คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7123/2561

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ตาม ป.พ.พ. มาตรา 377 บัญญัติว่า เมื่อเข้าทำสัญญา ถ้าได้ให้สิ่งใดไว้เป็นมัดจำท่านให้ถือว่าการที่ให้มัดจำนั้นย่อมเป็นพยานหลักฐานว่าสัญญานั้นได้ทำกันขึ้นแล้ว อนึ่ง มัดจำนี้ย่อมเป็นประกันการปฏิบัติตามสัญญานั้นด้วย ดังนั้น เงินที่ให้ต่อกันโดยมิใช่เพื่อวัตถุประสงค์ดังกล่าว แม้จะให้ในวันทำสัญญาก็ไม่อาจถือได้ว่าเป็นมัดจำ แม้โจทก์จะมอบเงิน 500,000 บาท ให้แก่จำเลยในวันทำสัญญาและระบุในสัญญาข้อ 2 ว่าเป็นมัดจำก็ตาม แต่ข้อความในสัญญาข้อ 2 และข้อ 3 สามารถสรุปใจความว่า หากโจทก์ผิดสัญญายินยอมให้จำเลยริบเงิน 500,000 บาท ดังกล่าว เงิน 500,000 บาท จึงเป็นการกำหนดค่าเสียหายอันเกิดแต่การที่โจทก์ซึ่งเป็นลูกหนี้ไม่ชำระหนี้ให้แก่จำเลยจึงมีลักษณะเป็นเบี้ยปรับตาม ป.พ.พ. มาตรา 378 ซึ่งเบี้ยปรับนั้นสูงเกินสมควร ศาลย่อมใช้ดุลพินิจลดจำนวนเบี้ยปรับนั้นลงได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 383 วรรคหนึ่ง เมื่อพิเคราะห์ทางได้เสียของเจ้าหนี้ทุกอย่างอันชอบด้วยกฎหมายแล้ว เห็นสมควรกำหนดให้จำเลยริบเบี้ยปรับได้ 130,000 บาท จำเลยจึงต้องคืนเงินให้แก่โจทก์ 370,000 บาท
เมื่อศาลฎีกามีคำพิพากษาถึงที่สุดให้จำเลยชำระเงิน 370,000 บาท จำเลยจึงมีหนี้เป็นจำนวนที่แน่นอนและเป็นที่ยุติว่าต้องชำระนับแต่วันที่จำเลยทราบคำพิพากษาศาลฎีกา จำเลยจึงต้องชำระดอกเบี้ยอัตรา
ร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่อ่านคำพิพากษาศาลฎีกาตาม ป.พ.พ. มาตรา 224 วรรคหนึ่ง

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยชำระเงิน 500,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยชำระเงิน 450,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับถัดจากวันฟ้อง (ฟ้องวันที่ 16 ตุลาคม 2558) เป็นต้นไป จนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ ค่าฤชาธรรมเนียมให้เป็นพับ
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 8 พิพากษากลับให้ยกฟ้อง ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสองศาลให้เป็นพับ
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงตามที่คู่ความไม่ได้ฎีกาโต้แย้งกันรับฟังได้ในเบื้องต้นว่า เมื่อวันที่ 26 มีนาคม 2558 โจทก์กับจำเลยทำสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินโฉนดเลขที่ 13108 ในราคา 1,300,000 บาท แบ่งชำระเป็น 3 งวด งวดที่ 1 โจทก์มอบเงิน 500,000 บาท ให้แก่จำเลยในวันทำสัญญาจะซื้อจะขาย ส่วนที่เหลือจะแบ่งจ่ายเป็น 2 งวด คืองวดที่ 2 ในวันที่ 15 เมษายน 2558 จำนวน 400,000 บาท และงวดที่ 3 ในวันที่ 15 พฤษภาคม 2558 จำนวน 400,000 บาท ต่อมาโจทก์ขอผัดผ่อนชำระเงินงวดที่ 2 โดยจะชำระเงินงวดที่ 2 และที่ 3 พร้อมกันในวันที่ 15 พฤษภาคม 2558 แต่เมื่อถึงกำหนดชำระโจทก์เป็นฝ่ายผิดนัดผิดสัญญาและจำเลยบอกเลิกสัญญากับโจทก์แล้ว
ปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่า เงิน 500,000 บาท ที่โจทก์ชำระให้แก่จำเลยในวันทำสัญญาดังกล่าว เป็นเงินมัดจำหรือไม่ เห็นว่า ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 377 บัญญัติว่า เมื่อเข้าทำสัญญา ถ้าได้ให้สิ่งใดไว้เป็นมัดจำท่านให้ถือว่าการที่ให้มัดจำนั้นย่อมเป็นพยานหลักฐานว่าสัญญานั้นได้ทำกันขึ้นแล้ว อนึ่ง มัดจำนี้ย่อมเป็นประกันการที่จะปฏิบัติตามสัญญานั้นด้วย ดังนั้น เงินที่ให้ต่อกันโดยมิใช่เพื่อวัตถุประสงค์ดังกล่าวแม้จะให้ในวันทำสัญญาก็ไม่อาจถือได้ว่าเป็นมัดจำ คดีนี้โจทก์กล่าวอ้างมาในคำฟ้องว่า การทำสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินตามฟ้องนั้นมีการนำแบบพิมพ์สัญญาจะซื้อจะขายที่ดิน ซึ่งเป็นสัญญาสำเร็จรูปมาจัดทำโดยเจตนาแท้จริงของโจทก์และจำเลยมีข้อตกลงกันว่าเงินจำนวน 500,000 บาท ที่โจทก์ชำระให้แก่จำเลยในวันทำสัญญานั้นเป็นส่วนหนึ่งของราคาที่ดินตกลงซื้อขายกันจึงเริ่มต้นด้วยการระบุไว้ในสัญญาข้อหนึ่งซึ่งเป็นการระบุถึงที่มาของการชำระเงินจำนวนดังกล่าวไว้ชัดแจ้งว่าเป็นส่วนหนึ่งของราคาที่ดิน หาใช่เป็นเงินมัดจำดังที่จำเลยอ้าง และโจทก์นำสืบโดยอ้างตนเองเป็นพยานเบิกความว่า เงิน 500,000 บาท ที่ชำระให้แก่จำเลยในวันทำสัญญาดังกล่าวไม่ใช่เงินมัดจำ แต่เป็นการชำระหนี้บางส่วนโดยโจทก์ได้กู้ยืมมาจากธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร และจากนั้นจะยื่นขอกู้จากธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) เพื่อชำระในงวดที่ 2 และที่ 3 ซึ่งโจทก์ได้แจ้งให้จำเลยทราบตั้งแต่ต้นแล้วว่าโจทก์จำเป็นต้องยื่นขอกู้เงินจากธนาคารดังกล่าวเพื่อนำมาชำระในงวดที่ 2 และที่ 3 แต่ต่อมาโจทก์ไม่อาจได้รับการอนุมัติเงินกู้ได้ทันกำหนดนัดในงวดที่ 2 โดยได้รับแจ้งจากธนาคารดังกล่าวว่าจะได้รับเงินกู้ทั้งหมดในวันที่ 26 พฤษภาคม 2558 และโจทก์ได้แจ้งขอผัดผ่อนเลื่อนกำหนดนัดดังกล่าวต่อจำเลยแล้วในวันที่ 15 เมษายน 2558 และยังได้แจ้งอีกครั้งในวันที่ 15 พฤษภาคม 2558 และเบิกความถึงเจตนาเกี่ยวกับการทำสัญญาดังกล่าวมีใจความโดยสรุปว่า โจทก์อ่านและเขียนภาษาไทยได้โดยมีความรู้จบการศึกษาชั้นประถมศึกษาปีที่ 4 สัญญาดังกล่าวเป็นสัญญาสำเร็จรูป เจตนาของโจทก์ในการทำสัญญาดังกล่าวมีเจตนาเพียงตามเฉพาะข้อความที่เขียนด้วยลายมือเท่านั้น ไม่ใช่ข้อความที่เป็นลายพิมพ์ในสัญญาสำเร็จรูปดังกล่าว ส่วนจำเลยอ้างตนเองเป็นพยานโดยมีนายสุทธิรักษ์ ซึ่งเป็นพยานและเป็นผู้เขียนสัญญา มาเบิกความทำนองเดียวกันว่า เงินจำนวน 500,000 บาท ที่โจทก์ชำระให้แก่จำเลยในวันทำสัญญาดังกล่าวเป็นเงินมัดจำโดยก่อนลงลายมือชื่อโจทก์ได้อ่านและเข้าใจข้อความในสัญญานั้นแล้ว แต่นายสุทธิรักษ์ก็เบิกความรับว่าจำเลยขอให้พยานไปช่วยเขียนสัญญาให้และสัญญาดังกล่าวเป็นสัญญาสำเร็จรูปที่ซื้อมาจากร้านค้าโดยพยานเป็นผู้เขียนตัวหนังสือเพิ่มข้อความลงไปในสัญญา ในวันทำสัญญา จำเลยต้องการให้โจทก์ชำระเงินทั้งหมดครั้งเดียว แต่โจทก์อ้างว่าไม่มีเงินที่จะชำระในครั้งเดียวทั้งหมด ขอแบ่งจ่ายเป็น 3 งวด โดยมีข้อตกลงกันว่าในงวดแรกนั้นโจทก์จะชำระเงินจำนวน 500,000 บาท ถ้าหากงวดต่อ ๆ ไปโจทก์ผิดนัด ก็จะให้จำเลยริบเงินในงวดแรกนั้นได้และเบิกความตอบคำถามค้านทนายโจทก์ว่า สาระสำคัญของสัญญาดังกล่าวคือจำเลยยินยอมให้โจทก์แบ่งชำระเงินเป็น 3 งวด พยานไม่ทราบว่าการที่จำเลยสามารถริบเงินมัดจำจากโจทก์ได้จะเป็นเพราะเงื่อนไขที่ปรากฏในข้อตกลงข้อ 3 ในสัญญาดังกล่าวหรือไม่ และตามสัญญาดังกล่าวไม่มีการระบุเกี่ยวกับวันนัดโอนกรรมสิทธิ์โดยพยานอ้างว่าแม้ไม่ได้ระบุเรื่องวันนัดโอนกรรมสิทธิ์ไว้ในสัญญาแต่มีการตกลงกันในวันทำสัญญาว่าหากโจทก์ชำระเงินครบทั้งสามงวดก็จะไปจดทะเบียนโอนที่ดินให้ซึ่งในทางปฏิบัติก็คือวันถัดไปหลังจากที่ได้ชำระเงินงวดสุดท้ายก็ตาม แต่ก็ถือว่าเป็นเรื่องผิดปรกติทั่วไปของการทำสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินที่คู่สัญญาจะให้ความสำคัญกับการกำหนดราคาที่ดินที่จะซื้อขาย การชำระเงินและกำหนดวันจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ ดังจะเห็นได้จากแบบพิมพ์ในสัญญาดังกล่าวซึ่งในสัญญาข้อ 1 มีการพิมพ์ข้อความเพียงว่า ผู้จะขายยอมตกลง จากนั้นได้เว้นว่างไม่มีการพิมพ์ข้อความใด ๆ ไว้ 3 บรรทัด โดยบรรทัดที่ 4 พิมพ์คำว่า เป็นราคาเงินแล้วเว้นช่องว่างให้เติมจำนวนเงิน บรรทัดที่ 5 พิมพ์คำว่า โดยจะ แล้วเว้นช่องว่างไว้ 2 บรรทัด โดยในบรรทัดที่ 7 อันเป็นบรรทัดสุดท้ายมีการพิมพ์ข้อความว่า ให้แก่ผู้จะซื้อ ณ วันที่ แล้วเว้นช่องว่างให้กรอกวันเดือนปี ส่วนข้อความในสัญญา ข้อ 2 และข้อ 3 เป็นการพิมพ์ข้อความเกี่ยวกับเรื่องมัดจำโดยละเอียดโดยเว้นช่องว่างไว้ให้เติมจำนวนเงินมัดจำ และในข้อ 4 ซึ่งเป็นข้อสุดท้ายไม่มีการพิมพ์ข้อความใด ๆ โดยปล่อยว่างทั้ง 4 บรรทัด เพื่อให้เติมข้อความนั้น ลักษณะของแบบพิมพ์ดังกล่าวน่าจะทำไว้เพื่อให้มีการระบุสาระสำคัญเกี่ยวกับรายละเอียดโฉนดที่ดินกับราคาที่ตกลงซื้อขาย การชำระเงิน และการกำหนดวันจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ไว้ในสัญญาข้อที่ 1 ดังจะเห็นได้จากการที่ข้อความในสัญญาข้อ 3 ได้มีการพิมพ์ข้อความระบุไว้ในแบบพิมพ์นั้นด้วยว่า… ถ้าผู้จะขายผิดสัญญาไม่ไปทำหนังสือสัญญาและจดทะเบียนขายตามกำหนดในข้อหนึ่ง… แต่กลับปรากฏว่ามีการเติมข้อความด้วยลายเขียนในสัญญาข้อ 1 ถึงรายละเอียดโฉนดที่ดิน ราคาที่ตกลงซื้อขาย การแบ่งจ่ายชำระเป็น 3 งวด งวดแรกจำนวนเงิน 500,000 บาท จากนั้นเป็นข้อความที่พิมพ์คำว่า ให้แก่ผู้จะซื้อ ณ วันที่ ซึ่งข้อความที่เติมวันเดือนปีเป็นวันที่ 26 มีนาคม 2558 อันเป็นวันตรงกับวันที่ทำสัญญาซึ่งมีระบุไว้ที่ส่วนบนของสัญญา และมีการเขียนข้อความต่อเนื่องสำหรับการชำระเงิน 3 งวด ดังกล่าว โดยในส่วนที่เหลือจากงวดแรกนั้นนำมาเขียนไว้ในข้อ 4 ระบุ จำนวนเงินและกำหนดชำระเงินของงวดที่ 2 และที่ 3 จึงส่อให้เห็นความผิดปกติไม่ว่าจะเป็นการไม่ได้ระบุข้อตกลงในเรื่องวันนัดโอนกรรมสิทธิ์ก็ดี หรือความไม่สอดคล้องของข้อความในสัญญาข้อ 3 ซึ่งเป็นแบบพิมพ์ที่ระบุข้อความสื่อไปถึงกำหนดการไปทำสัญญาและจดทะเบียนขายตามกำหนดในข้อ 1 แต่ในข้อ 1 กลับเป็นเพียงการเขียนข้อความในช่องว่างระบุถึงการแบ่งจ่ายเงินเป็น 3 งวด และจำนวนเงินกับกำหนดวันเวลาชำระเงินงวดแรกในวันทำสัญญาก็ดี ล้วนเป็นข้อพิรุธส่อให้เห็นถึงความสับสนและบกพร่องในการเขียนข้อความอันเป็นข้อตกลงในสัญญาโดยน่าจะเป็นเพราะมุ่งประสงค์ให้ความสำคัญแก่ข้อตกลงในเรื่องของราคาซื้อขายและการผ่อนชำระเงินเป็น 3 งวด เท่านั้น โดยไม่ได้มีการอ่านข้อความที่เป็นลายพิมพ์ที่ปรากฏในแบบพิมพ์สัญญานั้นให้ถี่ถ้วนจึงทำให้เกิดความขัดแย้งกันเองในข้อความดังที่กล่าวไว้ข้างต้น ดังนี้แม้จะมีการเขียนระบุ จำนวนเงิน 500,000 บาท ไว้ในช่องที่เว้นไว้ให้เติมจำนวนเงินมัดจำในข้อ 2 ด้วยก็ตามแต่การตีความสัญญานั้น จำต้องตีความสัญญาทั้งฉบับ เมื่อข้อความในสัญญามีความสับสนส่อพิรุธหลายประการเช่นนั้น ทำให้มีข้อเคลือบแคลงสงสัยว่าข้อความในสัญญาน่าจะมีข้อบกพร่องไม่ตรงตามเจตนาแท้จริงของโจทก์ซึ่งเป็นคู่สัญญา ทั้งจากคำเบิกความของนายสุทธิรักษ์ที่ว่า ก่อนทำสัญญาจำเลยประสงค์จะให้โจทก์ชำระเงินในคราวเดียวแต่โจทก์ไม่มีเงินจึงเสนอขอแบ่งจ่ายเป็น 3 งวด โดยงวดแรกจะชำระในวันทำสัญญา ส่วนงวดที่ 2 และที่ 3 นั้นกำหนดไว้ตามที่ปรากฏในสัญญา ซึ่งเจือสมกับคำเบิกความของโจทก์ทำให้มีน้ำหนักรับฟังได้ว่าเจตนาของคู่สัญญาประสงค์ให้เงินจำนวน 500,000 บาท นั้น เป็นการชำระหนี้บางส่วนไม่ใช่เป็นการชำระมัดจำ แต่จากข้อความในสัญญาข้อ 2 และข้อ 3 ที่มีใจความโดยสรุปว่า หากโจทก์ผิดสัญญายินยอมให้จำเลยริบเงินจำนวน 500,000 บาท ดังกล่าว จึงเป็นการกำหนดค่าเสียหายอันเกิดแต่การที่โจทก์ซึ่งเป็นลูกหนี้ไม่ชำระหนี้ให้แก่จำเลย ข้อตกลงดังกล่าวจึงมีลักษณะเป็นเบี้ยปรับ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 379 ซึ่งถ้าเบี้ยปรับนั้นสูงเกินสมควรศาลย่อมใช้ดุลพินิจลดจำนวนเบี้ยปรับนั้นลงได้ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 383 วรรคหนึ่ง เมื่อปรากฏจากคำเบิกความของจำเลยว่าภายหลังจากโจทก์ขอเลื่อนการชำระเงินส่วนที่เหลือทั้งหมดมาชำระในวันที่ 15 พฤษภาคม 2558 แต่เมื่อถึงวันนัดโจทก์ก็ผิดสัญญาไม่ชำระเงินดังกล่าวให้ จำเลยจึงบอกเลิกสัญญาและต่อมาในวันที่ 7 มิถุนายน 2558 อันเป็นเวลาภายหลังจากนั้นเพียง 23 วัน จำเลยก็ได้ขายที่ดินดังกล่าวให้แก่ผู้ซื้อรายอื่นไปซึ่งแม้จำเลยเบิกความตอบคำถามติงของทนายจำเลยว่าการขายให้แก่ผู้ซื้อรายอื่นได้เงินประมาณ 1,100,000 บาท แต่จำเลยก็ไม่ได้มีหลักฐานมานำสืบสนับสนุนว่าขายไปในราคาดังกล่าวจริง แต่กลับเบิกความตอบคำถามค้านทนายโจทก์ว่า จำเลยขายที่ดินดังกล่าวให้แก่ผู้ซื้อรายอื่นไปในราคาไม่ต่ำกว่าที่ได้ทำสัญญาจะซื้อจะขายไว้กับโจทก์ ดังนี้ เมื่อพิเคราะห์ทางได้เสียของเจ้าหนี้ทุกอย่างอันชอบด้วยกฎหมายแล้ว เห็นสมควรกำหนดให้จำเลยริบเบี้ยปรับได้ 130,000 บาท จำเลยจึงต้องคืนเงินให้แก่โจทก์ 370,000 บาท ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 8 พิพากษายกฟ้องมานั้น ไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา แต่เมื่อศาลฎีกามีคำพิพากษาถึงที่สุดให้จำเลยชำระเงิน 370,000 บาท จำเลยจึงมีหนี้เงินจำนวนที่แน่นอนและเป็นที่ยุติว่าต้องชำระ จึงต้องชำระดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่อ่านคำพิพากษาศาลฎีกานี้ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 224 วรรคหนึ่ง ฎีกาของโจทก์ฟังขึ้น
พิพากษากลับว่า ให้จำเลยชำระเงินจำนวน 370,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินจำนวนดังกล่าวนับแต่วันอ่านคำพิพากษาศาลฎีกานี้เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสามศาลให้เป็นพับ

Share