แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
ตาม พ.ร.บ.ล้มละลายฯ มาตรา 22 เมื่อศาลสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของลูกหนี้แล้ว เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์แต่ผู้เดียวมีอำนาจจัดการและจำหน่ายทรัพย์สินของลูกหนี้ กระทำการที่จำเป็นเพื่อให้กิจการของลูกหนี้ที่ค้างอยู่เสร็จสิ้นไป เก็บรวบรวมและรับเงินหรือทรัพย์สินซึ่งจะตกได้แก่ลูกหนี้หรือซึ่งลูกหนี้มีสิทธิจะได้รับจากผู้อื่น ประนีประนอมยอมความ ฟ้องร้อง หรือต่อสู้คดีใด ๆ เกี่ยวกับทรัพย์สินของลูกหนี้ สิทธิตามสัญญาเช่าเป็นทรัพย์สินอย่างหนึ่งของลูกหนี้ เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ผู้คัดค้านจึงเป็นคู่กรณีกับผู้ร้องผู้ให้เช่าโดยตรง โจทก์ในฐานะเจ้าหนี้คนหนึ่งมีหน้าที่เป็นผู้ช่วยเหลือผู้คัดค้านในการดำเนินการต่อสู้คดีตาม พ.ร.บ.ล้มละลายฯ มาตรา 155 แม้โจทก์เป็นผู้มีส่วนได้เสียเนื่องจากเป็นผู้รับสิทธิตามสัญญาเช่าจากจำเลยที่ 1 ไว้เป็นประกันหนี้ก็ไม่ใช่คู่กรณีโดยตรงเนื่องจากมีผู้คัดค้านปฏิบัติหน้าที่แทนตามกฎหมาย แต่โจทก์มีอำนาจกำกับดูแลการปฏิบัติหน้าที่ของผู้คัดค้านหากเห็นว่าบกพร่องก็ร้องขอต่อศาลให้สั่งแก้ไขตามมาตรา 146 เมื่อผู้คัดค้านแถลงหมดพยาน ทนายโจทก์แถลงขอสืบพยานโดยไม่ได้ให้เหตุผลว่าพยานหลักฐานที่ผู้คัดค้านนำมาสืบแล้วนั้นยังบกพร่องหรือไม่สมบูรณ์ส่วนใดจึงขอสืบพยานเพิ่มเติมให้ครบถ้วนบริบูรณ์ คดีนี้พิพาทกันเกี่ยวกับเรื่องสิทธิตามสัญญาและผลของกฎหมายเมื่อสัญญาสิ้นสุดโดยการบอกเลิก เป็นเรื่องเกี่ยวกับเอกสารแทบทั้งสิ้น ผู้ร้องและผู้คัดค้านนำเสนอเอกสารเป็นพยานครบถ้วนแล้ว ศาลชั้นต้นมีอำนาจตาม ป.วิ.พ. มาตรา 86 ในการดำเนินกระบวนพิจารณาสืบพยานหลักฐาน เมื่อพยานหลักฐานที่ผู้คัดค้านนำสืบมาเพียงพอแล้ว พยานหลักฐานที่โจทก์ขอสืบย่อมเป็นพยานที่ฟุ่มเฟือยเกินสมควร จึงไม่อนุญาตให้โจทก์นำเข้าสืบได้ตามมาตรา 86 วรรคสอง
ผลของการเลิกสัญญาตาม ป.พ.พ. มาตรา 391 ที่กำหนดให้คู่สัญญาแต่ละฝ่ายจำต้องให้อีกฝ่ายหนึ่งได้กลับคืนสู่ฐานะดังที่เป็นอยู่เดิมนั้น เป็นหลักทั่วไปของนิติกรรมสัญญา กฎหมายไม่ได้ห้ามคู่สัญญาที่จะทำนิติกรรมตกลงกันให้ผลของการเลิกสัญญาเป็นประการอื่น หากข้อตกลงนั้นไม่มีวัตถุประสงค์เป็นการต้องห้ามชัดแจ้งโดยกฎหมาย เป็นการพ้นวิสัย หรือเป็นการขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชนแล้ว ข้อตกลงนั้นย่อมมีผลบังคับได้ตามหลักความศักดิ์สิทธิ์ของการแสดงเจตนา หนังสือสัญญาเช่าที่ดินข้อ 4 ที่ว่า “…เมื่อครบกำหนดระยะเวลาการเช่าตามสัญญาข้อ 3 หรือเมื่อสัญญานี้สิ้นสุดลงด้วยเหตุใด ๆ ก็ตาม ให้อาคารและสิ่งปลูกสร้างในที่ดินตามสัญญานี้ทั้งหมดตกเป็นกรรมสิทธิ์ของผู้ให้เช่าทั้งสิ้น รวมทั้งส่วนควบและอุปกรณ์ทั้งหมด…” ข้อ 11 ที่ว่า “ถ้าผู้เช่า…ถูกศาลสั่งพิทักษ์ทรัพย์ในคดีล้มละลาย ผู้ให้เช่ามีสิทธิบอกเลิกสัญญานี้ได้ทันที” และข้อ 12 ที่ว่า “เมื่อสิ้นสุดระยะเวลาแห่งการเช่าตามสัญญาข้อ 3 หรือสัญญาเช่านี้สิ้นสุดตามสัญญาข้อ 11… ผู้เช่าจะต้องส่งมอบทรัพย์สินทั้งหมดของผู้เช่าตามสัญญานี้ให้แก่ผู้ให้เช่าในสภาพที่เรียบร้อยภายในระยะเวลาหนึ่งเดือนนับแต่วันที่สัญญาสิ้นสุดลง” นั้น เป็นข้อตกลงที่ไม่เป็นการต้องห้ามชัดแจ้งโดยกฎหมายหรือเป็นการพ้นวิสัย หรือเป็นการขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชนแต่อย่างใด จึงมีผลใช้บังคับกันได้
ย่อยาว
คดีสืบเนื่องมาจากศาลชั้นต้นมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของจำเลยทั้งสองเด็ดขาดเมื่อวันที่ 20 พฤศจิกายน 2538 ผู้คัดค้านเข้าจัดการเก็บรวบรวมทรัพย์สินของจำเลยทั้งสองและได้มีหนังสือลงวันที่ 18 มีนาคม 2540 แจ้งให้ผู้ร้องทราบว่า เมื่อผู้ร้องบอกเลิกสัญญาเช่าที่ดินระหว่างนายพิสิฏฐ์ กับจำเลยที่ 1 ผู้ร้องต้องชำระราคาสิ่งปลูกสร้างอาคารอาณารักษ์เลขที่ 15, 15/1 ถึง 15/17 ซึ่งปลูกสร้างบนที่ดินที่เช่าจำนวนเงิน 45,000,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับตั้งแต่วันที่ 11 เมษายน 2539 เป็นต้นไป ให้เสร็จสิ้นภายใน 15 วัน นับแต่วันได้รับหนังสือ
ผู้ร้องยื่นคำร้องขอให้ศาลมีคำสั่งกลับหรือแก้คำสั่งของผู้คัดค้านที่ให้ผู้ร้องชำระราคาสิ่งปลูกสร้างอาคารพิพาทดังกล่าวข้างต้น และมีคำสั่งให้สัญญาเช่าที่ดินมีผลใช้บังคับต่อไปและให้ผู้คัดค้านชำระค่าเช่าที่ดินในนามของจำเลยที่ 1 แก่ผู้ร้องตามสัญญา เมื่อครบกำหนดอายุการเช่าตามสัญญาให้ส่งมอบที่ดินที่เช่าคืนแก่ผู้ร้องในสภาพเรียบร้อยหรือส่งมอบที่ดินและอาคารดังกล่าวคืนแก่ผู้ร้องในสภาพเรียบร้อยโดยผู้ร้องไม่ต้องชดใช้ราคาค่าก่อสร้าง
ผู้คัดค้านยื่นคำคัดค้านขอให้ยกคำร้อง
โจทก์ยื่นคำคัดค้านขอให้ยกคำร้อง
จำเลยทั้งสองยื่นคำคัดค้านขอให้ศาลพิจารณาคดีใหม่และขอให้มีคำสั่งหรือคำพิพากษาว่าสัญญาเช่าระหว่างเจ้าของที่ดินกับจำเลยที่ 1 มีผลผูกพันบังคับได้ต่อไป การบอกเลิกสัญญาเช่าระหว่างผู้ร้องและผู้คัดค้านเป็นโมฆะ
ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้ผู้คัดค้านส่งมอบที่ดินโฉนดเลขที่ 2573 ตำบลสาธร อำเภอบางรัก กรุงเทพมหานคร พร้อมอาคารพิพาท ซึ่งปลูกสร้างบนที่ดินแปลงดังกล่าวในสภาพเรียบร้อยแก่ผู้ร้อง ค่าฤชาธรรมเนียมให้เป็นพับ
โจทก์และผู้คัดค้านอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์แผนกคดีล้มละลายพิพากษาแก้เป็นว่า ให้เพิกถอนคำสั่งของผู้คัดค้านที่สั่งให้ผู้ร้องชำระราคาสิ่งปลูกสร้างอาคารจำนวน 45,000,000 บาท พร้อมดอกเบี้ย และให้ยกคำสั่งของศาลชั้นต้นที่สั่งให้ผู้คัดค้านส่งมอบที่ดินโฉนดที่ดินเลขที่ 2573 ดังกล่าว พร้อมอาคารพิพาท ซึ่งปลูกสร้างบนที่ดินแปลงดังกล่าวแก่ผู้ร้อง นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำสั่งศาลชั้นต้น ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ
โจทก์ ผู้ร้อง และผู้คัดค้าน ฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีล้มละลายวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงเบื้องต้นรับฟังได้ว่า เมื่อวันที่ 1 มกราคม 2533 จำเลยที่ 1 ทำสัญญาเช่าที่ดินโฉนดเลขที่ 2573 ดังกล่าว จากนายพิสิฏฐ์ อัตราค่าเช่าเดือนละ 5,000 บาท เพิ่มค่าเช่า 25% ทุก 3 ปี มีกำหนดเวลาเช่า 22 ปี นับแต่วันทำสัญญาเป็นต้นไป โดยจดทะเบียนการเช่า ตามสัญญาเช่าและสัญญาต่อท้าย ตามสัญญาต่อท้ายข้อ 2 และข้อ 4 มีข้อตกลงว่า ผู้เช่าจะปลูกสร้างอาคารคอนกรีต 5 ชั้น เพื่อหาผลประโยชน์ เมื่อครบกำหนดระยะเวลาการค่าเช่าหรือเมื่อสัญญาสิ้นสุดลงด้วยเหตุใด ๆ ก็ตาม ให้อาคารและสิ่งปลูกสร้างในที่ดินตกเป็นกรรมสิทธิ์ของผู้เช่า และสัญญาข้อ 11 ข้อ 12 มีข้อตกลงว่า หากผู้เช่าถูกศาลสั่งพิทักษ์ทรัพย์ในคดีล้มละลาย ผู้ให้เช่ามีสิทธิบอกเลิกสัญญาได้ทันที ผู้เช่าจะต้องส่งมอบทรัพย์สินทั้งหมดแก่ผู้ให้เช่าภายใน 1 เดือน นับแต่วันที่สัญญาสิ้นสุดลง เมื่อทำสัญญาแล้วจำเลยที่ 1 นำสิทธิตามสัญญาเช่าไปเป็นประกันหนี้โจทก์ แล้วจำเลยที่ 1 สร้างอาคารคอนกรีตเสริมเหล็กสูง 5 ชั้น ขึ้น 18 ห้องอันได้แก่อาคารพิพาท แล้วนำออกให้บุคคลอื่นเช่าหาผลประโยชน์ วันที่ 10 กันยายน 2537 นายพิสิฏฐ์ถึงแก่ความตาย ต่อมาวันที่ 20 พฤศจิกายน 2538 จำเลยที่ 1 ถูกพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาด วันที่ 11 พฤศจิกายน 2539 ผู้ร้องในฐานะผู้จัดการมรดกของนายพิสิฏฐ์ผู้ให้เช่ายื่นคำร้องขอบอกเลิกสัญญาเช่าต่อผู้คัดค้าน วันที่ 5 มีนาคม 2540 ผู้ร้องยื่นคำร้องขอเพิกถอนการแสดงเจตนาบอกเลิกสัญญา ต่อมาผู้คัดค้านมีหนังสือลงวันที่ 18 มีนาคม 2540 แจ้งผู้ร้องว่า การแสดงเจตนาบอกเลิกสัญญามีผลผูกพันกองมรดกของนายพิสิฏฐ์ไม่อาจเพิกถอนได้ ผลของการเลิกสัญญาทำให้คู่สัญญากลับคืนสู่ฐานะเดิม ให้ผู้ร้องชำระค่าก่อสร้าง 45,000,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันบอกเลิกสัญญาเป็นต้นไป และรับมอบทรัพย์ที่เช่าคืน โจทก์เข้ามาในคดีโดยคัดค้านคำร้องของผู้ร้องและแถลงขอสืบพยานหลังจากที่ผู้คัดค้านนำพยานเข้าสืบและแถลงหมดพยานแล้ว ศาลชั้นต้นมีคำสั่งไม่อนุญาต
คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยประการแรกตามฎีกาของโจทก์ว่า คำสั่งศาลชั้นต้นที่ไม่อนุญาตให้โจทก์สืบพยานหลักฐานนั้นชอบหรือไม่ ซึ่งโจทก์ฎีกาอ้างว่า ตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 155 โจทก์มีหน้าที่ระวังประโยชน์ของเจ้าหนี้ทั้งหลาย ช่วยเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ในการรวบรวมจำหน่าย ทรัพย์สินของลูกหนี้ เป็นผู้มีส่วนได้เสียในคดีมีสิทธินำพยานหลักฐานเข้าสืบนั้น เห็นว่า ตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 22 นั้น เมื่อศาลสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของลูกหนี้แล้ว เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์แต่ผู้เดียวมีอำนาจจัดการและจำหน่ายทรัพย์สินของลูกหนี้ กระทำการที่จำเป็นเพื่อให้กิจการของลูกหนี้ค้างอยู่เสร็จสิ้นไป เก็บรวบรวมและรับเงินหรือทรัพย์สินซึ่งจะตกได้แก่ลูกหนี้หรือซึ่งลูกหนี้มีสิทธิจะได้รับจากผู้อื่น ประนีประนอมยอมความ ฟ้องร้อง หรือต่อสู้คดีใด ๆ เกี่ยวกับทรัพย์สินของลูกหนี้ สิทธิตามสัญญาเช่า สัญญาต่อท้าย เป็นทรัพย์สินอย่างหนึ่งของลูกหนี้ ผู้คัดค้านจึงเป็นคู่กรณีกับผู้ร้องโดยตรง โจทก์ในฐานะเจ้าหนี้คนหนึ่งมีหน้าที่เป็นผู้ช่วยเหลือผู้คัดค้านในการดำเนินการต่อสู้คดีตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 155 แม้โจทก์เป็นผู้มีส่วนได้เสียเนื่องจากเป็นผู้รับสิทธิตามสัญญาเช่าจากจำเลยที่ 1 ไว้เป็นประกันหนี้ แต่ก็ไม่ใช่คู่กรณีโดยตรงเนื่องจากมีผู้คัดค้านปฏิบัติหน้าที่แทนตามกฎหมาย แต่มีอำนาจกำกับดูแลการปฏิบัติหน้าที่ของผู้คัดค้านหากเห็นว่าบกพร่องก็ร้องขอต่อศาลให้สั่งแก้ไขได้ตามมาตรา 146 ของบทกฎหมายดังกล่าว ตามรายงานกระบวนพิจารณาของศาลชั้นต้นลงวันที่ 14 มิถุนายน 2545 เมื่อผู้คัดค้านแถลงหมดพยาน ทนายโจทก์แถลงขอสืบพยานโดยไม่ได้ให้เหตุผลให้ปรากฏว่าพยานหลักฐานที่ผู้คัดค้านนำมาสืบแล้วนั้นยังบกพร่องหรือไม่สมบูรณ์ส่วนใดจึงขอสืบพยานเพิ่มเติมให้ครบถ้วนบริบูรณ์ คดีนี้เป็นกรณีพิพาทเกี่ยวกับเรื่องสิทธิสัญญาและผลของกฎหมาย เมื่อสัญญาสิ้นสุดโดยการบอกเลิก เป็นเรื่องเกี่ยวกับเอกสารแทบทั้งสิ้น ผู้ร้องและผู้คัดค้านนำเสนอเอกสารเป็นพยานครบถ้วนแล้ว ประกอบกับศาลชั้นต้นมีอำนาจตามประมวลกฎหมายวิธีจารณาความแพ่ง มาตรา 86 ในการดำเนินกระบวนพิจารณาสืบพยานหลักฐาน เมื่อพยานหลักฐานที่ผู้คัดค้านนำสืบมาเพียงพอแล้ว พยานหลักฐานที่โจทก์ขอสืบย่อมเป็นพยานหลักฐานที่ฟุ่มเฟือยเกินสมควร จึงไม่อนุญาตให้โจทก์นำเข้าสืบได้ตามมาตรา 86 วรรคสอง ที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งไม่อนุญาตให้โจทก์สืบพยานหลักฐานนั้นชอบแล้ว ฎีกาของโจทก์ข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
ปัญหาวินิจฉัยประการที่สองมีว่าผู้ร้องต้องชำระเงินค่าก่อสร้างจำนวน 45,000,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยเข้ากองทรัพย์สินของจำเลยที่ 1 หรือไม่ เห็นว่า ผลของการเลิกสัญญาตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 391 ที่กำหนดให้คู่สัญญาแต่ละฝ่ายจำต้องให้อีกฝ่ายหนึ่งได้กลับคืนสู่ฐานะดังที่เป็นอยู่เดิมนั้น เป็นหลักทั่วไปของนิติกรรมสัญญา กฎหมายไม่ได้ห้ามคู่สัญาที่จะทำนิติกรรมตกลงกันให้ผลของการเลิกสัญญาเป็นประการอื่น หากข้อตกลงนั้นไม่มีวัตถุประสงค์เป็นการต้องห้ามชัดแจ้งโดยกฎหมาย เป็นการพ้นวิสัย หรือเป็นการขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชนแล้ว ข้อตกลงข้อนั้นย่อมมีผลบังคับได้ตามหลักความศักดิ์สิทธิ์ของการแสดงเจตนา หนังสือสัญญาเช่าที่ดิน ข้อ 4 ที่ว่า “…เมื่อครบกำหนดระยะเวลาการเช่าตามสัญญาข้อ 3 หรือเมื่อสัญญานี้สิ้นสุดลงด้วยเหตุใด ๆ ก็ตาม ให้อาคารและสิ่งปลูกสร้างในที่ดินตามสัญญานี้ทั้งหมดตกเป็นกรรมสิทธิ์ของผู้ให้เช่าทั้งสิ้น รวมทั้งส่วนควบและอุปกรณ์ทั้งหมด…” ข้อ 11 ที่ว่า “ถ้าผู้เช่า… ถูกศาลสั่งพิทักษ์ทรัพย์ในคดีล้มละลาย ผู้ให้เช่ามีสิทธิบอกเลิกสัญญานี้ได้ทันที” และข้อ 12 ที่ว่า “เมื่อสิ้นสุดระยะเวลาแห่งการเช่าตามสัญญาข้อ 3 หรือสัญญาเช่านี้สิ้นสุดตามสัญญาข้อ 11… ผู้เช่าจะต้องส่งมอบทรัพย์สินทั้งหมดของผู้เช่าตามสัญญานี้ให้แก่ผู้ให้เช่าในสภาพที่เรียบร้อยภายในระยะเวลาหนึ่งเดือนนับแต่วันที่สัญญาสิ้นสุดลง” นั้น เป็นข้อตกลงที่ไม่เป็นการต้องห้ามชัดแจ้งโดยกฎหมาย หรือเป็นการพ้นวิสัย หรือเป็นการขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชนแต่อย่างใด จึงมีผลใช้บังคับกันได้ การที่ผู้ร้องในฐานะผู้จัดการมรดกของนายพิสิฏฐ์ผู้ให้เช่าทำหนังสือบอกเลิกสัญญาเช่าไปยังผู้คัดค้าน โดยอ้างเหตุว่าจำเลยที่ 1 ถูกศาลแพ่งมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาดเป็นการใช้สิทธิบอกเลิกสัญญาตามข้อตกลงที่จำเลยที่ 1 ทำไว้กับผู้ให้เช่า ผู้ร้องมิได้ปฏิบัติผิดสัญญาเช่าแต่อย่างใด คำสั่งของผู้คัดค้านที่ให้ผู้ร้องชำระค่าสิ่งปลูกสร้างเป็นเงิน 45,000,000 บาท พร้อมดอกเบี้ย จึงไม่ถูกต้อง อย่างไรก็ตาม ต่อมาวันที่ 5 มีนาคม 2550 ผู้ร้องยื่นคำร้องต่อผู้คัดค้านขอให้ผู้คัดค้านนำอาคารพิพาทออกหาผลประโยชน์หรือดำเนินการใด ๆ ตามอำนาจเพื่อจัดทำให้ได้รับประโยชน์สูงกว่าเดิมต่อไป ถือได้ว่าผู้ร้องไม่ประสงค์จะให้ผู้คัดค้านส่งมอบอาคารพิพาทและสิ่งปลูกสร้างคืนแก่ผู้ร้อง แต่ต้องการให้ผู้คัดค้านดำเนินการหาผลประโยชน์จากอาคารพิพาทตามอำนาจหน้าที่ ซึ่งผู้ร้องในฐานะผู้จัดการมรดกของผู้ให้เช่ามีสิทธิกระทำได้ การกระทำดังกล่าวไม่ได้ทำให้กองทรัพย์สินของจำเลยที่ 1 หรือผู้ให้เช่าได้รับความเสียหาย ทั้งผู้ร้องก็ระบุในเอกสารว่าผู้ร้องไม่เกิดความเสียหายใด ๆ ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษาให้เพิกถอนคำสั่งของผู้คัดค้านที่สั่งให้ผู้ร้องชำระราคาสิ่งปลูกสร้างอาคารจำนวน 45,000,000 บาท พร้อมดอกเบี้ย และให้ยกคำสั่งของศาลชั้นต้นที่สั่งให้ผู้คัดค้านส่งมอบที่ดินโฉนดเลขที่ 2573 ดังกล่าว พร้อมอาคารพิพาท ซึ่งปลูกสร้างบนที่ดินแปลงดังกล่าวให้แก่ผู้ร้องในสภาพเรียบร้อยเสียนั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วยในผล ฎีกาของผู้ร้องฟังขึ้น ส่วนฎีกาของโจทก์และผู้คัดค้านข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้เป็นพับ.