คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 541/2517

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

การที่ศาลพิพากษาให้ผู้กระทำความผิดจ่ายเงินบำเหน็จตามมาตรา 71 พระราชบัญญัติการประมงมีผลเท่ากับเป็นการลงโทษทางอาญาแก่ผู้กระทำความผิด ชอบที่ศาลจะใช้ดุลพินิจกำหนดโทษหรืออีกนัยหนึ่ง กำหนดเงินบำเหน็จได้ตามควรแก่กรณีคำสั่งกระทรวงเกษตรซึ่งวางระเบียบการจ่ายเงินบำเหน็จ เป็นคำสั่งที่ออกโดยอาศัยอำนาจตามมาตรา 71 แห่งพระราชบัญญัติการประมงฯจึงไม่มีทางแปลไปได้ว่าเป็นบทบังคับศาลพิพากษาให้ผู้กระทำความผิดชำระเงินบำเหน็จไปตามจำนวนที่พนักงานเจ้าหน้าที่กำหนด

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยใช้เครื่องมือทำการประมงที่ห้ามใช้เด็ดขาดทำการประมงจับปลาในฤดูปลามีไข่ในที่จับสัตว์น้ำในน่านน้ำจืด ขอให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติการประมง พ.ศ. ๒๔๙๐ มาตรา ๓๒, ๖๕, ๖๙, ๗๑ประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ ๑๐๕ ลงวันที่ ๒๔ มีนาคม ๒๕๑๕ ข้อ ๕ริบของกลาง และขอให้จำเลยชำระเงินบำเหน็จแก่ผู้นำจับตามที่พนักงานเจ้าหน้าที่ได้ตกลงจะจ่ายให้เป็นเงิน ๕๐๐ บาท ตามคำสั่งของกระทรวงเกษตรที่ ๑๓๓/๒๕๑๔ เรื่องระเบียบการจ่ายเงินบำเหน็จให้แก่ผู้กระทำผิดพระราชบัญญัติการประมง พ.ศ. ๒๔๙๐ ด้วย
จำเลยให้การรับสารภาพ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามบทกฎหมายที่โจทก์อ้างขอให้ลงโทษ ปรับ ๕๐๐ บาท ลดเพราะรับสารภาพตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๗๘ ให้กึ่งหนึ่ง คงปรับ ๒๕๐ บาทส่วนที่โจทก์ขอให้จำเลยชำระค่าบำเหน็จนำจับ ๕๐๐ บาท สูงเกินไปเห็นควรให้จำเลยชำระเพียง ๒๐๐ บาท เงินค่าปรับและค่าบำเหน็จหากไม่ชำระ ให้บังคับตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๒๙, ๓๐ริบของกลาง
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
โจทก์ฎีกา
มีปัญหาว่า ศาลพิพากษาลดเงินบำเหน็จนำจับลงจากจำนวนที่พนักงานเจ้าหน้าที่ได้ตกลงจะจ่ายให้แก่ผู้นำจับนั้น คลาดเคลื่อนต่อกฎหมายหรือไม่
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า พระราชบัญญัติการประมง พ.ศ. ๒๔๙๐มาตรา ๗๑ บัญญัติว่า “ผู้กระทำความผิดตามพระราชบัญญัตินี้ ต้องจ่ายเงินบำเหน็จแก่ผู้นำจับตามระเบียบที่รัฐมนตรีกำหนดแต่ต้องไม่เกินสองพันบาท และต้องชดใช้เงินซึ่งพนักงานเจ้าหน้าที่ได้ดำเนินการไปตามมาตรา ๕๙ ในกรณีที่ศาลลงโทษผู้กระทำความผิด ให้ศาลพิพากษาให้ผู้กระทำความผิดชำระเงินดังกล่าวแล้วถ้าไม่ชำระ ให้จัดการตามมาตรา ๑๘ แห่งกฎหมายลักษณะอาญา โดยถือเสมือนว่าเป็นค่าปรับ”ดังนั้น เมื่อผู้กระทำความผิดไม่ชำระเงินบำเหน็จ ก็จะต้องถูกยึดทรัพย์สินใช้ค่าบำเหน็จ หรือมิฉะนั้นจะต้องถูกกักขังแทนค่าบำเหน็จ ทั้งนี้โดยถือว่าค่าบำเหน็จเป็นเสมือนหนึ่งค่าปรับตามความหมายแห่งมาตรา ๒๙ประมวลกฎหมายอาญา (ซึ่งใช้แทนมาตรา ๑๘ กฎหมายลักษณะอาญาเดิม)จากบทบัญญัติดังกล่าวจะเห็นได้ว่า การไม่ชำระเงินบำเหน็จอาจทำให้ผู้กระทำความผิดถึงกับต้องถูก “กักขัง” แทน “กักขัง” เป็นโทษอย่างหนึ่งฉะนั้น การที่ศาลพิพากษาให้ผู้กระทำความผิดจ่ายเงินบำเหน็จตามมาตรา ๗๑ แห่งพระราชบัญญัติการประมง พ.ศ. ๒๔๙๐ จึงมีผลเท่ากับเป็นการลงโทษทางอาญาแก่ผู้กระทำความผิด ชอบที่ศาลจะใช้ดุลพินิจกำหนดโทษ หรืออีกนัยหนึ่งกำหนดเงินบำเหน็จนั้นได้ตามควรแก่กรณีส่วนคำสั่งกระทรวงเกษตรที่ ๑๓๓/๒๕๑๔ ซึ่งวางระเบียบการจ่ายเงินบำเหน็จก็มิได้กำหนดจำนวนเงินบำเหน็จนำจับเป็นอัตราตายตัว เพียงแต่กำหนดจำนวนอย่างสูงไว้เท่านั้น ทั้งคำสั่งนี้ก็ออกโดยอาศัยอำนาจตามมาตรา ๗๑แห่งพระราชบัญญัติการประมง พ.ศ. ๒๔๙๐ จึงไม่มีทางที่จะแปลไปได้ว่าเป็นบทบังคับศาลพิพากษาให้ผู้กระทำความผิดชำระเงินบำเหน็จไปตามจำนวนที่พนักงานเจ้าหน้าที่กำหนด
พิพากษายืน

Share