แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
โจทก์ตกลงกับจำเลยที่ 1 ทำสัญญาเข้าเป็นหุ้นส่วนกันในการสร้างอาคารพาณิชย์บนที่ดินของโจทก์ โดยจำเลยที่ 1 เป็นผู้ออกค่าใช้จ่ายในการสร้างอาคาร ต่อมาสัญญาระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 เลิกโดยปริยาย คู่สัญญาจึงต้องกลับคืนสู่ฐานะดังที่เป็นอยู่เดิมเสมือนดังว่ามิได้มีสัญญาต่อกันเลยตาม ป.พ.พ. มาตรา 391 วรรคหนึ่ง จำเลยที่ 1 ต้องคืนที่ดินแก่โจทก์ ส่วนเงินค่าก่อสร้างบ้านที่โจทก์เป็นผู้ชำระมิใช่ค่าการงานที่จำเลยที่ 1 ได้ทำให้แก่โจทก์อันโจทก์จะต้องรับผิด กับค่าตอกเสาเข็มที่จำเลยที่ 1 กระทำไม่เป็นประโยชน์ต่อโจทก์ในการที่โจทก์จะสร้างอาคารใหม่ จึงไม่ใช่การงานที่ควรค่าอันโจทก์จะต้องรับผิดชดใช้เงินเป็นค่าแห่งการงานตอกเสาเข็มแก่จำเลยที่ 1
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้เพิกถอนรายการจดทะเบียนขายที่ดินโฉนดเลขที่ ๖๘๖๓ ของโจทก์ และเพิกถอนรายการจดทะเบียนแบ่งแยกโฉนดที่ดินในนามเดิมของจำเลยที่ ๓ ดังกล่าว กับให้จำเลยทั้งสี่ร่วมกันคืนโฉนดที่ดินเลขที่ ๖๘๖๓ แก่โจทก์ หากคืนไม่ได้ขอให้มีคำสั่งให้เจ้าพนักงานที่ดินออกใบแทนโฉนดที่ดินแก่โจทก์
จำเลยที่ ๑ ที่ ๒ และที่ ๓ ให้การและจำเลยที่ ๑ กับจำเลยที่ ๓ ฟ้องแย้งว่าจำเลยที่ ๑ ทำสัญญาเข้าเป็นหุ้นส่วนกับโจทก์ตามฟ้องจริง แต่ฝ่ายจำเลยมิได้เป็นฝ่ายผิดสัญญา จำเลยที่ ๑ กับจำเลยที่ ๓ เข้ามาเป็นหุ้นส่วนกันทำสัญญากับโจทก์เพื่อสร้างอาคารพาณิชย์ในที่ดินของโจทก์มีข้อตกลงกันว่าโจทก์จะโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินของโจทก์ให้แก่จำเลยที่ ๑ และที่ ๓ เพื่อนำไปดำเนินการแบ่งแยกและขออนุญาตต่อทางราชการ โดยโจทก์ลงชื่อในหนังสือมอบอำนาจให้แก่จำเลยที่ ๑ และที่ ๓ ไปจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินเป็นของจำเลยที่ ๑ และที่ ๓ ฝ่ายจำเลยจึงมอบอำนาจให้จำเลยที่ ๒ ซึ่งเป็นลูกจ้างไปจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินของโจทก์มาเป็นของจำเลยที่ ๓ ต่อมาจำเลยที่ ๓ ยื่นคำร้องขอแบ่งแยกที่ดินออกจากโฉนดที่ดินเดิม ๗ แปลง และสร้างบ้านให้แก่โจทก์ ๑ หลัง โดยจำเลยที่ ๑ และที่ ๓ เป็นฝ่ายออกเงิน ๒๐๐,๐๐๐ บาท ตามสัญญา จำเลยที่ ๑ และที่ ๓ ปรับถมดินในที่ดินของโจทก์ ลงเสาเข็มเพื่อสร้างอาคารพาณิชย์ แต่ระหว่างดำเนินการตามสัญญา ปรากฏว่าแบบแปลนที่ขออนุญาตสร้างอาคารพาณิชย์ต่อโยธาธิการจังหวัดเชียงรายไม่ได้รับอนุญาต เนื่องจากที่ดินของโจทก์บางส่วนจะถูกเวนคืนเพื่อสร้างทางสาธารณะ จำเลยที่ ๑ และที่ ๓ จึงไม่สามารถสร้างอาคารพาณิชย์ตามสัญญาได้จึงแจ้งให้โจทก์ทราบ โจทก์กับจำเลยที่ ๑ และที่ ๓ เจรจาเปลี่ยนแปลงข้อสัญญากันใหม่โดยจะสร้างอาคารพาณิชย์ในที่ดินของโจทก์เพียง ๖ ห้อง แต่ไม่สามารถตกลงในรายละเอียดกันได้ โจทก์จึงมีหนังสือแจ้งบอกเลิกสัญญาต่อฝ่ายจำเลย โดยฝ่ายจำเลยมิได้ผิดสัญญา เป็นเหตุให้จำเลยที่ ๑ และที่ ๓ เสียหาย ต้องเสียค่าธรรมเนียมในการโอนกรรมสิทธิ์ที่ดิน ๕,๐๗๐ บาท ค่าจดทะเบียนแบ่งแยกที่ดิน ๗ แปลง รวม ๗๐,๐๐๐ บาท ค่าถมดิน ๓๐,๐๐๐ บาท ค่าเสาเข็ม ๓๒ ต้น รวม ๑๖๐,๐๐๐ บาท ค่าก่อสร้างบ้านให้โจทก์ ๒๐๐,๐๐๐ บาท รวมเป็นเงิน ๔๖๕,๐๗๐ บาท กับดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ ๗.๕ ต่อปี ในเงินจำนวนดังกล่าวนับแต่วันที่ ๑๓ มิถุนายน ๒๕๓๕ ถึงวันฟ้องคิดเป็นดอกเบี้ย ๖๓,๙๔๗ บาท รวมค่าเสียหายทั้งสิ้น ๕๒๙,๐๑๗ บาท ขอให้ยกฟ้อง และให้บังคับโจทก์ชำระเงินจำนวนดังกล่าวพร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ ๗.๕ ต่อปี ของต้นเงิน ๔๖๕,๐๗๐ บาท นับแต่วันฟ้องแย้งจนกว่าจะชำระเสร็จแก่จำเลยที่ ๑ และที่ ๓
จำเลยที่ ๔ ให้การว่า จำเลยที่ ๔ กระทำการไปตามอำนาจหน้าที่ โดยตรวจหนังสือมอบอำนาจแล้วเห็นว่ามีข้อความถูกต้องครบถ้วน จึงสั่งการในหนังสือมอบอำนาจว่ามอบอำนาจได้ การที่โจทก์ลงลายมือชื่อในหนังสือมอบอำนาจโดยไม่กรอกข้อความ เป็นความผิดของโจทก์เอง ขอให้ยกฟ้อง
โจทก์ให้การแก้ฟ้องแย้งว่า ที่จำเลยที่ ๑ สร้างบ้านให้แก่โจทก์ใช้จ่ายเงินไป ๒๐๐,๐๐๐ บาท นั้น โจทก์ใช้ให้จำเลยที่ ๑ แล้ว ส่วนการลงเสาเข็ม และปรับถมดินเป็นการปฏิบัติตามสัญญา จำเลยที่ ๑ จึงไม่มีสิทธิเรียกร้องจากโจทก์ จำเลยที่ ๑ และที่ ๓ กล่าวอ้างว่าไม่ได้รับอนุญาตให้ก่อสร้างตามแบบแปลนจากโยธาธิการจังหวัดเชียงรายนั้นเป็นการกล่าวอ้างลอย ๆ ไม่มีเอกสารสนับสนุน โจทก์กับจำเลยที่ ๓ ไม่มีนิติสัมพันธ์ต่อกัน จำเลยที่ ๓ จึงเรียกร้องค่าเสียหายจากโจทก์ไม่ได้ ฟ้องแย้งของจำเลยที่ ๑ และที่ ๓ เคลือบคลุม ขอให้ยกฟ้องแย้ง
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วพิพากษาให้โจทก์ชำระเงินแก่จำเลยที่ ๑ และที่ ๓ จำนวน ๓๑๖,๐๐๐ บาท และให้จำเลยที่ ๑ กับจำเลยที่ ๓ ร่วมกันโอนที่ดินโฉนดเลขที่ ๖๘๖๓ , ๔๘๒๙๘ , ๔๘๒๙๙ , ๔๘๓๐๐ , ๔๘๓๐๑ , ๔๘๓๐๒ , ๔๘๓๐๓ และ ๔๘๓๐๔ ตำบลริมกก (รอบเวียง) อำเภอเมืองเชียงราย จังหวัดเชียงราย คืนแก่โจทก์โดยปลอดจำนองและภาระผูกพันใด ๆ พร้อมทั้งส่งมอบโฉนดที่ดินดังกล่าวคืนแก่โจทก์ และให้จำเลยที่ ๑ และที่ ๓ กับโจทก์ออกค่าใช้จ่ายและค่าธรรมเนียมในการโอนที่ดินฝ่ายละครึ่ง ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งฟ้องและฟ้องแย้งให้เป็นพับ คำขอนอกจากนี้ให้ยก
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค ๒ พิพากษาแก้เป็นว่า ให้โจทก์ชำระเงิน ๒๐๐,๐๐๐ บาท แก่จำเลยที่ ๑ และที่ ๓ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ
โจทก์ฎีกา โดยผู้พิพากษาที่ได้นั่งพิจารณาคดีในศาลชั้นต้นรับรองว่ามีเหตุสมควรที่จะฎีกาในข้อเท็จจริงได้
ศาลฎีกาวินิจฉัยแล้ว ข้อเท็จจริงรับฟังได้ในเบื้องต้นว่า เดิมโจทก์เป็นเจ้าของที่ดินโฉนดเลขที่ ๖๘๖๓ ตำบลรอบเวียง อำเภอเมืองเชียงราย จังหวัดเชียงราย เนื้อที่ ๓ งาน ๗๘ ๖ /๑๐ ตารางวา พร้อมบ้าน ๑ หลัง บนที่ดิน จำเลยที่ ๑ เป็นหุ้นส่วนกับจำเลยที่ ๓ เมื่อวันที่ ๒๙ สิงหาคม ๒๕๓๔ โจทก์กับจำเลยที่ ๑ ทำสัญญากันว่า จำเลยที่ ๑ จะก่อสร้างอาคารพาณิชย์ ๗ ห้อง และบ้าน ๑ หลัง ราคาบ้าน ๓๘๐,๐๐๐ บาท ในที่ดินของโจทก์ดังกล่าว โดยโจทก์จะเป็นฝ่ายออกเงินค่าก่อสร้างบ้าน ๑๘๐,๐๐๐ บาท ส่วนเงินค่าก่อสร้างบ้านที่เหลืออีก ๒๐๐,๐๐๐ บาท และค่าก่อสร้างอาคารพาณิชย์ จำเลยที่ ๑ จะเป็นผู้ออก โจทก์ยินยอมโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินของโจทก์ให้แก่จำเลยที่ ๑ เพื่อความสะดวกในการแบ่งแยกที่ดินและขออนุญาตก่อสร้างอาคาร เมื่อก่อสร้างแล้วเสร็จจำเลยที่ ๑ จะโอนที่ดินด้านหลังพร้อมบ้านและอาคารพาณิชย์ ๓ ห้อง พร้อมที่ดินคืนให้แก่โจทก์ ส่วนอาคารพาณิชย์อีก ๔ ห้อง พร้อมที่ดินเป็นของจำเลยที่ ๑ โดยจำเลยที่ ๑ จะลงมือก่อสร้างในเดือนพฤศจิกายน ๒๕๓๔ และจะแล้วเสร็จภายในเดือนพฤษภาคม ๒๕๓๕ ตามสัญญาเอกสารหมาย จ. ๒ โจทก์มอบเงินค่าก่อสร้างบ้าน ๑๘๐,๐๐๐ บาท ให้แก่ฝ่ายจำเลย และได้ลงลายมือชื่อในหนังสือมอบอำนาจตามเอกสารหมาย จ. ๓ จ. ๔ และ จ. ๕ โดยไม่ได้กรอกข้อความแล้วมอบให้แก่จำเลยที่ ๑ ไปดำเนินการแบ่งแยกที่ดินพร้อมโฉนดเลขที่ ๖๘๖๓ ต่อมาฝ่ายจำเลยได้กรอกข้อความในหนังสือมอบอำนาจเอกสารหมาย จ. ๕ ว่า โจทก์มอบอำนาจให้จำเลยที่ ๒ ขายที่ดินของโจทก์ดังกล่าวและต่อมาจำเลยที่ ๒ ดำเนินการจดทะเบียนขายที่ดินของโจทก์ให้แก่จำเลยที่ ๓ แล้วจำเลยที่ ๓ ทำการแบ่งแยกที่ดินดังกล่าวในนามของจำเลยที่ ๓ ออกเป็น ๗ โฉนด คือ โฉนดเลขที่ ๔๘๒๙๘ ถึง ๔๘๓๐๔ ตามสำเนาโฉนดที่ดินเอกสารหมาย จ. ๖ ถึง จ. ๑๒ ตามลำดับ รวมกับโฉนดที่ดินเดิมเลขที่ ๖๘๖๓ ตามสำเนาโฉนดที่ดินเอกสารหมาย จ. ๑ เป็น ๘ โฉนด จากนั้นฝ่ายจำเลยได้ปรับถมดินก่อสร้างบ้านให้โจทก์ และตอกเสาเข็มเพื่อก่อสร้างอาคารพาณิชย์ พร้อมทั้งดำเนินการขออนุญาตก่อสร้างอาคารพาณิชย์ตามสัญญา แต่โยธาธิการจังหวัดเชียงรายให้นำแบบแปลนที่ขออนุญาตไปแก้ไขใหม่ตามเอกสารหมาย จ. ๒๑ และผลที่สุดจำเลยที่ ๑ ไม่ได้ก่อสร้างอาคารพาณิชย์ ๗ ห้อง ตามสัญญาแต่อย่างใด
ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ประการต่อไปมีว่า จะต้องเพิกถอนนิติกรรมการโอนที่ดินโฉนดเลขที่ ๔๘๒๙๗ ถึง ๔๘๓๐๔ หรือไม่ (ที่ถูกควรเป็นว่าจะต้องเพิกถอนนิติกรรมการโอนที่ดินโฉนดเลขที่ ๖๘๖๓ และจะต้องเพิกถอนโฉนดที่ดินเลขที่ ๔๘๒๙๘ ถึง ๔๘๓๐๔ หรือไม่) เห็นว่า เมื่อโจทก์และจำเลยที่ ๑ สมัครใจที่จะเลิกสัญญาเอกสารหมาย จ. ๒ ต่อกันโดยปริยายดังวินิจฉัยมาแล้วข้างต้น ดังนั้น โจทก์และจำเลยที่ ๑ ซึ่งเป็นคู่สัญญาแต่ละฝ่ายต้องกลับคืนสู่ฐานะดังที่เป็นอยู่เดิมเสมือนดังว่ามิได้มีสัญญาต่อกันเลยตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๓๙๑ วรรคหนึ่ง จำเลยที่ ๑ จึงต้องคืนที่ดินที่จะทำการก่อสร้างให้แก่โจทก์ ซึ่งในส่วนนี้ศาลล่างทั้งสองพิพากษาต้องกันให้จำเลยที่ ๑ และที่ ๓ ร่วมกันโอนที่ดินโฉนดเลขที่ ๖๘๖๓ และโฉนดเลขที่ ๔๘๒๙๘ ถึง ๔๘๓๐๔ ที่แบ่งแยกมาจากที่ดินโฉนดเลขที่ ๖๘๖๓ คืนแก่โจทก์โดยปลอดจำนองและภาระผูกพันใด ๆ พร้อมทั้งส่งมอบโฉนดที่ดินทั้งหมดดังกล่าวคืนแก่โจทก์ ดังนี้ กรณีจึงไม่จำต้องวินิจฉัยฎีกาของโจทก์ในปัญหาข้อนี้ต่อไป
ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ประการต่อไปมีว่า โจทก์จะต้องรับผิดชำระเงินจำนวน ๒๐๐,๐๐๐ บาท ให้แก่จำเลยที่ ๑ และที่ ๓ หรือไม่เพียงใด เห็นว่า เมื่อจำเลยที่ ๑ เป็นฝ่ายผิดสัญญาทั้งโจทก์และจำเลยที่ ๑ สมัครใจที่จะเลิกสัญญาเอกสารหมาย จ. ๒ ต่อกันโดยปริยายและโจทก์จำเลยที่ ๑ ซึ่งเป็นคู่สัญญาแต่ละฝ่ายต้องกลับคืนสู่ฐานะดังที่เป็นอยู่เดิมเสมือนดังว่ามิได้มีสัญญาต่อกันเลยตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๓๙๑ วรรคหนึ่ง ดังกล่าวมาแล้วข้างต้น กรณีจึงไม่อาจนำบทบัญญัติเรื่องลาภมิควรได้ตามที่ศาลอุทธรณ์ภาค ๒ วินิจฉัยมาใช้บังคับ แต่ต้องบังคับตามมาตรา ๓๙๑ วรรคสาม เมื่อตามสัญญาเอกสารหมาย จ. ๒ ข้อ ๒ ระบุไว้ความว่า จำเลยที่ ๑ จะเป็นผู้ออกเงินค่าก่อสร้างบ้านให้โจทก์ ๒๐๐,๐๐๐ บาท ดังนั้น ถ้าจำเลยที่ ๑ หรือฝ่ายจำเลยที่ ๑ คือจำเลยที่ ๓ เป็นผู้ออกเงินค่าก่อสร้างบ้านให้โจทก์ ๒๐๐,๐๐๐ บาท ไปจริง โจทก์ก็ต้องคืนเงินจำนวน ๒๐๐,๐๐๐ บาท ให้แก่จำเลยที่ ๑ และที่ ๓ ปัญหาจึงมีว่า จำเลยที่ ๑ หรือจำเลยที่ ๓ เป็นผู้ออกเงินค่าก่อสร้างบ้านให้โจทก์ ๒๐๐,๐๐๐ บาท จริงหรือไม่ เห็นว่า แม้ตามสัญญาเอกสารหมาย จ. ๒ ข้อ ๒ จะระบุไว้ความว่า จำเลยที่ ๑ เป็นผู้ออกเงินค่าก่อสร้างบ้านให้โจทก์ ๒๐๐,๐๐๐ บาท ก็ตาม แต่ในข้อนี้โจทก์เบิกความตอบทนายโจทก์ถามติงว่า โจทก์เคยชำระค่าก่อสร้างบ้านให้จำเลยที่ ๑ ไปครบถ้วนตามบันทึกเอกสารหมาย จ. ๑๔ (ตรงกับเอกสารหมาย จ. ๓๓ ซึ่งเป็นสำเนาภาพถ่าย) รวมเป็นเงิน ๒๐๐,๐๐๐ บาท ส่วนที่เหลืออีก ๑๘๐,๐๐๐ บาท ได้ชำระให้แล้วด้วย ข้อเท็จจริงฟังได้ว่า เงินค่าก่อสร้างบ้านโจทก์ ๒๐๐,๐๐๐ บาท โจทก์เป็นผู้ออกเองโดยจำเลยที่ ๑ และหรือจำเลยที่ ๓ ไม่ได้เป็นผู้ออก จึงไม่ใช่ค่าการงานที่จำเลยที่ ๑ และที่ ๓ ได้ทำให้อันโจทก์จะต้องรับผิดแต่ได้ความว่า การงานที่จำเลยที่ ๑ และที่ ๓ ทำไปแล้วคือปรับถมดินลงในที่ดินที่จะทำการก่อสร้างและตอกเสาเข็มลงไป ๓๒ ต้น นายวิโรจน์พยานจำเลยที่ ๑ และที่ ๓ ซึ่งเป็นผู้รับจ้างก่อสร้างอาคารพาณิชย์จากจำเลยที่ ๓ เบิกความว่าได้เสียค่าใช้จ่ายในการปรับถมดิน ๓๐,๐๐๐ บาท และค่าตอกเสาเข็มต้นละ ๕,๐๐๐ บาท เป็นเงิน ๑๖๐,๐๐๐ บาท รวมเป็นเงินทั้งสิ้น ๑๙๐,๐๐๐ บาท และพยานได้รับเงินค่าจ้างจำนวนดังกล่าวจากจำเลยที่ ๓ ไปแล้ว เห็นว่า เมื่อมีการปรับถมดินลงในที่ดินของโจทก์ที่จะทำการก่อสร้าง ย่อมทำให้ที่ดินของโจทก์มีราคาเพิ่มสูงขึ้นกว่าก่อนที่จะปรับถมดิน งานส่วนนี้จึงย่อมเป็นประโยชน์แก่โจทก์อยู่ในตัว ที่โจทก์อ้างในฎีกาว่า ดินที่ถมเป็นดินลูกรังเต็มไปด้วยกรวดและหิน ไม่เหมาะสมแก่การปลูกต้นไม้ทุกชนิดอันเป็นทำนองอ้างว่างานที่ส่วนนี้ไม่เป็นประโยชน์แก่โจทก์นั้น เป็นการกล่าวอ้างลอย ๆ โดยโจทก์มิได้นำสืบให้รับฟังได้เช่นนั้น ที่ศาลชั้นต้นกำหนดค่าแห่งการงานปรับถมดินให้โจทก์รับผิดชดใช้แก่จำเลยที่ ๑ และที่ ๓ เป็นเงิน ๒๐,๐๐๐ บาท เป็นผลดีแก่โจทก์มากแล้ว ส่วนงานตอกเสาเข็มนั้น เมื่อไม่มีการก่อสร้างอาคารพาณิชย์ตามสัญญา และจำเลยที่ ๑ และที่ ๓ ก็มิได้นำสืบให้รับฟังได้ว่า เมื่อจำเลยที่ ๑ และที่ ๓ ไม่ทำการก่อสร้างต่อไปแล้วโจทก์จะก่อสร้างเองหรือจะว่าจ้างผู้อื่นมาก่อสร้างต่ออันจะทำให้เห็นว่างานตอกเสาเข็มเป็นประโยชน์แก่โจทก์ ทั้งโจทก์ฎีกาโต้แย้งว่าเสาเข็มที่ตอกลงไปจะมีปัญหาและอุปสรรคต่อการตอกเสาเข็มของอาคารใหม่ที่จะก่อสร้างต่อไป ซึ่งจำเลยที่ ๑ และที่ ๓ ก็มิได้แก้ฎีกาให้เห็นเป็นอย่างอื่น กรณีจึงฟังไม่ได้ว่าเสาเข็มที่จำเลยที่ ๑ และที่ ๓ ได้ตอกลงในที่ดินที่จะทำการก่อสร้างเป็นประโยชน์แก่โจทก์ จึงไม่ใช่การงานที่ควรค่าอันโจทก์จะต้องรับผิดชดใช้เงินเป็นค่าแห่งการงานตอกเสาเข็มจำนวน ๙๖,๐๐๐ บาท ตามที่ศาลชั้นต้นเห็นสมควรกำหนดให้แก่จำเลยที่ ๑ และที่ ๓ ฎีกาของโจทก์ในข้อนี้ฟังขึ้นบางส่วน ดังนั้นค่าแห่งการงานที่โจทก์ต้องรับผิดชดใช้ให้แก่จำเลยที่ ๑ และที่ ๓ เป็นเงินเพียง ๒๐,๐๐๐ บาท เท่านั้น _ _ _
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้โจทก์ชำระเงินจำนวน ๒๐,๐๐๐ บาท แก่จำเลยที่ ๑ และที่ ๓ และให้จำเลยที่ ๑ และที่ ๓ ร่วมกันออกค่าธรรมเนียมและค่าใช้จ่ายในการโอนที่ดินทั้งหมด นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค ๒ ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้เป็นพับ.