คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4189/2550

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

การที่จะพิจารณาว่าคดีใดต้องห้ามฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงตาม ป.วิ.อ. มาตรา 218 วรรคหนึ่ง หรือไม่นั้น ต้องพิจารณาเป็นรายกระทงความผิดและกำหนดโทษสุดท้ายที่จำเลยได้รับ ซึ่งการเพิ่มโทษจำเลยในความผิดใด โทษที่เพิ่มขึ้นก็ย่อมรวมเป็นโทษที่ศาลจะนำไปกำหนดโทษสุดท้ายที่จำเลยได้รับในความผิดนั้น ดังนั้น จึงต้องนำการเพิ่มโทษมาคำนวณในการใช้สิทธิฎีกาด้วย
(ประชุมใหญ่ครั้งที่ 2/2550)

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 4, 7, 8, 15, 66, 97, 102 ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83, 91 ริบเมทแอมเฟตามีนของกลาง คืนธนบัตรล่อซื้อแก่เจ้าของ และเพิ่มโทษจำเลยที่ 1 กึ่งหนึ่ง
จำเลยที่ 1 ให้การปฏิเสธ แต่รับว่าเคยต้องโทษและพ้นโทษมาแล้วจริงตามฟ้อง
จำเลยที่ 2 ให้การรับสารภาพ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยทั้งสองมีความผิดตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 15 วรรคหนึ่ง (เดิม), 66 วรรคหนึ่ง (ที่แก้ไขใหม่), 66 วรรคสอง (ที่แก้ไขใหม่), 97 การกระทำของจำเลยทั้งสองเป็นความผิด 2 กรรม เรียงกระทงลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 ฐานมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย จำคุกคนละ 6 ปี และปรับคนละ 400,000 บาท ฐานจำหน่ายเมทแอมเฟตามีน จำคุกคนละ 4 ปี รวมจำคุกคนละ 10 ปี และปรับคนละ 400,000 บาท เพิ่มโทษจำเลยที่ 1 กึ่งหนึ่งเป็นจำคุก 15 ปี และปรับ 600,000 บาท จำเลยที่ 2 ให้การรับสารภาพเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา ลดโทษให้กึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุกจำเลยที่ 2 มีกำหนด 5 ปี และปรับ 200,000 บาท ไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29, 30 ริบเมทแอมเฟตามีนของกลาง คืนธนบัตรล่อซื้อแก่เจ้าของ
จำเลยที่ 1 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยทั้งสองมีความผิดตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 15 วรรคหนึ่ง (เดิม), 66 วรรคหนึ่ง (ที่แก้ไขใหม่) ประกอบประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83 ไม่ปรับจำเลยทั้งสอง ส่วนโทษจำคุกและนอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
จำเลยที่ 1 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า กรณีต้องห้ามฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 218 วรรคหนึ่ง จะนำการเพิ่มโทษมาคำนวณในการใช้สิทธิฎีกาด้วยหรือไม่ ศาลฎีกาโดยมติที่ประชุมใหญ่ เห็นว่า การที่จะพิจารณาว่าคดีใดต้องห้ามฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงหรือไม่นั้น ต้องพิจารณาเป็นรายกระทงความผิดและกำหนดโทษสุดท้ายที่จำเลยได้รับ ซึ่งการเพิ่มโทษจำเลยในความผิดใด โทษที่เพิ่มขึ้นก็ย่อมรวมเป็นโทษที่ศาลจะนำไปกำหนดโทษสุดท้ายที่จำเลยได้รับในความผิดนั้น ดังนั้น จึงต้องนำการเพิ่มโทษมาคำนวณในการใช้สิทธิฎีกาด้วย คดีนี้ศาลชั้นต้นลงโทษจำเลยที่ 1 ฐานมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย จำคุก 6 ปี และปรับ 400,000 บาท ฐานจำหน่ายเมทแอมเฟตามีน จำคุก 4 ปี รวมจำคุก 10 ปี และปรับ 400,000 บาท เพิ่มโทษจำเลยที่ 1 กึ่งหนึ่งตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 97 เป็นจำคุก 15 ปี และปรับ 600,000 บาท ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษาแก้คำพิพากษาศาลชั้นต้นเฉพาะความผิดฐานมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายโดยปรับบทกำหนดโทษให้ถูกต้องและไม่ลงโทษปรับ แต่ยังคงลงโทษจำเลยที่ 1 จำคุก 9 ปี ส่วนความผิดฐานจำหน่ายเมทแอมเฟตามีนซึ่งศาลอุทธณ์ภาค 2 มิได้แก้ไขนั้น ยังคงลงโทษจำเลยที่ 1 จำคุก 6 ปี จึงมีผลเท่ากับศาลอุทธรณ์ภาค 2 กำหนดโทษสุดท้ายที่จำเลยที่ 1 ได้รับให้จำคุกแต่ละกระทงเกิน 5 ปี จึงไม่ต้องห้ามฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 218 วรรคหนึ่ง… ที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษาลงโทษจำเลยที่ 1 มานั้นต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา ฎีกาของจำเลยที่ 1 ฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน.

Share