คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 893/2535

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

การฟ้องคดีเรื่องจดทะเบียนแบ่งแยกกรรมสิทธิ์ที่ดินกับเรื่องละเมิดและเรียกค่าเสียหายที่จำเลยนำบ้านซึ่งปลูกอยู่บนที่ดินดังกล่าวออกให้เช่าเป็นคนละเรื่องมิได้เกี่ยวเนื่องกันเมื่อโจทก์มอบอำนาจให้ ย. ดำเนินคดีเฉพาะเรื่องจดทะเบียนแบ่งแยกที่ดิน ไม่ได้มอบอำนาจให้ฟ้องคดีเรื่องละเมิดและเรียกค่าเสียหาย แม้โจทก์จะเบิกความว่าได้ให้ ย. ดำเนินคดีเกี่ยวกับละเมิดและเรียกค่าเสียหายด้วยก็จะฟังคำเบิกความดังกล่าวเป็นการให้สัตยาบันตามกฎหมายหาได้ไม่ คำฟ้องเรื่องละเมิดและเรียกค่าเสียหายจึงเป็นคำฟ้องที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย คดีก่อนศาลวินิจฉัยเพียงว่า ตามคำฟ้องโจทก์ยังไม่ปรากฏว่ามีการโต้แย้งสิทธิของโจทก์ มิได้วินิจฉัยประเด็นแห่งคดีที่ว่าโจทก์เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์รวมหรือไม่ ศาลยังไม่ได้วินิจฉัยในประเด็นแห่งคดีที่ได้วินิจฉัยโดยอาศัยเหตุอย่างเดียวกันฟ้องโจทก์คดีนี้จึงไม่เป็นฟ้องซ้ำ โจทก์ขอแบ่งสัดส่วนในที่ดินและบ้านพิพาทซึ่งเป็นกรรมสิทธิ์รวมตามข้อตกลงที่ทำขึ้นระหว่างโจทก์จำเลยโดยขอให้จำเลยจดทะเบียนแบ่งแยกให้ เป็นการแบ่งแยกกรรมสิทธิ์รวม ซึ่งจำเลยในฐานะผู้เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์รวมจะต้องดำเนินการทางทะเบียนด้วย เมื่อจำเลยไม่ยอมดำเนินการดังกล่าวถือได้ว่าจำเลยโต้แย้งสิทธิของโจทก์ โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องจำเลยให้แบ่งกรรมสิทธิ์รวมได้

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์มอบอำนาจให้นางเยาวลักษณ์ ขอศานติดำเนินคดีแทน เดิมโฉนดที่ดินเลขที่ 1287 เป็นกรรมสิทธิ์ร่วมกันระหว่างนางหมิก แซ่ก่ำ หรือ แซ่แต่ กับจำเลย และบ้านเลขที่ 100ซึ่งปลูกบนที่ดินดังกล่าวเป็นกรรมสิทธิ์ของนางหมิก ต่อมาวันที่20 กรกฎาคม 2522 นางหมิกได้ทำพินัยกรรมยกที่ดินส่วนของตนให้โจทก์และยกบ้านดังกล่าวให้โจทก์กับจำเลยคนละครึ่งหนึ่งวันที่ 28 มิถุนายน 2527 นางหมิกถึงแก่ความตาย วันที่ 3ตุลาคม 2527 โจทก์และจำเลยทำบันทึกข้อตกลงเกี่ยวกับที่ดินว่าจำเลยยินยอมให้โจทก์จดทะเบียนรับโอนที่ดินส่วนของนางหมิกจำนวน 27.75 ส่วนจากจำนวน 37 ส่วนเป็นของโจทก์ หลังจากนั้นจำเลยได้นำบ้านเลขที่ 100 ให้ผู้อื่นเช่าตั้งแต่ต้นเดือนเมษายน2530 ได้ค่าเช่าเดือนละไม่ต่ำกว่า 4,000 บาท ซึ่งโจทก์มีสิทธิในค่าเช่าดังกล่าว 2 ใน 3 ส่วนในฐานะผู้ถือกรรมสิทธิ์ร่วมกับจำเลย โจทก์ได้ติดต่อให้จำเลยแบ่งแยกกรรมสิทธิ์ที่ดินและบ้านแต่จำเลยเพิกเฉย วันที่ 1 กรกฎาคม 2530 โจทก์มอบหมายให้ทนายไปยื่นคำร้องขอแบ่งกรรมสิทธิ์รวมที่สำนักงานที่ดินจังหวัดภูเก็ตแต่ไม่สามารถกระทำได้โดยเจ้าพนักงานที่ดินแจ้งว่าจะต้องทำร่วมกันระหว่างผู้ถือกรรมสิทธิ์ทุกคน โจทก์จึงมีหนังสือบอกกล่าวให้จำเลยไปจดทะเบียนแบ่งแยกกรรมสิทธิ์รวมที่ดินและบ้าน แต่จำเลยเพิกเฉย ขอศาลพิพากษาให้จำเลยไปจดทะเบียนแบ่งกรรมสิทธิ์รวมที่ดินโฉนดเลขที่ 1287 จำนวน 27.75 ส่วน และบ้านเลขที่ 100จำนวน 1 ใน 2 ส่วนให้โจทก์ หากจำเลยไม่ปฏิบัติตามให้ถือเอาคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนาของจำเลย ถ้าการจดทะเบียนแบ่งกรรมสิทธิ์รวมเป็นเหตุสุดวิสัยที่จะกระทำได้หรือถ้าแบ่งไปเสียหายมากหรือไม่เป็นที่ตกลงกันได้ให้นำทรัพย์ออกประมูลราคากันระหว่างเจ้าของกรรมสิทธิ์รวม ถ้าหากราคาสูงสุดที่ได้จากการประมูลระหว่างเจ้าของกรรมสิทธิ์รวมเป็นราคาที่ตกลงกันไม่ได้ ให้นำทรัพย์ออกขายทอดตลาดแล้วแบ่งเงินให้โจทก์ตามส่วนของทรัพย์ที่โจทก์มีสิทธิได้รับ ให้จำเลยชำระเงินจำนวน 10,729.68 บาทพร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปีของเงินจำนวน 10,500 บาทนับถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จ และอีกเดือนละ 3,000 บาทพร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปีนับแต่วันฟ้องตลอดเวลาที่ยังมีการเช่าบ้านเลขที่ 100 จนกว่าจำเลยจะชำระครบถ้วนแก่โจทก์
จำเลยให้การว่า โจทก์มอบอำนาจให้นางเยาวลักษณ์ดำเนินคดีฐานจดทะเบียนแบ่งแยกกรรมสิทธิ์โฉนดที่ดินเลขที่ 1287เท่านั้น นางเยาวลักษณ์จึงไม่มีอำนาจฟ้องจำเลยในข้อหาละเมิดและเรียกค่าเสียหาย ฟ้องคดีนี้ซ้ำกับคดีหมายเลขแดงที่ 315/2529ของศาลจังหวัดภูเก็ต โจทก์เป็นผู้จัดการมรดกของนางหมิกโจทก์ชอบที่จะแบ่งแยกโฉนดที่ดินได้เอง และโจทก์มีสิทธิเข้าอยู่อาศัยในบ้านได้ในฐานะที่โจทก์กับจำเลยมีส่วนร่วมกันแต่โจทก์ไม่กระทำ จำเลยจึงไม่ได้โต้แย้งสิทธิของโจทก์ จำเลยให้ผู้อื่นเช่าบ้านตามสิทธิของจำเลย โจทก์ไม่มีสิทธิเรียกค่าเสียหายจากจำเลย ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยไปจดทะเบียนแบ่งกรรมสิทธิ์รวมในที่ดินโฉนดเลขที่ 1287 จำนวน 27.75 ส่วนจากจำนวน 37 ส่วนและบ้านเลขที่ 100 จำนวน 1 ใน 2 ส่วนจากจำนวนทั้งหมดให้โจทก์หากจำเลยไม่ปฏิบัติตามให้ถือเอาตามคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนาของจำเลย ถ้าไม่สามารถจดทะเบียนแบ่งกรรมสิทธิ์รวมได้หรือถ้าแบ่งไปจะเสียหายมากหรือไม่เป็นที่ตกลงกันได้ให้นำที่ดินและบ้านดังกล่าวออกประมูลขายระหว่างโจทก์และจำเลยถ้าราคาสูงสุดที่ได้จากการประมูลเป็นราคาที่ตกลงกันไม่ได้ให้นำทรัพย์ดังกล่าวออกขายทอดตลาดแล้วนำเงินที่ได้จากการขายทอดตลาดแบ่งกันระหว่างโจทก์และจำเลยตามส่วนในที่ดินและบ้านที่โจทก์และจำเลยมีสิทธิในฐานะเจ้าของรวม ให้จำเลยชำระเงิน 2,625 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปีของเงินจำนวนดังกล่าวนับแต่เดือนเมษายน 2530 จนถึงวันฟ้องและอีกเดือนละ 750 บาท ตราบเท่าที่ยังมีการเช่าบ้านดังกล่าวจนกว่าจำเลยจะไปจดทะเบียนแบ่งแยกบ้านให้โจทก์ คำขอนอกจากนี้ให้ยก จำเลยอุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกคำพิพากษาศาลชั้นต้นที่ให้จำเลยชำระเงิน 2,625 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปีของต้นเงินจำนวนดังกล่าวนับแต่เดือนเมษายน 2530 จนถึงวันฟ้องและอีกเดือนละ 750 บาท ตราบเท่าที่ยังมีการเช่าบ้านดังกล่าวจนกว่าจำเลยจะไปจดทะเบียนแบ่งแยกบ้านให้โจทก์ นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น โจทก์และจำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “คดีมีปัญหาจะต้องวินิจฉัยว่า ฟ้องโจทก์เรื่องละเมิดและเรียกค่าเสียหายชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ โจทก์ฎีกาว่าแม้โจทก์มอบอำนาจให้นางเยาวลักษณ์ดำเนินคดีเฉพาะเรื่องจดทะเบียนแบ่งแยกกรรมสิทธิ์ที่ดินโฉนดที่ 1287เท่านั้นตามที่ปรากฏในเอกสารหมาย จ.2 แต่โจทก์ซึ่งเป็นผู้มอบอำนาจก็ได้มาเบิกความเป็นพยานว่าได้ให้นางเยาวลักษณ์ดำเนินคดีเกี่ยวกับละเมิดและเรียกค่าเสียหายจากจำเลยด้วย จึงเท่ากับเป็นการให้สัตยาบันแก่การกระทำของนางเยาวลักษณ์จึงผูกพันโจทก์ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 823 นั้นเห็นว่า การฟ้องคดีเรื่องจดทะเบียนแบ่งแยกกรรมสิทธิ์ที่ดินกับเรื่องละเมิดและเรียกค่าเสียหายเป็นคนละเรื่องมิได้เกี่ยวเนื่องกันเมื่อโจทก์ไม่ได้มอบอำนาจให้นางเยาวลักษณ์ฟ้องคดีเรื่องละเมิดและเรียกค่าเสียหาย ดังนี้จะฟังคำเบิกความของโจทก์ดังกล่าวมาข้างต้นเป็นการให้สัตยาบันตามกฎหมายหาได้ไม่คำฟ้องละเมิดและเรียกค่าเสียหายเป็นคำฟ้องที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย ฎีกาโจทก์ข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
คดีมีปัญหาจะต้องวินิจฉัยต่อไปว่า โจทก์มีสิทธิฟ้องขอให้แบ่งที่ดินกรรมสิทธิ์รวมหรือไม่ ที่จำเลยฎีกาว่า คำฟ้องโจทก์เป็นฟ้องซ้ำกับคดีหมายเลขแดงที่ 315/2529 นั้น เห็นว่าตามคดีหมายเลขแดงดังกล่าวศาลชั้นต้นยังมิได้วินิจฉัยประเด็นแห่งคดีที่ว่าโจทก์เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์รวมหรือไม่ วินิจฉัยเพียงว่าตามคำฟ้องโจทก์ยังไม่ปรากฏว่ามีการโต้แย้งสิทธิของโจทก์ เพราะฉะนั้นจึงฟังได้ว่าศาลชั้นต้นยังไม่ได้วินิจฉัยในประเด็นแห่งคดีที่ได้วินิจฉัยโดยอาศัยเหตุอย่างเดียวกัน ฟ้องโจทก์จึงไม่เป็นฟ้องซ้ำ และที่จำเลยฎีกาว่า จำเลยไม่ได้โต้แย้งสิทธิของโจทก์ หากเป็นกรณีที่เจ้าพนักงานที่ดินจังหวัดภูเก็ตโต้แย้งสิทธิของโจทก์ โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องจำเลยนั้นเห็นว่า การที่บันทึกข้อตกลงบรรยายสัดส่วนระหว่างโจทก์กับจำเลยตามเอกสารหมาย จ.5 นั้น เป็นข้อตกลงในการมีกรรมสิทธิ์รวมการที่โจทก์ขอแบ่งเป็นสัดส่วนโดยจดทะเบียนแบ่งแยกนั้นเป็นการแบ่งแยกกรรมสิทธิ์รวม ซึ่งจำเลยในฐานะผู้เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์รวมจะต้องดำเนินการทางทะเบียนด้วย เมื่อจำเลยไม่ยอมดำเนินการดังกล่าวก็ถือว่าจำเลยได้โต้แย้งสิทธิของโจทก์ แม้จำเลยจะอ้างพินัยกรรมเอกสารหมาย จ.6 ก็ไม่เป็นผลที่จะทำให้ฟังได้ว่าจำเลยไม่ได้โต้แย้งสิทธิของโจทก์ ดังนั้นจึงฟังได้ว่า โจทก์มีอำนาจฟ้องจำเลย และมีสิทธิฟ้องขอให้แบ่งที่ดินกรรมสิทธิ์รวม คำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 3 ชอบแล้ว”
พิพากษายืน

Share