คำวินิจฉัยที่ 62/2558

แหล่งที่มา : ส่วนเลขานุการคณะกรรมการวินิจฉัยฯ

ย่อสั้น

คดีที่เจ้าของที่ดินซึ่งติดกับลำรางสาธารณประโยชน์ ผู้ฟ้องคดียื่นฟ้องอ้างว่า กรมที่ดินและเจ้าหน้าที่ รังวัดออกโฉนดที่ดินให้แก่ บริษัท น. ซึ่งเป็นเอกชน โดยรุกล้ำลำรางสาธารณประโยชน์ ขอให้เพิกถอนโฉนดที่ดิน การที่ศาลจะมีคำพิพากษาหรือคำสั่งตามคำขอของผู้ฟ้องคดีได้นั้น จำต้องพิจารณาให้ได้ความเสียก่อนว่า ที่ดินที่พิพาทเป็นลำรางสาธารณประโยชน์หรือเป็นกรรมสิทธิ์ของบริษัท น. เป็นสำคัญ แล้วจึงจะพิจารณาประเด็นอื่นได้ต่อไป จึงเป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับสิทธิในที่ดิน อันอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม

ย่อยาว

(สำเนา)

คำวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล คณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล
ที่ ๖๒/๒๕๕๘

วันที่ ๔ กันยายน ๒๕๕๘

เรื่อง คดีเกี่ยวกับสิทธิในที่ดิน

ศาลปกครองกลาง
ระหว่าง
ศาลจังหวัดนนทบุรี

การส่งเรื่องต่อคณะกรรมการ
ศาลปกครองกลางโดยสำนักงานศาลปกครองส่งเรื่องให้คณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาลวินิจฉัยชี้ขาดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล พ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๑๐ วรรคหนึ่ง (๓) ซึ่งเป็นกรณีคู่ความฝ่ายที่ถูกฟ้องโต้แย้งเขตอำนาจศาลที่รับฟ้องคดี และศาลที่ส่งความเห็นและศาลที่รับความเห็นมีความเห็นแตกต่างกันในเรื่องเขตอำนาจศาลในคดีนั้น

ข้อเท็จจริงในคดี
เมื่อวันที่ ๒๕ กรกฎาคม ๒๕๕๗ นายเรืองฤทธิ์ โตสวัสดิ์ ผู้ฟ้องคดี ยื่นฟ้อง เจ้าพนักงานที่ดินจังหวัดนนทบุรี สาขาบางบัวทอง ที่ ๑ กรมที่ดิน ที่ ๒ นายอำเภอบางบัวทอง ที่ ๓ เทศบาลเมืองบางบัวทอง ที่ ๔ กรมเจ้าท่า ที่ ๕ บริษัทนารายณ์พร็อพเพอร์ตี้ จำกัด ที่ ๖ ผู้ถูกฟ้องคดี ต่อศาลปกครองกลาง เป็นคดีหมายเลขดำที่ ๑๐๑๑/๒๕๕๗ ความว่า ผู้ฟ้องคดีเป็นเจ้าของที่ดินโฉนดเลขที่ ๘๑๕๘๓ สภาพปัจจุบันติดลำรางสาธารณประโยชน์ ผู้ฟ้องคดีได้รับหนังสือจากผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ ให้ไประวังชี้แนวเขตและลงชื่อรับรองแนวเขตที่ดินหรือคัดค้านการรังวัดในกรณีที่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๖ ได้ยื่นคำขอรังวัดรวมโฉนดที่ดิน ซึ่งผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ เห็นว่าที่ดินของผู้ฟ้องคดีไม่มีแนวเขตติดต่อลำรางสาธารณประโยชน์ แต่มีแนวเขตติดต่อกับที่ดินของผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๖ ซึ่งยังมีหลักเขตที่ดินเดิมครบทุกหลัก ส่วนลำรางสาธารณประโยชน์อยู่มุมด้านใต้ ไม่ปรากฏว่ามีการรุกล้ำ ต่อมาผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ มีหนังสือแจ้งว่า ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๓ ที่ ๔ และที่ ๕ ยืนยันว่าพื้นที่ที่ผู้ฟ้องคดีอ้างว่าเป็นลำรางสาธารณประโยชน์นั้น มีสภาพเป็นร่องน้ำที่ใช้ประโยชน์ในการทำสวน ไม่เป็นที่สาธารณประโยชน์ แต่ผู้ฟ้องคดีซื้อบ้านในโครงการบ้านบุศรินทร์บางบัวทอง ที่ดินและสิ่งปลูกสร้างอยู่มุมด้านทิศใต้และอยู่อาศัยมาตั้งแต่ปี ๒๕๓๖ ถึงปัจจุบัน มีแนวเขตติดกับลำรางสาธารณประโยชน์ซึ่งมีอยู่ก่อนแล้ว ราษฎรในพื้นที่ใช้เป็นที่ระบายน้ำมาตลอด ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๔ เล็งเห็นถึงความสำคัญของลำรางสาธารณประโยชน์แห่งนี้ จึงทำการขุดลอกสิ่งกีดขวาง เมื่อประมาณกลางปี ๒๕๕๕ ผู้ฟ้องคดีได้รับความเดือดร้อนเสียหายจากการที่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ ออกโฉนดที่ดินแปลงดังกล่าวรุกล้ำลำรางสาธารณประโยชน์ ขอให้ศาลมีคำพิพากษาหรือมีคำสั่งให้เพิกถอนโฉนดที่ดินของบริษัทนารายณ์พร็อพเพอร์ตี้ จำกัด ในส่วนที่รุกล้ำลำรางสาธารณประโยชน์
ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ ให้การว่า โฉนดที่ดินเลขที่ ๕๙๕ ปัจจุบันมีชื่อผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๖ เป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์ ไม่ปรากฏว่าที่ดินส่วนนี้มีลำรางสาธารณประโยชน์หรือคลองสาธารณประโยชน์คั่นแต่อย่างใด ปัจจุบันผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๖ ได้ยกเลิกเรื่องรังวัดรวมโฉนดที่ดินที่เป็นกรณีพิพาทไปแล้ว
ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ ให้การว่า ไม่สามารถรับฟังเป็นที่ยุติได้ว่าที่ดินพิพาทที่ผู้ฟ้องคดีกล่าวอ้างเป็นลำรางสาธารณประโยชน์ที่ประชาชนใช้ประโยชน์ร่วมกัน ภายหลังจากที่มีการออกโฉนดแล้วจนเป็นลำรางสาธารณประโยชน์โดยอายุความ หรือเป็นร่องน้ำที่ใช้ประโยชน์ในการทำสวนของเจ้าของที่ดินเดิม เพราะขณะนี้อยู่ระหว่างตรวจสอบข้อเท็จจริงกรณีจึงยังไม่มีเหตุที่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ จะต้องดำเนินการแก้ไขหรือเพิกถอนตามมาตรา ๖๑ แห่งประมวลกฎหมายที่ดิน ประกอบกับปัจจุบันผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๖ ได้ยกเลิกเรื่องรังวัดรวมโฉนดที่ดินที่แปลงพิพาทไปแล้ว ที่พิพาทกลับไปสู่สภาพเดิม
ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๓ ให้การว่า แม้ว่าเอกสารสิทธิโฉนดที่ดินจะระบุว่าบริเวณที่ดินพิพาทดังกล่าวไม่เป็นลำรางสาธารณประโยชน์ แต่จากการตรวจสอบสภาพพื้นที่จริง และสอบถึงประวัติการใช้ประโยชน์ที่ดินบริเวณดังกล่าวแล้วพบว่า มีประวัติการใช้ประโยชน์ของลำรางสาธารณประโยชน์ ประกอบกับผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๔ ได้มีการดำเนินโครงการต่างๆ กับลำรางมาโดยตลอด จึงเชื่อได้ว่าบริเวณดังกล่าวเป็นลำรางสาธารณประโยชน์จริง
ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๔ ให้การว่า ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๔ ได้ร่วมกันตรวจสอบสภาพพื้นที่กับผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๓ และที่ ๕ เมื่อปี ๒๕๕๕ ไม่ปรากฏว่าที่ดินส่วนนี้เป็นลำรางหรือคลองสาธารณประโยชน์แต่อย่างใด
ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๕ ให้การว่า เอกสารสิทธิที่ดินพิพาทโฉนดเลขที่ ๘๑๕๘๓ ของผู้ฟ้องคดี ไม่มีแนวเขตติดต่อลำรางสาธารณประโยชน์
ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๖ ให้การว่า การที่ผู้ฟ้องคดีอ้างว่าที่ดินของผู้ฟ้องคดีอยู่ติดกับลำรางสาธารณประโยชน์โดยอาศัยเพียงเอกสารผังการจัดสรรที่ดินที่จัดทำโดยเอกชนในคำฟ้องของผู้ฟ้องคดี และรูปแผนที่แนวลำรางสาธารณประโยชน์ที่ผู้ฟ้องคดีจัดทำขึ้นเองในคำฟ้องของผู้ฟ้องคดี จึงเป็นการกล่าวอ้างอย่างลอยๆ ขัดแย้งกับเอกสารของทางราชการที่ปรากฏชัดว่าพื้นที่พิพาทไม่ใช่ลำรางสาธารณประโยชน์ การที่เจ้าพนักงานที่ดินออกโฉนดที่ดินเลขที่ ๕๙๕ ชอบด้วยกฎหมายแล้ว ผู้ฟ้องคดีไม่มีอำนาจฟ้อง
ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ ยื่นคำร้องโต้แย้งเขตอำนาจศาลว่า คดีนี้เป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับสิทธิในที่ดิน อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม
ศาลปกครองกลางพิจารณาแล้ว เห็นว่า เหตุแห่งการฟ้องคดีนี้สืบเนื่องจากผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ มีหนังสือให้ผู้ฟ้องคดีมาลงชื่อรับรองแนวเขตที่ดินหรือคัดค้านการรังวัด โดยผู้ฟ้องคดีได้ยื่นหนังสือชี้แจงว่าที่ดินของผู้ฟ้องคดีตามโฉนดที่ดินเลขที่ ๘๑๕๘๓ สภาพปัจจุบันติดลำรางสาธารณประโยชน์ จึงเป็นหน้าที่ของเจ้าพนักงานปกครองท้องถิ่นที่จะมาทำการระวังชี้แนวเขตและลงชื่อรับรองแนวเขตที่ดิน ไม่ใช่หน้าที่ของผู้ฟ้องคดี และขอคัดค้านหากมีการรังวัดที่ดินรุกล้ำลำรางสาธารณประโยชน์ ต่อมาผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ มีหนังสือแจ้งว่า ที่ดินของผู้ฟ้องคดีไม่ได้มีแนวเขตติดต่อลำรางสาธารณประโยชน์แต่มีแนวเขตติดต่อกับที่ดินของผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๖ ซึ่งยังคงมีหลักเขตที่ดินเดิมครบทุกหลัก ส่วนลำรางสาธารณประโยชน์อยู่มุมด้านทิศใต้ ไม่ปรากฏว่ารุกล้ำลำรางสาธารณประโยชน์ หากผู้ฟ้องคดีมีความประสงค์ที่จะคัดค้านการรังวัดให้ยื่นคำขอคัดค้านการรังวัดดังกล่าว และผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ มีหนังสือแจ้งผู้ฟ้องคดีว่า ได้ส่งเรื่องให้หน่วยงานผู้ดูแลรักษาที่สาธารณประโยชน์แล้ว ต่อมา ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ มีหนังสือแจ้งผู้ฟ้องคดีว่า ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๓ ที่ ๔ และที่ ๕ โดยผู้อำนวยการสำนักงานเจ้าท่าภูมิภาคสาขานนทบุรี ผู้มีอำนาจดูแลรักษา และดำเนินการคุ้มครองป้องกันตามกฎหมาย ได้ร่วมกันตรวจสอบข้อเท็จจริงยืนยันว่าพื้นที่ที่ผู้ฟ้องคดีอ้างว่าเป็นลำรางสาธารณประโยชน์นั้น มีสภาพเป็นร่องน้ำที่ใช้ประโยชน์ในการทำสวนตามสภาพพื้นที่ไม่เป็นที่สาธารณประโยชน์ ผู้ฟ้องคดีเห็นว่าการออกโฉนดที่ดินให้แก่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๖ นั้น ทับลำรางสาธารณประโยชน์ ซึ่งลำรางสาธารณประโยชน์นี้ ผู้ฟ้องคดีและราษฎรในพื้นที่ใช้เป็นที่ระบายน้ำมาตลอด ผู้ฟ้องคดีจึงได้รับความเดือดร้อนหรือเสียหายจากการกระทำของเจ้าหน้าที่ของรัฐ โดยผู้ฟ้องคดีมีคำขอท้ายฟ้องขอให้เพิกถอนโฉนดที่ดินของผู้ถูกฟ้องคดี ๖ ในส่วนที่รุกล้ำลำรางสาธารณะ จึงเป็นกรณีโต้แย้งเกี่ยวกับการออกโฉนดที่ดินโดยมิชอบด้วยกฎหมาย มิใช่คดีที่เกี่ยวกับสิทธิในที่ดินแต่อย่างใด ดังนั้น คดีนี้จึงไม่ใช่คดีพิพาทเกี่ยวกับสิทธิในที่ดินระหว่างเอกชนด้วยกันเอง แต่เป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับการที่หน่วยงานทางปกครองและเจ้าหน้าที่ของรัฐกระทำการโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย อันอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครอง ตามมาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๑) แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ คดีจึงอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครอง
ศาลจังหวัดนนทบุรีพิจารณาแล้ว เห็นว่า คดีนี้ผู้ฟ้องคดีอ้างว่า ที่ดินของผู้ฟ้องคดีมีแนวเขตติดกับลำรางสาธารณประโยชน์ ซึ่งผู้ฟ้องคดีรวมทั้งราษฎรรายอื่นๆ ใช้ประโยชน์เป็นทางระบายน้ำ ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ ออกโฉนดที่ดินให้แก่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๖ โดยรุกล้ำลำรางสาธารณประโยชน์ดังกล่าว ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ ที่ ๒ ที่ ๔ ที่ ๕ และที่ ๖ ให้การทำนองเดียวกันว่า ที่ดินพิพาทไม่มีสภาพเป็นลำรางหรือคลองสาธารณประโยชน์ ส่วนผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๓ ให้การว่า เชื่อว่าที่พิพาทเป็นลำรางสาธารณประโยชน์ ดังนี้ การที่ศาลจะมีคำพิพากษาหรือคำสั่งตามคำขอของผู้ฟ้องคดีได้นั้น จำต้องพิจารณาให้ได้ความก่อนว่า ที่ดินพิพาทเป็นลำรางสาธารณประโยชน์ อันเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินที่พลเมืองใช้ร่วมกัน หรือเป็นที่ดินที่บุคคลสามารถยึดถือเพื่อตนอันเป็นการก่อให้เกิดสิทธิครอบครองได้ แล้วจึงจะพิจารณาประเด็นอื่นได้ต่อไป จึงเป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับสิทธิในที่ดิน ซึ่งอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม

คำวินิจฉัย
ปัญหาที่ต้องพิจารณา คดีนี้อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรมหรือศาลปกครอง
คณะกรรมการพิจารณาแล้วเห็นว่า คดีนี้ แม้ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ และที่ ๓ จะเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐ และผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ ที่ ๔ และที่ ๕ จะเป็นหน่วยงานทางปกครอง ตามมาตรา ๓ แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ ก็ตาม แต่เมื่อพิจารณาข้อเท็จจริงตามคำฟ้อง ผู้ฟ้องคดีอ้างว่า ผู้ฟ้องคดีเป็นเจ้าของที่ดินโฉนดเลขที่ ๘๑๕๘๓ ติดลำรางสาธารณประโยชน์ ซึ่งผู้ฟ้องคดีรวมทั้งราษฎรรายอื่นๆ ใช้ประโยชน์เป็นทางระบายน้ำ แต่ถูกผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ รังวัดออกโฉนดที่ดินให้แก่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๖ รุกล้ำลำรางสาธารณประโยชน์ ขอให้ศาลมีคำพิพากษาหรือมีคำสั่งให้เพิกถอนโฉนดที่ดินของผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๖ ในส่วนที่รุกล้ำลำรางสาธารณประโยชน์ ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ ที่ ๒ และที่ ๔ ถึงที่ ๖ ให้การสอดคล้องกันว่า ไม่ปรากฏว่าที่ดินพิพาทเป็นลำรางสาธารณประโยชน์ที่ประชาชนใช้ประโยชน์ร่วมกัน การออกโฉนดเจ้าพนักงานที่ดินชอบด้วยกฎหมายแล้ว ผู้ฟ้องคดีไม่มีอำนาจฟ้อง ขอให้ยกฟ้อง ส่วนผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๓ ให้การว่า มีประวัติการใช้ประโยชน์ของลำรางสาธารณประโยชน์ จึงเชื่อได้ว่าบริเวณดังกล่าวเป็นลำรางสาธารณประโยชน์ ดังนั้น การที่ศาลจะมีคำพิพากษาหรือคำสั่งตามคำขอของผู้ฟ้องคดีได้นั้น จำต้องพิจารณาให้ได้ความเสียก่อนว่า ที่ดินที่พิพาทเป็นลำรางสาธารณประโยชน์หรือเป็นกรรมสิทธิ์ของผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๖ เป็นสำคัญ แล้วจึงจะพิจารณาประเด็นอื่นได้ต่อไป จึงเป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับสิทธิในที่ดิน อันอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม

จึงวินิจฉัยชี้ขาดว่า คดีระหว่าง นายเรืองฤทธิ์ โตสวัสดิ์ ผู้ฟ้องคดี เจ้าพนักงานที่ดินจังหวัดนนทบุรี สาขาบางบัวทอง ที่ ๑ กรมที่ดิน ที่ ๒ นายอำเภอบางบัวทอง ที่ ๓ เทศบาลเมืองบางบัวทอง ที่ ๔ กรมเจ้าท่า ที่ ๕ บริษัทนารายณ์พร็อพเพอร์ตี้ จำกัด ที่ ๖ ผู้ถูกฟ้องคดี อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม

(ลงชื่อ) ดิเรก อิงคนินันท์ (ลงชื่อ) จิรนิติ หะวานนท์
(นายดิเรก อิงคนินันท์) (นายจิรนิติ หะวานนท์)
ประธานศาลฎีกา กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลยุติธรรม

(ลงชื่อ) ปิยะ ปะตังทา (ลงชื่อ) จรัญ หัตถกรรม
(นายปิยะ ปะตังทา) (นายจรัญ หัตถกรรม)
รองประธานศาลปกครองสูงสุดคนที่หนึ่ง กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลปกครอง
ปฏิบัติหน้าที่แทนประธานศาลปกครองสูงสุด

(ลงชื่อ) พลเรือโท ปรีชาญ จามเจริญ (ลงชื่อ) พลตรี พัฒนพงษ์ เกิดอุดม
(ปรีชาญ จามเจริญ) (พัฒนพงษ์ เกิดอุดม)
หัวหน้าสำนักตุลาการทหาร กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลทหาร

(ลงชื่อ) จิระ บุญพจนสุนทร
(นายจิระ บุญพจนสุนทร)
กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ

Share