แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ
ย่อสั้น
โจทก์ยื่นบัญชีระบุพยานเพิ่มเติมหลังจากเสร็จการสืบพยานจำเลยซึ่งมีหน้าที่นำสืบก่อนโดยมิได้อ้างเหตุตาม ป.วิ.พ. มาตรา 88ศาลชั้นต้น (ศาลแรงงานกลาง) มีคำสั่งอนุญาต สำเนาให้จำเลย และทนายจำเลยได้รับสำเนาแล้ว คำสั่งดังกล่าวเป็นคำสั่งระหว่างพิจารณาเมื่อจำเลยไม่ได้โต้แย้งไว้ จึงยกขึ้นอุทธรณ์คัดค้านไม่ได้ ต้องห้าม ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 226 ประกอบ พ.ร.บ. จัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. 2522 มาตรา 31 ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย.
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า จำเลยจ้างโจทก์เข้าทำงานเป็นลูกจ้าง ทำหน้าที่แผนกช่างได้รับค่าจ้างอัตราสุดท้ายวันละ 105 บาท ต่อมาจำเลยเลิกจ้างโจทก์โดยโจทก์ไม่มีความผิด ขอให้บังคับจำเลยจ่ายค่าจ้างค้างจ่ายจำนวน 840 บาท เงินประกันจำนวน 200 บาท และค่าชดเชยจำนวน9,450 บาท แก่โจทก์
จำเลยให้การว่า จำเลยไม่เคยเลิกจ้างโจทก์ แต่โจทก์ได้ลาออกจากงานเองโจทก์ไม่มีสิทธิได้รับค่าชดเชย จำเลยค้างจ่ายค่าจ้างแก่โจทก์ 840 บาท จริงเนื่องจากโจทก์ปฏิเสธที่จะไม่รับเงินจำนวนดังกล่าวเอง จำเลยเรียกเก็บเงินประกันจำนวน 200 บาท ไว้จากโจทก์ เนื่องจากจำเลยมีข้อตกลงกับโจทก์ว่าหากโจทก์ทำงานไม่ครบ1 ปี หรือโจทก์ลาออกจากงานโดยไม่แจ้งให้จำเลยทราบเป็นหนังสือล่วงหน้า 1 เดือนแล้ว จำเลยมีสิทธิริบเงินประกันจำนวนดังกล่าวโจทก์ลาออกโดยไม่แจ้งจำเลยทราบเป็นหนังสือล่วงหน้า 1 เดือนโจทก์ไม่มีสิทธิได้รับเงินดังกล่าวคืน ขอให้ยกฟ้อง
ศาลแรงงานกลางพิพากษาให้จำเลยจ่ายค่าจ้างค้างจ่ายจำนวน840 บาท ค่าชดเชยจำนวน 9,450 บาท และคืนเงินประกันจำนวน 200บาท แก่โจทก์
จำเลยอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า “จำเลยอุทธรณ์ข้อแรกว่าศาลแรงงานกลางฟังข้อเท็จจริงนอกสำนวนโดยรับฟังคำเบิกความของนายยุทธนา นุชนารถ พยานโจทก์ ไม่ชอบด้วยกฎหมายเนื่องจากจำเลยได้แถลงหมดพยานจำเลยเมื่อวันที่ 9 ตุลาคม 2534 เวลา 9 นาฬิกาแต่โจทก์ยื่นบัญชีระบุพยานเพิ่มเติมเมื่อวันที่ 9 ตุลาคม 2534 เวลา10 นาฬิกาเศษ อันเป็นเวลาภายหลังที่จำเลยซึ่งมีหน้าที่นำสืบก่อนได้เสร็จการสืบพยานหลักฐานของจำเลยแล้ว โดยไม่ชี้แจงเหตุอันสมควรแสดงว่าโจทก์ไม่สามารถทราบได้ว่าต้องนำนายยุทธนามาสืบเพื่อประโยชน์ของโจทก์ หรือไม่ทราบว่านายยุทธนามีอยู่หรือมีเหตุอันสมควรอื่นใด เพื่อขออนุญาตต่อสาลอ้างพยานตามบัญชีระบุพยานเพิ่มเติมดังกล่าว จึงเป็นการต้องห้ามมิให้ศาลรังฟังคำเบิกความของนายยุทธนาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 87, 88 ประกอบพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงาน พ.ศ. 2522มาตรา 31 พิเคราะห์แล้วเห็นว่า โจทก์ยื่นคำร้องขอระบุพยานเพิ่มเติมลงวันที่ 9 ตุลาคม 2534 เมื่อเวลา 10.25 นาฬิกาศาลแรงงานกลางมีคำสั่งอนุญาต สำเนาให้จำเลย ทนายจำเลยได้รับสำเนาแล้วในวันเดียวกัน แต่จำเลยมิได้โต้แย้งคำสั่งของศาลแรงงานกลางไว้ ดังนี้ เมื่อศาลแรงงานกลางมีคำพิพากษาแล้วจำเลยจะยกขึ้นอุทธรณ์คัดค้านคำสั่งดังกล่าวไม่ได้ เพราะเป็นคำสั่งระหว่างพิจารณา ต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 226ประกอบพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงานพ.ศ. 2522 มาตรา 31 ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัยให้…”
พิพากษายืน.