แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ
ย่อสั้น
จำเลยทั้งสิบเป็นหนี้โจทก์ตามคำพิพากษาของศาลแพ่ง จำเลยที่ 1 และที่ 8 ซึ่งเป็นคู่ความย่อมต้องผูกพันในกระบวนพิจารณาของศาลนับตั้งแต่วันที่ได้พิพากษาจนกว่าคำพิพากษานั้นได้ถูกเปลี่ยนแปลง แก้ไข กลับหรืองดเสีย ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 145 วรรคหนึ่ง เมื่อศาลอุทธรณ์ยังมิได้พิพากษาแก้ไขหรือกลับ จำเลยที่ 1 และที่ 8 ในฐานะลูกหนี้ตามคำพิพากษาจึงต้องรับผิดชำระหนี้ดังกล่าว ประกอบกับหนี้ดังกล่าวสามารถที่จะคิดคำนวณได้ถึงวันฟ้องว่ามีจำนวนเท่าใด ถือได้ว่าเป็นหนี้ที่อาจกำหนดจำนวนได้โดยแน่นอนตาม พ.ร.บ.ล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 9 (3) แล้ว การที่จำเลยที่ 1 และที่ 8 อุทธรณ์คำพิพากษาดังกล่าว หาทำให้หนี้ที่อาจกำหนดจำนวนได้โดยแน่นอนแล้วกลับกลายเป็นหนี้ที่ไม่อาจกำหนดจำนวนได้โดยแน่นอนไปไม่ และเมื่อหนี้ดังกล่าวมีจำนวนไม่น้อยกว่าหนึ่งล้านบาทสำหรับลูกหนี้ซึ่งเป็นบุคคลธรรมดาและไม่น้อยกว่าสองล้านบาทสำหรับลูกหนี้ซึ่งเป็นนิติบุคคล โจทก์ย่อมมีอำนาจนำหนี้ดังกล่าวมาฟ้องขอให้จำเลยที่ 1 และที่ 8 ล้มละลายได้
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้มีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของจำเลยทั้งสิบเด็ดขาดและพิพากษาให้เป็นบุคคลล้มละลาย
จำเลยที่ 1 ถึงที่ 5 และที่ 8 ถึงที่ 10 ให้การและแก้ไขคำให้การขอให้ยกฟ้อง
จำเลยที่ 6 ไม่ยื่นคำให้การและขาดนัดพิจารณา
จำเลยที่ 7 ให้การขอให้ยกฟ้อง
ระหว่างพิจารณา โจทก์ยื่นคำร้องขอถอนฟ้องจำเลยที่ 7 ศาลล้มละลายกลางอนุญาต
ศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของจำเลยที่ 1 ถึงที่ 6 และที่ 8 ถึงที่ 10 เด็ดขาดตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 14 และให้จำเลยที่ 1 ถึงที่ 6 และที่ 8 ถึงที่ 10 ใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ โดยให้หักจากกองทรัพย์สินของจำเลยที่ 1 ถึงที่ 6 และที่ 8 ถึงที่ 10 เฉพาะค่าทนายความให้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์กำหนดตามที่เห็นสมควร
จำเลยที่ 1 ถึงที่ 5 และที่ 8 ถึงที่ 10 อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ระหว่างการพิจารณาของศาลฎีกา เมื่อวันที่ 18 สิงหาคม 2558 ศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งยกเลิกการล้มละลายของจำเลยที่ 2 ถึงที่ 5 ที่ 9 และที่ 10 ตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 135 (2)
ศาลฎีกาแผนกคดีล้มละลายวินิจฉัยว่า เมื่อศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งยกเลิกการล้มละลายของจำเลยที่ 2 ถึงที่ 5 ที่ 9 และที่ 10 ตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 135 (2) แล้ว ย่อมมีผลให้จำเลยดังกล่าวพ้นจากการล้มละลายและมีอำนาจในการจัดการกิจการและทรัพย์สินของตนเอง กรณีจึงไม่มีประโยชน์ที่จะพิจารณาอุทธรณ์ของจำเลยที่ 2 ถึงที่ 5 ที่ 9 และที่ 10 อีกต่อไป ให้จำหน่ายคดีสำหรับจำเลยที่ 2 ถึงที่ 5 ที่ 9 และที่ 10 ออกจากสารบบความของศาลฎีกา คดีคงมีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของจำเลยที่ 1 และที่ 8 ข้อเท็จจริงในชั้นนี้รับฟังเป็นยุติว่า เมื่อวันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2547 ศาลแพ่งมีคำพิพากษาในคดีหมายเลขแดงที่ ธ.569/2547 ให้จำเลยที่ 1 ที่ 2 ที่ 8 และที่ 10 กับพวกร่วมกันชำระหนี้เงินกู้เบิกเงินเกินบัญชีจำนวน 30,412,244.07 บาท พร้อมดอกเบี้ย โดยให้นำเงินที่จำเลยที่ 1 นำเข้าบัญชีเพื่อชำระหนี้แก่โจทก์บางส่วนไปหักชำระหนี้ และให้จำเลยที่ 1 ที่ 3 ถึงที่ 10 กับพวกร่วมกันชำระหนี้เงินกู้ประจำบัญชีที่ 1 และ 2 เป็นเงิน 41,500,000 บาท พร้อมดอกเบี้ย และหนี้เงินกู้ประจำบัญชีที่ 3 เป็นเงิน 12,637,843.41 บาท พร้อมดอกเบี้ยแก่โจทก์ กับให้จำเลยทั้งสิบกับพวกร่วมกันใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ จำเลยที่ 1 ถึงที่ 4 ที่ 8 และที่ 10 อุทธรณ์ คดีอยู่ในระหว่างการพิจารณาของศาลอุทธรณ์ โจทก์นำหนี้ตามคำพิพากษาดังกล่าวมาฟ้องจำเลยทั้งสิบขอให้ล้มละลายเป็นคดีนี้
ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยในข้อแรกมีว่า จำเลยที่ 1 และที่ 8 เป็นหนี้โจทก์ที่อาจกำหนดจำนวนได้โดยแน่นอน และโจทก์มีอำนาจนำหนี้ดังกล่าวมาฟ้องขอให้จำเลยที่ 1 และที่ 8 ล้มละลายได้หรือไม่ โจทก์มีนายสุรเวช ผู้รับมอบอำนาจและทนายโจทก์เป็นพยานเบิกความยืนยันว่า จำเลยทั้งสิบเป็นหนี้โจทก์ตามคำพิพากษาของศาลแพ่ง คดีหมายเลขแดงที่ ธ.569/2547 ซึ่งจำเลยที่ 1 ที่ 2 ที่ 8 และที่ 10 เป็นหนี้เงินกู้เบิกเงินเกินบัญชีรวมต้นเงินและดอกเบี้ยจำนวน 83,214,854.25 บาท จำเลยที่ 1 และที่ 3 ถึงที่ 10 เป็นหนี้เงินกู้ประจำบัญชีที่ 1 และที่ 2 รวมต้นเงินและดอกเบี้ยจำนวน 98,241,301.37 บาท และหนี้เงินกู้ประจำบัญชีที่ 3 รวมต้นเงินและดอกเบี้ย 28,798,702.07 บาท โดยโจทก์มีสำเนาคำพิพากษาและตารางคำนวณยอดหนี้มาแสดงประกอบ ส่วนจำเลยที่ 1 และที่ 8 มีจำเลยที่ 8 ในฐานะส่วนตัวและในฐานะกรรมการผู้มีอำนาจกระทำการแทนจำเลยที่ 1 เป็นพยานเบิกความว่า จำเลยที่ 1 ลูกหนี้ชั้นต้นมิได้ผิดสัญญา จำเลยที่ 8 ในฐานะผู้ค้ำประกันจึงไม่ต้องรับผิด คดีแพ่งดังกล่าวอยู่ในระหว่างการพิจารณาของศาลอุทธรณ์ คดียังไม่ถึงที่สุด หนี้จึงไม่อาจกำหนดจำนวนได้โดยแน่นอน เห็นว่า คำพิพากษาของศาลแพ่งดังกล่าว จำเลยที่ 1 และที่ 8 ซึ่งเป็นคู่ความย่อมต้องผูกพันในกระบวนพิจารณาของศาลนับตั้งแต่วันที่ได้พิพากษาจนกว่าคำพิพากษานั้นได้ถูกเปลี่ยนแปลง แก้ไข กลับหรืองดเสีย ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 145 วรรคหนึ่ง เมื่อศาลอุทธรณ์ยังมิได้พิพากษาแก้ไขหรือกลับ จำเลยที่ 1 และที่ 8 ในฐานะลูกหนี้ตามคำพิพากษาจึงต้องรับผิดชำระหนี้ดังกล่าว ประกอบกับหนี้ดังกล่าวสามารถที่จะคิดคำนวณได้ถึงวันฟ้องว่ามีจำนวนเท่าใด ถือได้ว่าเป็นหนี้ที่อาจกำหนดจำนวนได้โดยแน่นอนตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 9 (3) แล้ว การที่จำเลยที่ 1 และที่ 8 อุทธรณ์คำพิพากษาดังกล่าว หาทำให้หนี้ที่อาจกำหนดจำนวนได้โดยแน่นอนแล้วกลับกลายเป็นหนี้ที่ไม่อาจกำหนดจำนวนได้โดยแน่นอนไปไม่ และเมื่อหนี้ดังกล่าวมีจำนวนไม่น้อยกว่าหนึ่งล้านบาทสำหรับลูกหนี้ซึ่งเป็นบุคคลธรรมดาและไม่น้อยกว่าสองล้านบาทสำหรับลูกหนี้ซึ่งเป็นนิติบุคคล โจทก์ย่อมมีอำนาจนำหนี้ดังกล่าวมาฟ้องขอให้จำเลยที่ 1 และที่ 8 ล้มละลายได้ อุทธรณ์ของจำเลยที่ 1 และที่ 8 ในข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของจำเลยที่ 1 และที่ 8 ในข้อต่อไปมีว่า จำเลยที่ 1 และที่ 8 มีหนี้สินล้นพ้นตัวหรือไม่ ข้อเท็จจริงได้ความจากทางนำสืบของโจทก์ว่า ก่อนฟ้องโจทก์ตรวจสอบทรัพย์สินของจำเลยที่ 1 และที่ 8 โดยยื่นคำขอตรวจสอบกรรมสิทธิ์ที่ดินของจำเลยดังกล่าว ณ สำนักงานที่ดินซึ่งจำเลยดังกล่าวมีภูมิลำเนาอยู่ในเขตรับผิดชอบแล้ว ปรากฏว่าจำเลยที่ 8 มีทรัพย์สินไม่พอที่จะชำระหนี้ ส่วนจำเลยที่ 1 ไม่พบว่ามีทรัพย์สินแต่อย่างใด นอกจากนี้โจทก์ได้มีหนังสือทวงถามให้จำเลยที่ 1 และที่ 8 ชำระหนี้แล้วสองครั้งซึ่งมีระยะเวลาห่างกันไม่น้อยกว่าสามสิบวัน แต่จำเลยที่ 1 และที่ 8 ไม่ชำระหนี้ กรณีต้องด้วยข้อสันนิษฐานว่าจำเลยที่ 1 และที่ 8 มีหนี้สินล้นพ้นตัว ตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 8 (5) และ (9) จำเลยที่ 1 และที่ 8 มีหน้าที่นำพยานหลักฐานมาสืบหักล้างข้อสันนิษฐานของกฎหมายดังกล่าว ที่จำเลยที่ 1 และที่ 8 นำสืบว่า จำเลยที่ 1 และที่ 8 มีทรัพย์สินเป็นที่ดินและห้องชุด โดยให้บริษัทศศิรัชดา จำกัด ประเมินราคารวมกันทั้งหมดเป็นเงิน 485,239,405 บาท นั้น เห็นว่า การพิจารณาว่าลูกหนี้คนหนึ่งคนใดมีหนี้สินล้นพ้นตัวหรือสามารถชำระหนี้ได้หรือไม่ เป็นเรื่องเฉพาะตัวของลูกหนี้แต่ละคน ทรัพย์สินที่จำเลยที่ 1 และที่ 8 นำสืบดังกล่าวได้ประเมินราคารวมกันทั้งหมด ประกอบกับการประเมินราคาทรัพย์สินดังกล่าว จำเลยที่ 1 และที่ 8 ได้ขอให้บริษัทศศิรัชดา จำกัด ทำการประเมินเมื่อเดือนกรกฎาคมและเดือนสิงหาคม 2552 ในช่วงที่จำเลยดังกล่าวยื่นคำให้การต่อสู้คดี น่าเชื่อว่าเป็นไปเพื่อประโยชน์แก่รูปคดีของตน ศาลจึงต้องพิจารณาด้วยความระมัดระวัง สำหรับจำเลยที่ 1 ที่นำสืบอ้างว่า มีที่ดินจำนวน 95 แปลง โดยไม่ปรากฏว่ามีหลักฐานการประเมินราคาแต่อย่างใด ส่วนที่ดินอีกจำนวน 104 แปลง ที่อ้างว่าติดจำนองโจทก์ ก็ปรากฏว่ามีชื่อจำเลยที่ 1 เป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์เพียง 5 แปลงเท่านั้น สำหรับจำเลยที่ 8 มีที่ดิน 7 แปลง ราคาประเมิน 15,768,000 บาท และติดจำนองบุคคลภายนอกไม่สามารถนำมาชำระหนี้โจทก์ได้ และที่จำเลยที่ 1 อ้างว่าจำเลยที่ 1 นำคดีไปฟ้องเจ้าหนี้เดิมต่อศาล ปรากฏว่าศาลฎีกามีคำพิพากษายืนให้ยกฟ้อง พยานหลักฐานที่จำเลยที่ 1 และที่ 8 นำสืบไม่อาจรับฟังหักล้างข้อสันนิษฐานของกฎหมายดังกล่าวได้ ข้อเท็จจริงจึงฟังได้ว่า จำเลยที่ 1 และที่ 8 มีหนี้สินล้นพ้นตัว และไม่มีเหตุอื่นที่ไม่ควรให้จำเลยดังกล่าวล้มละลาย ที่ศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของจำเลยที่ 1 และที่ 8 เด็ดขาดนั้น ชอบแล้ว อุทธรณ์ของจำเลยที่ 1 และที่ 8 ในข้อนี้ก็ฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมในชั้นนี้ให้เป็นพับ