คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1958/2544

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

การสละมรดก หมายถึง การสละส่วนของตนโดยไม่เจาะจงว่าจะให้มรดกที่สละนั้นตกได้แก่บุคคลอื่นใด เพราะมิเช่นนั้นแล้วบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1615วรรคสอง จะไม่มีผลบังคับ ดังนั้น หนังสือที่ผู้ร้องและผู้คัดค้านทำขึ้นโดยมีเจตนาจะไม่รับทรัพย์มรดกของผู้ตาย โดยจะยกให้ ด. ผู้เดียว จึงมิใช่เป็นการสละมรดก ผู้ร้องจึงมีสิทธิยื่นคำร้องขอเป็นผู้จัดการมรดกผู้ตายได้

ย่อยาว

ผู้ร้องยื่นคำร้องขอให้มีคำสั่งตั้งผู้ร้องเป็นผู้จัดการมรดกของนางระเบียบ สินหนัง ผู้ตาย

ผู้คัดค้านยื่นคำร้องคัดค้านว่า ผู้คัดค้านเป็นสามีผู้ตายผู้ร้องไม่เหมาะสมที่จะเป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตาย เนื่องจากผู้ร้องยักยอกทรัพย์มรดกเครื่องประดับ เครื่องเพชร และทองรูปพรรณของผู้ตาย และเบิกความเท็จต่อศาลเยาวชนและครอบครัวกลาง ขอให้ยกคำร้องขอและตั้งผู้คัดค้านเป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตาย

ศาลชั้นต้นมีคำสั่งตั้งนางนวม เม้ยชม ผู้ร้องเป็นผู้จัดการมรดกของนางระเบียบ สินหนัง ผู้ตาย โดยให้มีสิทธิและหน้าที่ตามกฎหมาย ยกคำร้องคัดค้านของผู้คัดค้าน

ผู้คัดค้านอุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน

ผู้คัดค้านฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “มีปัญหาวินิจฉัยในเบื้องต้นว่า ผู้ร้องมีสิทธิยื่นคำร้องขอเป็นผู้จัดการมรดกของนางระเบียบ สินหนังผู้ตายหรือไม่ ผู้คัดค้านฎีกาว่า ผู้ร้องสละมรดกของผู้ตายแล้วผู้ร้องจึงไม่มีสิทธิยื่นคำร้องขอเป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตาย เห็นว่าการสละมรดก หมายถึง การสละส่วนของตนโดยไม่เจาะจงว่าจะให้มรดกที่สละนั้นตกได้แก่บุคคลอื่นใด เพราะมิเช่นนั้นแล้วบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1615วรรคสอง จะไม่มีผลบังคับ ดังนั้น สำเนาหนังสือตามเอกสารหมายค.1 ที่ผู้ร้องและผู้คัดค้านทำขึ้นโดยมีเจตนาจะไม่รับทรัพย์มรดกของผู้ตายโดยจะยกให้เด็กหญิงดาวบรรจง สินหนัง แต่ผู้เดียวแต่ผู้ร้องและผู้คัดค้านยังประสงค์จะเป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตายอยู่ จึงมิใช่เป็นการสละมรดกดังที่ผู้คัดค้านฎีกา ผู้ร้องจึงมีสิทธิยื่นคำร้องขอเป็นผู้จัดการมรดกผู้ตายได้”

พิพากษายืน

Share