แหล่งที่มา : ส่วนเลขานุการคณะกรรมการวินิจฉัยฯ
ย่อสั้น
ไม่มีย่อสั้น
ย่อยาว
(สำเนา)
คำวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล คณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล
ที่ ๑๒/๒๕๔๗
วันที่ ๒ เมษายน ๒๕๔๗
เรื่อง เขตอำนาจศาลเกี่ยวกับพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ.๒๕๔๒
วรรคหนึ่ง (๓)
ศาลแพ่ง
ระหว่าง
ศาลปกครองกลาง
การส่งเรื่องต่อคณะกรรมการ
ศาลแพ่งโดยสำนักงานศาลยุติธรรมส่งเรื่องให้คณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาลพิจารณาวินิจฉัยชี้ขาดตามมาตรา ๑๐ วรรคหนึ่ง (๓) แห่งพระราชบัญญัติว่าด้วยการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล พ.ศ. ๒๕๔๒ ซึ่งเป็นกรณีที่คู่ความฝ่ายที่ถูกฟ้องโต้แย้งเขตอำนาจศาลที่รับฟ้องคดีและศาลที่ส่งความเห็นและศาลที่รับความเห็นมีความเห็นแตกต่างกันในเรื่องเขตอำนาจศาลในคดีนั้น
ข้อเท็จจริงในคดี
เมื่อวันที่ ๗ กุมภาพันธ์ ๒๕๔๖ นายอาณัติ พัฒนพิโดร เป็นโจทก์ยื่นฟ้อง กรมที่ดินที่ ๑ เจ้าพนักงานที่ดินจังหวัดขอนแก่น ที่ ๒ จำเลย ต่อศาลแพ่ง เป็นคดีแพ่งหมายเลขดำที่ ๕๒๙/๒๕๔๖ ข้อหาละเมิด เรียกค่าเสียหาย ความว่า โจทก์เป็นเจ้าของที่ดินมีสิทธิครอบครองตามหนังสือรับรอง การทำประโยชน์ (น.ส. ๓ ก.) เลขที่ ๕๐๖๒ , ๕๐๖๓ และ ๕๐๖๔ รวมเนื้อที่๓๙ ไร่ ๘๒ตารางวา โดยซื้อมาจากนายขุน จันทสอน นายแก้ว คำสีทา และนายโส โสจันทร์ ต่อมาเมื่อวันที่๘ กุมภาพันธ์ ๒๕๔๕ จำเลยที่ ๑ ได้มีคำสั่งอธิบดีกรมที่ดินที่ ๔๒๐/๒๕๔๕ ,๔๒๑/๒๕๔๕และ๔๒๒/๒๕๔๕ ตามลำดับ เพิกถอนหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.๓ ก.) ทั้งสามแปลงดังกล่าว อ้างว่าหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส. ๓ ก.) ทั้งสามแปลงได้ออกโดยอาศัยหลักฐาน ส.ค. ๑เลขที่๒๖๙ หมู่ที่ ๙ตำบลบ้านทุ่ม อำเภอเมืองขอนแก่น จังหวัดขอนแก่น ซึ่งเป็นหลักฐานสำหรับที่ดินแปลงอื่น ที่ได้ออกหนังสือแสดงสิทธิในที่ดินไปแล้ว และไม่ปรากฏว่าผู้ขอออกหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.๓ ก.) ทั้งสามราย เป็นผู้มีสิทธิครอบครองที่ดิน เนื่องจากเป็นการครอบครองที่ดินซึ่งอยู่ในเขตปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมพร้อมทั้งเรียกเอกสารหลักฐานที่เกี่ยวข้องจากโจทก์คืนทั้งหมด ทำให้โจทก์ได้รับความเสียหายต้องสูญเสียที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.๓ก.) ทั้งสามแปลงดังกล่าว โดยโจทก์คำนวณค่าเสียหายจากราคาซื้อขายที่ดินแปลงข้างเคียงตารางวาละ ๑,๐๐๐ บาท คิดเป็นเงินทั้งสิ้น ๑๕,๖๘๒,๐๐๐ บาท การกระทำดังกล่าวของจำเลยทั้งสองไม่ได้ใช้ความระมัดระวังในการตรวจสอบหลักฐาน ต่าง ๆ และออกหนังสือรับรองการทำประโยชน์(น.ส. ๓ ก.) โดยประมาทเลินเล่อคลาดเคลื่อนผิดพลาด เป็นการทำให้โจทก์ผู้สุจริตได้รับความเสียหาย เป็นการละเมิด จึงขอให้จำเลยทั้งสองร่วมกันหรือแทนกันชดใช้ค่าเสียหายเป็นเงินจำนวนดังกล่าวพร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ ๗.๕ ต่อปี
ศาลแพ่งมีคำสั่งรับคำฟ้องเฉพาะจำเลยที่ ๑ และไม่รับฟ้องจำเลยที่ ๒ เพราะเห็นว่าตำแหน่ง เจ้าพนักงานที่ดินจังหวัดขอนแก่นไม่ใช่ผู้โต้แย้งสิทธิของโจทก์
จำเลยที่ ๑ ให้การปฏิเสธ และโต้แย้งว่าโจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องคดีนี้ต่อศาลแพ่งเนื่องจากโจทก์ฟ้องเรียกค่าเสียหายโดยอ้างมูลเหตุเกิดจากการละเมิดเนื่องจากประมาทเลินเล่อในการออกหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส. ๓ ก.) อันเป็นการพิพาทเกี่ยวกับหน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐกระทำการโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายและเป็นการละเมิดอันเกิดจากการใช้อำนาจตามกฎหมายหรือจากกฎ คำสั่งทางปกครอง ตามมาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๑) และ (๓)แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและ วิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ คดีจึงอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครอง
โจทก์ยื่นคำแถลงว่า โจทก์ฟ้องจำเลยที่ ๑ ซึ่งเป็นหน่วยงานของรัฐและจำเลยที่ ๒ซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐว่า กระทำละเมิดต่อโจทก์ผู้สุจริต ทำให้โจทก์ได้รับความเสียหาย จำเลยทั้งสองต้องรับผิด ในผลแห่งละเมิด ตามมาตรา ๕ และ ๖ แห่งพระราชบัญญัติความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ. ๒๕๓๙ คดีจึงอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม มิใช่เป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับการกระทำละเมิด ของหน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐอันเกิดจากการใช้อำนาจตามกฎหมายหรือจากกฎ คำสั่งทางปกครอง ตามมาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๑)และ (๓) แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒
ศาลแพ่งพิจารณาแล้วเห็นว่า การที่จะวินิจฉัยว่า จำเลยที่ ๑ จงใจหรือประมาทเลินเล่อ ทำต่อโจทก์โดยผิดกฎหมายให้โจทก์ได้รับความเสียหายตามฟ้องหรือไม่ จะต้องวินิจฉัยก่อนว่าโจทก์ได้รับและมีสิทธิครอบครองที่ดินดังกล่าวก่อน แล้วจึงต้องวิฉัยต่อไปว่า การออกคำสั่งเพิกถอนหนังสือรับรอง การทำประโยชน์ (น.ส. ๓ ก.) ดังกล่าว เป็นการกระทำละเมิดต่อโจทก์หรือไม่ ซึ่งสิทธิของบุคคลอันเกี่ยวกับที่ดินหรืออสังหาริมทรัพย์จะต้องพิจารณาตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ และประมวลกฎหมายที่ดินประกอบด้วย ซึ่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๙ ไม่ได้บัญญัติให้ศาลปกครองมีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีเกี่ยวกับสิทธิในทรัพย์สิน ดังนั้น คดีนี้จึงอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม
ศาลปกครองกลางพิจารณาแล้วเห็นว่า การออกหนังสือรับรองการทำประโยชน์(น.ส.๓ ก.) นั้น เจ้าหน้าที่ผู้เกี่ยวข้องย่อมมีอำนาจหน้าที่ตามกฎหมายในการตรวจสอบและพิจารณาดำเนินการให้ถูกต้องตามขั้นตอนที่ประมวลกฎหมายที่ดิน กฎกระทรวง และระเบียบ คำสั่งต่าง ๆกำหนดให้อำนาจไว้ และการเพิกถอนหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส. ๓ ก.) ดังกล่าว ก็เป็นการดำเนินการตามอำนาจหน้าที่ที่ประมวลกฎหมายที่ดินบัญญัติไว้เช่นกัน ซึ่งการออกและเพิกถอนหนังสือรับรอง การทำประโยชน์ (น.ส. ๓ ก.) ดังกล่าว เป็นคำสั่งทางปกครอง ตามความในมาตรา๕แห่งพระราชบัญญัติ วิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ. ๒๕๓๙ ดังนั้นการฟ้องเรียกค่าเสียหายจากจำเลยทั้งสองจึงเป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับการกระทำละเมิดของหน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐอันเกิดจากการใช้อำนาจตามกฎหมาย หรือจากกฎ คำสั่งทางปกครอง หรือคำสั่งอื่น ตามมาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๓) แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้ง ศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ และไม่ปรากฏว่าโจทก์ได้โต้แย้งว่าที่ดิน เป็นกรรมสิทธิ์ของโจทก์แต่อย่างใด คงฟ้องเพียงเรียกค่าเสียหายจากการกระทำของเจ้าหน้าที่ของรัฐเท่านั้น ดังนั้นคดีนี้จึงอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครองกลาง
คำวินิจฉัย
ปัญหาที่จะต้องพิจารณา คดีฟ้องว่ากรมที่ดินและเจ้าพนักงานที่ดินทำละเมิดด้วยการ ออกหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส. ๓ ก.) โดยประมาทขอให้ชดใช้ค่าเสียหาย อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรมหรือศาลปกครอง
คดีนี้เอกชนผู้เป็นโจทก์ยื่นฟ้องกรมที่ดินเป็นจำเลยที่ ๑ และเจ้าพนักงานที่ดินเป็นจำเลยที่ ๒ โดยข้อเท็จจริงตามฟ้องสรุปได้ว่า จำเลยทั้งสองเป็นผู้มีหน้าที่รับผิดชอบในการออกหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส. ๓ ก.) และจำเลยทั้งสองออก น.ส. ๓ ก. เลขที่ ๕๐๖๒ , ๕๐๖๓ และ ๕๐๖๔ รวม ๓ แปลง ให้แก่ผู้มีชื่อโดยประมาทไม่ตรวจสอบให้รอบคอบ โจทก์เห็นว่าที่พิพาทเป็นที่ดิน ที่มี น.ส. ๓ ก. จึงซื้อที่ดินจากผู้มีชื่อ ต่อมาจำเลยทั้งสองมีคำสั่งเพิกถอน น.ส. ๓ ก.ดังกล่าวทั้งสามแปลง เพราะออกโดยผิดพลาดคลาดเคลื่อน เป็นเหตุให้โจทก์ได้รับความเสียหาย คดีจึงมีปัญหาต้องวินิจฉัยประการแรกว่า เป็นคดีเกี่ยวกับการทำละเมิดเรียกค่าเสียหายหรือคดีเกี่ยวกับสิทธิในทรัพย์สิน เมื่อพิจารณาคำฟ้องของโจทก์แล้ว โจทก์เพียงแต่กล่าวอ้างว่าได้ซื้อที่ดินทั้งสามแปลงดังกล่าวมาจากผู้มีชื่อโดยเห็นว่าที่ดินดังกล่าวเป็นที่ดินที่มี น.ส. ๓ ก. จึงตกลงซื้อ ซึ่งน.ส. ๓ ก. ดังกล่าวนี้ออกโดยจำเลยทั้งสองและโดยประมาทเลินเล่อไม่ตรวจสอบให้รอบคอบเสียก่อนอันเป็นการทำให้โจทก์ได้รับความเสียหาย ทั้งนี้ตามคำฟ้องของโจทก์ก็มิได้โต้แย้งสิทธิในที่ดินพิพาทด้วย กรณีถือได้ว่าเป็นคดีพิพาทอันเกิดจากการกระทำละเมิด และเรียกค่าเสียหาย มิใช่คดีโต้แย้งกันในเรื่องสิทธิในทรัพย์สินแต่อย่างใด
ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยประการต่อไปมีว่า การที่โจทก์กล่าวอ้างว่าจำเลยทั้งสองออกหนังสือรับรองการทำประโยชน์ในที่ดิน (น.ส. ๓ ก.) โดยผิดพลาดคลาดเคลื่อน และจำเลยที่ ๑ ออกคำสั่งเพิกถอนหนังสือแสดงสิทธิในที่ดินดังกล่าวทำให้โจทก์ได้รับความเสียหายเป็นการกระทำละเมิดอันเกิดจากการใช้อำนาจตามกฎหมายหรือไม่ เห็นว่ากรมที่ดิน จำเลยที่ ๑ เป็นหน่วยงานทางปกครอง เจ้าพนักงานที่ดินจังหวัดขอนแก่น จำเลยที่ ๒ เป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐ ตามมาตรา ๓แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ ในการออกหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส. ๓ ก.) นั้น เจ้าพนักงานที่ดินและเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องย่อมมีอำนาจหน้าที่ตามกฎหมายในการตรวจสอบและพิจารณาดำเนินการให้ถูกต้องตามขั้นตอนที่ประมวลกฎหมายที่ดินได้ให้อำนาจไว้ และการเพิกถอนหนังสือรับรองการทำประโยชน์ในที่ดิน (น.ส. ๓ ก.)ดังกล่าวก็เป็นอำนาจหน้าที่ที่ประมวลกฎหมายที่ดินบัญญัติไว้เช่นกัน ทั้งคำสั่งเพิกถอนถือเป็นคำสั่งทางปกครองตามความในมาตรา ๕ แห่งพระราชบัญญัติวิธีปฏิบัติราชการ ทางปกครอง พ.ศ.๒๕๓๙ ฉะนั้น การออกหนังสือรับรองการทำประโยชน์ในที่ดินของจำเลยทั้งสอง ในคดีนี้ จึงเป็นการใช้อำนาจตามกฎหมาย เมื่อเกิดข้อพิพาทขึ้น จึงเป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับการกระทำละเมิดของหน่วยงานทางปกครอง หรือเจ้าหน้าที่ของรัฐอันเกิดจากการใช้อำนาจตามกฎหมาย จากกฎ คำสั่งทางปกครอง หรือคำสั่งอื่น ตามมาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๓) แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ อันเป็นคดีอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครอง
จึงวินิจฉัยชี้ขาดว่า คดีฟ้องว่า หน่วยงานทางปกครองและเจ้าหน้าที่ของรัฐทำละเมิดด้วยการออกหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส. ๓ ก.) โดยประมาท ขอให้ชดใช้ค่าเสียหายระหว่าง นายอาณัติ พัฒนพิโดร โจทก์ กรมที่ดิน ที่ ๑ เจ้าพนักงานที่ดินจังหวัดขอนแก่น ที่ ๒จำเลย อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครอง ซึ่งในคดีนี้ได้แก่ ศาลปกครองกลาง
(ลงชื่อ) อรรถนิติ ดิษฐอำนาจ (ลงชื่อ) เฉลิมชัย เกษมสันต์
(นายอรรถนิติ ดิษฐอำนาจ) (หม่อมหลวงเฉลิมชัย เกษมสันต์)
ประธานศาลฎีกา กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลยุติธรรม
(ลงชื่อ) อักขราทร จุฬารัตน (ลงชื่อ) อัครวิทย์ สุมาวงศ์
(นายอักขราทร จุฬารัตน) (นายอัครวิทย์ สุมาวงศ์)
ประธานศาลปกครองสูงสุด กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลปกครอง
(ลงชื่อ) พลโท อัฎฐพร เจริญพานิช (ลงชื่อ) พลโท อาชวัน อินทรเกสร
(อัฎฐพร เจริญพานิช) (อาชวัน อินทรเกสร)
หัวหน้าสำนักตุลาการทหาร กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลทหาร
(ลงชื่อ) พรชัย รัศมีแพทย์
(นายพรชัย รัศมีแพทย์)
กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ