แหล่งที่มา : ส่วนเลขานุการคณะกรรมการวินิจฉัยฯ
ย่อสั้น
ไม่มีย่อสั้น
ย่อยาว
(สำเนา)
คำวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล คณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล
ที่ ๗/๒๕๔๕
วันที่ ๖ มีนาคม ๒๕๔๕
เรื่อง เขตอำนาจศาลเกี่ยวกับพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๓)
ศาลจังหวัดหนองคาย
ระหว่าง
ศาลปกครองกลาง
การส่งเรื่องต่อคณะกรรมการ
ศาลจังหวัดหนองคายได้ส่งเรื่องมาให้คณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาลพิจารณาวินิจฉัยตามมาตรา ๑๒ วรรคหนึ่ง ประกอบกับมาตรา ๑๐ วรรคหนึ่ง (๓) แห่งพระราชบัญญัติว่าด้วยการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล พ.ศ. ๒๕๔๒ ซึ่งเป็นกรณีที่ศาลทั้งสองต่างเห็นว่าคดีอยู่ในเขตอำนาจของตน จึงส่งเรื่องไปให้คณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาลพิจารณาวินิจฉัยชี้ขาด
ข้อเท็จจริงในคดี
เทศบาลเมืองหนองคายเป็นโจทก์ฟ้องนายวีระศักดิ์ พันธ์นาเหนือและนายทวีบุญ อินทราวุธ เป็นจำเลยต่อศาลจังหวัดหนองคาย อ้างว่า จำเลยทั้งสองเป็นเจ้าหน้าที่ในสังกัดของโจทก์ จำเลยที่ ๑ ดำรงตำแหน่งผู้จัดการสถานธนานุบาลเทศบาลเมืองหนองคาย จำเลยที่ ๒ ดำรงตำแหน่งปลัดเทศบาลเมืองหนองคายและผู้ตรวจการสถานธนานุบาลเทศบาลเมืองหนองคาย และจำเลยทั้งสองเป็นคณะกรรมการรักษาเงินของสถานธนานุบาลเทศบาลเมืองหนองคายอีกด้วย จำเลยทั้งสองมีอำนาจหน้าที่ตามระเบียบการว่าด้วยอำนาจหน้าที่พนักงานสถานธนานุบาลของหน่วยบริหารราชการส่วนท้องถิ่น พ.ศ. ๒๕๑๗ และระเบียบกระทรวงมหาดไทยว่าด้วยการควบคุมและดำเนินงานสถานธนานุบาลของหน่วยบริหารราชการส่วนท้องถิ่น พ.ศ. ๒๕๑๖ แต่จำเลยทั้งสองละเว้นไม่ปฏิบัติหน้าที่จนเป็นเหตุให้นางสาวสุกัญญา สนิทภักดี พนักงานบัญชีของสถานธนานุบาลเทศบาลเมืองหนองคายทุจริตยักยอกเงินของสถานธนานุบาลไปใช้ประโยชน์ส่วนตนหลายครั้ง รวมเป็นเงิน ๑,๒๑๖,๐๐๐ บาท จึงขอให้ศาลจังหวัดหนองคายพิพากษาให้จำเลยทั้งสองร่วมรับผิดชดใช้เงินจำนวนดังกล่าวพร้อมดอกเบี้ยนับถึงวันฟ้องเป็นเงิน ๕๑๙,๑๘๕.๗๕ บาท รวมเป็นเงินทั้งสิ้น ๑,๗๓๕,๑๘๕.๗๕ บาท จำเลยที่ ๒ ได้ยื่นคำร้องลงวันที่ ๑๕ ตุลาคม ๒๕๔๔ ว่า คดีนี้มีข้อเท็จจริงเป็นเรื่องเดียวกันกับเรื่องที่จำเลยที่ ๒ ฟ้องโจทก์ต่อศาลปกครองกลาง คดีหมายเลขดำ ที่ ๒๖๙๓/๒๕๔๔ และศาลปกครองกลางรับฟ้องไว้แล้ว เมื่อโจทก์มายื่นฟ้องจำเลยที่ ๒ ที่ศาลจังหวัดหนองคายอีก จึงเป็นกรณีที่ศาลตั้งแต่สองศาลขึ้นไปได้รับฟ้องคดีเรื่องเดียวกันไว้ตามมาตรา ๑๒ ประกอบกับมาตรา ๑๐ และมาตรา ๑๑ แห่งพระราชบัญญัติว่าด้วยการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล พ.ศ. ๒๕๔๒ ซึ่งจำเลยที่ ๒ เห็นว่า คดีนี้ไม่อยู่ในเขตอำนาจของศาลจังหวัดหนองคาย แต่อยู่ในเขตอำนาจของศาลปกครองกลาง จึงขอให้ศาลจังหวัดหนองคายรอการพิจารณาไว้ชั่วคราว
คำวินิจฉัย
ปัญหาที่ต้องพิจารณา การกระทำละเมิดของเจ้าหน้าที่ที่เกิดจากการกระทำหรือละเว้นการกระทำตามหน้าที่แล้วก่อให้เกิดความเสียหาย อยู่ในเขตอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรมหรือศาลปกครอง
คณะกรรมการพิจารณาแล้ว เห็นว่า คดีนี้ โจทก์ซึ่งเป็นหน่วยบริหารราชการส่วนท้องถิ่นและเป็นผู้จัดตั้งควบคุมดูแลสถานธนานุบาล ตามพระราชบัญญัติเทศบาล(ฉบับที่ ๗) พ.ศ. ๒๕๑๗ และระเบียบกระทรวงมหาดไทยว่าด้วยการควบคุมและดำเนินงานสถานธนานุบาลของหน่วยราชการบริหารส่วนท้องถิ่น พ.ศ. ๒๕๑๖ จึงเป็นหน่วยงานของรัฐตามนัยของมาตรา ๕ แห่งพระราชบัญญัติความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ. ๒๕๓๙ ฟ้องจำเลยทั้งสองซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐในสังกัดเทศบาลเมืองหนองคาย จำเลยทั้งสองจึงเป็นเจ้าหน้าที่ตามความหมายของมาตรา ๔ แห่งพระราชบัญญัติความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ. ๒๕๓๙ โดยอ้างว่า จำเลยทั้งสองซึ่งได้รับแต่งตั้งให้เป็นคณะกรรมการรักษาเงินของสถานธนานุบาลเทศบาลเมืองหนองคาย มีหน้าที่ควบคุมและตรวจสอบการปฏิบัติงานของพนักงานบัญชีของสถานธนานุบาลเทศบาลเมืองหนองคายให้ปฏิบัติหน้าที่ตามระเบียบการว่าด้วยอำนาจหน้าที่พนักงานสถานธนานุบาลของหน่วยบริหารราชการส่วนท้องถิ่น พ.ศ. ๒๕๑๗ แต่ได้ละเว้นปฏิบัติหน้าที่ดังกล่าว จนเป็นเหตุให้สถานธนานุบาลเทศบาลเมืองหนองคายได้รับความเสียหาย ขอให้จำเลยทั้งสองร่วมกันรับผิดในเหตุละเมิดดังกล่าวตามพระราชบัญญัติความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ. ๒๕๓๙ มาตรา ๑๐ นั้น พระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๓) บัญญัติให้ศาลปกครองมีอำนาจพิจารณาพิพากษาหรือมีคำสั่งในคดีพิพาทเกี่ยวกับการกระทำละเมิดหรือความรับผิดอย่างอื่นของหน่วยงานทางปกครอง หรือเจ้าหน้าที่ของรัฐอันเกิดจากการใช้อำนาจตามกฎหมายหรือจากกฎ คำสั่งทางปกครองหรือคำสั่งอื่น หรือจากการละเลยต่อหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนดให้ต้องปฏิบัติหรือปฏิบัติหน้าที่ดังกล่าวล่าช้าเกินสมควร และตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๔๐ มาตรา ๒๗๖ บัญญัติว่า “ศาลปกครองมีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีที่เป็นข้อพิพาทระหว่างหน่วยราชการ หน่วยงานของรัฐ รัฐวิสาหกิจ หรือราชการส่วนท้องถิ่น หรือเจ้าหน้าที่ของรัฐที่อยู่ในบังคับบัญชาหรือในกำกับดูแลของรัฐบาลกับเอกชน หรือระหว่างหน่วยราชการ หน่วยงานของรัฐ รัฐวิสาหกิจ หรือราชการส่วนท้องถิ่น หรือเจ้าหน้าที่ของรัฐที่อยู่ในบังคับบัญชาหรือในกำกับดูแลของรัฐบาลด้วยกัน ซึ่งเป็นข้อพิพาทอันเนื่องมาจากการกระทำหรือการละเว้นการกระทำที่หน่วยราชการ หน่วยงานของรัฐ รัฐวิสาหกิจ หรือราชการส่วนท้องถิ่นหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐนั้นต้องปฏิบัติตามกฎหมาย หรือเนื่องจากการกระทำหรือการละเว้นการกระทำที่หน่วยราชการ หน่วยงานของรัฐ รัฐวิสาหกิจ หรือ ราชการส่วนท้องถิ่น หรือเจ้าหน้าที่ของรัฐนั้น ต้องรับผิดชอบในการปฏิบัติหน้าที่ตามกฎหมาย ทั้งนี้ ตามที่กฎหมายบัญญัติ” กรณีจึงเป็นคดีพิพาทระหว่างราชการส่วนท้องถิ่นกับเจ้าหน้าที่ของราชการส่วนท้องถิ่นซึ่งถือเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐ อันเนื่องมาจากการกระทำหรือละเว้นการกระทำที่เจ้าหน้าที่ของรัฐต้องรับผิดชอบในการปฏิบัติหน้าที่ตามกฎหมาย และเป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับการกระทำละเมิดของเจ้าหน้าที่ของรัฐอันเกิดจากการละเลยต่อหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนดให้ต้องปฏิบัติตามนัยมาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๓) แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ คดีจึงอยู่ในอำนาจของศาลปกครอง
จึงวินิจฉัยชี้ขาดว่า คดีที่เทศบาลเมืองหนองคายฟ้องนายวีระศักดิ์ พันธ์นาเหนือ และนายทวีบุญ อินทราวุธ เรียกค่าเสียหายอันเกิดจากการละเลยต่อหน้าที่ตามกฎหมาย อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครอง ซึ่งในคดีนี้ ได้แก่ศาลปกครองกลาง
นายสันติ ทักราล หม่อมหลวงเฉลิมชัย เกษมสันต์
ประธานศาลฎีกา กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลยุติธรรม
นายอักขราทร จุฬารัตน นายโภคิน พลกุล
ประธานศาลปกครองสูงสุด กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลปกครอง
พลโท สมัยรบ สุทธิวาทนฤพุฒิ พลโท อาชวัน อินทรเกสร
หัวหน้าสำนักตุลาการทหาร กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลทหาร
นายพรชัย รัศมีแพทย์
กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ