานะมารดาของเด็กทั้งสาม ส่วนจำเลยที่ ๑ ที่ ๒ และที่ ๓ ให้การว่า การกระทำของเจ้าหน้าที่จำเลยที่ ๒ และที่ ๓ เป็นไปตามขั้นตอนที่กฎหมายกำหนดไว้ มิได้กระทำละเมิดต่อโจทก์ ฟ้องโจทก์ขาดอายุความ ดังนั้น การที่ศาลจะมีคำพิพากษาหรือคำสั่งตามคำขอของโจทก์ได้นั้น จำต้องพิจารณาให้ได้ความเสียก่อนว่า โจทก์ไม่เคยอยู่กินฉันสามีภริยากับจำเลยที่ ๔ และโจทก์ไม่ได้เป็นมารดาของเด็กทั้งสามเป็นสำคัญ แล้วจึงพิจารณาในประเด็นอื่นได้ต่อไป ข้อพิพาทในคดีนี้จึงเป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับบิดามารดากับบุตร อันอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม
จึงวินิจฉัยชี้ขาดว่า คดีระหว่างนางรัติยา ฟองจันทร์ หรือชุ่มคุมสิน โจทก์ กระทรวงมหาดไทย ที่ ๑ สำนักงานเขตบางกอกน้อย ที่ ๒ สำนักงานเทศบาลเมืองราชบุรี ที่ ๓ นายพิเชษฐ์ กุลชัยธนโรจน์ ที่ ๔ จำเลย อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม

(ลงชื่อ) ดิเรก อิงคนินันท์ (ลงชื่อ) จิรนิติ หะวานนท์
(นายดิเรก อิงคนินันท์) (นายจิรนิติ หะวานนท์)
ประธานศาลฎีกา กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลยุติธรรม

(ลงชื่อ) ปิยะ ปะตังทา (ลงชื่อ) จรัญ หัตถกรรม
(นายปิยะ ปะตังทา) (นายจรัญ หัตถกรรม)
รองประธานศาลปกครองสูงสุดคนที่หนึ่ง กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลปกครอง
ปฏิบัติหน้าที่แทนประธานศาลปกครองสูงสุด

(ลงชื่อ) พลเรือโท ปรีชาญ จามเจริญ (ลงชื่อ) พลตรี พัฒนพงษ์ เกิดอุดม
(ปรีชาญ จามเจริญ) (พัฒนพงษ์ เกิดอุดม)
หัวหน้าสำนักตุลาการทหาร กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลทหาร

(ลงชื่อ) จิระ บุญพจนสุนทร
(นายจิระ บุญพจนสุนทร)
กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ

Share