คำวินิจฉัยที่ 5/2545

แหล่งที่มา : ส่วนเลขานุการคณะกรรมการวินิจฉัยฯ

ย่อสั้น

ไม่มีย่อสั้น

ย่อยาว

(สำเนา)

คำวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล คณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล
ที่ ๕/๒๕๔๕

วันที่ ๒๗ กุมภาพันธ์ ๒๕๔๕

เรื่อง เขตอำนาจศาลเกี่ยวกับพระราชบัญญัติความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ. ๒๕๓๙

ศาลปกครองกลาง
ระหว่าง
ศาลแขวงดุสิต

การส่งเรื่องต่อคณะกรรมการ
ศาลปกครองกลางโดยสำนักงานศาลปกครองส่งเรื่องให้คณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาลพิจารณาวินิจฉัยชี้ขาดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล พ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๑๒ วรรคสอง ซึ่งเป็นกรณีที่ศาลหนึ่งไม่รับฟ้อง เพราะเห็นว่าคดีอยู่ในอำนาจของอีกศาลหนึ่ง และเมื่อมีการฟ้องคดีต่ออีกศาลหนึ่งแล้ว ศาลดังกล่าวเห็นว่าคดีนั้นไม่อยู่ในอำนาจเช่นกันให้ศาลนั้นส่งเรื่องไปให้คณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาลพิจารณาวินิจฉัยชี้ขาด

ข้อเท็จจริงในคดี
เมื่อวันที่ ๒๘ พฤษภาคม ๒๕๔๔ บริษัทบางกอกสหประกันภัย จำกัด (มหาชน) เป็นโจทก์ยื่นฟ้องกรุงเทพมหานคร เป็นจำเลยต่อศาลแขวงดุสิต อ้างว่าบริษัทบางกอกสหประกันภัย จำกัด (มหาชน) เป็นผู้รับประกันภัยรถยนต์กระบะคันหมายเลขทะเบียน ลธ ๗๖๘๑ กรุงเทพมหานคร ไว้จากนายอนิรุธ เพ็งนุ่ม โดยมีสาระสำคัญตามเงื่อนไขกรมธรรม์ว่า หากรถยนต์คันที่เอาประกันภัยเกิดเหตุชนหรือถูกชนบริษัทบางกอกสหประกันภัย จำกัด (มหาชน) มีหน้าที่ต้องชดใช้ค่าเสียหายแก่ผู้เอาประกันหรือแทน ผู้เอาประกันภัย กรุงเทพมหานครเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ครอบครองเสาไฟฟ้าส่องทางเดินบริเวณลานจอดรถตลาดนัดสนามหลวง ๒ ธนบุรี แต่ไม่ได้ใช้ความระมัดระวังในการปักเสาไฟฟ้า เป็นเหตุให้เสาไฟฟ้าล้มลงมาฟาดรถยนต์คันดังกล่าวได้รับความเสียหาย บริษัทบางกอกสหประกันภัย จำกัด (มหาชน) ซึ่งเป็นผู้รับประกันภัยได้รับผิดชดใช้ค่าซ่อมไปเป็นจำนวนเงิน ๓๔,๔๒๑.๕๕ บาท จึงเป็นผู้รับช่วงสิทธิในอันที่จะเรียกร้องให้กรุงเทพมหานครชดใช้ค่าเสียหายให้กับบริษัทบางกอกสหประกันภัย จำกัด (มหาชน) โดยขอให้ศาลมีคำสั่งให้กรุงเทพมหานครชดใช้ค่าซ่อมรถยนต์เนื่องจากการกระทำละเมิดเป็นเงินจำนวน ๓๔,๔๒๑.๕๕ บาท และดอกเบี้ยตั้งแต่วันที่ ๒๖ ตุลาคม ๒๕๔๓ ถึงวันฟ้องเป็นเงิน ๑,๕๑๔ บาท รวมเป็นเงิน ๓๕,๙๓๕.๕๕ บาท และให้จำเลยชำระดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ ๗.๕ ต่อปีจากต้นเงิน ๓๔,๔๒๑.๕๕ บาท นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ ศาลแขวงดุสิตเห็นว่า ตามฟ้องโจทก์ให้จำเลยรับผิดใช้ค่าสินไหมทดแทนและความเสียหายเกิดขึ้นจากความระมัดระวังของเจ้าหน้าที่ของจำเลยตามนัยมาตรา ๘ และมาตรา ๑๑ แห่งพระราชบัญญัติความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ. ๒๕๓๙ ไม่อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรมจึงไม่รับฟ้อง ให้ยื่นฟ้องต่อศาลที่มีอำนาจพิจารณาพิพากษา
บริษัทบางกอกสหประกันภัย จำกัด (มหาชน) จึงยื่นฟ้องคดีต่อศาลปกครองกลาง เมื่อวันที่ ๒๘ มิถุนายน ๒๕๔๔ ศาลปกครองกลางเห็นว่า เรื่องดังกล่าวไม่ใช่คดีพิพาทเกี่ยวกับการกระทำละเมิดหรือความรับผิดอย่างอื่นของหน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐอันเกิดจากการใช้อำนาจตามกฎหมายหรือจากกฎ คำสั่งทางปกครองหรือคำสั่งอื่น หรือการละเลยต่อหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนด ให้ต้องปฏิบัติหรือปฏิบัติหน้าที่ดังกล่าวล่าช้าเกินสมควร ตามมาตรา ๙ วรรคหนึ่ง(๓) แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ คดีนี้จึงไม่อยู่ในอำนาจของศาลปกครองที่จะพิจารณาพิพากษาหรือมีคำสั่ง แต่อยู่ในอำนาจของศาลยุติธรรมตามนัยมาตรา ๑๐๖ แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒

คำวินิจฉัย
ปัญหาที่ต้องพิจารณา เหตุละเมิดคดีนี้เกิดจากการที่เจ้าหน้าที่ใช้อำนาจตามกฎหมายหรือจากกฎ คำสั่งทางปกครองหรือคำสั่งอื่น หรือเกิดจากการละเลยต่อหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนดให้ต้องปฏิบัติหรือปฏิบัติหน้าที่ดังกล่าวล่าช้าเกินสมควรหรือไม่ และคดีเกี่ยวกับการกระทำละเมิดดังกล่าวอยู่ในอำนาจของศาลยุติธรรมหรือศาลปกครอง
คณะกรรมการพิจารณาแล้ว เห็นว่า พระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการกรุงเทพมหานคร พ.ศ. ๒๕๒๘ มาตรา ๘๙ (๙) ประกอบกับข้อบัญญัติกรุงเทพมหานคร เรื่อง สำนักงานตลาด พ.ศ. ๒๕๓๔ กำหนดให้กรุงเทพมหานครมีอำนาจหน้าที่ดำเนินกิจการในเขตกรุงเทพมหานคร ในเรื่องการจัดให้มีตลาดขึ้น โดยความเห็นชอบของผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร และมาตรา ๘๙ (๑๕) กำหนดให้กรุงเทพมหานครมีอำนาจหน้าที่ดำเนินการในเขตกรุงเทพมหานครในเรื่องการสาธารณูปโภค หมายถึง การจัดทำบริการสาธารณะที่เป็นการอำนวยประโยชน์แก่ประชาชนในสิ่งอุปโภคที่จำเป็นต่อการดำเนินชีวิต เช่น การไฟฟ้า การประปา เป็นต้น เมื่อคำฟ้องอ้างเหตุละเมิดที่เกิดขึ้นว่าเป็นผลอันเนื่องมาจากการปักเสาไฟฟ้าส่องทางไม่ลึกและยึดติดกับพื้นผิวถนนไม่แน่นหนาภายในบริเวณพื้นที่ตลาดนัดสนามหลวง๒ ธนบุรี ซึ่งอยู่ในความดูแลของกรุงเทพมหานคร อันเป็นการกระทำโดยประมาทเลินเล่อและปราศจากความระมัดระวังของกรุงเทพมหานคร ซึ่งเป็นหน่วยงานทางปกครองที่มีอำนาจหน้าที่ตามกฎหมาย ในการจัดทำบริการสาธารณะ หน่วยงานทางปกครองจึงต้องรับผิดในความเสียหายที่เกิดขึ้นในเหตุละเมิดดังกล่าวตามพระราชบัญญัติความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ.๒๕๓๙ ซึ่งอาจอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครองหรือศาลยุติธรรมก็ได้ ทั้งนี้ ตามพระราชบัญญัติความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ. ๒๕๓๙ มาตรา ๑๑ และมาตรา ๑๔ ประกอบกับพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๙ และมาตรา ๑๐๖
ดังนั้น การพิจารณาอำนาจศาลในกรณีนี้จำเป็นต้องพิจารณาอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีของศาลปกครอง ซึ่งตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๓) บัญญัติว่า ศาลปกครองมีอำนาจพิจารณาพิพากษาหรือมีคำสั่งในคดีพิพาทเกี่ยวกับการกระทำละเมิดหรือความรับผิดอย่างอื่นของหน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐอันเกิดจากการใช้อำนาจตามกฎหมาย หรือจากกฎ คำสั่งทางปกครอง หรือคำสั่งอื่น หรือจากการละเลยต่อหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนดให้ต้องปฏิบัติหรือปฏิบัติหน้าที่ดังกล่าวล่าช้าเกินสมควร อันเป็นการจำกัดประเภทแห่งคดีที่เกิดจากการกระทำละเมิดของหน่วยงานทางปกครอง โดยมิได้มุ่งหมายให้ศาลปกครองมีอำนาจพิจารณาพิพากษาหรือมีคำสั่งในคดีพิพาทเกี่ยวกับการกระทำละเมิดที่เกิดจากการปฏิบัติหน้าที่ธรรมดาหรือการกระทำละเมิดที่ไม่ได้เกิดจากการใช้อำนาจตามกฎหมาย ซึ่งในคดีนี้ผู้ฟ้องคดีอ้างว่าความเสียหายที่เกิดขึ้นมาจากความประมาทเลินเล่อของผู้ถูกฟ้องคดีในการที่ไม่ปักยึดเสาไฟฟ้าให้มีความมั่นคงแข็งแรง อันถือได้ว่าเป็นการกระทำทางกายภาพ กรณีพิพาทนี้จึงมิได้เกิดจากการใช้อำนาจตามกฎหมาย หรือจากกฎ คำสั่งทางปกครอง หรือคำสั่งอื่น หรือจากการละเลยต่อหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนดให้ต้องปฏิบัติหรือปฏิบัติหน้าที่ล่าช้าเกินสมควรแต่อย่างใด คดีนี้จึงอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรมตามนัย คำวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล ที่ ๑/๒๕๔๕
จึงวินิจฉัยชี้ขาดว่า คดีละเมิดระหว่างบริษัทบางกอกสหประกันภัย จำกัด (มหาชน) โจทก์ และกรุงเทพมหานคร จำเลย อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม ซึ่งในคดีนี้ ศาลที่มี เขตอำนาจ ได้แก่ ศาลแขวงดุสิต

นายสันติ ทักราล หม่อมหลวงเฉลิมชัย เกษมสันต์
ประธานศาลฎีกา กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลยุติธรรม

นายอักขราทร จุฬารัตน นายโภคิน พลกุล
ประธานศาลปกครองสูงสุด กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลปกครอง

พลโท สมัยรบ สุทธิวาทนฤพุฒิ พลโท อาชวัน อินทรเกสร
หัวหน้าสำนักตุลาการทหาร กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลทหาร

นายพรชัย รัศมีแพทย์
กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ

Share