แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
โจทก์ทั้งสองฟ้องว่า โจทก์ทั้งสองเป็นผู้ครอบครองที่ดินพิพาท นาย ล. ได้ขอออกโฉนดที่ดินดังกล่าวโดยไม่ชอบ และมีคำขอให้เพิกถอนโฉนดที่ดินเลขที่ 13401 ตำบลบุแกรง อำเภอจอมพระ จังหวัดสุรินทร์ ที่มีชื่อ นาย ล. เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ และห้ามจำเลยและบริวารเข้าเกี่ยวข้องกับที่ดินดังกล่าว โดยเสียค่าขึ้นศาลมาอย่างคดีที่มีคำขอให้ปลดเปลื้องทุกข์อันไม่อาจคำนวณเป็นราคาเงินได้หรือคดีไม่มีทุนทรัพย์ แต่เมื่อจำเลยให้การโต้แย้งกรรมสิทธิ์ว่าที่ดินดังกล่าวเป็นของจำเลย จึงเป็นคดีที่มีคำขอให้ปลดเปลื้องทุกข์อันอาจคำนวณราคาเป็นเงินได้หรือคดีมีทุนทรัพย์ เมื่อราคาที่ดินพิพาทในส่วนของโจทก์ที่ 2 มีราคาไม่เกิน 300,000 บาท คดีจึงอยู่ในอำนาจศาลแขวงสุรินทร์ที่จะพิจารณาพิพากษา ตามพระธรรมนูญศาลยุติธรรม มาตรา 17 ประกอบมาตรา 25 (4) แม้โจทก์ทั้งสองจะยื่นฟ้องคดีนี้ต่อศาลชั้นต้นรวมเป็นคดีเดียวกัน แต่ได้ความตามแผนที่พิพาทเอกสารท้ายฟ้องว่า โจทก์ทั้งสองได้ครอบครองที่ดินพิพาทแยกกันเป็นส่วนสัด การครอบครองทำประโยชน์ที่ดินพิพาทของโจทก์ทั้งสองไม่ได้เกี่ยวข้องกันเลย โจทก์ทั้งสองจึงมิได้มีผลประโยชน์ร่วมกันในมูลความแห่งคดี จึงชอบที่โจทก์ทั้งสองจะยื่นฟ้องจำเลยมาคนละสำนวน การที่โจทก์ทั้งสองรวมฟ้องมาในสำนวนเดียวกันและศาลชั้นต้นรับฟ้องของโจทก์ทั้งสองไว้พิจารณา ไม่ทำให้สิทธิของโจทก์แต่ละคนมีมากกว่าที่จะยื่นฟ้องแยกกันมาเป็นแต่ละสำนวน
เมื่อคดีในสำนวนของโจทก์ที่ 2 มีทุนทรัพย์ 140,000 บาท อยู่ในอำนาจของศาลแขวงสุรินทร์ที่จะพิจารณาพิพากษา ศาลชั้นต้นจึงชอบที่จะมีคำสั่งให้โอนคดีในส่วนของโจทก์ที่ 2 ไปยังศาลแขวงสุรินทร์ ทั้งตามพระธรรมนูญศาลยุติธรรม มาตรา 16 วรรคท้าย หาได้บังคับให้ศาลชั้นต้นต้องโอนคดีไปทั้งคดีดังที่ศาลแขวงสุรินทร์วินิจฉัยไม่ ดังนั้น ที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้โอนคดีเฉพาะส่วนของโจทก์ที่ 2 ไปยังศาลแขวงสุรินทร์ และศาลแขวงสุรินทร์มีคำสั่งให้รับโอนคดีดังกล่าวไว้พิจารณาจึงชอบด้วยพระธรรมนูญศาลยุติธรรมแล้ว การที่ศาลแขวงสุรินทร์มีคำสั่งให้เพิกถอนคำสั่งรับโอนคดี แล้วมีคำสั่งใหม่เป็นว่าไม่รับโอนคดีและให้ส่งสำนวนคืนศาลจังหวัดสุรินทร์เพื่อพิจารณาพิพากษาจึงไม่ชอบ
ย่อยาว
คดีสืบเนื่องมาจากโจทก์ทั้งสองยื่นฟ้องจำเลยต่อศาลจังหวัดสุรินทร์ว่า เมื่อปี 2504 โจทก์ที่ 1 ครอบครองที่ดินนา 1 แปลง ตั้งอยู่ที่บ้านบุแกรง ตำบลบุแกรง อำเภอจอมพระ จังหวัดสุรินทร์ เนื้อที่ 27 ไร่เศษ โดยรับมรดกจากบิดา ต่อมาปี 2510 โจทก์ที่ 1 ขายที่ดินทางด้านทิศเหนือให้แก่โจทก์ที่ 2 จำนวน 7 ไร่ โจทก์ที่ 2 เข้าทำนาตลอดมาถึงปัจจุบัน โจทก์ที่ 1 ได้ฝากที่ดินส่วนที่เหลือประมาณ 20 ไร่เศษให้นายลุน อุส่าห์ดี ครอบครองทำนา ต่อมาปี 2522 นายลุนคืนที่ดินให้แก่โจทก์ที่ 1 และออกจากที่ดินไป โจทก์ที่ 1 เข้าทำนาตลอดมาถึงปัจจุบัน ต่อมาวันที่ 25 พฤศจิกายน 2547 จำเลยมีหนังสือถึงโจทก์ที่ 1 ขอให้คืนที่ดินแก่จำเลย ครั้นวันที่ 9 มกราคม 2548 จำเลยบุกรุกเข้าไปไถนาในที่ดินของโจทก์ทั้งสอง โจทก์ทั้งสองตรวจสอบทางทะเบียนปรากฏว่า ขณะที่โจทก์ที่ 1 ฝากที่ดินไว้กับนายลุน นายลุนได้ลักลอบขอออกหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3) และออกโฉนดที่ดินโดยอ้างว่าเป็นที่ดินของตน โดยไม่ได้ครอบครอง ขอให้พิพากษาว่าที่ดินพิพาทตามแผนที่หมาย 2 เป็นของโจทก์ที่ 1 จำนวน 20 ไร่ 2 งาน 36 ตารางวา และเป็นของโจทก์ที่ 2 จำนวน 7 ไร่ ให้เพิกถอนโฉนดที่ดินเลขที่ 13401 ตำบลบุแกรง อำเภอจอมพระ จังหวัดสุรินทร์ ที่มีชื่อนายลุนเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ และห้ามจำเลยและบริวารเข้าเกี่ยวข้องกับที่ดินดังกล่าว
จำเลยให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลจังหวัดสุรินทร์มีคำสั่งให้คู่ความเสนอหนังสือรับรองราคาประเมินที่ดินพิพาทต่อศาล จำเลยเสนอหนังสือรับรองราคาประเมินที่ดินต่อศาล ศาลจังหวัดสุรินทร์ให้ฝ่ายโจทก์ทั้งสองตรวจดู โจทก์ทั้งสองแถลงรับว่าเป็นราคาประเมินที่ดินจริง
ศาลแขวงสุรินทร์มีคำสั่งให้โอนคดีเฉพาะโจทก์ที่ 2 ไปยังศาลแขวงสุรินทร์ตามพระธรรมนูญศาลยุติธรรม มาตรา 16 วรรคท้าย
ศาลแขวงสุรินทร์มีคำสั่งให้รับโอนคดีในส่วนของโจทก์ที่ 2 ไว้พิจารณาเมื่อวันที่ 19 เมษายน 2548 ต่อมาวันที่ 8 กรกฎาคม 2548 ศาลแขวงสุรินทร์พิจารณาแล้วเห็นว่า การโอนคดีตามพระธรรมนูญศาลยุติธรรม มาตรา 16 วรรคท้าย จะต้องเป็นการโอนคดีทั้งคดีจะโอนคดีเฉพาะส่วนไม่ได้ คำสั่งที่ให้รับโอนคดีเป็นคำสั่งโดยผิดหลง จึงมีคำสั่งให้เพิกถอนคำสั่งรับโอนคดี และมีคำสั่งใหม่เป็นว่าไม่รับโอนคดี ให้ส่งสำนวนคืนศาลจังหวัดสุรินทร์เพื่อพิจารณาพิพากษา แต่ศาลจังหวัดสุรินทร์มีคำสั่งไม่รับสำนวนคืนจากศาลแขวงสุรินทร์
โจทก์ที่ 2 อุทธรณ์เฉพาะปัญหาข้อกฎหมายโดยตรงต่อศาลฎีกา โดยได้รับอนุญาตจากศาลชั้นต้นตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 223 ทวิ
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ที่โจทก์ที่ 2 อุทธรณ์โต้แย้งคำสั่งศาลจังหวัดสุรินทร์ที่ให้โอนคดีไปยังศาลแขวงสุรินทร์ว่าเป็นคำสั่งที่ไม่ชอบนั้น เห็นว่า ศาลจังหวัดสุรินทร์ได้มีคำสั่งให้โอนคดีไปยังศาลแขวงสุรินทร์เมื่อวันที่ 11 เมษายน 2548 หากโจทก์ที่ 2 ไม่เห็นด้วยกับคำสั่งดังกล่าว โจทก์ที่ 2 ชอบที่จะยื่นอุทธรณ์คัดค้านภายในกำหนดหนึ่งเดือนนับแต่วันที่ศาลจังหวัดสุรินทร์มีคำสั่ง ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 229 การที่โจทก์ที่ 2 ยื่นอุทธรณ์คัดค้านคำสั่งศาลจังหวัดสุรินทร์เมื่อวันที่ 8 กันยายน 2548 จึงเป็นอุทธรณ์ที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัยให้ แต่อย่างไรก็ตามเมื่อคดีนี้ได้ขึ้นมาสู่ศาลฎีกาและมีปัญหาว่าคดีในส่วนของโจทก์ที่ 2 อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลจังหวัดสุรินทร์หรือศาลแขวงสุรินทร์ เป็นข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน ศาลฎีกาเห็นสมควรหยิบยกปัญหาดังกล่าวขึ้นวินิจฉัยเองตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 142 (5) ประกอบมาตรา 246 เห็นว่า โจทก์ทั้งสองฟ้องว่า โจทก์ทั้งสองเป็นผู้มีสิทธิครอบครองที่ดินพิพาท นายลุนได้ขอออกโฉนดในที่ดินดังกล่าวโดยไม่ชอบ และมีคำขอให้เพิกถอนโฉนดที่ดินเลขที่ 13401 ตำบลบุแกรง อำเภอจอมพระ จังหวัดสุรินทร์ ที่มีชื่อนายลุนเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ และห้ามจำเลยและบริวารเข้าเกี่ยวข้องกับที่ดินดังกล่าว โดยเสียค่าขึ้นศาลมาอย่างคดีมีคำขอให้ปลดเปลื้องทุกข์อันไม่อาจคำนวณเป็นราคาเงินได้หรือคดีไม่มีทุนทรัพย์ แต่เมื่อจำเลยให้การโต้แย้งกรรมสิทธิ์ว่าที่ดินดังกล่าวเป็นของจำเลย จึงเป็นคดีที่มีคำขอให้ปลดเปลื้องทุกข์อันอาจคำนวณเป็นราคาเงินได้หรือคดีมีทุนทรัพย์ เมื่อราคาที่ดินพิพาทในส่วนของโจทก์ที่ 2 มีราคาไม่เกิน 300,000 บาท คดีจึงอยู่ในอำนาจของศาลแขวงสุรินทร์ที่จะพิจารณาพิพากษาตามพระธรรมนูญศาลยุติธรรม มาตรา 17 ประกอบมาตรา 25 (4) แม้โจทก์ทั้งสองจะยื่นฟ้องคดีนี้ต่อศาลจังหวัดสุรินทร์รวมเป็นคดีเดียวกัน แต่ได้ความตามแผนที่ที่ดินพิพาทว่า โจทก์ทั้งสองได้ครอบครองที่ดินพิพาทแยกกันเป็นส่วนสัด โดยโจทก์ที่ 2 ครอบครองทำประโยชน์ในที่ดินทางทิศเหนือเนื้อที่ 7 ไร่ ส่วนโจทก์ที่ 1 ครอบครองทำประโยชน์ในที่ดินทางทิศใต้ต่อจากส่วนที่โจทก์ที่ 2 ครอบครอง เป็นเนื้อที่ 20 ไร่ 2 งาน 36 ตารางวา การครอบครองทำประโยชน์ในที่ดินพิพาทของโจทก์ทั้งสองไม่ได้เกี่ยวข้องกันเลย โจทก์ทั้งสองจึงมิได้มีผลประโยชน์ร่วมกันในมูลความแห่งคดี จึงชอบที่โจทก์ทั้งสองจะยื่นฟ้องจำเลยมาคนละสำนวน การที่โจทก์ทั้งสองรวมฟ้องมาในสำนวนเดียวกันและศาลจังหวัดสุรินทร์ยอมรับฟ้องของโจทก์ทั้งสองไว้พิจารณา ไม่ทำให้สิทธิของโจทก์แต่ละคนมีมากกว่าที่จะยื่นฟ้องแยกกันมาเป็นแต่ละสำนวน เมื่อคดีในส่วนของโจทก์ที่ 2 มีทุนทรัพย์ 140,000 บาท อยู่ในอำนาจของศาลแขวงสุรินทร์ที่จะพิจารณาพิพากษา ศาลจังหวัดสุรินทร์จึงชอบที่จะมีคำสั่งให้โอนคดีในส่วนของโจทก์ที่ 2 ไปยังศาลแขวงสุรินทร์ ทั้งตามพระธรรมนูญศาลยุติธรรม มาตรา 16 วรรคท้าย หาได้บังคับให้ศาลจำต้องมีคำสั่งให้โอนคดีไปทั้งคดีดังที่ศาลแขวงสุรินทร์วินิจฉัยไม่ ดังนั้น ที่ศาลจังหวัดสุรินทร์มีคำสั่งให้โอนคดีเฉพาะส่วนของโจทก์ที่ 2 ไปยังศาลแขวงสุรินทร์ และศาลแขวงสุรินทร์มีคำสั่งให้รับโอนคดีดังกล่าวไว้พิจารณาจึงชอบด้วยพระธรรมนูญศาลยุติธรรมแล้ว การที่ศาลแขวงสุรินทร์มีคำสั่งให้เพิกถอนคำสั่งรับโอนคดี แล้วมีคำสั่งใหม่เป็นว่าไม่รับโอนคดี และให้ส่งสำนวนคืนศาลจังหวัดสุรินทร์เพื่อพิจารณาพิพากษาจึงไม่ชอบ
พิพากษายกคำสั่งศาลแขวงสุรินทร์ที่ให้เพิกถอนคำสั่งรับโอนคดีและคำสั่งไม่รับโอนคดี ให้ศาลแขวงสุรินทร์พิจารณาพิพากษาคดีนี้ต่อไป คืนค่าขึ้นศาลชั้นอุทธรณ์ทั้งหมดแก่โจทก์ที่ 2 ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์นอกจากนี้ให้เป็นพับ.อกจากนี้ให้เป็นพับ.