คำวินิจฉัยที่ 6/2545

แหล่งที่มา : ส่วนเลขานุการคณะกรรมการวินิจฉัยฯ

ย่อสั้น

ไม่มีย่อสั้น

ย่อยาว

(สำเนา)

คำวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล คณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล
ที่ ๖/๒๕๔๕

วันที่ ๒๗ กุมภาพันธ์ ๒๕๔๕

เรื่อง เขตอำนาจศาลเกี่ยวกับพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๙ วรรคหนึ่ง

ศาลปกครองกลาง
ระหว่าง
ศาลแขวงพระนครเหนือ

การส่งเรื่องต่อคณะกรรมการ
ศาลปกครองกลางโดยสำนักงานศาลปกครองส่งเรื่องให้คณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาลพิจารณาวินิจฉัยชี้ขาดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล พ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๑๐ วรรคหนึ่ง (๓) และวรรคสาม ซึ่งเป็นกรณีศาลที่ส่งความเห็นและศาลที่รับความเห็นมีความเห็นแตกต่างกันในเรื่องเขตอำนาจศาล

ข้อเท็จจริงในคดี
เมื่อวันที่ ๒ เมษายน ๒๕๔๔ นายวัลลภ นาคพุก โดยนางกนิษฐา พราหมณ์เสน่ห์ ผู้รับมอบอำนาจ ยื่นฟ้องสำนักงานตำรวจแห่งชาติ และร้อยตำรวจเอก ชัยวัฒน์ อินทร์เทศ พนักงานสอบสวนสถานีตำรวจนครบาลวิภาวดี ต่อศาลปกครองกลาง อ้างว่าการออกหมายเรียกของร้อยตำรวจเอกชัยวัฒน์ ที่สั่งให้นายวัลลภไปพบ ณ สถานีตำรวจนครบาลวิภาวดี ในวันที่ ๑๙ มีนาคม ๒๕๔๔ เวลา ๑๒.๐๐ นาฬิกา เป็นไปโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย เนื่องจากในหมายเรียกมิได้แจ้งเหตุแห่งการออกหมายว่าจะเรียกไปสอบปากคำในคดีอาญาเรื่องใดตามนัยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา ๕๓ และมีข้อความอันมีลักษณะเป็นการข่มขู่ให้เกิดความกลัวว่าจะเกิดอันตรายแก่เสรีภาพและทรัพย์สิน ซึ่งอาจเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๓๙๒ และมาตรา ๑๕๗ ประกอบกับการสอบปากคำไม่ได้กระทำในเวลาอันสมควร ไม่เป็นกลาง และกระทำไปโดยจูงใจให้รับสารภาพว่านายวัลลภเป็นผู้กระทำผิดตามพระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ. ๒๕๒๒ อันขัดต่อรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๔๐ มาตรา ๒๔๓ และประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา ๑๓๓ และมาตรา ๒๓๔ ซึ่งการไปให้ปากคำตามหมายเรียกดังกล่าวทำให้นายวัลลภขาดรายได้จากการประกอบอาชีพทันตแพทย์ ณ โรงพยาบาลแพทย์รังสิต ตำบลคูคต อำเภอลำลูกกา จังหวัดปทุมธานี ในวันที่ ๑๙ มีนาคม ๒๕๔๔ เป็นจำนวนเงิน ๕,๐๐๐ บาท จึงขอให้ศาลพิจารณาพิพากษาให้จำเลยชดใช้ค่าเสียหายจากการขาดรายได้ ในวันที่ ๑๙ มีนาคม ๒๕๔๔ เป็นจำนวนเงิน ๕,๐๐๐ บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปี นับแต่วันที่ ๑๙ มีนาคม ๒๕๔๔ จนถึงวันชดใช้เสร็จ และขอให้ศาลมีคำสั่งระงับหรือเพิกถอนการออกหมายเรียกที่มีขึ้นในครั้งหลังด้วย ในระหว่างพิจารณา ศาลปกครองกลางเห็นว่า คดีนี้เป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับการดำเนินการตามกระบวนการยุติธรรมทางอาญา จึงไม่อยู่ในอำนาจของศาลปกครองที่จะรับไว้พิจารณาได้ตามมาตรา ๙ วรรคหนึ่ง แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ ศาลปกครองกลางจึงส่งความเห็นไปให้ศาลแขวงพระนครเหนือจัดทำความเห็นตามมาตรา ๑๐ วรรคสาม แห่งพระราชบัญญัติว่าด้วยการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล พ.ศ. ๒๕๔๒
ศาลแขวงพระนครเหนือเห็นว่า คำฟ้องของผู้ฟ้องคดีแบ่งเป็น ๒ ส่วน คือส่วนที่ขอให้เพิกถอนหมายเรียกและส่วนที่เรียกค่าเสียหาย ซึ่งศาลแขวงพระนครเหนือเห็นว่า ส่วนแรกไม่อยู่ในเขตอำนาจของศาลแขวงพระนครเหนือที่จะพิจารณาสำหรับในส่วนที่สองคือ ส่วนที่เรียกค่าเสียหายนั้น เห็นว่า อยู่ในเขตอำนาจของศาลแขวงพระนครเหนือ

คำวินิจฉัย
ปัญหาที่ต้องพิจารณา การฟ้องขอให้ระงับหรือเพิกถอนหมายเรียกของพนักงานสอบสวนในคดีอาญาและเรียกค่าเสียหายเกี่ยวกับการนี้ อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรมหรือศาลปกครอง
คณะกรรมการพิจารณาแล้ว เห็นว่า ในการดำเนินกิจการหรือการกระทำต่าง ๆ ของรัฐ ทุกระบบ จะต้องถูกตรวจสอบได้โดยศาล ไม่ว่าจะเป็นศาลยุติธรรมหรือศาลปกครอง ยกเว้นแต่เป็นเรื่องที่โดยสภาพแล้วไม่อาจที่จะตรวจสอบได้ เช่น การกระทำทางนิติบัญญัติ การกระทำในทางตุลาการและการกระทำของรัฐบาลที่เป็นงานด้านนโยบายหรืองานด้านการเมืองหรือนโยบายต่างประเทศหรือในความสัมพันธ์กับฝ่ายนิติบัญญัติ เป็นต้น สำหรับศาลปกครองมีอำนาจหน้าที่ในการตรวจสอบการกระทำทางปกครองซึ่งตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย มาตรา ๒๗๖ ประกอบพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๓ และมาตรา ๙ บัญญัติให้ศาลปกครองมีเขตอำนาจในการพิจารณาพิพากษาหรือมีคำสั่งในคดีที่มีการฟ้องว่า หน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐกระทำการในการใช้อำนาจทางปกครอง หรือดำเนินกิจการทางปกครองโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย หรือในคดีที่มีการฟ้องว่าหน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐละเลยต่อหน้าที่ในทางปกครองตามที่กฎหมายกำหนดให้ต้องปฏิบัติหรือปฏิบัติหน้าที่ดังกล่าวล่าช้าเกินสมควร หรือในคดีที่มีการฟ้องเกี่ยวกับการกระทำละเมิดหรือความรับผิดอย่างอื่นของหน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐ ซึ่งเกิดจากการใช้อำนาจทางปกครองหรือดำเนินกิจการทางปกครองโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย หรือละเลยต่อหน้าที่ในทาง ปกครองตามที่กฎหมายกำหนดให้ต้องปฏิบัติหรือปฏิบัติหน้าที่ดังกล่าวล่าช้า หรือเป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับสัญญาทางปกครองอันเป็นการตรวจสอบการกระทำทางปกครอง ส่วนศาลยุติธรรมมีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีทั้งปวงที่ไม่อยู่ในเขตอำนาจของศาลอื่น ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๔๐ มาตรา ๒๗๑ ซึ่งได้แก่ คดีแพ่ง คดีอาญา ในส่วนคดีอาญานั้น ศาลและผู้เกี่ยวข้องทุกฝ่ายจะต้องปฏิบัติตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ทั้งนี้เพื่อนำไปสู่การลงโทษผู้กระทำความผิดทางอาญา การที่ผู้ฟ้องคดีได้ฟ้องผู้ถูกฟ้องคดีซึ่งเป็นเจ้าพนักงานตำรวจอันถือได้ว่าเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐว่า ออกหมายเรียกตนให้มาให้การในฐานะพยานคดีอาญาโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย จึงเรียกค่าเสียหายจากการขาดรายได้เพราะต้องไปให้ปากคำตามหมายเรียกดังกล่าว และขอให้ศาลมีคำสั่งระงับหรือเพิกถอนการออกหมายเรียกที่มีขึ้นในครั้งหลังด้วยนั้น เห็นได้ว่าผู้ฟ้องคดีมุ่งประสงค์เรียกค่าเสียหายอันเนื่องมาจากการออกหมายเรียกที่ผู้ฟ้องคดีเข้าใจว่าไม่ชอบด้วยกฎหมายเป็นประการแรก ซึ่งการออกหมายเรียกดังกล่าว ถือได้ว่าเป็นขั้นตอนการดำเนินการของพนักงานสอบสวนที่ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญากำหนดให้อำนาจไว้เป็นการเฉพาะโดยตรง และอยู่ในอำนาจการควบคุมตรวจสอบของศาลยุติธรรม ทั้งไม่เข้าหลักเกณฑ์ตามมาตรา ๙ วรรคหนึ่ง แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒
ดังนั้น แม้การออกหมายเรียกดังกล่าวจะส่งผลกระทบต่อผู้ฟ้องคดีโดยตรง แต่ก็เป็นการใช้อำนาจของพนักงานสอบสวนตามขั้นตอนที่กำหนดไว้เป็นการเฉพาะในประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาซึ่งอยู่ภายใต้การตรวจสอบของศาลยุติธรรม ด้วยเหตุนี้ การเรียกค่าเสียหาย อันเนื่องมาจากการออกหมายเรียกดังกล่าว จึงอยู่ภายใต้การตรวจสอบของศาลยุติธรรมเช่นกัน อนึ่ง ประเด็นเรื่องเรียกค่าเสียหายนี้ ทั้งศาลปกครองกลางและศาลแขวงพระนครเหนือเห็นพ้องต้องกันว่า คำฟ้องส่วนนี้อยู่ในอำนาจของศาลยุติธรรม กรณีจึงมิใช่เป็นการขัดแย้งกันในเรื่องอำนาจหน้าที่ระหว่างศาลไม่จำเป็นต้องวินิจฉัยชี้ขาด
สำหรับการขอให้ระงับหรือเพิกถอนหมายเรียกนั้น เมื่อการออกหมายเรียกเป็นการใช้อำนาจของพนักงานสอบสวนตามขั้นตอนที่กำหนดไว้เป็นการเฉพาะตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ซึ่งอยู่ภายใต้การตรวจสอบของศาลยุติธรรมดังที่ได้กล่าวมาแล้ว จึงอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม
จึงวินิจฉัยชี้ขาดว่า คดีฟ้องขอให้เพิกถอนระงับหมายเรียกพยานในคดีอาญา ระหว่าง นายวัลลภ นาคพุก ผู้ฟ้องคดี กับ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ และ ร้อยตำรวจเอก ชัยวัฒน์ อินทร์เทศ ผู้ถูกฟ้องคดี อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม ซึ่งในคดีนี้ศาลที่มีเขตอำนาจได้แก่ ศาลแขวงพระนครเหนือ

นายสันติ ทักราล หม่อมหลวงเฉลิมชัย เกษมสันต์
ประธานศาลฎีกา กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลยุติธรรม

นายอักขราทร จุฬารัตน นายโภคิน พลกุล
ประธานศาลปกครองสูงสุด กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลปกครอง

พลโท สมัยรบ สุทธิวาทนฤพุฒิ พลโท อาชวัน อินทรเกสร
หัวหน้าสำนักตุลาการทหาร กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลทหาร

นายพรชัย รัศมีแพทย์
กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ

Share