คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7435/2541

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

การที่จำเลยตีพิมพ์การกระทำหรือพฤติกรรมของโจทก์ซึ่งเป็นสมาชิกสภาจังหวัดตามคำสั่งกรมตำรวจนั้น แม้เป็นข้อความหมิ่นประมาทโจทก์ก็ตาม แต่ก็มิใช่เป็นการใส่ความในเรื่องส่วนตัว เพราะเป็นเรื่องตีแผ่สิ่งประพฤติชั่วร้ายและกระทำหน้าที่มิชอบของโจทก์ขณะเป็นข้าราชการตำรวจเพื่อให้ประชาชนรับทราบและให้ผู้ประพฤติชอบพึงสังวรณ์ไว้ ย่อมเป็นข้อความที่เป็นประโยชน์ต่อประชาชน ซึ่งจำเลยมีสิทธิพิสูจน์ได้ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 330 วรรคท้าย ดังนั้นเมื่อจำเลยได้ตีพิมพ์ข่าวในหนังสือฉบับพิพาทเกี่ยวกับการกระทำของโจทก์ตามความเป็นจริง จำเลยย่อมไม่ต้องรับโทษ

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 326, 328และให้จำเลยตีพิมพ์โฆษณาข้อความตามที่โจทก์กำหนดให้เป็นการขอขมาต่อโจทก์ลงในหนังสือพิมพ์ของจำเลย หนังสือพิมพ์รายวันไทยรัฐ เดลินิวส์ มติชน ข่าวสดเป็นเวลา 15 วันติดต่อกัน

ศาลชั้นต้นไต่สวนมูลฟ้องแล้วเห็นว่าคดีมีมูลให้ประทับฟ้อง

จำเลยให้การปฏิเสธ

ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 328 ลงโทษจำคุก 1 ปี ปรับ 10,000 บาท โทษจำคุกรอการลงโทษไว้มีกำหนด 2 ปี ไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29, 30 และให้จำเลยโฆษณาคำพิพากษาโดยย่อลงในหนังสือพิมพ์ข่าวอาทิตย์ฉบับที่ตีพิมพ์จำหน่ายติดต่อกัน 2 ฉบับ โดยให้โฆษณาภายในกำหนด 2 เดือน นับแต่คดีถึงที่สุด

จำเลยอุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษายืน

จำเลยฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “พิเคราะห์แล้ว ข้อเท็จจริงรับฟังเป็นยุติว่า ตามวันเวลาและสถานที่เกิดเหตุตามฟ้อง จำเลยเป็นเจ้าของ บรรณาธิการ ผู้พิมพ์ ผู้โฆษณาหนังสือพิมพ์ข่าวอาทิตย์รายสัปดาห์ ได้ลงข่าวฉบับประจำวันที่ 10-16 ธันวาคม2536 เกี่ยวกับตัวโจทก์ประพฤติมิชอบและถูกกรมตำรวจมีคำสั่งไล่ออกจากราชการตามคำสั่งกรมตำรวจที่ 734/2529 คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยว่าข่าวที่ลงในหนังสือพิมพ์เกี่ยวกับโจทก์ตามฟ้องไม่ใช่เรื่องส่วนตัวและเป็นประโยชน์แก่ประชาชน จำเลยมีสิทธิพิสูจน์ข้อที่ถูกหาว่าหมิ่นประมาทนั้นเป็นความจริง และไม่ต้องรับโทษตามฟ้องหรือไม่ จำเลยฎีกาว่า พลตำรวจตรีประยุทธ ศุภจริยาวัตรพยานจำเลยได้เบิกความว่า คำสั่งของกรมตำรวจที่ 734/2529 นั้นเป็นความจริงที่โจทก์อ้างว่า ได้ลาออกจากราชการตั้งแต่ปี 2525 ก่อนที่กรมตำรวจจะมีคำสั่งให้โจทก์ออกจากราชการดังกล่าว เป็นการกล่าวอ้างลอย ๆ คำเบิกความของโจทก์นั้นขัดกับความเป็นจริง เพราะถ้าโจทก์ลาออกจากราชการก่อนจะมีคำสั่งของกรมตำรวจให้ออกจากราชการแล้ว คำสั่งเรื่องให้โจทก์ออกจากราชการย่อมระงับไปตามพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือนและการที่โจทก์แจ้งความกล่าวโทษพลตำรวจเอกสวัสดิ์ อมรวิวัฒน์ นั้น ย่อมถือว่าโจทก์ตกเป็นบุคคลสาธารณะซึ่งถูกวิพากย์วิจารณ์ได้เพื่อเห็นว่าโจทก์เป็นคนมีภูมิหน้าภูมิหลังอย่างใด และจำเลยก็ได้ลงข่าวตามข้อความที่ระบุในคำสั่งกรมตำรวจทุกประการ มิได้เพิ่มเติมข้อความขึ้นผิดจากเดิมแต่อย่างใดจำเลยจึงมีสิทธิพิสูจน์ข้อความจริงตามที่ลงข่าวดังกล่าวได้จำเลยไม่ต้องรับโทษในข้อหาหมิ่นประมาทตามฟ้องนั้น ตามข้อความที่จำเลยตีพิมพ์ในหนังสือข่าวอาทิตย์ฉบับพิพาทได้กล่าวระบุว่าโจทก์ขัดขืนและไม่ปฏิบัติตามคำสั่งของผู้บังคับบัญชาโดยชอบที่แต่งตั้งให้โจทก์ไปประจำหน้าที่ที่จังหวัดสุรินทร์กับโจทก์มีพฤติการณ์รีดไถพ่อค้าและประชาชนเกี่ยวกับที่โจทก์ไปเรียกร้องเงินจากผู้รับเหมาก่อสร้างบ้านพักครูและโรงเรียนขององค์การบริหารส่วนจังหวัดสกลนครกับขอเงินจากพ่อค้าประชาชนหลายครั้งและบังคับให้พ่อค้าซื้อบัตรจัดงานช่วยเหลือผู้ติดยาเสพติด กับปฏิบัติหน้าที่ไม่ชอบโดยจับยึดรถจักรยานยนต์ของประชาชนแล้วไม่ดำเนินคดีกับผู้กระทำผิดตามกฎหมาย กับไม่นำรถจักรยานยนต์ยึดมาส่งต่อหน่วยงานราชการ ทางคณะกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริงแล้วเห็นว่า โจทก์ได้กระทำผิดวินัยอย่างร้ายแรงจริง ทางกรมตำรวจจึงมีคำสั่งให้ไล่โจทก์ออกจากราชการ ตามคำสั่งกรมตำรวจที่ 734/2529 ดังกล่าว ข้อความดังกล่าวนี้โจทก์ได้นำสืบว่า ทำให้โจทก์เสียหายเพราะโจทก์อาจไม่ได้รับความไว้วางใจจากประชาชนในการเลือกตั้งสมาชิกสภาจังหวัดในคราวต่อไป เป็นเหตุให้โจทก์อาจไม่ได้รับการเลือกตั้งสมาชิกสภาจังหวัด ทั้งเป็นการทำให้โจทก์เสียชื่อเสียง ถูกดูหมิ่น ถูกเกลียดชังศาลฎีกาเห็นว่าโจทก์เป็นเจ้าพนักงานตำรวจอันเป็นเจ้าพนักงานซึ่งกฎหมายให้มีอำนาจและหน้าที่รักษาความสงบเรียบร้อยของประชาชนแต่โจทก์กลับประพฤติผิดต่อกฎหมายและผิดระเบียบของทางราชการ ดังข้อเท็จจริงที่ระบุในคำสั่งกรมตำรวจ จนทางกรมตำรวจมีคำสั่งให้ไล่โจทก์ออกจากราชการดังกล่าวย่อมเป็นประจักษ์ชัดว่า โจทก์ปฏิบัติหน้าที่ราชการโดยมิชอบด้วยกฎหมายและมีพฤติกรรมก่อความเดือดร้อนแก่ประชาชน การที่จำเลยตีพิมพ์การกระทำหรือพฤติกรรมของโจทก์ซึ่งเป็นสมาชิกสภาจังหวัดสกลนครตามคำสั่งกรมตำรวจนั้น แม้จะเป็นข้อความหมิ่นประมาทโจทก์ก็ตาม แต่ก็มิใช่เป็นการใส่ความในเรื่องส่วนตัวเพราะเป็นเรื่องตีแผ่สิ่งประพฤติชั่วร้ายและกระทำหน้าที่มิชอบของโจทก์ขณะเป็นข้าราชการตำรวจเพื่อให้ประชาชนรับทราบและให้ผู้ประพฤติมิชอบพึงสังวรณ์ไว้ ย่อมเป็นข้อความที่เป็นประโยชน์ต่อประชาชน ซึ่งจำเลยมีสิทธิพิสูจน์ได้ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 330 วรรคท้าย ดังนั้น เมื่อจำเลยได้ตีพิมพ์ข่าวในหนังสือข่าวอาทิตย์ฉบับพิพาทเกี่ยวกับการกระทำของโจทก์ดังกล่าวตามความเป็นจริง จำเลยย่อมไม่ต้องรับโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 330 ที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษาลงโทษจำเลยนั้นศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย ฎีกาของจำเลยฟังขึ้น”

พิพากษากลับ ให้ยกฟ้องโจทก์

Share