แหล่งที่มา :
ย่อสั้น
เอกสารภาษาต่างประเทศที่โจทก์ยื่นต่อศาลโดยไม่มีคำแปลเป็นภาษาไทย แต่เป็นเรื่องที่ศาลเห็นสมควรจะสั่งให้ทำคำแปลตามประมวลกฎหมายวีธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 46 วรรคสามหรือไม่ก็ได้ เมื่อศาลไม่ได้สั่งให้โจทก์ทำคำแปลก็รับฟังเป็นพยานหลักฐานได้
ย่อยาว
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้ยกฟ้องสำหรับจำเลยที่ 2 ถึงที่ 5 และให้จำเลยที่ 1 ชำระเงินแก่โจทก์จำนวน 2,344,567.34 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี จากต้นจำนวน 2,306,649,84 บาท นับแต่วันถัดจากวันฟ้อง คือวันที่ 4 ตุลาคม 2540 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ กับให้จำเลยใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความ 10,000 บาท
จำเลยที่ 1 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมในชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ
จำเลยที่ 1 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “พิเคราะห์แล้ว ข้อเท็จจริงเบื้องต้นรับฟังได้ว่า จำเลยที่ 1 เป็นนิติบุคคล ประเภทบริษัทจำกัด มีจำเลยที่ 2 ถึงที่ 5 เป็นกรรมการผู้มีอำนาจคนใดคนหนึ่งลงลายมือชื่อและประทับตราสำคัญของจำเลยที่ 1 กระทำการแทนได้ จำเลยที่ 4 ลงลายมือชื่อและประทับตราสำคัญของจำเลยที่ 1 ในสัญญจ้างแต่งตั้งโจทก์เป็นผู้ดำเนินการโฆษณาเพื่อส่งเสริมการขายให้บริการสำหรับสินค้าหรือบริการของจำเลยที่ 1 ตามสัญญางานโฆษณาเอกสารหมาย จ.4 ปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยที่ 1 ประการแรกมีว่า โจทก์นำสืบเอกสารหมาย จ.7 ถึง จ.9 ซึ่งเป็นภาษาต่างประเทศโดยไม่มีคำแปลเป็นภาษาไทยจะรับฟังข้อเท็จจริงให้เสียหายต่อจำเลยที่ 1 ได้หรือไม่ เห็นว่า เอกสารภาษาต่างประเทศที่โจทก์ยื่นต่อศาลโดยไม่มีคำแปลเป็นภาษาไทย เป็นเรื่องที่ศาลเห็นสมควรจะสั่งให้ทำคำแปลตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 46 วรรคสาม หรือไม่ เมื่อศาลไม่สั่งโจทก์ก็ไม่จำต้องทำคำแปล เอกสารดังกล่าวรับฟังเป็นพยานหลักฐานของโจทก์ก็ได้”
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้เป็นพับ.