คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4809/2533

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 290ฯ ข้อ 23 วรรคสุดท้ายกำหนดให้นำบทบัญญัติของกฎหมายว่าด้วยทางหลวงในส่วนที่ว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์เพื่อสร้างหรือขยายทางหลวงมาใช้บังคับโดยอนุโลมกับเงินค่าทดแทนในการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์เพื่อสร้างทางพิเศษด้วยและประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 295ฯ ซึ่งเป็นกฎหมายว่าด้วยทางหลวงมีบทบัญญัติเกี่ยวกับเงินค่าทดแทนในการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์เพื่อสร้างหรือขยายทางหลวงไว้ในข้อ 76 ว่า เงินค่าทดแทนนั้นถ้าไม่มีบทบัญญัติเป็นพิเศษในพระราชบัญญัติเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ซึ่งออกตามข้อ 63 แล้ว ให้กำหนดเท่าราคาของทรัพย์สินตามราคาธรรมดาที่ซื้อขายในท้องตลาดในวันที่พระราชกฤษฎีกากำหนดเขตที่ดินบริเวณที่ที่จะเวนคืนใช้บังคับ ดังนั้น การที่จำเลยกำหนดค่าทดแทนที่ดินของโจทก์ที่ถูกเวนคืนเพื่อสร้างทางหลวงเทศบาลสายรัชดาภิเษก ซึ่งเป็นทางพิเศษตามราคาประเมินในการจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมของกรมที่ดิน พ.ศ. 2524 มิใช่ราคาธรรมดาที่ซื้อขายในท้องตลาดในวันที่พระราชกฤษฎีกากำหนดแนวทางหลวงเทศบาลสายรัชดาภิเษก ตอนแขวงสามเสนนอก พ.ศ. 2524 ใช้บังคับการกำหนดราคาดังกล่าวจึงไม่ชอบด้วยกฎหมาย.

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ในที่ดินโฉนด เลขที่ 161825,161827, 161828 แขวงช่องนนทรี เขตยานนาวา กรุงเทพมหานคร เนื้อที่ 40ตารางวา และ 106 ตารางวา ตามลำดับ ซึ่งถูกกำหนดให้เป็นแนวทางหลวงเทศบาล สายรัชดาภิเษก ตามพระราชกฤษฎีกากำหนดแนวทางหลวงที่จะ สร้างทางหลวงเทศบาล สายรัชดาภิเษก ตอนแขวงวัดท่าพระ แขวงสามเสนนอกพ.ศ. 2524 ซึ่งมีจำเลยที่ 2 มีอำนาจหน้าที่ปฏิบัติราชการแทนจำเลยที่ 1และเป็นเจ้าหน้าที่ผู้ดำเนินการ ตามพระราชกฤษฎีกาและตามพระราชบัญญัติเวนคืนอสังหาริมทรัพย์เพื่อสร้างทางหลวงเทศบาลดังกล่าว จำเลยได้กำหนดค่าทดแทน ที่ดินของโจทก์แปลงเนื้อที่ 106 ตารางวาที่ถูกเขตทางหลวงเทศบาลตัดผ่านบางส่วนเนื้อที่ 51 ตารางวา โดยเสนอค่าทดแทนให้ โจทก์แยกเป็นสองอัตรา อัตราแรกตารางวาละ 13,000 บาท จำนวน 25 ตารางวา อัตราที่สองตารางวาละ 1,800 บาท จำนวน 26 ตารางวา และแปลงเนื้อที่ 40ตารางวา ที่ถูกเขตทางหลวงเทศบาลตัดผ่านเนื้อที่ 37 ตารางวา และที่ดินแปลงเนื้อที่ 50 ตารางวาทั้งแปลงอัตรา ตารางวาละ 1,800 บาท รวม เป็นเงินทั้งสิ้น 528,000 บาท แต่โจทก์ ขอค่าทดแทนที่ดินทั้งสามแปลงตารางวาละ 25,000 บาท จึงไม่อาจตกลง กันได้ จำเลยนำเงินค่าทดแทนที่จำเลยกำหนดไปวางต่อสำนักงานวางทรัพย์ กลางกรมบังคับคดีวันที่ 14 สิงหาคม2528 โจทก์ไปรับเงินค่าทดแทนที่จำเลยวางไว้ เงินค่าทดแทนที่ จำเลยกำหนดและนำไปวางต่อ สำนักงานวางทรัพย์กลางเพื่อชำระให้โจทก์นั้นเป็นการกำหนดค่าทดแทนที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายและไม่เป็นธรรม เพราะ จำเลยจำเลยไม่ได้กำหนด ราคาที่ดินตามราคาธรรมดาที่ซื้อขายในท้องตลาดในวันที่พระราชกฤษฎีกา กำหนดแนวทางหลวงที่จะสร้างทางหลวงเทศบาล สายรัชดาภิเษก ตอนแขวงท่าพระ – แขวงสามเสนนอก ใช้บังคับ แต่จำเลยนำราคาที่ดินที่ทางราชการกำหนดเป็นทุนทรัพย์สำหรับเรียกเก็บค่าธรรมเนียมในการจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรม ซึ่งคณะกรรมการของสำนักงานกลางประเมินราคาทรัพย์สินได้กำหนดเมื่อวันที่ 2 ธันวาคม 2522 มาเป็นค่าทดแทน ที่ดิน ของโจทก์ทั้งสามแปลง จึงเป็นการไม่ชอบด้วยกฎหมาย ที่ดินของ โจทก์ ตั้ง อยู่ ริมถนนนางลิ้นจี่ และตั้งอยู่ใจกลางย่าน ธุรกิจการค้า ของ กรุงเทพมหานคร ราคาของที่ดินที่ซื้อขายในท้องตลาดในวันที่ พระราชกฤษฎีกากำหนดแนวทางหลวงที่จะสร้างทางหลวงเทศบาล สายรัชดาภิเษก ตอนแขวงวัดท่าพระ – แขวงสามเสนนอก พ.ศ. 2524 ใช้บังคับราคาตารางวา ละ 25,000 บาท โจทก์จึงเรียกค่าทดแทนที่ดินเพิ่ม 2,921,600 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปี นับแต่วันที่ 19 ธันวาคม 2524 จนถึงวันฟ้องเป็นเงิน 894,131 บาท ขอให้บังคับจำเลยทั้งสอง ร่วมกันชำระเงินค่าทดแทนจำนวน 3,816,731 บาทพร้อมด้วยดอกเบี้ย ร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีของต้นเงิน 2,921,600 บาท นับจาก วันฟ้อง จนกว่าจำเลยทั้งสองจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยทั้งสองให้การว่า ค่าทดแทนที่จำเลยกำหนดให้เป็นราคา ที่ที่เป็นธรรมและเป็นราคาธรรรมดา ที่ซื้อขายกันในท้องตลาดในวันที่พระราชกฤษฎีกากำหนดแนวทางหลวงที่จะสร้างทางหลวงเทศบาล สายรัชดาภิเษก ตอนแขวงวัดท่าพระ – แขวงสามเสนอก พ.ศ. 2522ใช้บังคับ ที่ดินของโจทก์อยู่ห่างจากถนนนางลิ้นจี่ ประมาณ 40 เมตร ไม่ใช่ย่าน ชุมนุมชนที่เจริญและไม่ใช่ย่าน ธุรกิจการค้า ที่ดินของโจทก์ติดกับ ถนน ซอย สาธารณะกว้างประมาณ 4 เมตร ราคาซื้อขายไม่ถึงตารางวา ละ 25,000 บาท ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงินค่าทดแทนให้โจทก์จำนวน 875,600 บาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปี นับแต่วันที่20 ธันวาคม 2524 จนกว่าจะชำระเงินเสร็จ
จำเลยทั้งสองอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยทั้งสองฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า เกี่ยวกับเงินค่าทดแทนในการเวนคืน อสังหาริมทรัพย์เพื่อสร้างทางพิเศษตามที่พิพาทกันในคดีนี้ ได้มี ประกาศของคณะปฏิวัติฉบับที่ 290 ลงวันที่ 27 พฤศจิกายน พุทธศักราช 2515 ข้อ 23 วรรคสุดท้าย กำหนดให้นำบทบัญญัติของ กฎหมายว่าด้วยทางหลวงในส่วนที่ว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ เพื่อสร้างหรือขยายทางหลวงมาใช้บังคับโดยอนุโลม และประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 295 ลงวันที่ 28 พฤศจิกายน 2515 ซึ่งเป็น กฎหมายว่าด้วยทางหลวงมีบทบัญญัติเกี่ยวกับเงินค่าทดแทนในการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์เพื่อสร้างหรือขยายทางหลวงไว้ในข้อ 76 ว่าเงิน ค่าทดแทนนั้น ถ้าไม่มีบทบัญญัติเป็นพิเศษในพระราชบัญญัติเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ ซึ่ง ออกตามข้อ 63 แล้ว ให้กำหนดเท่าราคาของ ทรัพย์สิน ตาม ราคา ธรรมดา ที่ ซื้อขายในท้องตลาดในวันที่พระราชกฤษฎีกากำหนดเขตที่ดินในบริเวณที่ที่จะเวนคืนใช้บังคับ คดีนี้ข้อเท็จจริง ปรากฏว่าพระราชบัญญัติเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ซึ่งออกตามข้อ 63 แห่งประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 295 คือพระราชบัญญัติเวนคืนอสังหาริมทรัพย์เพื่อสร้างทางหลวงเทศบาลสายรัชดาภิเษกฯ พ.ศ. 2526ไม่มีบทบัญญัติพิเศษเกี่ยวกับเงินค่าทดแทนแต่ปรากฏว่าได้มี พระราชกฤษฎีกากำหนดแนวทางหลวงที่จะสร้างทางหลวงเทศบาลสายรัชดาภิเษก ตอนแขวงวัดท่าพระ – แขวงสามเสนนอก พ.ศ. 2524 ใช้บังคับแก่กรณี ของโจทก์เมื่อวันที่ 20 ธันวาคม 2524 และจำเลยทั้งสองได้กำหนด ค่าทดแทนที่ดินของโจทก์โดยใช้ราคาประเมินในการจดทะเบียนสิทธิ และนิติกรรมพ.ศ. 2524 ของกรมที่ดินมาบังคับ ศาลฎีกาเห็นว่าราคา ดังกล่าวไม่ใช่ราคาธรรมดาที่ซื้อขายในท้องตลาดในวันที่พระราชกฤษฎีกากำหนดแนวทางหลวงที่จะสร้างทางหลวงเทศบาลสายรัชดาภิเษก ตอนแขวง วัดท่าพระ – แขวงสามเสนนอก พ.ศ. 2524 ใช้บังคับเพราะได้ความว่า ที่ดิน ของ โจทก์ ราย นี้เดิมเป็นที่ดินแปลงเดียว คือแปลงโฉนดเลขที่ 6265 โจทก์ซื้อมาเมื่อวันที่30 สิงหาคม 2522 ราคา 8,490,000 บาท ซึ่งขณะซื้อนั้นที่ดินนี้ยังไม่ได้ถมพื้นดินเป็นหลุมเป็นบ่ออยู่ติด กับถนนนางลิ้นจี่ มีเนื้อที่ทั้งหมด 2 ไร่20 ตารางวา คิดเป็นราคา ตารางวาละ 10,353.65 ต่อมาโจทก์ถมดินปรับพื้นที่แบ่งแยกโฉนดจัดสรร ทำเป็นหมู่บ้านที่ดินของโจทก์จึงย่อมจะมีราคาสูงขึ้นทั้งแปลง มิใช่เฉพาะส่วนที่ติดถนนนางลิ้นจี่ อนึ่งจากวันที่โจทก์ซื้อที่ดิน แปลงนี้ถึงวันที่พระราชกฤษฎีกาฉบับดังกล่าวใช้บังคับเป็นเวลาประมาณ 2 ปี กาลเวลาที่ผ่านไปย่อมเป็นเหตุให้ราคาซื้อขายตาม ธรรมดาของที่ดินสูงขึ้นได้ด้วย ฉะนั้นในวันที่พระราชกฤษฎีกาฉบับ ดังกล่าวใช้บังคับที่ดินของโจทก์รายนี้ จึงน่าจะมีราคาสูงเกิน กว่าตารางวาละ10,353.65 บาท การที่จำเลยทั้งสองกำหนดค่าทดแทน ที่ดินของโจทก์ที่ถูกเวนคืนตามราคาประเมินในการจดทะเบียนสิทธิ และนิติกรรม พ.ศ. 2524โดยเนื้อที่บางส่วนของที่ดินกำหนดค่าทดแทนให้เพียงตารางวาละ 1,800บาท นั้น เห็นได้ว่าต่ำกว่าราคา ธรรมดาที่ซื้อขายในท้องตลาดในวันที่พระราชกฤษฎีกากำหนดแนวทางหลวงที่จะสร้างทางหลวงเทศบาลสายรัชดาภิเษกตอนแขวงวัดท่าพระ – แขวงสามเสนนอก พ.ศ. 2524 ใช้บังคับ ที่ศาลล่างทั้งสองมีความเห็น ต้องกันให้กำหนดค่าทดแทนที่ดินของโจทก์ที่ถูกเวนคืนในราคาตารางวาละ 10,500 บาท นั้น ชอบด้วยรูปคดีแล้ว
พิพากษายืน.

Share