คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2124/2558

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

การฟ้องบังคับคดีตาม ป.พ.พ. มาตรา 867 วรรคหนึ่ง หมายถึงกรณีผู้เอาประกันภัยฟ้องบังคับผู้รับประกันภัยให้ใช้ค่าสินไหมทดแทนหรือใช้เงินจำนวนหนึ่งให้ตามที่ระบุไว้ในสัญญา หรือกรณีที่ผู้รับประกันภัยฟ้องบังคับเอาเบี้ยประกันภัยจากผู้เอาประกันภัย คดีนี้โจทก์ซึ่งเป็นผู้รับประกันภัยฟ้องจำเลยทั้งสามผู้ขนส่งให้ร่วมกันรับผิดเนื่องจากสินค้าของผู้เอาประกันภัยเสียหายระหว่างการขนส่งของจำเลยและโจทก์ใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่ผู้เอาประกันภัยแล้วเข้ารับช่วงสิทธิฟ้องร้องจำเลยทั้งสามโดยอาศัยอำนาจตาม ป.พ.พ. มาตรา 880 ได้ กรณีมิใช่เป็นการฟ้องบังคับคดีตามสัญญาประกันภัยดังกล่าวอันจะตกอยู่ภายใต้บังคับตาม ป.พ.พ. มาตรา 867 วรรคหนึ่ง
จำเลยที่ 1 ชนะการประมูลในการขนส่งสินค้าให้แก่ผู้เอาประกันภัยโดยจำกัดความรับผิดของจำเลยที่ 1 ไว้ 1 ดอลลาร์สิงคโปร์ ต่อ 1 กิโลกรัม เมื่อสินค้าหนัก 528.40 กิโลกรัม จำเลยที่ 1 จึงจำกัดความรับผิดไว้เพียงจำนวน 528.40 ดอลลาร์สิงคโปร์ ส่วนจำเลยที่ 2 และที่ 3 นั้น เมื่อปรากฏว่าใบรับขนของทางอากาศที่จำเลยที่ 2 และที่ 3 ออกจำกัดจำนวนความรับผิดไว้ 20 ดอลลาร์สหรัฐ ต่อน้ำหนัก 1 กิโลกรัม จำเลยที่ 2 และที่ 3 จึงต้องจำกัดความผิดไว้ตามที่ระบุไว้รวมเป็นเงิน 10,568 ดอลลาร์สหรัฐ และเมื่อโจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งสามร่วมกันรับผิดจากการขนส่งดังกล่าว จำเลยทั้งสามจึงต้องร่วมกันรับผิดต่อโจทก์ ความรับผิดของจำเลยทั้งสามนี้เกี่ยวด้วยการชำระหนี้อันไม่อาจแบ่งแยกได้ แม้จำเลยที่ 3 จะไม่ได้อุทธรณ์ ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศก็มีอำนาจพิพากษาให้มีผลไปถึงจำเลยที่ 3 ได้ ตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศและวิธีพิจารณาคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ พ.ศ.2539 มาตรา 45 ประกอบ ป.วิ.พ. มาตรา 245 (1)

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งสามร่วมกันหรือแทนกันชำระเงินให้แก่โจทก์จำนวน 8,244,027.41 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงิน 7,838,161 บาท นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจำเลยทั้งสามจะชำระเสร็จ
จำเลยทั้งสามให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางพิพากษาให้จำเลยที่ 1 ชำระเงินจำนวน 528.40 ดอลลาร์สิงคโปร์ พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 30 ธันวาคม 2548 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ กับให้จำเลยที่ 2 และจำเลยที่ 3 ชำระเงินคนละ 10,568 ดอลลาร์สหรัฐ พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 30 ธันวาคม 2548 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ ในกรณีที่จำเลยทั้งสามจะชำระเป็นเงินไทยให้คิดตามอัตราแลกเปลี่ยนถัวเฉลี่ยของธนาคารพาณิชย์ที่ขายให้ลูกค้าในวันที่ใช้เงินจริง หากไม่มีอัตราแลกเปลี่ยนในวันที่ใช้เงินจริง ให้ถือเอาวันสุดท้ายที่มีอัตราเช่นว่านั้นก่อนวันดังกล่าว ในกรณีที่ธนาคารแห่งประเทศไทยประกาศแจ้งอัตราแลกเปลี่ยนถัวเฉลี่ยของธนาคารพาณิชย์ (อัตราอ้างอิง) ก็ให้ถืออัตราดังกล่าวเป็นเกณฑ์คำนวณ กับให้จำเลยทั้งสามร่วมกันใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความ 8,000 บาท เฉพาะค่าขึ้นศาลให้จำเลยทั้งสามใช้แทนตามจำนวนทุนทรัพย์ที่โจทก์ชนะคดี
โจทก์ จำเลยที่ 1 และที่ 2 อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงเบื้องต้นรับฟังได้เป็นยุติว่า โจทก์เป็นผู้รับประกันภัยการขนส่งสินค้าของผู้เอาประกันภัย โดยผู้เอาประกันภัยได้สั่งซื้อสินค้า Ultra High Resolution Scanning Acoustic Microscope จากผู้ขายที่ประเทศสหรัฐอเมริกาในราคา 175,000 ดอลลาร์สหรัฐ ภายใต้เงื่อนไข FOB จำเลยทั้งสามเป็นผู้ขนส่งสินค้าจากประเทศสหรัฐอเมริกามายังประเทศไทยโดยสินค้ามีน้ำหนัก 528.40 กิโลกรัม เมื่อสินค้าถูกขนส่งทางอากาศมาถึงประเทศไทยและมีการส่งมอบกันในวันที่ 21 กันยายน 2548 ปรากฏว่าลังไม้บรรจุสินค้าได้รับความเสียหายทำให้สินค้าได้รับความเสียหาย โดยเหตุแห่งความเสียหายเกิดขึ้นในระหว่างสินค้าอยู่ในความดูแลของจำเลยทั้งสาม
คดีคงมีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยประการแรกตามอุทธรณ์ของจำเลยที่ 2 ว่า สัญญาประกันภัยระหว่างโจทก์และผู้เอาประกันภัยชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ เห็นว่า สัญญาประกันภัยนั้นกฎหมายมิได้กำหนดแบบแห่งนิติกรรมไว้ เพียงแต่บังคับให้มีหลักฐานเป็นหนังสืออย่างใดอย่างหนึ่งลงลายมือชื่อฝ่ายที่ต้องรับผิดหรือตัวแทนเป็นสำคัญ มิฉะนั้นจะฟ้องร้องให้บังคับคดีมิได้ ดังนั้น สัญญาประกันภัยจึงเกิดขึ้นเมื่อมีการแสดงเจตนาทำคำเสนอคำสนองถูกต้องตรงกัน และการฟ้องร้องบังคับคดีตามสัญญาประกันภัยที่กฎหมายบังคับให้ต้องมีหลักฐานเป็นหนังสืออย่างใดอย่างหนึ่งลงลายมือชื่อฝ่ายที่ต้องรับผิดหรือลายมือชื่อตัวแทนฝ่ายนั้นเป็นสำคัญตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 867 วรรคหนึ่ง นั้น หมายถึงกรณีผู้เอาประกันภัยฟ้องร้องบังคับผู้รับประกันภัยให้ใช้ค่าสินไหมทดแทนหรือใช้เงินจำนวนหนึ่งให้ตามที่ระบุไว้ในสัญญา หรือกรณีที่ผู้รับประกันภัยฟ้องร้องบังคับเอาเบี้ยประกันภัยจากผู้เอาประกันภัย ส่วนคดีนี้โจทก์ซึ่งเป็นผู้รับประกันภัยฟ้องร้องจำเลยทั้งสามผู้ขนส่งให้ร่วมกันรับผิดเนื่องจากสินค้าของผู้เอาประกันภัยเสียหายระหว่างการขนส่งของจำเลยที่ 3 ซึ่งจำเลยที่ 1 และที่ 2 ต้องร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 3 และโจทก์ใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่ผู้เอาประกันภัยแล้ว โจทก์ย่อมเข้ารับช่วงสิทธิของผู้เอาประกันภัยฟ้องร้องจำเลยทั้งสามโดยอาศัยอำนาจตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 880 ได้ กรณีมิใช่เป็นการฟ้องร้องบังคับคดีตามสัญญาประกันภัยดังกล่าวอันจะตกอยู่ภายใต้บังคับตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 867 วรรคหนึ่ง แต่อย่างใด อุทธรณ์ของจำเลยที่ 2 ประการนี้ฟังไม่ขึ้น
ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยประการต่อไปตามอุทธรณ์ของจำเลยที่ 2 มีว่า ความบุบสลายเกิดเพราะความผิดของผู้ส่งอันเป็นข้อยกเว้นความรับผิดของผู้ขนส่งหรือไม่ เห็นว่า พยานหลักฐานโจทก์ฟังได้ว่า ได้มีการแจ้งผู้ขนส่งแล้วว่าสินค้าเป็นอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ที่ต้องใช้ความระมัดระวังในการเคลื่อนย้าย ผู้ขายสินค้าบรรจุสินค้าในลังไม้โดยมีวัสดุรับแรงกระแทกอย่างเหมาะสมตามมาตรฐานและติดตั้งเครื่องเตือนภัยพร้อมคำเตือนแล้ว ความบุบสลายจึงไม่ได้เกิดเพราะความผิดของผู้ส่ง อุทธรณ์ของจำเลยที่ 2 ประการนี้ฟังไม่ขึ้น
ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยประการสุดท้ายตามอุทธรณ์ของโจทก์มีว่า จำเลยทั้งสามสามารถอ้างข้อจำกัดความรับผิดได้หรือไม่ เห็นว่า โจทก์ฟ้องและนำสืบแต่เพียงว่า ผู้เอาประกันภัยว่าจ้างจำเลยที่ 1 ขนส่งสินค้า ส่วนจำเลยที่ 1 และที่ 2 ให้การว่า สัญญารับขนมีข้อจำกัดความรับผิดตามที่ปรากฏด้านหลังใบรับขนทางอากาศ และผู้เอาประกันภัยตกลงให้จำเลยที่ 1 และที่ 2 จำกัดความรับผิดตามเงื่อนไขทางการค้ามาตรฐาน ดังนั้นเมื่อจำเลยที่ 1 และที่ 2 นำนางอุษา พนักงานของผู้เอาประกันภัยซึ่งมีหน้าที่ดูแลการขนส่งสินค้าขาเข้าและขาออกและได้รับมอบอำนาจจากผู้เอาประกันภัยเกี่ยวกับการประมูลงานการขนส่งมาเบิกความเป็นพยานว่า ในการประมูลงาน ผู้เอาประกันภัยจะเรียกผู้เข้าประมูลมาเพื่อให้ทราบรายละเอียดของผู้เอาประกันภัยและสิทธิประโยชน์ของแต่ละโรงงานของผู้เอาประกันภัย แล้วให้ผู้เข้าประมูลยื่นข้อเสนอรายละเอียดต่าง ๆ รวมทั้งค่าบริการและค่าระวางขนส่ง จำเลยที่ 1 เสนอการประมูลซึ่งระบุความรับผิดในการขนส่ง เมื่อจำเลยที่ 1 ชนะการประมูล ผู้เอาประกันภัยจะออกหนังสือแต่งตั้งจำเลยที่ 1 เดิมผู้เอาประกันภัยจัดให้มีการประมูลทุกปีจนกระทั่งปี 2549 จึงให้ประมูลทุก 2 ปี เมื่อจำเลยที่ 1 ชนะการประมูลทุกครั้งจำเลยที่ 1 จะส่งใบขอเสนอราคาประจำปีให้แก่ผู้เอาประกันภัย และเบิกความตอบทนายจำเลยที่ 1 และที่ 2 ถามติงว่า ในการขนส่งสินค้าคดีนี้เมื่อปี 2548 ใช้ใบขอเสนอราคาประจำปีและสำเนาเงื่อนไขทางการค้ามาตรฐานบังคับ จึงเป็นการนำสืบพยานบุคคลและพยานเอกสารตามที่จำเลยที่ 1 และที่ 2 ให้การโต้แย้งเป็นประเด็นไว้ ข้อเท็จจริงจึงฟังได้ตามที่จำเลยที่ 1 และที่ 2 นำสืบว่า จำเลยที่ 1 ชนะการประมูลในการขนส่งสินค้าให้แก่ผู้เอาประกันภัยตามสำเนาใบขอเสนอราคาประจำปีและสำเนาเงื่อนไขทางการค้ามาตรฐาน และเอกสารดังกล่าวใช้บังคับการขนส่งสินค้าคดีนี้ซึ่งเป็นการซื้อขายแบบ FOB และเมืองท่าต้นทางคือ Washington และเมื่อเงื่อนไขทางการค้ามาตรฐาน ข้อ 27 (a) (ii) จำกัดความรับผิดของจำเลยที่ 1 ไว้ 1 ดอลลาร์สิงคโปร์ ต่อ 1 กิโลกรัมรวมของสินค้า จึงถือว่าผู้เอาประกันภัยและจำเลยที่ 1 ได้ตกลงกันโดยชัดแจ้งในข้อจำกัดความรับผิดดังกล่าว เมื่อสินค้าหนัก 528.40 กิโลกรัม จำเลยที่ 1 จึงจำกัดความรับผิดไว้เพียงจำนวน 528.40 ดอลลาร์สิงคโปร์ ส่วนจำเลยที่ 2 และที่ 3 นั้น เมื่อปรากฏว่าใบรับขนของทางอากาศที่จำเลยที่ 2 และที่ 3 ออกจำกัดจำนวนความรับผิดไว้ 20 ดอลลาร์สหรัฐต่อน้ำหนัก 1 กิโลกรัม จำเลยที่ 2 และที่ 3 จึงต้องจำกัดความผิดไว้ตามที่ระบุไว้รวมเป็นเงิน 10,568 ดอลลาร์สหรัฐ และเมื่อโจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งสามร่วมกันรับผิดจากการขนส่งดังกล่าวจำเลยทั้งสาม จึงต้องร่วมกันรับผิดต่อโจทก์ ความรับผิดของจำเลยทั้งสามนี้เกี่ยวด้วยการชำระหนี้อันไม่อาจแบ่งแยกได้ แม้จำเลยที่ 3 จะไม่ได้อุทธรณ์ ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศก็มีอำนาจพิพากษาให้มีผลไปถึงจำเลยที่ 3 ได้ ตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศและวิธีพิจารณาคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ พ.ศ.2539 มาตรา 45 ประกอบประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 245 (1) กรณีไม่จำต้องวินิจฉัยอุทธรณ์ในปัญหาอื่นอีกต่อไปเพราะไม่ทำให้ผลคดีเปลี่ยนแปลง
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยที่ 2 และที่ 3 ร่วมกันชำระเงินคนละ 10,568 ดอลลาร์สหรัฐ โดยให้คิดเป็นเงินบาทในอัตราแลกเปลี่ยนถัวเฉลี่ยราคาขายตามประกาศธนาคารแห่งประเทศไทยในวันที่ 30 ธันวาคม 2548 หากไม่มีประกาศในวันดังกล่าวก็ให้ใช้ประกาศฉบับก่อนหน้านั้น และให้จำเลยที่ 1 ร่วมชำระไม่เกิน528.40 ดอลลาร์สิงคโปร์ โดยให้คิดเป็นเงินบาทตามอัตราแลกเปลี่ยนข้างต้น แต่ทั้งนี้เมื่อคำนวณเป็นเงินไทยแล้วต้องไม่เกิน 7,838,161 บาท กับให้จำเลยทั้งสามร่วมกันชำระดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินดังกล่าวนับแต่วันที่ 30 ธันวาคม 2548 จนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลาง คืนค่าขึ้นศาลชั้นอุทธรณ์ให้จำเลยที่ 1 ค่าฤชาธรรมเนียมอื่นนอกจากที่สั่งคืนให้เป็นพับ ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ของโจทก์และจำเลยที่ 2 ให้เป็นพับ

Share